ในหนึ่งออฟฟิศมีคนอยู่ร่วมกันมากมายหลายเพศ หลายวัย ทำงานกับคนหลาย Gen ทำให้มีปัญหาจุกจิกเกิดขึ้นได้มากมาย ปัญหาระหว่างวัย เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้บ่อยครั้ง เพราะคนแต่ละช่วงวัย มีแนวคิดในการใช้ชีวิต และการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 40 ปี ขึ้นไป มักจะ
เชื่อมั่นในระบบอาวุโส และคาดหวังให้รุ่นน้องทำตามอย่างต้นด้วย แต่คนใน Gen Y และ Z เติบโตมาอีกแบบจึงไม่ได้ยึดถือเรื่องระบบอาวุโสเป็นหลักจึงทำให้โดนมองว่าปีนเกลียวอยู่บ่อยครั้ง ลองมาดูกันซิคะว่า ถ้าคุณเริ่มรู้สึกโดนท้าทายจากจูเนียร์ทั้งหลาย จะมีวิธีรับมือเหตุการณ์นี้อย่างไรดี
เป็นแบบอย่างที่ดี
ไม่มีอะไรจะพูดหรือบอกกล่าวกับคนรุ่นหลังได้ดีเท่า “การวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดี” คนรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเอง และมีแนวโน้มจะเชื่อในความสามารถ มากกว่าความอาวุโส ดังนั้นถ้าคุณทำทุกอย่างได้อย่างที่คุณต้องการจะสอนน้อง ๆ ด้วยล่ะก็ จะทำให้ความอาวุโสของคุณขลังขึ้นมามากทีเดียว คนที่จ้องจับผิดเพื่อจะหักหน้ากัน หรือหาเรื่องผู้ที่เด็กกว่าอย่างไม่มีเหตุผล มักจะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชา และอาจโดนปีนเกลียวกลับหนักกว่าเดิมด้วย การเป็นตัวอย่างที่ดีจะทำให้คุณสามารถตักเตือน และสั่งสอนคนอื่นได้อย่างไม่อายปาก ลองทำดู รับรองได้ว่าไม่ผิดหวัง
วางตัวเป็นกลาง
บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่ในที่ทำงาน มักจะเลือกข้าง “ฟัง” ผู้ที่เลเวลใกล้กันหรือสูงกว่าก่อน แล้วไปกล่าวโทษเด็ก จะบอกว่าเด็กสมัยใหม่ ค่อนข้างแอนตี้เรื่องนี้มาก เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่มีเหตุมีผล ไม่น่านับถือ เลือกข้าง สองมาตรฐาน และในบางกรณี เด็กๆก็มีเหตุผลที่น่าฟังเช่นกัน ดังนั้น คุณควรวางตัวเป็นกลางในออฟฟิศ ไม่หูเบา ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด เช่นนี้แล้ว รุ่นน้องในออฟฟิศจะนับถือใจคุณเป็นอย่างสูง
เปิดอก เคลียร์ใจ
ผู้ใหญ่บางท่าน มักมีทิฐิ ยึดติดกับลำดับขั้น และมีความรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องไปเคลียร์กับเด็กเมื่อวานซืน ปล่อยปัญหาคาราคาซัง รังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่มากขึ้น คุณควรปล่อยวางหัวโขนของตัวเองบ้าง แล้วหันหน้ามาเคลียร์ใจกับน้องๆในออฟฟิศดูหากรู้สึกว่ามีความขัดแย้งกัน เพราะบางทีต้นตอของปัญหานั้น ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย แต่กลับเป็นการยึดติดในความอาวุโส หรือตำแหน่ง ฐานะมากกว่า ได้เปิดอกคุยกัน ช่วยได้ในหลายเรื่อง ดีกว่าต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลไป แล้วต้องหาคนมาแทนให้วุ่นวาย
มีเหตุผล
เชื่อว่าไม่ว่ากับคนยุคไหน เหตุผลก็เป็นคำตอบที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้เสมอ ถ้ามีน้ำหนักมากพอ ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้ใหญ่ก็ควรถามเหตุและผลกับผู้น้อยก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น จึงทำให้เขามีพฤติกรรมปีนเกลียว เพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไขได้ถูกต้องต่อไป อย่าใช้อารมณ์ในการตัดสิน เพราะนั่นจะทำให้คุณดูไม่เป็นผู้ใหญ่เอาซะเลย คราวนี้ไม่ต้องรอให้เด็กปีนเกลียวขึ้นมา คุณก็ลงไปเล่นกับเขาเองในสนาม ระวังจะเสียความน่าเชื่อถือนะคะ
กล้าที่จะขอโทษ
อายุมิใช่ตัวการันตีความถูกต้อง ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจรับฟังไอเดีย และความคิดเห็นของผู้น้อยด้วย ในบางเรื่องผู้น้อยอาจเชี่ยวชาญกว่า หรือมีแนวทางที่ดีกว่าในการทำงาน หรือบางครั้งน้อง ๆ อาจมีเจตนาดีจริง ๆ การกล่าวคำขอโทษก่อน ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหน้าแต่อย่างใด บางครั้งการที่เข้าใจผิดกันไป หรืออะไรที่เป็นความขุ่นข้องหมองใจก็ตาม สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ด้วยคำขอโทษ ถ้าคุณกล้าหาญพอที่จะยอมรับในข้อบกพร่องของตัวเอง คุณจะได้ใจรุ่นน้องไปเต็ม ๆ อาจเปลี่ยนใจให้รุ่นน้องที่เคยปีนเกลียวกับคุณมาเป็นรุ่นน้องที่กลมเกลียวกับคุณแทนแลยล่ะ ไม่เชื่อก็ลองดู
ไม่ว่าในออฟฟิศของคุณจะมีกี่เจเนอร์เรชั่น สิ่งที่ควรให้แก่กันในทุกที่นั่นก็คือ “การให้เกียรติซึ่งกันและกัน” รวมถึงการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพียงเท่านี้ ไม่ว่าจะต้องทำงานร่วมกันกับเจนฯไหนก็ราบรื่นค่ะ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