อินโฟกราฟิกคืออะไร? ความสำคัญและประโยชน์ในการสื่อสารข้อมูล

อินโฟกราฟิกคืออะไร? ความสำคัญและประโยชน์ในการสื่อสารข้อมูล
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 13 May, 2025
Share

Key Takeaway

  • อินโฟกราฟิก คือการนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น เช่น ภาพ แผนภูมิ กราฟ ไอคอน หรือองค์ประกอบกราฟิกอื่นๆ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว 
  • อินโฟกราฟิกมีหลายประเภท ได้แก่ แบบเนื้อหา เชิงสถิติ ไทม์ไลน์ การเปรียบเทียบ ลิสต์ กระบวนการ และลำดับความสำคัญ ซึ่งแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้สื่อสารข้อมูลที่แตกต่างกัน
  • อินโฟกราฟิกที่ดีต้องมีหัวข้อที่ดึงดูด เนื้อหาที่กระชับ รวมถึงเลือกฟอนต์และสีที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ข้อมูลอ่านง่ายและมีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากที่สุด

อินโฟกราฟิก คือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลที่มีความซับซ้อนหรือจำนวนมากให้เข้าใจง่ายขึ้นผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกๆ ด้าน 

บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับอินโฟกราฟิกให้มากยิ่งขึ้นแบบเจาะลึก ตั้งแต่ความสำคัญ ประโยชน์ ไปจนถึงแนวทางการใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้การสื่อสารข้อมูลของคุณเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

อินโฟกราฟิกคืออะไร? เข้าใจพื้นฐานและการใช้งาน

อินโฟกราฟิก (Infographic) คือการออกแบบข้อมูลให้ง่ายต่อการเข้าใจ โดยใช้ภาพ แผนภูมิ กราฟ ไอคอน แผนที่ สี หรือองค์ประกอบกราฟิกอื่นๆ ในการนำเสนอข้อมูลแทนการใช้ตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้สมองประมวลผลได้เร็วยิ่งขึ้น อินโฟกราฟิกจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร ทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายในเวลาอันสั้น

โดยปัจจุบันอินโฟกราฟิกถูกนำไปใช้ในหลากหลายบริบท ทั้งในองค์กร การศึกษา สื่อดิจิทัล หรือแม้แต่สายงานอาชีพอิสระที่ต้องการสร้างความโดดเด่นให้กับเนื้อหาของตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงหรือจดจำข้อมูล ซึ่งอาจช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ประเภทต่างๆ ของอินโฟกราฟิก

อินโฟกราฟิกแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามลักษณะการนำเสนอข้อมูล ซึ่งการเลือกให้เหมาะสมถือเป็นหัวใจสำคัญของกราฟิกดีไซน์ ที่จะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ ดึงดูดความสนใจ และทำให้ข้อมูลเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น โดยอินโฟกราฟิกมักแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

อินโฟกราฟิกแบบข้อมูลเนื้อหา (Information Infographic)

อินโฟกราฟิกแบบข้อมูลเนื้อหา (Information Infographic)

อินโฟกราฟิกประเภทนี้จะเน้นการนำเสนอข้อมูลทั่วไปในรูปแบบที่กระชับ เข้าใจง่าย และตรงประเด็น หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการ “สรุป” โดยอาจมีไอคอนหรือสัญลักษณ์ช่วยสื่อความหมาย และใช้การจัดวางตัวหนังสือให้น่าอ่าน เพื่อทำให้ข้อมูลดูไม่น่าเบื่อจนเกินไป 

เหมาะสำหรับ การจัดทำบทความให้ความรู้ การนำเสนอแนวคิดหรือหลักการต่าง ๆ การสื่อสารข้อมูลเชิงอธิบาย หรือสื่อการสอนและการอบรม ที่ต้องการให้ผู้อ่านจดจำใจความสำคัญได้อย่างรวดเร็ว

