สอบ ก.พ. คืออะไร? แนะนำทุกสิ่งที่ต้องรู้สำหรับเส้นทางอาชีพข้าราชการ

สอบ ก.พ. คืออะไร? แนะนำทุกสิ่งที่ต้องรู้สำหรับเส้นทางอาชีพข้าราชการ
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 11 April, 2025
Share

Key Takeaway

  • การสอบ ก.พ. เป็นการทดสอบความสามารถทั่วไปสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับราชการ โดยในปี 2568 กำหนดสอบข้อเขียนจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม 2568 ที่กำลังจะมาถึง
  • การสอบ ก.พ. แบ่งออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาค ก (วัดความสามารถทั่วไป), ภาค ข (ทดสอบความรู้เฉพาะตำแหน่ง) และ ภาค ค (สอบสัมภาษณ์)
  • การเตรียมตัวก่อนสอบ ก.พ. ควรศึกษาแนวข้อสอบ ฝึกทำข้อสอบเก่า พร้อมจับเวลาในการฝึกทำ และอาจลงเรียนคอร์สติวสอบออนไลน์ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มโอกาสสอบผ่าน

การสอบ ก.พ. เป็นด่านสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับราชการ เพราะเป็นการทดสอบความสามารถพื้นฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหลายคนอาจกำลังเริ่มหาข้อมูลว่าสอบก.พ. 67 จัดขึ้นวันไหน เพื่อนำมาวางแผนการสมัครและเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับการสอบในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึง

ซึ่งในบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจทุกแง่มุมของการสอบ ก.พ. ว่าคืออะไร พร้อมแนะนำวิธีการเตรียมตัว และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการสมัครสอบอย่างครบถ้วน เพื่อเพิ่มโอกาสสอบผ่านและส่งให้ทุกคนก้าวไปสู่เส้นทางข้าราชการได้อย่างมั่นใจ!

การสอบ ก.พ. คืออะไร?

การสอบ ก.พ. คืออะไร?

สอบ ก.พ. คือ การสอบวัดความสามารถทั่วไป ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐและราชการ โดยการทดสอบนี้จะวัดทักษะด้านคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้ที่สอบผ่านสามารถใช้ผลสอบกพยื่นสมัครแข่งขันในตำแหน่งงานต่างๆ ที่มีเงินเดือนข้าราชการ ตามระดับวุฒิการศึกษาและตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุ 

ความสำคัญของการสอบ ก.พ.

การสอบ ก.พ. เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เป็นตัวกลางในการวัดความรู้และความสามารถของผู้สมัครด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้หน่วยงานราชการหรือองค์กรรัฐสามารถคัดสรรบุคลากรที่มีศักยภาพและมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งในด้านการคิดวิเคราะห์ การใช้ภาษา และการแก้ปัญหา ได้ตรงกับความต้องการของตำแหน่งงานหรือองค์กรมากที่สุด ซึ่งผู้ที่สอบผ่านสามารถใช้ผลสอบเพื่อหางานและสมัครเข้ารับราชการหรือเข้าเป็นพนักงานของรัฐในตำแหน่งที่เหมาะสมได้

หมวดหมู่ของการสอบ ก.พ.

หมวดหมู่ของการสอบ ก.พ. 

การสอบ ก.พ. แบ่งออกเป็น 3 หมวดหลัก คือภาค ก. ภาคข. และภาค ค. ซึ่งแต่ละหมวดมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีอะไรบ้าง สามารถดูได้จากรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

1. สอบภาค ก. 

การสอบภาค ก. เป็นข้อสอบวัดความสามารถทั่วไปที่ใช้เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการคัดเลือกผู้สมัครงาน โดยการทดสอบจะแบ่งออกเป็น 3 วิชา ได้แก่

  • วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เนื้อหาแบ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงภาษา เชิงนามธรรม และเชิงปริมาณ จำนวน 50 ข้อ คิดเป็น 100 คะแนน

เกณฑ์ผ่าน ระดับต่ำกว่าและปริญญาตรี ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 60% (60 คะแนน)​ ระดับปริญญาโท ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 65% (65 คะแนน)

  • วิชาภาษาอังกฤษ เนื้อหาแบ่งเป็นการสนทนา คำศัพท์ หลักไวยากรณ์ และการอ่านจับใจความ จำนวน 20 ข้อ คิดเป็น 50 คะแนน

เกณฑ์ผ่าน ทุกระดับต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 50% (25 คะแนน)​

  • วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี เนื้อหาแบ่งเป็นระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และหน้าที่และความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 25 ข้อ คิดเป็น 50 คะแนน​

เกณฑ์ผ่าน ทุกระดับต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 60% (30 คะแนน)​

2. สอบภาค ข. 

การสอบภาค ข. เป็นการทดสอบความรู้เฉพาะตำแหน่งเพื่อประเมินว่าผู้สมัครมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ต้องการสมัครหรือไม่ ซึ่งก่อนที่จะสอบภาค ข ได้ ผู้สมัครจะต้องสอบผ่านภาค ก. มาก่อน เพื่อยืนยันว่ามีความรู้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่ ก.พ กำหนด

โดยข้อสอบก.พ. ภาค ข. จะมุ่งเน้นไปที่ความรู้เฉพาะด้านและกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานว่ามีอะไรบ้าง เช่น สายงานบัญชีจะมีการสอบเกี่ยวกับการเงินการคลัง สายกฎหมายจะมีการสอบเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนและกฎหมายแพ่ง เป็นต้น โดยแต่ละหน่วยงานจะกำหนดขอบเขตเนื้อหาการสอบที่แตกต่างกันตามลักษณะของตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร

3. สอบภาค ค. 

การสอบภาค ค. เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการคัดเลือกข้าราชการ โดยเป็นการสอบสัมภาษณ์เพื่อประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งงาน ทั้งด้านบุคลิกภาพ ทัศนคติ และทักษะที่จำเป็น 

ซึ่งการสัมภาษณ์อาจจัดขึ้นในรูปแบบรายบุคคลหรือกลุ่ม ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เปิดรับสมัคร โดยคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์มักประกอบด้วยผู้บริหารของหน่วยงานและตัวแทนจากสำนักงาน ก.พ. เพื่อพิจารณาความสามารถและศักยภาพของผู้สมัครให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ต้องการบรรจุ

คุณสมบัติของผู้สอบ ก.พ.

คุณสมบัติของผู้สอบ ก.พ. 

การสอบ ก.พ. เป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับราชการในหน่วยงานภาครัฐ ผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด เพื่อให้มีสิทธิ์เข้าร่วมการสอบ ดังนี้ 

  • สัญชาติ ผู้สมัครต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น 
  • อายุ ผู้สมัครต้องมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ณ วันปิดรับสมัคร โดยไม่มีการกำหนดอายุสูงสุด
  • วุฒิการศึกษา ผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายในระดับวุฒิการศึกษาที่กำหนด เช่น ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท
  • ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เช่น ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีอาญา (ยกเว้นความผิดลหุโทษหรือความผิดที่กระทำโดยประมาท) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐเพราะกระทำผิดวินัย เป็นต้น
วุฒิสำหรับสมัครสอบ ก.พ.

วุฒิสำหรับสมัครสอบ ก.พ. 

การสอบ ก.พ. เปิดรับสมัครหลายระดับวุฒิการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 

  1. ระดับ 1 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)​  
  2. ระดับ 2 ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)​ 
  3. ระดับ 3 ปริญญาตรี​ 
  4. ระดับ 4 ปริญญาโท

หมายเหตุ

  • ผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาตามระดับที่สมัครภายในวันปิดรับสมัคร
  • วุฒิการศึกษาต้องได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. หรือเป็นวุฒิที่ได้รับการเทียบเคียงตามมาตรฐานที่กำหนด
กำหนดการในการสอบ ก.พ. 2568

กำหนดการในการสอบ ก.พ. 2568

การสอบ ก.พ. ประจำปี 2568 มีการกำหนดการรับสมัคร วันสอบ และวันประกาศผล ดังนี้

  • รับสมัครสอบ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2568 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป จนกว่าที่นั่งสอบจะเต็ม หากที่นั่งสอบไม่เต็มจะปิดรับสมัครในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568
  • ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ วันที่ 19 มีนาคม 2568 ​
  • ประกาศวัน เวลา สถานที่สอบ และพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ ภายในวันที่ 26 มิถุนายน 2568
  • สอบข้อเขียน (Paper & Pencil) วันที่ 3 สิงหาคม 2568 
  • ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน ภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2568
วิธีเตรียมตัวก่อนสอบ ก.พ. ให้พร้อมทั้งความรู้และความมั่นใจ

วิธีเตรียมตัวก่อนสอบ ก.พ. ให้พร้อมทั้งความรู้และความมั่นใจ

​การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสอบ ก.พ. เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสอบผ่านและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้สอบได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถดำเนินการได้ดังนี้

ศึกษารายละเอียดของข้อสอบ 

เพื่อให้สามารถวางแผนการอ่านหนังสือและฝึกทำข้อสอบได้อย่างถูกต้อง ควรเริ่มจากการศึกษารายละเอียดข้อสอบ ดังนี้ 

