รู้จักกับ Hybrid Work เทรนด์การทำงานยุคใหม่ ได้ใจทั้งองค์กรและพนักงาน

รู้จักกับ Hybrid Work เทรนด์การทำงานยุคใหม่ ได้ใจทั้งองค์กรและพนักงาน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

หลังผ่านช่วงปีที่เราทุกคนต้องเผชิญกับโรคระบาด การดำเนินชีวิตในหลากหลายด้านก็เปลี่ยนไป รวมไปถึงรูปแบบการทำงานแบบ Work from Home ที่เกิดขึ้น และตามมาด้วยเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Hybrid work นั่นเอง บทความนี้จะพาไปเจาะลึกทำความรู้จักกับสไตล์การทำงานแบบ Hybrid work ให้มากขึ้น พร้อมทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งสองด้านของเทรนด์ใหม่นี้กัน

เทรนด์การทำงานแบบ Hybrid work

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายไปแล้ว แต่จริงๆ แล้วเจ้าโรคนี้ก็ยังอยู่กับเราไม่ได้หายไปไหน จากที่เราเคย Work from Home กันมา จนถึงช่วงเวลาที่สถานการณ์ดีขึ้นบ้างและเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ก็มีการปรับเปลี่ยนเป็น Hybrid Work

โดยการทำงานแบบ Hybrid Work จะเป็นการทำงานแบบสลับวันเข้าออฟฟิศ โดยจำนวนวันที่เข้าทำงานในออฟฟิศและการทำงานจากที่บ้านจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละองค์กร  เช่น เข้าออฟฟิศ 3 วัน ทำงานที่ไหนก็ได้อีก 2 วัน หรือบางที่ก็ให้สลับวันทำงานกันตามแผนก เป็นต้น

ซึ่งวิธีการทำงานแบบ Hybrid Work มีความยืดหยุ่นมากกว่าแบบเดิม ๆ และถือเป็นการขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวสู่การเป็น Digital Workplace อย่างรวดเร็ว ประกอบกับในยุคปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการทำงานมากขึ้น พนักงานจึงสามารถทำงาน ติดต่องาน ประชุม หรือจัดอบรม ได้ผ่านช่องทางดิจิทัลที่หลากหลาย เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ แถมยังสะดวกรวดเร็วอีกต่างหาก

ประเภทของ Hybrid Work ที่องค์กรสามารถเลือกได้

การทำงานสไตล์ Hybrid Work อาจไม่มีลักษะที่ตายตัว ดังที่เรากล่าวไปแล้วว่าแต่ออฟฟิศจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบให้แก่พนักงานเพื่อปฏิบัติร่วมกัน หัวข้อนี้เราเลยลองยกตัวอย่างรูปแบบการทำงานสไตล์ Hybrid Work ให้เห็นกันคร่าว ๆ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. การทำงาน Hybrid Work แบบ Flexible

Hybrid Work รูปแบบแรกจะเน้นความยืดหยุ่นให้แก่พนักงานเป็นอันดับแรก ซึ่งพนักงานสามารถเลือกสถานที่และชั่วโมงการทำงานได้เองอย่างอิสระ โดยให้ยึดจากหน้าที่ความรับผิดชอบหรือความสำคัญของงานในแต่ละวัน ว่าวันไหนที่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศหรือวันไหนที่ไม่ยุ่งมาก ก็สามารถ Work from Anywhere ได้

ตัวอย่างเช่น ถ้าวันไหนที่พนักงานต้องใช้สมาธิกับงานของตัวเอง หรือเป็นงานที่ไม่ต้องข้องเกี่ยวกับคนอื่นมากนัก ก็สามารถใช้เวลาโฟกัสอยู่ตัวเองในการทำงานที่บ้าน คาเฟ่ หรือสถานที่อื่น ๆ ได้ แต่หากวันไหนที่มีงานที่ต้องขอความคิดเห็นจากทีม หรืออยากได้การตัดสินใจที่เร่งด่วน วันนั้นพนักงานก็สามารถเลือกที่จะเข้าออฟฟิศได้เช่นกัน

2. การทำงาน Hybrid Work แบบกำหนดวัน

รูปแบบนี้ทางบริษัทจะเป็นผู้กำหนดวันให้แก่พนักงาน ว่าวันไหนบ้างที่จะเป็นวันเข้าออฟฟิศ และวันไหนบ้างที่พนักงานสามารถ Work from Anywhere ได้ เช่น บริษัทกำหนดให้วันจันทร์-พุธ พนักงานทุกคนต้องเข้าออฟฟิศ และวันพฤหัสบดี-ศุกร์ พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งรูปแบบก็คือ การทำงานแบบสลับแผนก หรือสลับทีม A กับ ทีม B เช่น บริษัทกำหนดให้ทีม A เข้าออฟฟิศในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และ Work from Anywhere ในวันอังคารกับพฤหัสบดี ส่วนทีม B ให้เข้าออฟฟิศวันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และทำงานที่ไหนก็ได้ในวันพุธกับศุกร์ เป็นต้น

3. การทำงาน Hybrid Work แบบเน้นเข้าออฟฟิศ

การทำงาน Hybrid Work รูปแบบนี้จะเน้นให้พนักงานเข้ามาที่ออฟฟิศเป็นหลัก แต่ก็มีความยืดหยุ่นให้แก่พนักงานที่อยากจะ Work from Anywhere สามารถแจ้งต่อหัวหน้าทีมหรือบริษัทได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าก่อน หรืออาจ Work from Anywhere ได้แค่ 1 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

4. การทำงาน Hybrid Work แบบเน้นการ Remote Work

Hybrid Work รูปแบบสุดท้ายจะตรงกันข้ามกับข้อที่ 3 เลย นั่นก็คือ จะให้พนักงานเน้นการทำงานแบบ Work from Anywhere เป็นหลัก โดยอาจกำหนดเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ที่ให้พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศ เผื่อมีงานเร่งด่วนหรือเพื่อเป็นการเข้ามาประชุมอัปเดตงานกันในทีม เป็นต้น

หัวหน้าทีม คือหัวใจสำคัญสำหรับ Hybrid Work

สำหรับการทำงานแบบ Hybrid Work แน่นอนว่าพนักงานในบริษัท หรือคนที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม จะไม่ได้เจอหน้ากันทุกวัน แม้ว่าจะมีการสนทนา สื่อสาร หรือประชุมออนไลน์ผ่านวิดีโอคอลทุกวันก็ตาม ซึ่งบางครั้งก็อาจทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดขึ้นได้ ดังนั้นคนที่เป็น หัวหน้าทีม จึงถือเป็นกุญแจสำคัญให้ลูกทีมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นการทำงานแบบ Hybrid Work ก็ตาม โดยหน้าที่สำคัญที่หัวหน้าทีมควรคำนึงถึง มีดังนี้

  • มีการวางแผนและกำหนดเป้าหมายการทำงานให้ชัดเจน สร้างความเข้าใจที่ทั่วถึงกันแก่ทุกคนในทีม สามารถประสานงานให้เข้ากันได้อย่างเรียบร้อย
  • ทำหน้าที่ในการสร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้ลูกทีมมีความสุขในการทำงานอยู่เสมอ อีกทั้งยังต้องเดินทางสายกลาง ไม่ใจดีหรือเข้มงวดกับลูกทีมมากจนเกินไป เพื่อให้การทำงานของทีมเป็นไปอย่างคล่องตัว
  • สวมบทบาทเป็นเมนเทอร์แห่งรายการเรียลลิตี้โชว์ คอยสอนและให้คำแนะนำแก่ลูกทีมอยู่เสมอ อีกทั้งหากเห็นใครมีศักยภาพ ก็อย่าลืมที่สนับสนุนหรือพัฒนาเพื่อปั้นให้ลูกทีมเติบโตต่อไป
  • หากมีปัญหาเกิดขึ้น ต้องพร้อมแก้ไขปัญหาร่วมกับทีมให้ได้อย่างทันท่วงที กล้าตัดสินใจและเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

ประโยชน์ที่องค์กรได้รับจาก Hybrid Work

สำหรับการทำงานแบบ Hybrid Work นอกจากตัวพนักงานที่ได้รับประโยชน์แล้ว ในส่วนขององค์กรก็ถือว่าได้ประโยชน์จากการทำงานรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน

1. เพิ่มความอิสระให้แก่พนักงาน

ในสมัยนี้เรื่องของความเครียดไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้นการที่พนักงานได้รับความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น ก็จะช่วยลดความเครียดในการทำงานของพนักงานลงได้ ทำให้อยากทำงานมากขึ้น และสามารถผลิตผลงานที่มีประสิทธิภาพให้แก่องค์กรได้

2. ดึงดูดคนทำงานรุ่นใหม่

เราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มหันมาปรับ วัฒนธรรมองค์กร ให้หลากหลายและน่าสนใจมากขึ้น เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้อยากมาร่วมงานกับบริษัทของตัวเอง ซึ่งรวมไปถึงการทำงานแบบ Hybrid Work ด้วยนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มักมองหาความอิสระและมีความคล่องตัวสูง อีกทั้งยังสนใจเรื่องของเทคโนโลยีที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการใช้ชีวิต

3. ป้องกันการติดต่อของโรคระบาด

แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายและทุกอย่างเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรคร้ายนี้ก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ติดโควิดกันอยู่เรื่อย ๆ การทำงานแบบ Hybrid Work จึงมีส่วนช่วยสำคัญในการลดการแพร่ระบาดในที่ทำงาน ป้องกันการเกิด Cluster ใหม่ ๆ ช่วยให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัท

การทำงานแบบ Hybrid Work เป็นรูปแบบที่มีวันทำงานในออฟฟิศลดลง จึงทำให้การใช้พื้นที่หรือใช้พลังงานในสำนักงานน้อยลงไปด้วย ซึ่งหากวันไหนที่เป็นวันทำงานแบบ Work from Anywhere พร้อมกันทั้งบริษัท ตัวออฟฟิศเองก็ไม่ต้องเปิดสำนักงาน จึงช่วยประหยัดในส่วนของค่าไฟและค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่บริษัทต้องจ่ายได้

ข้อเสียของ Hybrid Work ที่อาจเกิดขึ้น

หากมองเผิน ๆ การทำงานแบบ Hybrid Work ที่ผสมผสานทั้งการทำงานแบบเข้าออฟฟิศ และ Work from Anywhere หรือ Work from Home จะตอบโจทย์การทำงานในยุคนี้และมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังมีข้อเสียด้วยเช่นกัน

1. พนักงานบางคนไม่สามารถปรับตัวได้

การทำงานแบบ Hybrid Work เป็นการทำงานที่ต้องสลับไปมา ระหว่างการเข้าออฟฟิศ และ Work from Home จุดนี้อาจทำให้พนักงานบางคนปรับตัวไม่ได้ เพราะความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบเข้าออฟฟิศ เพราะสามารถดีลงานได้ง่ายและรวดเร็ว แต่บางคนชอบทำงานแบบอิสระ เพราะต้องการสมาธิและเบื่อกับสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ในออฟฟิศนั่นเอง

2. การทำงานแบบสลับทีม ก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน

ส่วนออฟฟิศไหนที่เลือกใช้การทำงาน Hybrid Work แบบเข้าออฟฟิศสลับทีม บางครั้งก็ไม่เวิร์คเสมอไป เช่น หากมีวันที่ทีม A ต้องประชุมงานกับทีม B ซึ่งมีทีมหนึ่งที่เข้าออฟฟิศ และอีกทีมหนึ่ง Work from Home สุดท้ายแล้วก็ต้องอาศัยการประชุมผ่านวิดีโอคอลอยู่ดี ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ผิดพลาดเรื่องการสื่อสาร เสียเวลา และประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้ ดังนั้นบริษัทที่เลือกการทำงาน Hybrid Work รูปแบบนี้มาใช้ ต้องบริหารจัดการให้ดี

3. อาจไม่สะดวกสำหรับพนักงานบางคน

ในการทำงานของพนักงานบางตำแหน่ง เช่น กราฟิกดีไซเนอร์ หรือ คนตัดต่อวิดีโอ ที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในการทำงาน และไม่สามารถใช้แล็บท็อปได้ เนื่องด้วยสเปคของเครื่องหรือเหตุผลอื่น ๆ การทำงานแบบ Hybrid Work ก็อาจก่อปัญหาได้ ด้วยข้อจำกัดของอุปกรณ์ในการทำงานนั่นเอง

Hybrid Work กับ Work from Home ต่างกันอย่างไร

ดังที่อธิบายไปแล้วว่าการทำงานแบบ Hybrid Work คือการทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานแบบเข้าออฟฟิศ และการทำงานแบบ Work from Home เข้าไว้ด้วยกัน โดยองค์กรจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบของวันในการเข้าออฟฟิศ ส่วนการ Work from Home คือการทำงานจากที่บ้าน ซึ่งบางแห่งอาจกำหนดแยกระหว่าง Work from Home และ Work from Anywhere ออกจากกันอีกด้วย

โดย Work from Home คือการทำงานจากที่อยู่อาศัยหลัก และพร้อมสำหรับการถูกเรียกเข้าทำงานในออฟฟิศตลอดเวลา ส่วนการทำงานแบบ Work from Anywhere คือการไม่ต้องเข้าออฟฟิศและสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ตามที่พนักงานสะดวก เป็นการเข้าใจตรงกันระหว่างองค์กรและพนักงานว่า รูปแบบ Work from Anywhere จะไม่มีการถูกเรียกตัวเข้าทำงานในออฟฟิศอย่างกะทันหัน

ทั้งนี้ข้อดีและข้อเสียของการทำงานแต่ละรูปแบบ ก็จะแตกต่างกันออกไป โดยการทำงานแบบ Work from Home และ Work from Anywhere อาจช่วยให่พนักงานมีอิสระและลดความกดดันจากบรรยากาศความตึงเครียดในออฟฟิศได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสะดวกในการทำงานที่บ้านหรือทำงานที่ไหนก็ได้เสมอไป เพราะบางครั้งการที่คนเราอยู่บ้านนาน ๆ ไม่ได้ออกไปข้างนอก ก็อาจก่อให้เกิดอาการ Burn Out หรือความเบื่อหน่ายได้ไม่แพ้กัน

การทำงานทุกรูปแบบก็มักมีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีรูปแบบไหนที่ดีแบบ 100% แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำงานแบบ Hybrid Work ถือเป็นเทรนด์การทำงานที่มาแรงสุด ๆ ในยุคนี้ เพราะตอบโจทย์ได้ทั้งฝั่งองค์กรและพนักงานเอง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องบริหารจัดการให้ดี ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข และบริษัทเองก็ได้รับงานที่มีประสิทธิภาพจากพนักงานกลับมาด้วยเช่นกัน ส่วนใครที่กำลังมองหางานดี ๆ จาก บริษัทคุณภาพที่มีการทำงานแบบ Hybrid Work คลิกหางานที่ใช่กับ JobsDB ได้เลย

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/workationงานทิพย์ทุกสายอาชีพ/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/ธุรกิจโรงแรม-บริการ/

More from this category: เทรนด์งานยอดฮิตและเงินเดือน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้