การที่พนักงานทำงานในองค์กรได้อย่างราบรื่นนั้น ความสุขถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้เลย เพราะ ความสุขของคนในองค์กร นั้นส่งผลโดยตรงกับความเจริญก้าวหน้าขององค์กร กล่าวคือถ้าพนักงาน ทำงานอย่างมีความสุข ปริมาณและคุณภาพของงานจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้องค์กรพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกันพนักงานที่ทำงานอย่างไม่มีความสุขผลงานที่ออกมาก็จะไม่มีคุณภาพตามไปด้วย ฉะนั้นลองมาเช็คกันดูค่ะว่าองค์กรของคุณมีความสุขดีอยู่หรือเปล่า
1. ขาด ลา มาสายบ่อย ๆ ไม่ดีแน่ ๆ
จริงอยู่ที่คนเรานั้นมีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยกันทุกคน แต่ในองค์กรที่มีประวัติการขาดลามาสายของพนักงานคนเดียวกันบ่อย ๆ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ เพราะคนเราถ้ามีความรู้สึกรักหรือชอบอะไรจะมีความกระตือรือร้นในสิ่งนั้น ๆ สำหรับการทำงานก็เช่นกัน หากพนักงานของคุณ มีความสุขกับงาน ที่ทำอยู่ พวกเขาจะมีความรู้สึกอยากตื่นเช้ามาทำงาน เมื่อพวกเขาไม่เครียดก็จะไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้ร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นประวัติการขาดลามาสายจึงช่วยบ่งชี้ได้ว่าคนในองค์กรของคุณมีความสุขอยู่หรือไม่
2. มีปัญหาในการส่งงาน
หลายคนอาจจะมองพนักงานที่ส่งงานไม่ทันตามกำหนดว่าเป็นคนที่จัดสรรเวลาได้ไม่ดี ทำให้ส่งงานล่าช้า ซึ่งเป็นผลมาจากตัวพนักงานเอง แต่ช้าก่อน อย่าลืมว่าการตัดสินเพียงครั้งสองครั้งนั้นอาจจะไม่ได้ผล คุณต้องลองย้อนกลับไปดูผลงานเก่า ๆ ของพนักงานในองค์กรด้วยว่าก่อนหน้านี้มีพฤติกรรมส่งงานล่าช้าหรือไม่ อย่างไร เพราะคนเราส่วนใหญ่เมื่อได้รับมอบหมายงานใหม่ ๆ แล้วมักจะมีไฟที่จะคิดตรงนู่นเพิ่ม ต่อเติมตรงนี้ใหม่ แล้วส่งงานตามกำหนดเวลา แต่ถ้าจู่ ๆ งานที่เคยส่งตามเวลาได้กลับมีปัญหา หรือไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม อย่าละเลย หัวหน้างานควรพูดคุยเพื่อสอบถามถึงสาเหตุ บางครั้งพนักงานคนนั้นอาจจะมีปัญหาติดขัดในการทำงาน หรืออาจเป็นปัญหาทางด้านจิตใจ ไม่มีความสุขในการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อการทำงาน ทำให้งานออกมาไม่ดี
3. โลกส่วนตัวสูง ไม่คบใครเลย
สมัยนี้คนที่มีโลกส่วนตัวสูงมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราอาจจะพบเห็นเขาไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร มองผ่าน ๆ อาจจะเป็นลักษณะส่วนตัวของเขา แต่อย่ามองข้ามเพราะแม้ในคนที่มีโลกส่วนตัวสูงมาก ๆ เวลาที่ต้องทำงานเป็นทีมอย่างน้อยเขาจะต้องพูดคุยกับเพื่อนในทีม แต่ถ้าหากพนักงานของคุณไม่สุงสิงกับใครเลยแม้แต่หัวหน้างาน ตรงนี้เริ่มน่าเป็นห่วงว่าเขาอาจจะไม่มี ความสุขในที่ทำงาน เลยไม่อยากสุงสิงกับคนอื่นก็เป็นได้
4. กราฟคนเข้า – ออกในบริษัทสูงมาก
ถือเป็นอีกหนึ่งตัววัดระดับความสุขในการทำงานของพนักงานได้ดี เพราะหากบริษัทไหนที่มี อัตราการลาออก โดยสมัครใจที่ค่อนข้างสูง นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าอาจจะมีปัญหาภายในบริษัท หรือพนักงานไม่มีความสุขในงานที่ทำอยู่ เพราะคนเราเมื่อไม่มีความสุข หรือไม่อยากทำอะไรส่วนใหญ่จะเลือกที่จะเดินหนีออกมาจากปัญหานั้น ๆ ค่ะ
5. พนักงานหมดไฟไม่ไหวจะไปต่อ
หลาย ๆ บริษัทชะล่าใจกับการที่พนักงานได้รับการโปรโมท เพราะคิดว่าพนักงานเหล่านั้นคงไม่อยากแข่งขันกับใคร ซึ่งอันที่จริงมีพนักงานบางส่วนที่มีแนวความคิดเช่นนี้ แต่ถ้าเขามีความสุขในที่ทำงาน ผลงานจะออกมาดี กลับกันพนักงานที่ไม่อยากได้รับการโปรโมท ไม่อยากทำงานเพื่อเลื่อนขั้น อาจจะเป็นประเภทหมดไฟหรือไม่มี ความสุขในที่ทำงาน บางคนคิดว่าทำงานหนักแค่ไหนก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม ถ้าอย่างนั้นก็ทำงานเท่าที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น หรือบางคนอึดอัดกับการทำงาน ทำให้รู้สึกว่าทำงานไปวัน ๆ ก็ได้ จะได้ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร
6. KPIสูงแค่ไหนก็ไปถึง
ในองค์กรที่ พนักงานมีความสุขกับงาน ที่ทำนั้น ผลงานที่ได้จะดีมีประสิทธิภาพ พนักงานจะใส่ใจและทุ่มเทกับงานที่ได้รับ มุ่งมั่นที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด แม้ว่าหลาย ๆ บริษัทมีวางเกณฑ์ KPI ที่สูงมาก แต่ถ้าพนักงานมีความสุขในองค์กรแล้ว พวกเขาจะร่วมมือกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายจนสำเร็จ
7. ลูกค้าหน้าเก่าไว้ใจ หน้าใหม่มีความเชื่อมั่น
แน่นอนว่าถ้าพนักงานมีความสุขกับงานที่ทำผลงานย่อมออกมาดี ส่งผลให้ลูกค้าประทับใจในบริการ ทำให้ลูกค้ายังคงใช้บริการกับบริษัท ต่อไป กลับกันถ้าบริษัทของคุณมีแนวโน้มที่ลูกค้าเก่าไม่กลับมาใช้บริการอีกเป็นจำนวนมาก ผู้บริหารอย่าลืมใส่ใจหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมลูกค้าจึงไม่ใช้บริการต่อ สาเหตุอาจเกิดมาจากการที่พนักงานไม่มีความสุขในการทำงาน ส่งผลให้ไม่มีแรงจูงใจทำงาน ผลงานก็ออกมาไม่ดี ลูกค้าหายหมด
8. บริษัทมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าถ้าสินค้าหรือบริการไม่ดีย่อมไม่มีทางที่บริษัทนั้น ๆ จะสามารถทำกำไรได้อย่างแน่นอน และองค์กรที่พนักงานมีความสุขในที่ทำงานย่อมส่งผลมาถึงผลงาน (สินค้า) หรือบริการด้วยอย่างแน่นอน ฉะนั้นผลประกอบการที่เป็นไปตามเป้าจึงสามารถช่วยวัดความสุขในที่ทำงานได้ด้วยเหมือนกัน
การ สร้างความสุขในที่ทำงาน นั้น ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันตั้งแต่ผู้บริหารที่วางนโยบายควรใส่ใจและคำนึงถึงความสุขและความใส่ใจของพนักงานด้วย ฝ่ายบุคคลก็ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้น่าทำงาน ผู้จัดการก็ต้องใส่ใจลูกน้องในทีมว่ามีปัญหาส่วนตัวหรือมีปัญหาในการทำงานหรือไม่ ต้องรู้จักกระตุ้นและให้กำลังใจลูกน้องตามสมควร ซึ่งองค์กรที่พนักงานมีความสุขกับงาน บรรยากาศในการทำงานราบรื่น จะช่วยให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันส่งผลให้องค์กรพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