5 สิ่งสำคัญในการประเมินผลการทำงานครึ่งปี

5 สิ่งสำคัญในการประเมินผลการทำงานครึ่งปี
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 21 May, 2024
Share

5 สิ่งต้องพร้อม! ประเมินผลการทำงานครึ่งปีแรก

แค่ได้ยินคำว่า “ประเมิน” พนักงานหลาย ๆ คนคงพากันส่ายหน้าหนี เพราะเป็นอะไรที่ชวนเวียนหัวอยู่ไม่น้อย แต่จะให้หนีก็คงหนีไม่พ้น เป็นเรื่องที่ต้องเวียนมาเจอทุกปีหรือครึ่งปี ที่สำคัญเวลาในแต่ละปีก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว กะพริบตาทีเดียวก็จะผ่านไปแล้วครึ่งปี

เมื่อการประเมินเป็นสถานการณ์ที่หนีไม่ได้ ทำใจได้อย่างเดียว JobsDB เลยชวนทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรับการประเมินในครึ่งปีแรก ด้วยการเตรียมพร้อมตัวเอง เริ่มทบทวนผลงานที่ผ่านมาในช่วงครึ่งปีแรก ว่าผลลัพธ์เป็นไปในทิศทางไหน ตรงกับสิ่งที่ KPI วางไว้ไหม หรือมีส่วนไหนที่ต้องการความช่วยเหลือ อะไรที่พลาดไป เพื่อจะได้วางแผนการทำงานในช่วงครึ่งปีหลังได้ทันท่วงที

5 สิ่งต้องพร้อม! ประเมินการทำงานครึ่งปีแรก

เข้าใจว่าการประเมินย่อมเต็มไปด้วยความกดดันและความคาดหวัง แต่ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่หันซ้ายหันขวา เลือกที่จะเดินอ้อมก็ยังต้องเจอ เราเองในฐานะคนทำงานก็คงต้องปรับความคิด มองวัตถุประสงค์การประเมินเป็นหนึ่งในวิธีทบทวนตัวเอง เป็นหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ทีมหรือตัวเราเองทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  

หากเข้าใจวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ของการประเมินแล้ว มาเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับการประเมินในครึ่งปีแรก ตาม 5 ข้อนี้กัน!

1.เตรียมผลงานและทบทวนผลลัพธ์การทำงานในครึ่งปีแรก

ขั้นตอนแรกของการเตรียมตัวเพื่อเข้าลงสนามการประเมินผลงาน นั่นก็คือกลับไปทบทวนตรวจสอบผลงานที่ผ่านมาในทั้งหมดในครึ่งปีแรกว่ามีอะไรบ้าง ทั้งโปรเจกต์ส่วนตัวและงานที่ซัพพอร์ตทีม เช่น รายงานประจำปี ข้อมูลสถิติ หรือข้อมูลการติดตามเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ยิ่งถ้ามีผลลัพธ์เป็นตัวเลขด้วย ยิ่งช่วยให้ผู้ประเมินเห็นภาพและเชื่อถือได้ 

เมื่อรวบรวมไฟล์เอกสารแล้วก็เตรียมนำเสนอให้ดูเข้าใจง่ายและเป็นระบบ ทั้งยังจะช่วยให้เราเองเห็นภาพรวมในการทำงานมากขึ้น ว่ามีงานชิ้นไหนบ้างที่ทำเสร็จไปแล้ว งานชิ้นไหนยังเหลืออะไรหรือติดอยู่ที่ process ไหน ต้องการความช่วยเหลือส่วนไหนหรือมีงานอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง เพื่อให้คนทำงานวางแนวทางการทำงานอีกครึ่งปีที่เหลือได้

2.เช็กเป้าหมายและประเมินผลการทำงาน

เมื่อเห็นภาพรวมการทำงานในครึ่งปีแรกทั้งหมดแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงวิเคราะห์ดูว่าผลงานที่ได้ ทั้งปริมาณงานและผลลัพธ์เป็นไปตาม KPI ที่ตั้งไว้หรือไม่ อะไรที่เริ่มเข้าเป้า อะไรที่ดูแล้วออกนอกทางไปหน่อย จากนั้นค่อย ๆ ลิสต์เป็นหัวข้อไล่ไปตามลำดับ พร้อมใส่เหตุผลว่าอะไรที่ทำให้นั้นออกมามีผลลัพธ์แบบนั้น ถ้าดีแล้วจะพัฒนาอะไรต่อไป หรือส่วนไหนที่ยังไม่ดี จะลองแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างไร เพราะยังมีเวลาอีกครึ่งปีหลัง ที่ยังสามารถพัฒนางานให้มีคุณภาพตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

แนะนำว่าให้ใส่ Solutions ไปด้วย อย่าลิสต์ไปแค่ปัญหามันไม่ช่วยอะไร หรือถ้าส่วนไหนมองว่าอยากได้คำแนะนำพิเศษจากผู้ประเมิน คำตอบแบบนี้จะดูดีกว่า 

3. ตั้งเป้าหมายการทำงานในครึ่งปีหลัง

ทบทวนและประเมินการทำงานด้วยตัวเองไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องของการตั้งเป้าหมายในการทำงานปีหลัง ถึงแม้ทุกคนจะมี KPI ของบริษัทเป็นแกนหลักครอบไว้แล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่จากผลลัพธ์ในช่วงครึ่งปีแรกก็พอจะอนุมานและช่วยทำนายได้ว่า สุดท้ายแล้วเมื่อถึงสิ้นปีผลลัพธ์ต่าง ๆ จะเป็นไปตาม KPI หรือไม่

สิ่งที่ต้องการจะบอกคือ จากผลลัพธ์ เราสามารถวางแผนเป้าหมายการทำงานในครึ่งปีหลังได้ ส่วนไหนที่ดูแล้วว่าทำได้ ทำดี ทำถึงแบบสบาย ๆ แน่นอน คุณอาจจะไม่ต้องไปโฟกัสมาก ปล่อยไหล ๆ จอย ๆ ยืดหยุ่นไป แต่ส่วนไหนที่ทรงอ่อนแอ มีวี่แววน่าเป็นห่วง อาจจะลองกำหนดเป้าหมายใหม่ ใส่น้ำหนักความทุ่มเทลงในงานส่วนนี้มากขึ้น 

ทั้งนี้หากรู้สึกว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคให้การทำงานไม่เป็นไปตามที่คิด ยากกว่าที่ประเมิน ก็แจ้งกับผู้ประเมินได้เลย เพื่อที่อย่างน้อยเราเองในฐานะคนทำงาน จะได้เห็นทิศทางและเป้าหมายการทำงานในครี่งปีหลังที่ชัดเจน และตรงกันกับหัวหน้างาน (วางแผนแก้ไขได้ทัน) 

4.หาวิธีพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพงาน

ถึงตรงนี้คนทำงานน่าจะมองเห็นภาพการเตรียมตัวรับการประเมินที่ดีแล้ว ทั้งเรื่องของผลงานทั้งหมดในช่วงต้นปี ว่ามีส่วนไหนบ้างที่ยังต้องปรับปรุงหรือพัฒนา ซึ่งวิธีแก้ไขให้ดีขึ้นนั้นมีทั้งการแก้ไขด้วยตนเอง ลองหา Solutions ที่เหมาะกับตัวเรา หรือเพิ่มทักษะในด้านที่จะตอบโจทย์การทำงานมากขึ้น เช่น ถ้าคุณเป็นคนที่สื่อสารไม่เก่ง Miscommunication กันในทีมบ่อย ก็อาจจะต้องเพิ่มการสื่อสาร นัดคุย นัดซิงก์งานกันมากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจ

ทั้งนี้จะเอาคอมเมนต์ของหัวหน้าหรือผู้ประเมินมาปรับปรุงแก้ไขต่อก็ได้ ลองให้เขารีวิวการทำงานของเราด้วยความจริงใจแบบตรงไปตรงมา แล้วนำมาปรับใช้ เช่น หัวหน้าบอกว่างานของคุณเสร็จในระยะเวลาที่รวดเร็ว แต่มีจุดผิดเยอะ ดังนั้นจุดที่ต้องปรับคือความละเอียดรอบคอบ ดังนั้น ก่อนส่งงานทุกครั้งคุณเองต้องตรวจทานให้มากกว่าเดิมอย่างถี่ถ้วน

นอกจากนี้การเพิ่มทักษะและความสามารถในการทำงานก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงาน โปรเจกต์ KPI ลุล่วงแล้ว อย่าลืมใส่ใจเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ด้วย ยิ่งในยุคนี้เป็นยุคของเทคโนโลยี หากคุณนำเรื่องนี้มาต่อยอดช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งเป็นเรื่องดี งานบรรลุเป้าหมายได้ไว

5.เตรียมจิตใจและอารมณ์ให้พร้อม

เตรียมทุกอย่างแบบดีที่สุดแล้ว สุดท้ายเลยอย่าลืมเตรียมใจและอารมณ์ให้พร้อม สำหรับการรับผลการประเมินที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าจากการทบทวนผลงานมาคงพอจะเดาได้ว่าความเข้มข้นของการประเมินจะจบลงในแบบไหน อย่ากังวลกับอนาคตมากเกินไป มีสติตั้งรับและยอมรับกับความผิดพลาด แล้วก้าวต่อให้ไว

สรุปสิ่งต้องเตรียมก่อนการประเมินครึ่งปีแรก

คนทำงานส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับการประเมินผลการทำงานปลายปีเพียงอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้วการประเมินกลางปี ถือเป็นหนึ่งจุดระหว่างทางที่สำคัญ เพื่อให้เราแวะพักทบทวนว่ากำลังวิ่งไปถูกทาง เพื่อเข้าเส้นชัยปลายปีไหม 

เตรียมตัวให้พร้อมและรับผิดชอบหน้าที่ให้ที่สุด นั่นคือสิ่งที่เรากำหนดได้ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ยอมรับและปรับแก้ให้ไว ทุกการทำงานย่อมมีข้อผิดพลาดและมีโอกาสใหม่ ๆ ให้เราแก้ไขอยู่เสมอ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด