สร้าง Growth mindset ให้ทีมเวิร์ค เทรนด์ใหม่ของคนวัยทำงาน

สร้าง Growth mindset ให้ทีมเวิร์ค เทรนด์ใหม่ของคนวัยทำงาน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ในยุคสมัยนี้การเป็นคนเก่งในที่ทำงาน อาจไม่ใช่เพียงแค่เหตุผลเดียวหรือเป็นเหตุผลที่บริษัทนั้นๆ จะมองหาคนมาร่วมงานด้วย แต่จำเป็นต้องมี Growth Mindset ติดตัวมาด้วย จนทำให้หลายบริษัทใส่เรื่องนี้ลงในคุณสมบัติของผู้สมัครงานกันเลยทีเดียว เพราะโลกตอนนี้ถือเป็นโลกที่ไม่หยุดนิ่ง มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่ต้องอาศัยทักษะในการปรับตัวและความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พอสมควร

เพราะถ้าเก่งอย่างเดียว แต่ไม่พร้อมที่จะปรับตัวหรือรับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ก็อาจมีส่วนนำพาให้องค์กรไปไม่ถึงจุดหมายได้ ดังนั้นเรื่องราวของ Growth Mindset จึงถือเป็นหลักสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะมีส่วนช่วยให้องค์กรก้าวหน้าได้ต่อไปในระยะยาว

สร้าง Growth mindset ให้ทีมเวิร์ค เทรนด์ใหม่ของคนวัยทำงาน

ทำความรู้จัก Growth Mindset

เกริ่นกันไปเล็กน้อยแล้ว คราวนี้มาเรียนรู้เรื่องของ Growth Mindset กันแบบเจาะลึกดีกว่า ว่าคำนี้แปลว่าอะไรกันแน่ Growth Mindset คือ หลักแนวคิดที่เชื่อกันว่า คุณสมบัติต่างๆ ขั้นพื้นฐาน ความรู้ ความสามารถ เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ จากการพยายามฝึกฝนตัวเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งการปลูกฝังความเชื่อในตัวเองที่ว่า คุณสามารถเรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ผสานการฝึกฝนทักษะที่ไม่เคยทำหรือไม่เคยชินให้กลายเป็นความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงนิสัยของตัวคุณหรือพฤติกรรมของตัวเองได้ หากมีการพยายามอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถือเป็นหลักทางความคิดที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ควรที่หยุดการเรียนรู้ พร้อมการสร้างทักษะใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้เสมอ ภายใต้ความพยายามของคนๆ นั้น ผสานกับประสบการณ์ที่สั่งสมมา อีกทั้งยังต้องเป็นคนที่กล้าเผชิญกับความล้มเหลว หากล้มแล้วก็พร้อมที่นำความพ่ายแพ้มาเป็นบทเรียนให้ตัวเองในการลุกขึ้น เพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้อีกครั้ง

เพราะการมองเห็นถึงความผิดพลาดหรือความล้มเหลวนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นสิ่งสำคัญที่มีประโชยน์แก่ทั้งตัวพนักงานเอง รวมไปถึงบริษัทด้วย เพราะถ้ามีพนักงานทุกคนมีกรอบความคิดแบบนี้ ก็จะช่วยให้ทีมสามารถวิเคราะห์ถึงปัญหาต่างๆ ได้แบบตรงเป้าหมาย แถมยังเป็นการช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีภายในให้ทำงานกันอย่างเป็นทีมเวิร์ค ไม่เกิดการโยนกันไปมา หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ดังนั้นการปลูกฝังความคิดเหล่านี้ให้แก่ลูกน้องหรือพนักงานบริษัท ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งหัวหน้าและตัวองค์กรเอง

เมื่อ Growth Mindset ต้องเจอกับ Fixed Mindset

นอกจาก Growth Mindset แล้ว ก็ยังมี Fixed Mindset อีกด้วย ซึ่งหมายถึง คนที่มีแนวคิดแบบตายตัว ซึ่งถือเป็นทัศนคติที่ตรงกันข้ามกับ Growth Mindset โดยสิ้นเชิง โดยคนที่มีความคิดแบบนี้ มักเชื่อว่าคนเราไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ เพราะมีคุณสมบัติที่จำเพาะของแต่ละคน มีอะไรติดตัวมาอย่างไรก็คือมีเท่านั้น นอกจากนี้ก็มีความคิดแบบ Fixed Mindset ยังอาจหมายถึงการยึดติดกับอะไรเดิมๆ และไม่สามารถก้าวออกจากกรอบไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ได้ ไม่ชอบคิดอะไรแหวกแนวหรือทำอะไรที่นอกกรอบ ทำให้พวกเขาเหล่านั้น ไม่อยากเกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว เพราะพวกเขายังไม่พร้อมกับการเผชิญกับความล้มเหลวหรือการไม่ประสบความสำเร็จที่อาจเกิดขึ้น

ทำไมคนเราถึงควรมี Growth Mindset

ตามที่ยกตัวอย่างเรื่องราวของ Fixed Mindset ไปแล้วด้านบน จะเห็นได้ว่าความคิดแบบนั้น ดูจะเป็นความคิดที่ปิดตัวเอง และไม่อาจมีส่วนให้ตัวเองได้พัฒนาทักษะหรือความสามารถสักเท่าไร แต่การมีความคิดแบบ Fixed Mindset ก็ไม่ใช่จะไม่ดีหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังนั้นค่อยๆ เปลี่ยนแปลงให้ตัวเองมีความคิดแบบ Growth Mindset นี่แหละที่จะช่วยได้

ซึ่งการมีความคิดแบบ Growth Mindset อาจไม่จำเป็นต้องใช้กับคนที่มีความคิดแบบ Fixed Mindset แต่เป็นใครก็ได้ที่อยากพัฒนาตนเอง นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักที่ว่าทำไมคนเราถึงควรมี Growth Mindset เพราะเราจะเป็นคนที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ กล้าออกนอกกรอบ กล้าทดลองทำอะไรใหม่ๆ โดยไม่เกรงกลัวต่อปัญหาที่อาจจะตามมา จึงทำให้เป็นผลดีที่สามารถรังสรรค์ไอเดียหรือผลงานใหม่ๆ ออกมาได้อยู่เสมอ จนไปถึงประสิทธิภาพของชิ้นงานหรือการทำงานที่ดีขึ้นด้วย

ตัวอย่างแนวคิดและพฤติกรรมแบบ Growth Mindset

- เกิดการเรียนรู้เมื่อมีข้อผิดพลาด

- พร้อมเปิดช่องว่างเพื่อการพัฒนาอยู่เสมอ

- กล้าเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้น

- มีความคิดสร้างสรรค์และกล้าออกนอกกรอบ

- รู้สึกอยากใฝ่หาความรู้และต้องการพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น

- กล้าที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ

- พร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลง

- มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กร

- มีความส่งเสริมในการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร

5 วิธีสร้าง Growth Mindset ให้ทีมเวิร์ค

ได้รู้ถึงความหมายและเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงต้องมีความคิดแบบ Growth Mindset กันไปแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาลงมือปฏิบัติกันแล้วล่ะ ว่าจะมีวิธีอย่างไรบ้าง ที่จะสามารถช่วยกันสร้างทีมของเราให้มีแนวคิดแบบ Growth Mindset กันบ้าง เพื่อให้ทีมเวิร์คของเรามีประสิทธิภาพมากที่สุด

1. ความคิดที่ต้องเริ่มต้นจากผู้นำ

หากผู้นำทีมก็มีชัยกว่าไปครึ่ง ประโยคนี้สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง แม้กระทั่งเคสนี้ก็เช่นกัน ดังนั้นจุดเริ่มต้นหลักในการปลูกฝังความคิดแบบ Growth Mindset ก็คือควรเริ่มต้นจากหัวหน้าทีมก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งหัวหน้าทีมควรรับบทบาทผู้นำที่มีความคิดที่เปิดกว้าง สามารถชี้นำและสนับสนุนให้คนในทีมหรือคนในองค์กรเสริมสร้าง Growth Mindset ไปพร้อมกัน

ยิ่งในยุคนี้ที่เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นตลอดเวลา หากหัวหน้าทีมไปปรับตัวยอมรับตรงนี้ หรือไม่กล้าออกนอกกรอบ ก็อาจทำให้ทีมล้าหลังหรือมีปัญหาได้ ดังนั้นหัวหน้าทีมจึงควรนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์หรือเป็นตัวช่วยในการทำงาน ด้วยการสร้างรูปแบบหรือวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างบุคคล หรือ การพัฒนาแผนการตลาดแบบใหม่ เป็นต้น

ซึ่งการที่หัวหน้าำร้อมปรับตัวในการนำเอาสิ่งใหม่ๆ มาใช้ ก็จะทำให้น้องๆ ในทีมมองเห็นถึงความสามารถของหัวหน้าได้เช่นกัน และพวกเขาก็จะเห็นว่าหัวหน้าเป็นตัวอย่างที่ดีของเขา และพวกเขาก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามและมี Growth Mindset ไปพร้อมๆ กันทั้งทีม

2. เริ่มต้นทีละสเต็ป

บางตำแหน่งหรือสายงานอาจมีลักษณะการทำงานแบบ Routine หรือเป็นการทำงานที่ตายตัว ไม่ค่อยมีความยืดหยุ่น ซึ่งคนในทีมก็มักจะเคยชินกับกิจวัตรการทำงานแบบเดิมๆ ที่เคยทำในทุกวัน ดังนั้นการเริ่มสร้าง Growth Mindset จึงต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ลองจัดประชุมทีมสัก 1 ครั้ง แล้วให้ทุกคนในทีมลองแชร์สไตล์หรือวิธีการทำงานของแต่ละคนใหเพื่อนฟัง พร้อมทั้งแชร์ถึงปัญหาที่แต่ละคนต้องเจอ ซึ่งแม้งานที่ทำจะเป็นแบบเดิมๆ ทุกวัน แต่อย่างไรเสียก็ต้องมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งคนที่เผชิญกับปัญหานั้นจะเป็นคนเดียวที่รู้และสามารถแก้ไขมันได้

ดังนั้นการร่วมกันแชร์ประสบการณ์การทำงานและสไตล์การทำงานของแต่ละคน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปลูกฝัง Growth Mindset ให้แก่ทีม และนั่นก็จะมีเวลาให้พวกเขาได้ปรับตัวและปรับความคิดของพวกเขาได้แบบ Step by Step

3. ผลงานสำคัญกว่าเวลาการทำงาน

ในสมัยนี้หลายออฟฟิศมีการยืดหยุ่นเรื่องเวลาการเข้า-งาน เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียดให้แก่พนักงาน แล้วหันมามุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ของชิ้นงานแทน เพราะคนที่มีชั่วโมงทำงานที่มากกว่า ไม่ได้แปลว่าเป็นคนที่มีความขยันกว่าคนอื่นเสมอไป ดังนั้นจึงควรที่เปลี่ยนการวัดประสิทธิภาพมาเป็นการประเมินที่ตัวผลงานน่าจะดีกว่า

สามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ปริมาณงาน เป้าหมายของทีม และวันกำหนดส่งงาน อย่างชัดเจน จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกในทีมที่จะเอาปัจจัยเหล่านี้ไปบริหารเวลาของตัวเอง โดยที่หัวหน้าก็ต้องมีความเชื่อใจลูกน้องในระดับหนึ่ง ไม่ต้องเข้าไปก้าวก่าย และให้อิสระพวกเขาในการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายและมีอิสระในการทำงานมากขึ้น สามารถช่วยลดความกดดันได้ดี และหากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น พวกเขาก็จะสามารถตั้งสติได้ง่ายขึ้นในการรับมือกับมัน

และไม่แน่เมื่อพวกเขาผ่อนคลายในการทำงาน จนสามารถส่งงานได้ก่อนเวลาที่กำหนด พวกเขาก็สามารถนำเวลาที่เหลือไปเพิ่มพูนทักษะหรือพัฒนาสกิลใหม่ๆ ให้แก่ตัวเองได้เช่นกัน ช่วยทำให้พวกเขามองเห็นคุณค่าของตัวเองเพิ่มมากขึ้น

4. สร้างการทำงานที่โปร่งใสและเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย

สำหรับวิธีนี้ก็คืออาจเป็นการลองปรับวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ที่หัวหน้าเป็นคนตัดสินใจและรับรู้ข้อมูลทั้งหมดของทีมเพียงคนเดียว ให้กลายเป็นทุกคนสามารถเห็นงานของคนอื่นในทีมได้ด้วย รวมไปถึงการย้ายข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานมาไว้ที่ไฟล์ส่วนกลางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดขั้นตอนยิบย่อยที่ไม่จำเป็นลงได้ เช่น การขออนุญาตเข้าถึงข้อมูล การขอรายละเอียดงานต่างๆ จากเพื่อนร่วมทีม ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นการเสียเวลาไม่น้อย ดังนั้นหากมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน ก็ช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วมากขึ้น เพราะเราสามารถรู้ได้ทันทีว่าคนไหนรับผิดชอบงานส่วนใด และเราต้องไปประสานงานกับใครโดยตรง ส่งผลไปยังเรื่องการสื่อสารในทีมที่จะช่วยให้ดีขึ้น และทำให้ทีมมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น

5. สร้างนวัตกรรมการทำงานแบบใหม่

เมื่อปรับขั้นตอนและลักษณะการทำงานที่เคยทำกันอยู่แล้ว ก็ถึงเวลาในการพัฒนาตัวเองแล้วล่ะ ลองฝึกให้คนในทีมได้พัฒนาตนเองหรือริเริ่มไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่นการลองให้พวกเขารับผิดชอบงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยทำให้พวกเขากล้าที่จะก้าวออกจากกรอบเดิมๆ ของตัวเอง

นอกจากนี้ยังควรส่งเสริมให้ลูกทีมได้ไปเสริมทักษะเพิ่มเติมจากการเทคคอร์สพิเศษต่างๆ จากนั้นก็ลองให้เขาทำผลงานส่งสักหนึ่งชิ้น หลังจากที่เรียนคอร์สพิเศษเสร็จแล้ว ปิดท้ายด้วยการยอมรับไอเดียใหม่ๆ จากพวกเขา รวมไปถึงการชื่นชมยินดี หากผลงานของพวกเขาเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมการทำงานใหม่ๆ จากการพัฒนาทีมด้วยตัวคุณเอง

สรุปวิธีสร้าง Growth Mindset ให้ทีมเวิร์ค

จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วการสร้าง Growth Mindset นั้นไม่ยากอย่างที่คิด ขอแค่มีความกล้าในเปิดใจและกล้าก้าวออกจากกรอบเดิมๆ พร้อมเผชิญกับปัญหา ยอมรับความผิดหวัง และพร้อมลุกขึ้นใหม่ทุกครั้ง รวมไปถึงการสนับสนุนทุกความคิดของคนในทีม เพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาตัวเองและทีมเวิร์ค แม้บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับบ้าง แต่เชื่อว่าหากทุกคนในทีมมีความคิดแบบ Growth Mindset แล้ว ทั้งทีมเวิร์คและบริษัทจะต้องได้รับพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และผลิตผลงานที่มีคุณภาพออกมาได้แน่นอน

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/agile-mindset/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b9%8c%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%84-digital/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/upskill-reskill-%e0%b8%84%e0%b8%b7%e0%b8%ad-%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%94/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้