  • ทำความเข้าใจโครงสร้างข้อสอบ เริ่มจากการศึกษาก่อนว่าในการสอบก.พ. วิชาที่ใช้สอบคืออะไรบ้าง จำนวนข้อสอบและคะแนนเต็มของแต่ละวิชา รวมถึงเกณฑ์การผ่านของแต่ละวิชาอยู่ที่เท่าไรบ้าง 
  • วิเคราะห์เนื้อหาที่ออกสอบ ศึกษาหัวข้อและประเภทของคำถามที่มักปรากฏในข้อสอบ เช่น ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ภาษาอังกฤษ และความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี เพื่อจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาที่ต้องทบทวนและวางแผนการอ่านหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทำข้อสอบเก่า 

การฝึกทำข้อสอบเก่าถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเตรียมตัวสอบ ก.พ. เพราะวิธีนี้จะช่วยให้เราคุ้นเคยกับรูปแบบข้อสอบและแนวคำถามมากยิ่งขึ้น โดยอาจลองหาข้อสอบกพ 2567 หรือรวบรวมข้อสอบย้อนหลังหลายๆ ปีมาลองทำดู เพราะยิ่งทำข้อสอบเก่ามากเท่าไร ยิ่งช่วยลดความกดดันในการสอบจริงได้มากขึ้นเท่านั้น 

จับเวลาเมื่อฝึกทำข้อสอบ 

การจับเวลาเมื่อฝึกทำข้อสอบเป็นเทคนิคสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถวางแผนควบคุมการทำข้อสอบให้เสร็จได้ทันตามเวลาที่กำหนด โดยสามารถทำได้วิธีต่อไปนี้ 

  • ตั้งเวลาให้เท่ากับเวลาสอบจริง  เช่น หากวิชาหนึ่งให้เวลาทำ 90 นาที ให้จับเวลาและทำข้อสอบภายในช่วงเวลานั้นๆ 
  • ฝึกทำข้อสอบแบบเต็มชุด ควรทำข้อสอบทั้งชุดตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนสอบจริง โดยไม่หยุดพัก เพื่อสร้างความเคยชินกับความกดดันด้านเวลา
  • กำหนดเวลาสำหรับแต่ละข้อ โดยคำนวณว่าแต่ละข้อควรใช้เวลากี่นาที เช่น หากข้อสอบมี 50 ข้อ และเวลาทำ 90 นาที ควรเฉลี่ยเวลาข้อละประมาณ 1.8 นาที และฝึกทำตามเวลานี้สม่ำเสมอจนกว่าจะทำได้ภายในเวลาที่กำหนด 

ลงเรียนคอร์สติวสอบออนไลน์

การเรียนคอร์สติวสอบออนไลน์เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เตรียมตัวสอบ ก.พ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้เร็วขึ้น มีแนวทางการทำข้อสอบที่ชัดเจน และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง โดยควรเลือกคอร์สติวจากสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น คอร์สที่มีรีวิวดี หรือมีผู้สอบผ่านจริง และตรวจสอบว่าเนื้อหาครอบคลุมทุกวิชาที่ต้องสอบที่หรือไม่ก่อนตัดสินใจสมัครเรียน  

นอกจากนี้การแต่งกายไปสอบก.พ. ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามในการเตรียมตัวก่อนไปสอบ โดยผู้เข้าสอบควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยตามระเบียบ เช่น เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว หรือกระโปรงสุภาพ และควรหลีกเลี่ยงเสื้อยืด กางเกงขาสั้น หรือรองเท้าแตะ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของการสอบและสะท้อนถึงความเหมาะสมในการสมัครเข้ารับราชการ

สรุป

การสอบก.พ. เป็นด่านสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับราชการ โดยแบ่งออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาค ก (วัดความสามารถทั่วไป), ภาค ข (ทดสอบความรู้เฉพาะตำแหน่ง) และ ภาค ค (สอบสัมภาษณ์) ซึ่งการเตรียมตัวสอบก.พ. ที่ดีควรเริ่มจากการศึกษารายละเอียดข้อสอบก่อนว่าคืออะไรบ้าง จากนั้นให้ฝึกฝนทำข้อสอบเก่า จับเวลาในการฝึก หรือลงเรียนคอร์สติวออนไลน์เพิ่มเติม อาจช่วยเพิ่มโอกาสสอบผ่านได้

สำหรับใครที่กำลังมองหางานราชการในตำแหน่งที่เหมาะสม สามารถดูรายละเอียดตำแหน่งงานที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ Jobsdb ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมทั้งงานภาครัฐและงานที่ต้องใช้ผลสอบ ก.พ. พร้อมอัปเดตโอกาสใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้คุณค้นหางานที่ตรงกับความสามารถและวุฒิการศึกษาได้มากที่สุด

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

More from this category: แหล่งข้อมูลและเทมเพลต

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา