เลิกจ้างระหว่างทดลองงาน นายจ้างต้องบอกล่วงหน้าหรือไม่

เลิกจ้างระหว่างทดลองงาน นายจ้างต้องบอกล่วงหน้าหรือไม่
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

คุณเพิ่งเข้าทำงานที่ บริษัทแห่งหนึ่ง โดยมีกำหนดระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน แต่เมื่อคุณทำงานได้เพียง 30 วัน นายจ้างก็แจ้งให้คุณทราบว่า คุณไม่ผ่านการทดลองงานเสียแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นการบอกกล่าวนี้มีผลบังคับใช้ทันที วันพรุ่งนี้คุณจะกลายเป็นคนว่างงานอีกครั้ง อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เหตุการณ์เช่นนี้ยุติธรรมแล้วหรือ สำหรับลูกจ้างตาดำ ๆ อย่างคุณ

เรื่องการเลิกจ้างระหว่างทดลองงานนี้เป็น ปัญหาถกเถียงกันอย่างมาก ว่าลูกจ้างได้รับความยุติธรรมแล้วหรือ นายจ้างสามารถเลิกจ้างเมื่อไรก็ได้ ในระหว่างทดลองงานจริงหรือ จากหนังสือ “เลิกจ้างต้องระวัง” โดยคุณไพศาล เตมีย์ บอกไว้ว่า ปัญหาดังกล่าว เมื่อมีการฟ้องร้องกัน และมีฎีกาตัดสินออกมา ปรากฏว่า การเลิกจ้างเนื่องจากไม่ผ่านการทดลองงาน นายจ้างต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างรับทราบด้วย หากต้องการให้ลูกจ้างออกทันทีโดยไม่ต้องการบอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างจะต้องจ่าย “ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” ให้ลูกจ้างด้วยจึงจะถูกต้อง

แม้นายจ้างจะทำสัญญากับลูกจ้างไว้แล้วว่า “ระหว่างทดลองงานนั้น นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันที หากผลการทำงาน ไม่เป็นที่น่าพอใจ” แต่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่ ซึ่งเป็นวรรคที่กำหนดให้ การเลิกสัญญาจ้างลูกจ้าง จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือหากไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก็ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ไม่มีข้อความตรงไหนที่ยกเว้นให้ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อเลิกจ้าง ลูกจ้างที่อยู่ระหว่างทดลองงานเลย ในเมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ จะไปตีความว่าทำได้ และให้สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้นั้น ศาลท่านก็ถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ เพราะขัดกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ตามที่กล่าวมา

หรือแม้นายจ้างจะอ้างว่า การทำสัญญากำหนดการทดลองงาน 120 วันนั้น เป็นเหมือนทำสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา ดังนั้นเมื่อครบกำหนด 120 วัน หากผลงานไม่ดีก็เลิกจ้างได้เลย เพราะครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะตีความมาตรา 17 วรรคหนึ่งผิด ตรงข้อความที่ว่า “สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าว ล่วงหน้า”

อย่างไรก็ดี ศาลท่านมีการตีความที่ต่างออกไป ซึ่งมีแนวฎีกาออกมาแล้วว่า ไม่ถือว่าการกำหนดการทดลองงานแบบ “ไม่เกิน 120 วัน” เป็น “สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา” เหตุก็เพราะในช่วงระหว่าง 120 วันที่ว่านี้ นายจ้างมีสิทธิจะเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ หรือไม่เลิกจ้างก็ได้ ในเมื่อเป็นแบบนี้แล้วศาลจึงไม่ถือว่า สัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาทดลองงาน เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา

แต่ถึงแม้จะมีฎีกาออกมาเป็นแนวไว้แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าการถูกเลิกจ้างจะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าทุกกรณี หากคุณทำผิดตามมาตรา 119 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจ่ายเงินชดเชยใด ๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกจ้างที่อยู่ในช่วงทดลองงาน หรือถูกบรรจุเป็นพนักงานประจำแล้วก็ตาม

สรุปแล้ว การเลิกจ้างลูกจ้างระหว่างทดลองงานจึงแยกเป็น 2 กรณีใหญ่ ๆ คือ

  1. เลิกจ้างระหว่างทดลองงาน กรณีที่ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คือกรณีที่ลูกจ้างได้กระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 119
  2. กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คือการไม่ผ่านการทดลองงาน เนื่องจากผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะอาจขาดความรู้ ความสามารถหรือคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด

ดังนั้น หากคุณถูกเลิกจ้างระหว่างทดลองงานโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนหนึ่งงวดค่า จ้าง คุณมีสิทธิ์ได้เงินแทน ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า โดยนับระยะเวลาการทำงาน ตั้งแต่วันเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง จนถึงวันเลิกจ้างเป็นระยะเวลาทำงาน เพื่อเป็นฐานในการจ่ายค่าชดเชย

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

jobsDB Mobile App

คว้างานที่ใช่ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อผิดพลาดในการเลิกจ้างพนักงาน

เลิกจ้างอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง

More from this category: การเป็นผู้นำ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้