ได้หลายที่ เลือกงานไหนดี ?

ได้หลายที่ เลือกงานไหนดี ?
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 20 May, 2024
Share

ได้หลายที่ เลือกงานไหนดี ?  การเลือกอาชีพที่ใช่ในยุคปัจจุบัน

ไม่มีงานก็เป็นปัญหา ได้งานหลายที่พร้อมกันก็เป็นปัญหาเช่นกัน


วันนี้ JobsDB ขอชวนคุยเรื่อง “การเลือกงาน” กันหน่อย โดยที่ผ่านมาอาจจะเป็นเรื่องของบันไดสู่อาชีพในฝัน การหางานรวมถึงเพิ่มทักษะต่าง ๆ กันไปบ่อยแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วการเลือกงานที่ใช่เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนอาจมองว่างานก็แค่สิ่งที่ทำเพื่อหาเงิน หรือเป็นเพียงหน้าที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน  

อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า งานส่งผลต่อสภาพจิตใจ อารมณ์และความรู้สึก บางงานให้ความภูมิใจ เต็มไปด้วยความหมายและความสุข ในทางตรงกันข้าม งานบางงานได้รับกลับมาแต่ความ Toxic และทำให้ด้อยคุณค่าในตัวเอง Low Self-Esteem แบบไม่รู้ตัว ดังนั้น การเลือกงานที่ดีตรงกับที่คุณปรารถนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่าลืมว่าจำนวนชั่วโมงที่เราใช้ไปกับการทำงาน 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าเวลานอนในหนึ่งอาทิตย์รวมกันของบางคนด้วยซ้ำ

5 วิธีคิด! เลือกงานอย่างไร เมื่อได้งานหลายที่พร้อมกัน

จริง ๆ แล้วเรื่อง “เลือกงาน” เป็นอะไรที่ค่อนข้างปัจเจกเฉพาะบุคคลมาก ไม่มีอะไรผิดหรือถูกตายตัว เพราะแต่ละคนก็มีปัจจัยที่สนับสนุนนิยามของคำว่า “งานที่ดี” แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าให้คุณค่าหรือให้น้ำหนักเวลาในเรื่องไหนมากกว่ากัน ดังนั้น เวลาที่ได้งานมาพร้อม ๆ กัน อาจจะต้องใช้เวลาพิจารณากับตัวเองให้ถี่ถ้วน 

1.เลือกงานจากเป้าหมายที่คุณกำลังตามหา

ลองเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปที่ Painpoint เดิมของการหางาน ว่าอะไรหรือสิ่งไหนที่คุณเองมองหาในงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสเติบโตในอาชีพ สวัสดิการและเงินเดือนที่ดีกว่า โลเคชันของออฟฟิศที่ตอบโจทย์ Culture การทำงานที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ ฯลฯ ใด ๆ 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างแบบกว้าง ๆ คุณอาจจะลองลิสต์เป็นข้อ ๆ เขียนออกมาสัก 5 อย่าง แล้ววางลำดับให้ชัดเจนว่าอะไรคือเป้าหมายที่คุณคาดหวังสูงสุด รองลงมาเป็นอะไร โดยข้อดีของการเขียนจะช่วยกลั่นกรองทางความคิด เสมือนคุณได้ทบทวนตัวเอง เมื่อเขียนแล้วลองเทียบงานที่ได้มาพร้อมกัน แล้วเลือกงานที่ใช่ ดูว่าที่ไหนตอบโจทย์คุณได้ใกล้เคียงในลิสต์มากที่สุด 

2. เลือกงานที่ไม่ได้เลือกแล้วคง “เสียดาย”

ข้อแรกแนะนำลองเอาความต้องการเป็นที่ตั้งแล้ว ข้อนี้เปลี่ยนวิธีเอา “ความเสียดาย” มาช่วยตัดทิ้งงานที่ใช่น้อยที่สุดออกไป ด้วยการเลือกงานโดยเอาความเสียดายเป็นที่ตั้ง 

ด้วยการพิจารณาดูว่างานไหนในชอยส์ที่มี หากไม่ได้ทำแล้วจะเสียดายมากกว่ากัน แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้แต่ละคนเสียดายย่อมแตกต่างกัน งานบางที่อาจจะให้เงินและสวัสดิการมากกว่า โอกาสเติบโตในอาชีพสูงแต่แลกมากับภาระงานที่หนัก ได้หยุด 1 วัน เทียบกับบริษัทที่มีนโยบายการทำงานแบบ Flexible ให้วันลาไม่จำกัด ทำงานแบบ Hybrid ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน 

แน่นอนว่าคนที่มีไฟ รักความก้าวหน้าในอาชีพ หากไม่เลือกงานแบบแรกคงเสียดายมากกว่า ความ Flexible อาจจะไม่ตอบโจทย์การทำงานสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่ถ้าเป็นคนที่ชอบความยืดหยุ่น อยากได้การทำงานแบบ Work life balance รูปแบบการทำงานในองค์กรแบบที่สอง คงเป็นงานที่น่าเสียดายกว่า หากไม่ได้เลือกงานนั้น

3. เลือกงานที่ให้ความหมายบางอย่างในชีวิต

จริงอยู่ที่เงินคือค่าตอบแทนหลักของการทำงาน ทุกคนทำงานเพื่อแลกเงิน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานบางงาน ให้ผลตอบแทนทางใจที่มีมูลค่ามากพอกับตัวเงิน แน่นอนว่า “คุณค่าทางใจ” ของแต่ละคนก็ต่างกัน

บางคนให้คุณค่ากับงานที่ได้ทำอะไรเพื่อสังคม ช่วยให้สังคมดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องรายได้หรือการแข่งขันที่สูง ขณะที่บางคน Value กับงานที่เติบโตในสายอาชีพ มองว่าการเลื่อนตำแหน่งเป็นความภูมิใจ ส่วนบางคนให้คุณค่ากับเวลา เน้นงานที่ใกล้บ้านใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตชิลล์ ๆ ไม่เน้นแบกภาระงานอะไรมากมาย 

ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้เลยทำให้แต่ละคนมองคุณค่าในงาน และ “เลือกงาน” ที่ต่างกันแล้วคุณล่ะ?  ให้คุณค่ากับอะไรมากกว่ากัน  

4.เลือกงานที่ตรงกับแนวโน้มตลาดงาน

ข้อนี้เอาแนวโน้มตลาดงานในปัจจุบันเป็นที่ตั้ง ตัดความชอบ ความถนัดในสายงานส่วนตัวของคุณออก ด้วยการพิจารณาว่า ปัจจุบันสายงานไหนได้รับความนิยมและมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากคิดแบบเร็ว ๆ ขณะนี้คงหนีไม่พ้นกลุ่มงานสายเทคโนโลยีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Developer, Business Analyst, Programmer ฯลฯ จะเห็นได้ว่าช่วงหลัง ๆ คนย้ายมาทำงานสายนี้กันเยอะขึ้น แบบข้ามสายมาเลยก็มี

ทั้งนี้ถ้ารู้สึกว่าสายเทคโนโลยีไม่น่าใช่ทาง ลองลุยสายงานที่ตัวเองทำอยู่ให้ลึกขึ้นก็ได้ เชี่ยวชาญให้สุดจนเป็น Specialist ในอาชีพของตนเอง รู้ให้จริง พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ คนเก่งกับโอกาสและงานใหม่เป็นของคู่กันเสมอ

5.เลือกงานจากสวัสดิการและวัฒนธรรมองค์กร

อีกหนึ่งข้อที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนนำมาพิจารณาในการ “เลือกงาน” นั่นคือ Culture องค์กรและสวัสดิการต่าง ๆ สังเกตได้จากคำถามของผู้สมัครงานในช่วงหลัง ๆ ที่เริ่มให้คนในบริษัทแชร์วัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่วันที่สัมภาษณ์งาน รวมถึงบอกถึงสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งช่วงหลังมานี้กลายมาเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงถึงภาพลักษณ์ของบริษัทว่ามองคนทำงานแบบไหน ให้คุณค่าไหม? หรือเน้นแต่แสวงหากำไรจากคนทำงานให้ได้มากที่สุด

ลองนึกภาพตามดูว่า บางแห่งตัวงานตอบโจทย์ตรงกับความท้าทายใหม่ที่เรากำลังมองหา แต่วัฒนธรรมองค์กรไม่ตรงกับแนวการทำงาน เช่น อยากได้ความสร้างสรรค์แต่กรอบและข้อจำกัดในการทำงานค่อนข้างเยอะ อยากเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ทันสมัย แต่คนในองค์กรยังขาดการเรียนรู้ สุดท้ายแล้วคงไม่มีใครแบกใครไหว หรือสวัสดิการวันลาให้น้อยแล้วยังจุกจิก ประกันสุขภาพไม่มี หรือสิ่งตอบแทนที่แสดงถึงการดูแลพนักงานในด้านอื่น ๆ นอกจากที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ให้

สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ช่วงที่ระหว่างเลือกงานก็อยากให้ทุกคนพิจารณาตรงนี้ด้วย อยู่ในองค์กรที่ความคิดไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ก็เหมือนคุณเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อไม่ตรงจุด ฝืนได้ก็อาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะถูกบีบอัดจากหลายทาง

5 วิธีเลือกงานที่ JobsDB แนะนำไปเป็นเพียงแนวทางแบบกว้าง ๆ ไว้เป็นไกด์ไลน์ ของแบบนี้ต้องลองถามใจตัวเอง ธงในใจที่คุณตั้งไว้บวกกับข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่มีใครเข้าใจดีเท่าตัวเรา เริ่มจากวางให้ชัดแล้วลุย เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้ครั้งนี้เราเลือกผิด ครั้งหน้าก็มีงานดี ๆ ให้เราได้เลือกใหม่อีกอยู่ดี ที่ JobsDB ค้นหางานในอุดมคติของคุณได้แล้ววันนี้!

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด