ประวัติส่วนตัว หรือ เรซูเม่ ที่สร้างความประทับใจให้กับนายจ้าง จะทำให้คุณถูกเรียกไป สัมภาษณ์งาน ถ้าใครที่ส่ง ใบสมัคร ไปแล้วหลายที่ แต่โทรศัพท์ของคุณ ก็ยังเงียบกริบ รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีใครโทรมา คงต้องกลับไปทบทวน ประวัติส่วนตัว ของคุณเสียใหม่ว่า มีข้อบกพร่องตรงไหน ประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การใช้ถ้อยคำที่มีพลัง เป็นตัวกระตุ้นความสนใจ และแสดงถึงศักยภาพในตัวคุณ
มีคำอยู่หลายคำที่นิยมใช้กัน เพื่อแสดงว่าคุณเป็นคนที่กระตือรือร้น และมุ่งสู่ความสำเร็จ ในการทำงาน เลือกใช้ถ้อยคำที่มีพลัง ในการบรรยายถึงเป้าหมายของคุณ ลักษณะงานที่คุณเคยทำ หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และไม่ลืมที่จะยกตัวอย่างที่ชัดเจน สนับสนุนคำพูดของคุณด้วย
- ควรสร้างความประทับใจตั้งแต่ประโยคแรกในประวัติส่วนตัว โดยเฉพาะเมื่อคุณพูดถึงเป้าหมายในอาชีพ ทักษะในการทำงานของคุณ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถถ่ายทอดทักษะของคุณ สรุปออกมาเป็นคำสำคัญที่นายจ้าง หรือฝ่ายบุคคล กำลังมองหาอยู่ได้ดี แค่ไหน เช่น มีทักษะในการสื่อสารที่ดี มีทักษะในการบริหารจัดการที่ดี มีทักษะทางด้านภาษาที่ดี มีความคิดริเริ่ม มีความยืดหยุ่น สามารถทำงานเป็นทีมได้ดี และสามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี เทคนิคคือ เมื่อคุณสมัครงานในตำแหน่งใด ควรเลือกใช้คำให้ตรงกับคุณสมบัติที่นายจ้างระบุไว้ในประกาศรับสมัครงานตำแหน่งนั้น
- เนื่องจากการเขียนประวัติส่วนตัวที่เป็นภาษาอังกฤษจะได้รับการยอมรับและทำให้คุณดูดี มีความสามารถในสายตานายจ้าง มากกว่าการเขียนประวัติส่วนตัวเป็นภาษาไทย จึงขอยกตัวอย่างการเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้ ‘Managed a team of five and supervised the launch of a new sales initiative’. หรือเลือกใช้คำอื่น เช่น achieved, co-ordinated, developed, established, initiated, introduced, managed, motivated, obtained, organized, performed, supervised เป็นต้น
- เลือกใช้ถ้อยคำแสดงการกระทำในการบรรยายลักษณะงานและหน้าที่สำคัญ ๆ ของคุณเท่านั้นพอ ไม่ควรเขียน สิ่งที่คุณทำทั้งหมดลงไป เพราะจะเป็นการลงรายละเอียดมากเกินไป และทำให้ประวัติของคุณยืดยาวไม่น่าอ่าน
- ตัวอย่างคำแสดงการกระทำที่ควรใช้มีดังนี้ analyzed, completed, contributed, created, demonstrated, designed, evaluated, set-up, sold, targeted, worked ยกตัวอย่าง เช่น ‘Targeted small businesses and sold advertising space.’
- ควรเขียนประวัติส่วนตัวด้วยการใช้ “past tense” เสมอ ยกเว้นเมื่อคุณเขียนถึงงานปัจจุบันของคุณ
- ควรขึ้นต้นประโยคด้วยถ้อยคำที่มีพลัง หรือคำแสดงการกระทำเสมอ และจำไว้ว่าไม่ควรขึ้นต้นประโยคด้วย “I”
- ตัดคำฟุ่มเฟือย เช่น ‘was’, ‘were’ and ‘there’ ออก
- คำพูดของคุณควรตามด้วยการยกตัวอย่างประกอบเสมอ เช่น ‘Implemented new sales techniques and achieved consistently high results.’ เพื่อเป็นการอธิบายบทบาทหน้าที่ของคุณให้นายจ้างเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
- เน้นย้ำให้นายจ้างเห็นว่าบุคลิกลักษณะของคุณมีความสอดคล้องกับ ตำแหน่งงาน ที่คุณสมัครเป็นอย่างยิ่ง
- จัดรูปแบบให้สวยงาม เลือกใช้ตัวหนังสือที่อ่านง่าย อ่านแล้วมีความลื่นไหล รวมทั้งมีช่องว่างให้พักหายใจด้วย
- สุดท้าย ตรวจทานความเรียบร้อย เช่น การสะกดคำ ไวยากรณ์ และรูปแบบ ก่อนส่ง
ยิ่งสร้างประวัติส่วนตัวได้น่าประทับใจมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้นายจ้างอยากรู้จักคุณมากขึ้นเท่านั้น และนั่นคือโอกาสที่คุณ จะถูกเรียก สัมภาษณ์ และได้งานทำก่อนใคร
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ตัวอย่างการเขียนเรซูเม่
เรซูเม่ที่ไม่น่าอ่าน