อินโฟกราฟิกแบบข้อมูลเชิงสถิติ (Statistics Infographic)

อินโฟกราฟิกแบบข้อมูลเชิงสถิติ (Statistics Infographic)

อินโฟกราฟิกประเภทนี้ออกแบบมาเพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงตัวเลขและสถิติ โดยใช้กราฟ แผนภูมิ หรือไดอะแกรม เป็นหลัก เพื่อช่วยให้ผู้รับสารเข้าใจข้อมูลที่มีตัวเลขจำนวนมากได้ง่ายขึ้น และเห็นแนวโน้มของข้อมูลได้อย่างชัดเจน

มักนำมาใช้กับการรายงานผลสำรวจหรือผลวิจัย การเปรียบเทียบตัวเลขทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจ การนำเสนอแนวโน้มทางสถิติ เช่น จำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการแสดงอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ

อินโฟกราฟิกแบบข้อมูลตามลำดับเวลา (Timeline Infographic)

อินโฟกราฟิกแบบข้อมูลตามลำดับเวลา (Timeline Infographic)

อินโฟกราฟิกประเภทนี้จะเน้นการแสดงข้อมูลที่มีลำดับเหตุการณ์หรือช่วงเวลาชัดเจน โดยมักใช้เส้นเวลา (Timeline) เป็นองค์ประกอบหลักพร้อมกับจุดแสดงเหตุการณ์สำคัญหรือไอคอนประกอบ เพื่อช่วยให้ผู้ชมเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลในแต่ละช่วงได้ง่ายขึ้น 

โดยแบบไทม์ไลน์จะเน้นนำมาใช้ในการแสดงพัฒนาการของแบรนด์หรือองค์กร การนำเสนอเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ การอธิบายวิวัฒนาการของเทคโนโลยี หรือการแสดงแผนงานโครงการที่มีระยะเวลาต่อเนื่อง

อินโฟกราฟิกแบบข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ (Comparison Infographic)

อินโฟกราฟิกแบบข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ (Comparison Infographic)

อินโฟกราฟิกประเภทนี้ใช้เปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง 2 สิ่งหรือมากกว่านั้น โดยอาจแสดงเป็นตาราง กราฟ หรือแผนภูมิที่แบ่งเป็น 2 ฝั่ง เพื่อทำให้เห็นข้อแตกต่าง หรือข้อดี-ข้อเสียของแต่ละตัวเลือกได้อย่างชัดเจน

มักนำมาใช้สำหรับการเปรียบเทียบคุณสมบัติของสินค้า A กับ B การแสดงข้อดี-ข้อเสียของทางเลือกต่างๆ การเปรียบเทียบแพ็กเกจบริการหรือแผนการสมัครสมาชิก หรือการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสองเทคโนโลยี

อินโฟกราฟิกแบบลิสต์ (List Infographic)

อินโฟกราฟิกแบบลิสต์ (List Infographic)

อินโฟกราฟิกประเภทนี้ใช้สำหรับการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบรายการ (List) โดยเน้นการจัดเรียงเป็นข้อ ๆ เพื่อให้อ่านง่าย กระชับ และช่วยให้จดจำข้อมูลได้เร็วขึ้น ซึ่งมักใช้ไอคอน ลำดับหมายเลข หรือ Bullet Points ในการแสดงรายการข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ 

แบบลิสต์เหมาะกับการนำเสนอบทความหรือข้อมูลที่ต้องการจัดเรียงเป็นข้อๆ เช่น 10 วิธีดูแลสุขภาพให้แข็งแรง 7 เทคนิคเพิ่มยอดขายออนไลน์ หรือเช็กลิสต์สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนเดินทาง 

อินโฟกราฟิกแบบกระบวนการ (Process Infographic)

อินโฟกราฟิกแบบกระบวนการ (Process Infographic)

อินโฟกราฟิกประเภทนี้ออกแบบมาเพื่ออธิบายขั้นตอนหรือกระบวนการทำงาน โดยใช้ลูกศร ไอคอน หรือแผนผังโฟลว์ (Flowchart) เพื่อแสดงให้เห็นลำดับของกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบอย่างละเอียด ทำให้ข้อมูลที่มีหลายขั้นตอนเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

เหมาะสำหรับการทำขั้นตอนสมัครใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ วิธีการสั่งซื้อสินค้าหรือใช้บริการ กระบวนการผลิตสินค้า หรือการทำงานของระบบต่างๆ หรือการอธิบายขั้นตอนการแก้ปัญหาหรือดำเนินงาน

อินโฟกราฟิกแบบลำดับความสำคัญ (Hierarchical Infographic)

อินโฟกราฟิกแบบลำดับความสำคัญ (Hierarchical Infographic)

อินโฟกราฟิกประเภทนี้จะใช้แสดงลำดับชั้นของข้อมูลจากระดับสูงสุดไปยังระดับต่ำสุด โดยมักแสดงในรูปแบบ พีระมิด (Pyramid) แผนภูมิองค์กร (Organizational Chart) หรือผังโครงสร้าง (Tree Diagram) เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์และลำดับความสำคัญของข้อมูลในแต่ละระดับได้อย่างชัดเจน

นำไปใช้บ่อยในการแสดงโครงสร้างองค์กรหรือแผนผังการบริหาร การจัดลำดับความสำคัญของความต้องการในชีวิต การแสดงระดับความสำคัญของข้อมูล หรือการจัดประเภทของสิ่งต่างๆ ตามความสัมพันธ์เชิงลำดับ

องค์ประกอบของอินโฟกราฟิก ควรมีอะไรบ้าง?

องค์ประกอบของอินโฟกราฟิก ควรมีอะไรบ้าง?

การทำอินโฟกราฟิกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรทราบถึงองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้ 

  • หัวข้อ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงดูดความสนใจและบอกให้ผู้อ่านทราบว่าเนื้อหานำเสนออะไร ควรกระชับ ชัดเจน และดึงดูด เช่น "5 วิธีประหยัดค่าใช้จ่ายรายเดือน" "10 สิ่งที่ต้องทำก่อนเดินทาง" "เปรียบเทียบ iPhone รุ่นใหม่ เลือกแบบไหนดี?"
  • เนื้อหา เป็นส่วนที่ต้องทำให้ผู้อ่านเข้าใจข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วมากที่สุด ซึ่งเนื้อหาที่ดีต้องกระชับ เข้าใจง่าย จัดเรียงเป็นระเบียบ และแบ่งหมวดหมู่ชัดเจน ควรใช้สัญลักษณ์ ไอคอน หรือกราฟช่วยสื่อสาร เพื่อลดข้อความที่เยอะเกินไป
  • ธีมและการออกแบบ ควรเลือกสีที่เหมาะสม ใช้ฟอนต์อ่านง่าย และจัดวางองค์ประกอบให้สมดุล ควรจัดลำดับข้อมูลด้วยขนาดตัวอักษรที่แตกต่าง ใช้สีหลักไม่เกิน 3-4 สี และแบ่งข้อมูลเป็นบล็อกเพื่อลดความซับซ้อน
หลักการและเคล็ดลับในการสร้างสรรค์อินโฟกราฟิก

หลักการและเคล็ดลับในการสร้างสรรค์อินโฟกราฟิก

การสร้างอินโฟกราฟิกให้ออกมามีคุณภาพ ต้องอาศัยหลักการและเคล็ดลับต่าง ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน  โดยหลักการออกแบบอินโฟกราฟิกแบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ดังนี้ 

1. ตั้งหัวข้อให้ดึงดูดและโดนใจ

หัวข้อก็เปรียบเสมือนปกหนังสือ ยิ่งทำให้น่าสนใจมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งดึงดูดให้คนอยากเปิดอ่านมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งการตั้งหัวข้อให้ดึงดูดใจ สามารถทำได้ดังนี้ 

  • ใช้คำที่กระชับและเข้าใจง่าย หลีกเลี่ยงประโยคยาวๆ หรือศัพท์ที่ซับซ้อน เช่น 5 เทคนิคเพิ่มยอดขาย หรือ เผยเคล็ดลับดูแลสุขภาพง่ายๆ ที่หลายคนมองข้าม
  • กระตุ้นความอยากรู้ โดยใช้คำถามหรือประโยคชวนให้ติดตาม เช่น ทำไมน้ำตาต้องไหลทุกครั้งที่เราหาว อยากรู้ต้องอ่าน! หรือ เรอบ่อยอันตรายไหม รีบดูก่อนเป็นหนัก! 
  • ใช้ตัวเลขหรือคำที่บอกปริมาณเสมอ เพราะหัวข้อที่มีตัวเลขมักดึงดูดความสนใจได้มากขึ้น เช่น 10 ที่นอนยางพาราขายดีปี 2025 คัดมาแล้ว! หรือ 3 วิธีลดต้นทุนธุรกิจให้ได้ผล บอกเลยว่าปัง! 

2. ทำเนื้อหาให้คนอยากอ่านจนจบ

การมีเนื้อหาที่น่าสนใจเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะทำให้ผู้อ่านติดตามงานขอเราไปจนจบ ซึ่งการสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ สามารถทำได้ดังนี้ 

  • กระชับและตรงประเด็น ไม่ใช้คำพูดอ้อมค้อมหรืออธิบายเป็นประโยคยาว ควรใช้ Bullet Points หรือ สรุปข้อมูลเป็นสั้นๆ แทน
  • จัดเรียงเนื้อหาให้เป็นลำดับที่เข้าใจง่าย โดยแบ่งข้อมูลเป็นหมวดหมู่หรือใช้หมายเลขลำดับขั้นตอน เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ  
  • ใช้สี ขนาดตัวอักษร หรือไอคอนช่วยเน้นจุดสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเห็นจุดเด่นของเนื้อหา และไม่พลาดข้อมูลสำคัญ
  • ลดการใช้ข้อความเยอะเกินไป หากต้องการอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม ควรใช้ภาพประกอบหรือไอคอนช่วยสื่อสาร
  • เพิ่มองค์ประกอบที่ช่วยนำสายตา เช่น เส้นเชื่อม ไอคอน ลูกศร หรือเว้นวรรคให้เหมาะสม เพื่อให้เนื้อหาอ่านง่ายและไม่รู้สึกแน่นเกินไป

ตัวอย่างแนวทางการเขียนเนื้อหา 

แบบที่ไม่แนะนำ เช่น การดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะร่างกายของเราประกอบไปด้วยน้ำมากกว่า 60% การดื่มน้ำจึงจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนโลหิต และยังช่วยให้ผิวพรรณสดใสอีกด้วย

แบบที่แนะนำ เช่น ทำไมต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ? เพื่อช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบไหลเวียนโลหิต ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้ผิวพรรณสดใส ดูสุขภาพดีจากภายใน

3. เลือกรูปภาพและไอคอนให้สื่อความหมายชัด

การใช้รูปภาพและไอคอนที่เหมาะสมจะช่วยให้การสื่อสารในอินโฟกราฟิกมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถทำได้ ดังนี้ 

  • เลือกภาพหรือไอคอนที่ตรงกับเนื้อหา โดยควรสื่อความหมายโดยตรงกับข้อมูลที่นำเสนอ เช่น หากพูดถึงสุขภาพ ควรใช้ไอคอนรูปหัวใจ แทนที่จะใช้ไอคอนที่ไม่เกี่ยวข้อง
  • ใช้ไอคอนที่เรียบง่ายและเข้าใจได้ทันที หลีกเลี่ยงไอคอนที่มีรายละเอียดซับซ้อนเกินไป ควรเลือกแบบที่มีดีไซน์ชัดเจน อ่านง่าย และเป็นมาตรฐาน
  • คงความสม่ำเสมอของสไตล์ภาพและไอคอน ไม่ควรใช้ไอคอนหลายรูปแบบหรือหลายดีไซน์ในอินโฟกราฟิกเดียวกัน เช่น หากใช้ไอคอนแบบ Flat Design ก็ควรใช้สไตล์เดียวกันตลอด
  • เลือกขนาดและสีให้เหมาะสมกับองค์ประกอบอื่นๆ โดยไอคอนและรูปภาพที่เลือกไม่ควรใหญ่หรือเล็กเกินไป ควรจัดวางให้สมดุลกับข้อความและองค์ประกอบโดยรวม
  • ใช้ภาพความละเอียดสูงและไม่มีลายน้ำ หลีกเลี่ยงการใช้ภาพที่แตกหรือพร่ามัว เพราะอาจลดคุณภาพของอินโฟกราฟิกสวยๆ ลงได้

4. ใช้ฟอนต์กับสีให้เข้ากับเนื้อหา

การเลือกฟอนต์และสีที่เหมาะสม จะช่วยทำให้ข้อมูลอ่านง่ายและดึงดูดความสนใจได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถทำได้ ดังนี้ 

  • เลือกฟอนต์ที่อ่านง่ายและเหมาะกับธีมของเนื้อหา โดยใช้ฟอนต์ที่มีความชัดเจน ไม่ซับซ้อน เช่น Sans-serif (Arial, Roboto, Open Sans) สำหรับเนื้อหาทั่วไป และ Serif (Times New Roman, Georgia) สำหรับข้อมูลเชิงทางการ
  • กำหนดขนาดฟอนต์ให้เหมาะสม ในหัวข้อหลักควรใช้ฟอนต์ที่ใหญ่และโดดเด่นที่สุด ในหัวข้อรองควรใช้นาดเล็กกว่าหัวข้อหลักแต่ยังต้องเห็นชัด ส่วนเนื้อหาให้ใช้ขนาดที่อ่านง่าย ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป
  • เลือกสีให้เหมาะกับเนื้อหา โดยใช้สีหลักเพื่อสื่ออารมณ์และความหมาย เช่น สีฟ้าหรือเขียวสำหรับสุขภาพหรือธุรกิจ สีแดงหรือส้มสำหรับเร่งด่วนและการส่งเสริมการขาย ใช้สีรองเพื่อเสริมความกลมกลืน และเลือกสีตัดกันเพื่อให้อ่านง่ายและดึงดูดสายตา

สรุป

อินโฟกราฟิกเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เนื้อหาอ่านง่ายและน่าสนใจ ซึ่งการสร้างอินโฟกราฟิกที่มีประสิทธิภาพต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งหัวข้อที่ดึงดูดใจเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้อ่าน การจัดเรียงเนื้อหาให้เป็นลำดับที่เข้าใจง่าย หรือการเลือกใช้ฟอนต์กับสีให้เข้ากับเนื้อหา โดยองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้การทำอินโฟกราฟิกสมบูรณ์แบบและสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 

สำหรับใครที่กำลังหางานกราฟิกดีไซน์ และต้องการโชว์ทักษะอินโฟกราฟิกแบบเฉิดฉาย สามารถค้นหาตำแหน่งงานที่เหมาะกับคุณได้ที่ Jobsdb ซึ่งมีงานด้านออกแบบให้เลือกมากมาย ทั้งงานดิจิทัลดีไซน์ คอนเทนต์ครีเอทีฟ และสื่อมัลติมีเดีย ที่เปิดโอกาสให้คุณได้มาพัฒนาความสามารถกับอาชีพในฝันได้แบบไม่มีขีดจำกัด!

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

More from this category: ทักษะในการทำงาน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา