ช่วงที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงได้ยินคำว่า “PDPA” ผ่านตาผ่านหูกันมาบ้าง ทั้งในสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย ด้วยความที่เป็น พ.ร.บ.น้องใหม่แกะกล่อง ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ศ. 2562) ซึ่งมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565
PDPA
เราเองในฐานะบุคคลคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมาย อาจมีความสงสัยและตั้งคำถามในใจว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ เกี่ยวข้องอย่างไรกับตัวเราบ้าง มีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือระแวดระวังอะไรขึ้นมากน้อยแค่ไหน วันนี้ JobsDB เอา PDPA หรือ พ.ร.บ. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาอธิบายกันให้ฟังแบบเข้าใจง่าย โดยเน้นเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างเรา ๆ มาฝากกัน รับรองว่าไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด เปิดใจให้พร้อม ปรับสมองให้โล่งแล้วทำความเข้าใจไปพร้อมกัน
ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งค่อนข้างจะละเอียดอ่อน เรามาทำความเข้าใจกันแบบคร่าว ๆ ก่อนว่าเจ้า พ.ร.บ. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) นั้นคืออะไร? และทำมาเพื่อบังคับใช้กับคนกลุ่มไหนเป็นหลัก
หัวใจสำคัญของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA ฉบับนี้ ทำมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นสำคัญ เน้นควบคุมหน่วยงานรัฐหรือองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ที่จัดเก็บข้อมูลของเราไว้เป็นจำนวนมาก หลังจากนี้หน่วยงานไหนที่นำข้อมูลของเราไปใช้ เปิดเผย และ/หรือ โอนข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
จากข้อมูลด้านบน จะเห็นได้ว่าตัวกฎหมาย PDPA มาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะ บนโลกกลม ๆ ที่เต็มไปด้วย Data มหาศาล ทุกข้อมูลส่วนตัวของเราที่แต่ละบริษัทได้ไปนั้น ล้วนแล้วแต่มีมูลค่าในเชิง Marketing เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ทางการค้า หรือนำข้อมูลของเราไปเพิ่มมูลค่าให้กลุ่มนายทุน ด้วยการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนกันในตลาด
ในทางกลับกัน สิ่งที่ประชาชนที่ตาดำ ๆ ได้รับกลับมา คือข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลโดยไม่ได้รับความยินยอม ทั้งยังต้องเจอกับเหล่าคอลเซนเตอร์ต่าง ๆ รุมโทรหาเสนอโปรโมชันต่าง ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน โดยทั้งหมดนั้นมาในรูปแบบของโฆษณาหรือล่อลวง
ถึงแม้กฎหมาย PDPA ฉบับนี้จะออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชนทั่วไป แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่าบางส่วนของกฎหมายอาจจะกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือไม่ การถ่ายรูปต่าง ๆ ในสถานที่สาธารณะจำต้องเบลอบุคคลอื่นในภาพที่ไม่รู้จัก หรือต้องไปขออนุญาตให้เป็นเรื่องเป็นราวก่อนไหม มีอะไรต้องพึงระวังเป็นพิเศษมากขึ้นหรือไม่นั้น เราสรุปมาให้เรียบร้อยแล้ว!
“ PDPA คือเรื่องของ 2 องค์ประกอบรวมกัน คือ ข้อมูลและการกระทำ เมื่อนำมารวมกันแล้ว สุดท้ายพิจารณาว่าเจตนาคืออะไร”
ขึ้นชื่อว่ากฎหมาย ทุกอย่างยังคงตีความตาม “เจตนา” เป็นหลัก เอาง่าย ๆ คือเราเก็บข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นไปเพื่ออะไร จุดประสงค์คือสิ่งสำคัญ กรณีที่เรามีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของลูกค้า แต่มีไว้เพื่อส่งของรางวัลไปให้หรือส่งเอกสาร ก็ถือว่าไม่ผิด PDPA แต่ถ้าบริษัทเริ่มนั้นข้อมูลเหล่านั้นไปประมวลผลเพื่อธุรกิจ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล นั่นถึงเริ่มเข้าข่ายผิดกฎหมาย
นอกจากนี้เรื่องการรักษาข้อมูล (Security) ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน การได้ข้อมูลเหล่านั้นมา ทางองค์กรและภาครัฐต้องมั่นใจด้วยว่า จะรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งยังต้องไม่ให้รั่วไหล รวมถึงการถูกแก้ไขดัดแปลง
การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลโดยที่เจ้าของข้อมูลไม่ยินยอม มีเจตนาบางส่วนที่ PDPA ละเว้นให้ และไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่จัดการข้อมูลต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องแจ้งกับบุคคลดังกล่าวว่าเก็บไปเพื่ออะไร รวมถึงต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญด้วย
จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ศ. 2562) หรือ PDPA ที่ออกมาล่าสุดนี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างเรามาก ๆ และจากข้อมูลที่ให้ไป กฎหมายดังกล่าวแทบจะไม่ได้กระทบกับการดำเนินชีวิตของเราแต่อย่างใด ยังคงถ่ายรูป อัปคลิปโซเชียลได้อย่างปกติ หากทั้งหมดนั้นมุ่งเน้นเนื้อหาเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
ติดตามทุกข้อมูลน่ารู้ ข่าวสารอัปเดตได้แล้ววันนี้ที่ JobsDB แอปพลิเคชันหางานชั้นนำของไทย!
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%81%e0%b8%8e%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%81%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%81%e0%b8%8e%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%81%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b9%87%e0%b8%81-%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b5/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%aa%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/