เขียนใบลาออกแล้ว แต่เจ้านายไม่อนุมัติ

เขียนใบลาออกแล้ว แต่เจ้านายไม่อนุมัติ
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

มาถึงเรื่องที่คนทำงานทุกคนควรทราบและเตรียมพร้อมไว้ด้วยประการทั้งปวง ว่าด้วยเรื่องของ “ การลาออก ” jobsDB จะมาช่วยไขข้อข้องใจ...เมื่อเขียนใบลาออกแล้ว ทำอย่างไรให้ถูกต้อง และต้องรอเจ้านายอนุมัติหรือไม่ หากเจ้านายไม่อนุมัติจะมีผลกับสวัสดิการ ผลประโยชน์ หรือใบผ่านงานอย่างไร แล้วการแจ้งลาออกที่ถูกต้องควรทำเช่นไรจึงจะจากกันด้วยดีทั้งสองฝ่าย

มาทบทวนความรู้ด้านกฎหมายแรงงานกันสักนิด โดยปกติแล้วสัญญาจ้างทำงาน จะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ

  1. สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา
  2. สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา (รวมไปถึงการจ้างงานโดยไม่มีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย)

สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อใด?

  1. สัญญาจ้างที่ระบุระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนชัดเจน เมื่อถึงระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญา การจ้างงานนั้นก็สิ้นสุดไปโดยปริยาย ในกรณีนี้ลูกจ้างไม่ต้องเขียนใบลาออก และนายจ้างก็ไม่ต้องทำหนังสือเลิกจ้าง
  2. สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อนายจ้างบอกเลิกจ้าง คือบริษัททำหนังสือเลิกจ้างแจ้งให้พนักงานทราบว่าจะไม่จ้างงานอีกต่อไป พร้อมระบุสาเหตุของการเลิกจ้างอย่างชัดเจน
  3. สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง คือพนักงานเขียนใบลาออกโดยระบุวันที่มีผล (ตามกฎหมาย) คือวันที่จะไม่มาทำงานอีกต่อไปแล้วนั่นเอง

จะเห็นได้ว่ากรณีที่สัญญาจ้างระบุวันเลิกจ้างอย่างแน่นอนก็ไม่มีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนแต่อย่างใด เพราะได้ตกลงทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายไว้แต่ต้น หรือกรณีที่บริษัททำหนังสือเลิกจ้างก็มีความชัดเจนในส่วนของนายจ้างเกี่ยวกับเหตุผลและรายละเอียดของการเลิกจ้าง แต่กรณีที่เราจะพบเจอกันได้บ่อยที่สุด และมีปัญหาคาใจกันมากที่สุด ก็คือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาด้วยการเขียนใบลาออกนี่เอง ที่ไม่ค่อยชัดเจนว่าต้องแจ้งล่วงหน้าเมื่อใดจึงจะถูกต้องตามระเบียบบริษัทและกฎหมายแรงงาน และขั้นตอนการยื่นใบลาออก...ทำอย่างไรให้ไม่มีปัญหาตามมา อย่างการไม่อนุมัติใบลาออก ส่งผลไปถึงการเสียผลประโยชน์เกี่ยวกับสวัสดิการต่าง ๆ ที่พนักงานอย่างเรา ๆ พึงได้รับอีกด้วย

การลาออกต้องรอให้บริษัทอนุมัติหรือไม่?

เมื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักของการบอกเลิกสัญญาจ้างดังข้างต้น ก็จะปรากฏคำตอบชัดเจนอยู่แล้วว่า การลาออกไม่จำเป็นต้องรอการอนุมัติจากบริษัท เพราะลูกจ้างแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างเอาไว้ในใบลาออกแล้วว่าต้องการจะให้การจ้างมีผลสิ้นสุดเมื่อไหร่ ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดวันที่ลูกจ้างระบุไว้ในใบลาออก ลูกจ้างจึงไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไป

เรื่องลาออกอาจจะเหมือนจบได้ง่าย ๆ เพียงแค่กระดาษแผ่นเดียวเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าบริษัทส่วนใหญ่มักจะมีระเบียบข้อบังคับเป็นของตัวเอง ระเบียบข้อบังคับของหลาย ๆ องค์กรก็ยังกำหนดให้ลูกจ้างต้องได้รับการอนุมัติการลาออกเสียก่อน จึงจะมีสิทธิ์ได้รับใบผ่านงาน เงินบำเหน็จ เงินประกัน หรือเงินสวัสดิการต่าง ๆ เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เหล่านี้นี่แหละที่สร้างปัญหาน่าปวดหัวตามมาได้อีกมากมาย จากที่เคยคิดว่าจะจบได้ อาจต้องยืดเยื้อกันไป หากเจ้านายไม่อนุมัติใบลาออก

ทำอย่างไรให้การลาออกถูกต้องและถูกใจทุกฝ่าย?

- ศึกษากฎหมายแรงงาน และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างละเอียด ดูหัวข้อ “การลาออก” ว่าบริษัทของเรากำหนดให้มีขั้นตอนปฏิบัติอย่างไร ต้องยื่นล่วงหน้ากี่วัน และต้องยื่นต่อใคร

- ช่วงเวลาแจ้งการลาออกที่เหมาะสม โดยปกติแล้วข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดหลักเกณฑ์การลาออกไว้ว่า ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หากพนักงานปฏิบัติตามเงื่อนไขและระเบียบทุกประการแล้ว  ถือว่าได้ลาออกชอบด้วยกฎหมาย คือไม่มีความเสียหายจากการทำงาน  นายจ้างไม่มีเหตุที่จะไม่อนุมัติ รวมถึงไม่มีสิทธิ์หักเงินประกัน เงินบำเหน็จ และเงินสวัสดิการต่าง ๆ อย่างแน่นอน

- เมื่อตัดสินใจลาออก สิ่งแรกที่ควรทำคือการบอกกล่าวเจ้านายด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นแนวทางที่ให้เกียรติกันมากกว่าการส่งจดหมายลาออกไปให้รู้สึกช็อกก่อนได้พูดจาทำความเข้าใจ บอกเหตุผลที่ตัดสินใจไปทำงานที่บริษัทใหม่ พูดในเชิงบวก และรักษาน้ำใจกับทุกฝ่าย มีเคล็ดลับอยู่นิดนึงว่า ควรวางแผนที่จะบอกข่าวการลาออกกับเจ้านายในตอนเย็นก่อนวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อให้ต่างฝ่ายได้มีเวลานั่งคิดทบทวน และเตรียมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาภายหลังการลาออกของเรา

- เมื่อพูดคุยกันตรง ๆ จนเป็นที่เข้าใจแล้ว ค่อยส่งจดหมายลาออกตามขั้นตอน วิธีการเขียนใบลาออกที่ถูกต้องก็คือ ใช้แบบฟอร์มที่บริษัทกำหนด ลงวันที่ยื่นใบลาออก และวันที่มีผลลาออกอย่างชัดเจน แล้วอย่าลืมเก็บสำเนาใบลาออกไว้ด้วย

- การบอกกล่าวล่วงหน้าเกี่ยวกับการลาออก แสดงให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมของตัวเราเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการให้เกียรติกับเจ้านายในการเตรียมแผนรับสถานการณ์นี้ด้วย แม้ในกฎหมายแรงงานจะกำหนดวันแจ้งล่วงหน้าไว้ประมาณ 1 เดือน แต่เราสามารถให้เวลามากกว่านั้นได้เท่าที่จำเป็น ถือว่าเราทำดีที่สุดแล้วในการให้โอกาสองค์กรได้รับสมัครคนใหม่หรือแม้แต่หาพนักงานอีกคนมาเรียนรู้งานต่อจากเรา

- เตรียมการส่งมอบงานให้เรียบร้อย อาจให้เวลาในการสอนงานประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อแสดงถึงความเอื้อเฟื้อของเรา นอกจากนี้ยังควรจัดเอกสารและไฟล์ต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ ตลอดจนคืนอุปกรณ์ต่าง ๆ ของบริษัท รหัสเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บัตรพนักงาน ฯลฯ ให้เรียบร้อย

แม้จะเลือกลาออกจากงานแล้ว ก็อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นเรื่องยืนยาวมากกว่า ควรเหลือช่องทางในการติดต่อสัมพันธ์กันไว้บ้าง เผื่อในอนาคตอาจกลับมาร่วมงานกันได้อีก พูดคุยร่ำลากันด้วยดี จากไปให้คนคิดถึง ไม่แน่ว่าสายสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรเก่าอาจเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในวันข้างหน้า เห็นไหมว่า...หากใส่ใจรายละเอียดเกี่ยวกับการลาออกให้มากพอ ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบ ให้เกียรติเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน การลาออกก็ไม่ใช่อุปสรรคในการออกไปเติบโตในสายอาชีพกับองค์กรใหม่อีกต่อไป

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

jobsDB Mobile App

คว้างานที่ใช่ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ถึงเวลาลาออกหรือยัง

ตอบคำถามสัมภาษณ์งาน “เหตุผลที่ลาออกจากที่เก่า”

More from this category: ลาออก

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้