Key Takeaway
- Narcissist คือ บุคคลที่มีภาวะให้ความสำคัญกับตัวเองมากเกินไป หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น "โรคหลงตัวเอง" ซึ่งต้องการการยอมรับจากผู้อื่นเสมอ ขาดความเห็นอกเห็นใจ และรับคำวิจารณ์หรือความผิดพลาดไม่ได้
- อาการของ Narcissist คือ ต้องการได้รับการยอมรับ ชอบดูถูกคนอื่น เห็นประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก ไม่สามารถยอมรับคำวิจารณ์หรือความผิดพลาดได้ เรียกร้องความสนใจ มักควบคุมหรือบงการผู้อื่น และมีพฤติกรรมแข่งขันสูง
- ผลกระทบของ Narcissist คือ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ขาดความไว้ใจ ทำให้บรรยากาศการอยู่ร่วมกันเป็นพิษ และอาจสร้างปัญหาสุขภาพจิตให้กับเพื่อนร่วมงานที่ต้องรับมือกับพฤติกรรมเป็นเวลานาน
หากใครกำลังเผชิญกับบุคคลที่มีลักษณะมั่นใจในตัวเองสูงมาก ชอบกดคนอื่นให้ต่ำกว่า ต้องการการยอมรับจากคนรอบตัว และให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าผู้อื่น จนรู้สึกอึดอัดและไม่อยากอยู่ใกล้แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ในที่ทำงาน การทำความเข้าใจบุคลิกภาพของ Narcissist อาจช่วยให้เราสามารถรับมือกับบุคคลเหล่านี้ได้ดีขึ้น
โดยบทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับนิสัยและพฤติกรรมของผู้ที่มีลักษณะ Narcissist ว่าคืออะไรกันแน่ ทำไมพวกเขาจึงมักมีพฤติกรรมที่รบกวนการทำงานร่วมกัน ไม่เปิดรับความคิดเห็นของผู้อื่น หรือสร้างบรรยากาศที่ไม่น่าอยู่ในที่ทำงาน เพื่อให้สามารถรับมือและทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น รวมถึงลดความตึงเครียดในสภาพแวดล้อมการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Narcissist คืออะไร? ปัญหาที่ส่งผลต่อการทำงาน
Narcissist คือภาวะหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder - NPD) หรือเรียกง่ายๆ ว่า "โรคหลงตัวเอง" เป็นบุคลิกภาพที่โดดเด่นด้วยการให้ความสำคัญกับตนเองมากเกินไป ต้องการการยอมรับและการชื่นชมจากผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมักขาดความเห็นอกเห็นใจต่อคนรอบข้างอีกด้วย
โดยบุคคลที่มีลักษณะ Narcissist มักเชื่อว่าตนเองพิเศษและเหนือกว่าผู้อื่น จึงต้องการได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ และมักคาดหวังให้คนรอบข้างสนใจพวกเขาเป็นหลัก แม้ว่าพวกเขาจะดูมั่นใจในตนเองมากแค่ไหน แต่ลึกๆ แล้วอาจมีความไม่มั่นคงทางอารมณ์และรู้สึกอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์หรือความล้มเหลวค่อนข้างง่ายกว่าคนปกติ
พฤติกรรมของคนที่มีอาการโรคหลงตัวเอง
พฤติกรรมของบุคคลที่เป็นนาร์ซิสซัส สามารถสังเกตได้จากลักษณะเด่นบางอย่างที่มักแสดงออกในชีวิตประจำวัน ดังนี้
- บุคคลที่มีลักษณะ Narcissist มักต้องการการยอมรับตลอดเวลา โดยการโอ้อวดความสามารถ ขยายความสำเร็จ หรือแสดงออกอย่างมั่นใจเกินไป
- มักแสดงพฤติกรรมดูถูกผู้อื่น เช่น วิจารณ์เหน็บแนม หรือทำให้รู้สึกด้อย เพื่อยืนยันอำนาจหรือกลบความไม่มั่นคงภายในจิตใจ
- มักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตนเองก่อน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบกับผู้อื่น และใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย
- ไม่สามารถรับคำวิจารณ์ได้ และมักตอบสนองด้วยความโกรธหรือปกป้องตัวเองอย่างรุนแรง
- นอกจากจะวิจารณ์ไม่ได้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้เป็นโรคหลงตัวเองจะรับไม่ได้อย่างแรงคือความผิดพลาด มักปฏิเสธหรือหาข้อแก้ตัว เช่น โยนความผิดให้ผู้อื่นหรือบิดเบือนสถานการณ์
- มักเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น เช่น โอ้อวดความสามารถหรือพูดถึงความสำเร็จ หากไม่ได้รับความสนใจ อาจแสดงพฤติกรรมหงุดหงิดหรือสร้างสถานการณ์เพื่อดึงความสนใจกลับมา
- มักควบคุมผู้อื่นด้วยการชี้นำหรือบงการ โดยไม่สนใจความคิดเห็นหรือความต้องการของผู้อื่น
- Narcissist คือผู้ที่มักมองทุกอย่างเป็นการแข่งขันและตนเองจะต้องเป็นผู้ชนะเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลงาน ตำแหน่งงาน หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน
เปรียบเทียบ รักตัวเอง หรือ หลงตัวเอง?
การรักตัวเองกับโรคหลงตัวเองอาจมีเพียงเส้นบางๆ กั้นไว้ เพราะทั้งสองอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับความมั่นใจและการเห็นคุณค่าของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น แม้จะคล้ายคลึงกันแต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังคงมีข้อแตกต่างที่สำคัญ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
ต้องการให้คนยอมรับ
- คนรักตัวเอง จะไม่ต้องการเป็นจุดสนใจและไม่เรียกร้องให้ผู้อื่นยกย่อง เพราะเห็นคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว
- คนหลงตัวเอง จะพยายามทำให้ตัวเองเป็นจุดเด่นในทุกสถานการณ์และต้องการการยอมรับจากผู้อื่นตลอดเวลา
การยอมรับข้อผิดพลาด
- คนรักตัวเอง พร้อมยอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง และใช้เป็นบทเรียนในการพัฒนา ซึ่งมักทำความเข้าใจว่าทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้เสมอ
- คนหลงตัวเอง มักปฏิเสธความผิดของตัวเองหรือหาเหตุผลมาแย้งจนทำให้ตัวเองพ้นผิด ไม่ชอบการถูกตำหนิ และอาจตอบโต้ด้วยคำพูดรุนแรงเมื่อถูกวิจารณ์
การรับรู้และเข้าใจความรู้สึกคนอื่น
- คนรักตัวเอง มักมี Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังและให้ความสำคัญกับอารมณ์ของผู้อื่นเสมอโดยไม่ตัดสินหรือมองข้าม
- คนหลงตัวเอง ไม่สนใจคนรอบข้างเพราะตัวเองต้องมาก่อนเสมอ และจะไม่สนใจว่าการกระทำของตนส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง
การยอมรับในคุณค่าของคนอื่น
- คนรักตัวเอง มักเห็นคุณค่าและเคารพผู้อื่นอยู่เสมอ รวมถึงสามารถชื่นชมความสำเร็จของคนอื่นได้โดยไม่ลดทอนคุณค่าตนเอง
- คนหลงตัวเอง มักรู้สึกอิจฉา หงุดหงิด หรือไม่พอใจเมื่อต้องยอมรับความสำเร็จของผู้อื่น
ผลกระทบของนาร์ซิสซัสต่อความสัมพันธ์ในที่ทำงาน
โรคหลงตัวเองสามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในการทำงานได้หลายด้าน ไม่ว่าผู้ที่เป็นนั้นจะอยู่ในตำแหน่งพนักงานทั่วไปหรือหัวหน้าทีมที่ต้องมีทักษะ Leadership ก็ตาม โดยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้
ผลเสียต่อทีมงาน
เมื่อต้องทำงานร่วมกับบุคคลที่มีลักษณะ Narcissist อาจทำให้คนในทีมตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ดังนี้
- ทำงานเป็นทีมได้ยาก เพราะผู้ที่เป็น Narcissist มักต้องการควบคุมคนในทีมอยู่เสมอ จึงอาจลดบทบาทของสมาชิกในทีมคนอื่นๆ และทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
- บรรยากาศในทีมตึงเครียด เพราะอาจมีความไม่พึงพอใจจากสมาชิกคนอื่นๆ ทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกอึดอัด ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายในทีมและลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันได้
- เชื่อมั่นกันลดลง เมื่อมีการตัดสินใจที่ไม่ยุติธรรมหรือมีพฤติกรรมกดขี่เพื่อนร่วมงาน อาจทำให้สมาชิกในทีมไม่กล้าพึ่งพากันและกัน ส่งผลให้ขาดความไว้วางใจในการทำงานร่วมกันได้
- สมาชิกในทีมกลัวการนำเสนอไอเดีย เพราะคนที่เป็นโรคหลงตัวเอง มักมองข้ามความคิดเห็นผู้อื่นหรือดูถูกไอเดีย ทำให้สมาชิกทีมไม่กล้าเสนอแนวคิดใหม่ๆ ส่งผลให้การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาช้าลง
- ขาดความยุติธรรม เพราะนาร์ซิสซัสมักให้ความสำคัญกับตัวเองและใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองหรือบุคคลที่สนับสนุน ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการทำงาน และสร้างความไม่พอใจให้กับทีมได้
ผลเสียต่อสุขภาพจิตของเพื่อนร่วมงาน
การทำงานร่วมกับบุคคลที่เป็นโรคหลงตัวเอง อาจทำให้เพื่อนร่วมงานต้องเผชิญกับบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของทีมงานในระยะยาวได้ ดังนี้
- ทำให้เครียดและกดดัน โดยเพื่อนร่วมงานอาจรู้สึกเครียดจากการต้องรับมือกับพฤติกรรมของ Narcissist ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมหรือไม่เปิดโอกาสให้มีการทำงานร่วมกัน บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความกดดันอาจทำให้คนในทีมรู้สึกหมดพลังและไม่มีความสุขกับการทำงาน
- พนักงานเริ่มสงสัยในความสามารถของตัวเอง เพราะการถูกกดดันหรือวิจารณ์จากบุคคลที่มีลักษณะ Narcissist อาจทำให้เพื่อนร่วมงานสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง แม้ความจริงจะไม่เป็นเช่นนั้น
- นาร์ซิสซัสทำให้คนอื่นหมดไฟ มักสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เต็มไปด้วยการแข่งขันไม่เป็นธรรม จนอาจทำให้เพื่อนร่วมงานหมดไฟ (Burnout) หรือมองหางานใหม่
- เพื่อนร่วมงานเกิดปัญหาสุขภาพจิต เพราะความเครียดจากการทำงานกับนาร์ซิสซัสอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือเครียดเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพชีวิต
จัดการกับ Narcissist อย่างไรในที่ทำงาน?
หากต้องทำงานร่วมกับ Narcissist อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องเผชิญกับบรรยากาศที่ทำงาน Toxic ในทุกวัน สามารถรับมือได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการขัดแย้ง การขัดแย้งกับนาร์ซิสซัสอาจทำให้พวกเขาปักธงว่าตนเองถูกเสมอ ควรหลีกเลี่ยงการโต้เถียงและใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงเมื่ออธิบายสิ่งต่างๆ เป็นการเลือกแนวทางที่ช่วยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เก็บหลักฐานไว้ทุกครั้ง เนื่องจากนาร์ซิสซัสมักปฏิเสธความผิดพลาด การมีหลักฐาน เช่น อีเมล ข้อความ หรือบันทึกประชุม จะช่วยปกป้องคุณหากพวกเขาพยายามโยนความผิด
- กำหนดขอบเขตของการอดทน อย่าปล่อยให้นาร์ซิสซัส มีอิทธิพลเหนือคุณ ควรกำหนดขอบเขตชัดเจน เช่น สื่อสารเฉพาะเรื่องงาน และกล้าปฏิเสธงานที่ไม่ยุติธรรม หากถูกกระทบจิตใจ ควรแจ้งหัวหน้างานหรือฝ่าย HR เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม
- ไม่ต้องให้ฟีดแบ็กอะไรมาก Narcissist คือผู้ที่มักคาดหวังการตอบสนองจากคนรอบข้างอยู่เสมอ ควรให้ฟีดแบ็กเฉพาะในเรื่องที่จำเป็น ใช้คำตอบสั้น กระชับ และเน้นเนื้องาน แทนที่จะให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวบุคคล เพื่อหลีกเลี่ยงการท้าทายหรือแข่งขัน
- อย่าหลงกลในคำพูดด้อยค่า คำพูดเหล่านั้นจาก Narcissist มักไม่สะท้อนความจริง แค่พยายามยกตนเองให้ดูสูงกว่า เราควรยึดมั่นในศักยภาพของตนเอง โฟกัสที่ข้อเท็จจริง และหลีกเลี่ยงการตอบโต้ด้วยอารมณ์เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของพวกเขา
- ไม่ต้องคาดหวังให้นาร์ซิสซัสเปลี่ยนตัวเอง บุคคลที่มี Narcissist Personality มักไม่ยอมรับปัญหาของตนเอง การพยายามเปลี่ยนพวกเขาอาจเสียเวลา การตั้งขอบเขตชัดเจนและรับมือกับพฤติกรรมจะช่วยป้องกันไม่ให้กระทบจิตใจและการทำงานได้ดีกว่า
- ไม่ให้ท้ายคนที่เป็นนาร์ซิสซัส อย่าตามใจหรือยอมทำตามพวกเขาตลอด เพราะจะทำให้พฤติกรรมรุนแรงขึ้น ควรยืนหยัดในจุดยืน ปฏิเสธสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพื่อป้องกันการควบคุมจากพวกเขา
- หาคนไว้ขอคำแนะนำ การพูดคุยกับที่ปรึกษาหรือคนที่ไว้ใจ เช่น เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือฝ่าย HR จะช่วยให้คุณรับมือกับ Narcissist ได้ดีขึ้น ป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในเกมจิตวิทยาของพวกเขา และช่วยให้คุณระบายความเครียดตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
- ใช้ชีวิตให้แบบ Work-Life Balance ควรกำหนดเวลาให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการนำความเครียดจากงานเข้าสู่ชีวิตส่วนตัว และหมั่นดูแลสุขภาพกายและใจ เช่น ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ชอบ และใช้เวลากับคนที่ให้พลังบวก
วิธีบำบัดรักษาโรคหลงตัวเอง
การบำบัดโรคหลงตัวเองต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เนื่องจากบุคคลที่มีลักษณะนี้มักไม่ยอมรับว่าตนเองมีปัญหา ทำให้กระบวนการบำบัดต้องใช้เวลา หลักการ และความเข้าใจในตัวผู้ป่วย โดยแนวทางการรักษาที่ใช้จะมี 2 ทางเลือกหลัก ได้แก่
จิตบำบัด (Psychotherapy) ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลงตัวเองตระหนักถึงพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ พัฒนาความเข้าใจผู้อื่น และปรับปรุงการตอบสนองต่อคำวิจารณ์ แม้ต้องใช้เวลา แต่สามารถปรับพฤติกรรมได้
การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ โรคหลงตัวเองไม่มียารักษาตรง แต่แพทย์อาจใช้ยารักษาอาการร่วม เช่น ยาต้านเศร้า SSRIs ยาแก้วิตกกังวล ยาควบคุมอารมณ์ หรือยารักษาโรคจิต
อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยาเป็นเพียงส่วนเสริมเพื่อช่วยจัดการอาการทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการบำบัดหลักเท่านั้น การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ยังคงเป็นแนวทางหลักในการปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่นได้ ทั้งในที่ทำงานและการใช้ชีวิตทั่วไป
สรุป
Narcissistic หรือ โรคหลงตัวเอง คือ ภาวะที่บุคคลให้ความสำคัญกับตัวเองมากเกินไปจนขาดความเห็นอกเห็นใจ คิดว่าตนเองอยู่เหนือผู้อื่น และยอมรับคำวิจารณ์หรือความผิดพลาดไม่ได้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน การรักษาสามารถทำได้โดยวิธีจิตบำบัดหรือในบางรายอาจมีการให้ยาทางจิตเวชร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจพฤติกรรมของตนเอง มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น และสามารถกลับสู่สังคมได้อย่างมั่นใจ
หากคุณกำลังมองหาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ Toxic หรือต้องการสมัครงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ดี สามารถค้นหางานที่เหมาะกับคุณได้ที่ Jobsdb ซึ่งมีตำแหน่งงานจากบริษัทชั้นนำให้เลือกมากมายเพื่อให้คุณได้เริ่มต้นงานใหม่แบบสบายใจ และมี Work-Life Balance ที่ดีในทุกวัน!
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง