ความแตกต่างระหว่างงาน QA กับงาน QC ที่ต้องรู้ก่อนสมัครงาน

ความแตกต่างระหว่างงาน QA กับงาน QC ที่ต้องรู้ก่อนสมัครงาน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ในการทำงานด้านอุตสาหกรรมมีการแบ่งงานออกเป็นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรควบคุม พนักงานฝ่ายผลิต Quality Assurance หรือ QA และ Quality Control หรือที่คุ้นเคยกันว่า QC แม้ว่า QA และ QC จะทำงานในสายการผลิตเช่นเดียวกัน รวมถึงมีการทำงานที่ประสานกันอยู่ แต่หน้าที่ของทั้ง 2 ตำแหน่งก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าหน้าที่ของ QA และ QC ต่างกันอย่างไร บทความนี้จะอธิบายให้เข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมคุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 ที่เรียกกันว่าระบบบริหารคุณภาพ (Quality Management System: QMS) ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างการจัดการองค์กร, การกำหนดอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคลากร, กระบวนการทำงาน, เอกสารระเบียบขั้นตอนการดำเนินงาน, วิธีการปฏิบัติงาน และทรัพยากรการจัดการ เพื่อให้การบริหารคุณภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดตำแหน่ง QA และ QC ขึ้นมาเพื่อควบคุมคุณภาพของสินค้า

การประกันคุณภาพ หรือ Quality Assurance: QAหมายถึงการกระทำที่มี การวางแผนไว้ล่วงหน้า อย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการจะมาสามารถตอบสนองความต้องการทางด้านคุณภาพได้ตามตกลง ซึ่งการประกันคุณภาพนี้เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าจะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเท่านั้น

ส่วนการควบคุมคุณภาพ หรือ Quality Control: QCเป็นการตรวจสอบสินค้าและบริการให้เป็นไปตามมาตรฐาน (Standard) ซึ่งถูกต้องหรือสอดคล้องตรงตามแผนที่ได้วางไว้ ทั้งในด้านคุณภาพ (Quality) และปริมาณ (Quantity) โดยการควบคุมคุณภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกันคุณภาพ (QA) และการประกันคุณภาพก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริการคุณภาพ (QMS) และระบบการบริหารคุณภาพก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารธุรกิจที่มีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือ การสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า

หน้าที่ของQuality Assurance หรือ QA

QA จะปฏิบัติหน้าที่เชิงรุกโดยเน้นไปที่การวางแผน และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในขั้นตอนการผลิตที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่ง QA จะเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานของสินค้าและบริการให้ตรงกับ ความต้องการของลูกค้า มากที่สุด รวมถึงต้องตรวจสอบสินค้าที่ผ่านการ QC มาแล้วอีกครั้ง ซึ่งหากเกิดปัญหาในกระบวนการผลิตสินค้า QA จำเป็นต้องมองให้เห็นถึงปัญหา และทำความเข้าใจในเชิงระบบ โดยนำปัญหาของเสีย หรือการเกิดตำหนิที่เกิดไปวิเคราะห์เพื่อวางแผน ป้องกันไม่ให้เกิดของเสีย หรือลดจำนวนการเกิดปัญหาในระยะยาว

หน้าที่ของQuality Control หรือ QC

ในขณะที่ QA เป็นผู้วางแผนการทำงาน QC ก็คือผู้ปฏิบัติการที่จะต้องตรวจสอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่
QA กำหนด โดย QC ต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียดอ่อนและช่างสังเกต
ต้องคัดแยกสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว
ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้และประสบการณ์อย่างมาก ต้องมีการกำกับการตรวจสอบตั้งแต่ก่อน
ระหว่าง และหลังการผลิต มีขั้นตอนการตรวจสอบ ดังนี้

- ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ (Raw Material)

ต้องมีการตรวจสอบวัตถุดิบทุกตัวที่นำมาใช้ในการผลิต โดยวัตถุดิบทุกชิ้นจะต้องมี Certificate of Analysis ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลของผู้นำเข้าและผู้ขายได้อย่างชัดเจน รวมถึงมีการสุ่มตรวจวัตถุดิบด้วย

- ตรวจสอบคุณภาพบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

บรรจุภัณฑ์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน
และมีการตรวจสอบเช่นเดียวกับการตรวจสอบวัตถุดิบ
แต่มีข้อแตกต่างกันเล็กน้อยด้วยการใช้หลักการ Sampling plan ที่จะสุ่มตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน
AQL ที่กำหนดไว้

- ตรวจสอบคุณภาพเนื้อผลิตภัณฑ์ (Bulk)

ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพเนื้อผลิตภัณฑ์
มีการแบ่งเป็น 2 ลักษณะการทดสอบ คือ

1) Physical Chemical Testing คือ การทดสอบทางกายภาพและทางเคมีของเนื้อผลิตภัณฑ์
ซึ่งประกอบด้วย ลักษณะภายนอก (Appearance), สี (Color), กลิ่น (Odor), ความเป็นกรด-ด่าง (pH) และความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์ (Viscosity)

2)  Microbiology Testing คือ การทดสอบเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อรา และเชื้อก่อโรตามที่กฎหมายกำหนดโดยส่งตรวจที่ห้องแลปที่ได้การรับรองมาตรฐาน
ISO17025

- ตรวจสอบคุณภาพระหว่างการผลิต

มีตำแหน่งเฉพาะเรียกว่า QC Line ทำหน้าที่ในการตรวจสอบไลน์การผลิตผลิตภัณฑ์
เช่น การสุ่มตรวจก่อนเริ่มไลน์ 10 ชิ้นแรก และดำเนินการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ในไลน์ทุกชั่วโมง
หรือตรวจดูการติดสติ๊กเกอร์ การใส่กล่อง และอื่นๆ ว่าตรงตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อป้องกันการผิดพลาดขณะทำงาน

- ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Finish Good)

เป็นการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีการสุ่มตรวจว่าผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จรูปแล้วเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่
รวมถึงมีการเก็บ Retain Sample เพื่อนำมาตรวจสอบภายหลังอีกครั้ง

จะเห็นได้ว่าทั้ง QA และ QC ต่างก็มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิตอย่างมาก นอกจากนี้แล้วยังมีส่วน Production และ Operation อีกด้วย ฉะนั้นสิ่งสำคัญของการทำงานคือการประสานงานระหว่างฝ่ายวางแผนและฝ่ายปฏิบัติการ โดยอาศัยความสามารถและความถนัดกันคนละแบบ ต่างก็ต้องอาศัยองค์ความรู้ทั้งทางลึกและทางกว้างเพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นระยะยาว

#ให้ก้าวแรกของการทำงานกำหนดเส้นทางชีวิตคุณ
#jobsDB

ลงทะเบียนสมัครงาน

หางานได้ง่ายกว่าเดิมผ่าน application บนมือถือจากjobsDBทั้ง iOS และ Android โหลดเลย

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้