การพัฒนาความสัมพันธ์ในที่ทำงาน: 7 วิธีรับมือกับความต้องการของลูกค้า

การพัฒนาความสัมพันธ์ในที่ทำงาน: 7 วิธีรับมือกับความต้องการของลูกค้า
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

การรับมือกับความต้องการของลูกค้า คือหนึ่งในเรื่องท้าทายในการสร้างความสัมพันธ์ในการทำงาน เพราะบางครั้งลูกค้าไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการทำงานตามที่ลูกค้าต้องการ ความคาดหวังในผลงานที่เกินกว่าขอบเขตงานที่ตกลงกันเอาไว้ หรือผลงานของเราอาจไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า จนต้องแก้ไขงานหลายครั้งกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ตรงตามความต้องการของลูกค้า จนอาจนำไปสู่การจ่ายเงินล่าช้ากว่าที่กำหนดได้ ความท้าทายเหล่านี้อาจทำให้คนทำงานรู้สึกเหนื่อยล้า และอาจทำลายความสัมพันธ์ในที่ทำงานของคุณอีกด้วย ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องหาวิธีการแบบมืออาชีพ เพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของลูกค้า และทำให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจและความประทับใจกลับไป

ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน

เราจะรับมือกับข้อเรียกร้องของลูกค้าไปพร้อมกับพัฒนาความสัมพันธ์ในที่ทำงานได้อย่างไร

การหาวิธีรับมือเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุด โดนใจ เป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีทางธุรกิจระหว่างคุณกับลูกค้าได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยประคับประคองความสัมพันธ์อันดีภายในองค์กรของคุณได้อีกด้วย ความสัมพันธ์ภายในองค์กรเป็นอีกเรื่องที่เราต้องใส่ใจเพราะไม่ว่าใครก็ไม่อยากแบกรับความเครียดจากการทำงาน

การทำตามความต้องการของลูกค้าทั้งหมดโดยที่ไม่พิจารณาถึงความเป็นไปได้ และไม่รักษาผลประโยชน์ให้กับคนทำงาน ทำให้เราต้องสูญเสียมูลค่าทางธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะจากการต่อราคา การจ่ายเงินที่ล่าช้า แต่การผัดผ่อนไม่ยอมจ่ายเงิน ส่งผลให้การทำงานไม่ลื่นไหล ต้องสูญเสียทรัพยากรในการทำงานมากกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ความสัมพันธ์ในทีมแย่ลง เกิดความเครียด เพิ่มอัตรา การลาออก และทำให้ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กรแย่ลงตามไปด้วย ถ้าคุณเคยเจอปัญหาเหล่านี้มาก่อน เรามีเทคนิคจากผู้บริหารผู้มากด้วยประสบการณ์ในการบริหารจัดการ มาแนะนำให้คุณสามารถก้าวข้ามผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้

1. ใจเย็นไว้ก่อน

หากลูกค้าไม่พอใจกับผลงานของคุณ มีการตำหนิที่ผลงานหรือตัวคนทำงาน หรือมีการนัดประชุมเร่งด่วนอยู่เป็นประจำ จนคุณอาจรู้สึกไม่พอใจ สิ่งที่คุณควรทำคือต้องสงบสติอารมณ์เอาไว้ การแสดงความไม่พอใจกลับไป นอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขอะไรแล้ว ยังทำให้ชื่อเสียงของคุณเสียหายอีกด้วย การโต้ตอบด้วยอารมณ์จะยิ่งเกิดผลลัพธ์และภาพลักษณ์ที่ไม่ดีตามมา ถ้าคุณเข้าหาลูกค้าอย่างใจเย็น คุณก็สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าใจเย็นลง และค่อย ๆ หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

การรับมืออย่างใจเย็นแสดงถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงานและแสดงถึงความทุ่มเทตั้งใจในการดูแลลูกค้าของคุณ เพราะไม่ว่าใครก็คงอยากให้ลูกค้าพูดถึงบริษัทของเราในทางที่ดี การที่ลูกค้ากล่าวถึงบริษัทของเราในทางที่ไม่ดีจะทำให้เราเสียรายได้และอาจสูญเสียลูกค้าในอนาคตได้

2. สื่อสารอย่างระมัดระวัง

ในทุก ๆ ความสัมพันธ์ การสื่อสาร เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสร้างและรักษาสายสัมพันธ์กับลูกค้า เมื่อลูกค้ารู้สึกไม่พอใจ คุณยิ่งต้องสื่อสารอย่างระมัดระวังมากขึ้น ทั้งการเลือกใช้คำพูดและวิธีการพูด ระมัดระวังการเลือกใช้คำ และความหมายโดยนัยที่ลูกค้าอาจตีความได้จากคำพูดเหล่านั้น ซึ่งการตีความที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละคนเกิดมาจากพื้นฐานทางบุคลิกภาพ หน้าที่การงาน ความชอบ และนิสัยใจคอที่แตกต่างกันไป

ระหว่างที่คุณกำลังประชุมกับลูกค้า คุณต้องตั้งใจฟังน้ำเสียง และข้อความที่ลูกค้าพูดออกมา พวกเขามักจะรู้สึกสบายใจเมื่อคุณและลูกค้าสื่อสารตรงกัน การสื่อสารด้วยท่าทีที่คล้ายกัน ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุณเข้าใจเขาและเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการ

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพและผู้จัดการบางคนแนะนำว่า หากพบว่าเราและลูกค้ามีเคมีที่ไม่ตรงกัน และคุณไม่สามารถหาวิธีทำงานกับลูกค้ารายใดรายหนึ่งได้ การมอบหมายให้สมาชิกคนอื่นในทีมช่วยดูแลลูกค้ารายนี้ต่ออาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด แทนที่จะทนขุ่นเคืองใจกัน ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้รับ การบริการ ที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย

3. ลูกค้าไม่เข้าใจงานของเรา อาจเป็นเพราะมี ประสบการณ์ ในเรื่องนี้น้อย

บางครั้งคุณอาจรู้สึกไม่พอใจที่ลูกค้าตำหนิงานหรืออาชีพของคุณ ผู้เขียนและผู้ก่อตั้ง Profit First อย่าง Mike Michalowicz มีเคล็ดลับสั้น ๆ ที่จะช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบายใจนี้ ด้วยการทำความเข้าใจว่าลูกค้าบางรายมีอาจมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานของคุณอย่างจำกัด จนทำให้ไม่เข้าใจความเฉพาะเจาะจง ความซับซ้อน และความท้าทายของงานบางโครงการ จึงอาจให้พวกเขาพูดสิ่งที่ฟังดูไม่ใส่ใจหรือพูดเรื่องผิด ๆ ออกมา การคิดว่าลูกค้ามี "ประสบการณ์ที่จำกัด" นี้จะช่วยเปลี่ยนมุมมองของคุณ และช่วยให้คุณรู้สึกเห็นอกเห็นใจลูกค้ามากขึ้นว่าลูกค้าของคุณเป็นใคร มีพื้นฐานมาจากไหน เมื่อคิดได้ดังนี้ จะทำให้คุณสามารถโฟกัสไปที่การพูดคุยสื่อสารถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ดียิ่งขึ้น

4. อย่าเก็บมาคิดเป็นเรื่องส่วนตัว

เมื่อมีคนวิจารณ์งานของเรา ไม่ว่าลูกค้าจะเรียกร้องเกี่ยวกับคุณ งานของคุณ หรืออาชีพของคุณ ไม่ได้หมายความว่าเขากำลังวิจารณ์ที่ตัวคุณโดยตรง ให้คิดเสียว่าเป็นเรื่องงาน พวกเขาอาจเผลอสื่อสารด้วยอารมณ์อันเกิดจากความไม่ตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่ก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ต้องกำหนดขอบเขตเอาไว้ด้วยว่าพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นเป็นสิ่งที่ผิด และคุณไม่ได้ถูกจ้างให้ทนต่อการถูกละเมิดแบบนี้ ฝ่ายบริหารเองก็ควรแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจว่าจะไม่ยอมให้ลูกค้าแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมต่อคนในองค์กร หากสถานการณ์เลวร้ายลง ให้คุณแสดงความเป็นมืออาชีพและแจ้งข้อกังวลเกี่ยวกับลูกค้าให้ผู้จัดการทราบ

5. แก้ปัญหาให้ตรงจุดและวัดผลได้

เมื่อลูกค้า วิจารณ์ ผลงานของเราแบบกว้าง ๆ ลองขอให้ลูกค้าสโคปปัญหาให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และขอให้ลูกค้ายกตัวอย่างส่งที่ไม่พึงพอใจอย่างเจาะจงมากขึ้น  ลองเสนอวิธีแก้ปัญหาที่จะให้ผลลัพธ์ที่วัดผลได้ และถามลูกค้าว่า “ถ้าเราแก้ปัญหาตรงนี้ จะช่วยให้ผลงานดีขึ้นหรือไม่”

หากลูกค้ายังไม่พอใจกับวิธีแก้ปัญหาที่คุณนำเสนอไป ให้ถามพวกเขาทันทีว่าต้องการให้คุณทำอะไรแทน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณทั้งคู่คิดเห็นตรงกันเพื่อที่จะสามารถทำงานขั้นตอนต่อไปได้ตรงตามที่ต้องการ

6. ตอบกลับทันที

การตอบสนองที่ล่าช้ามักจะทำให้ลูกค้าไม่พึงพอใจ ดังนั้นทันทีที่ลูกค้าแจ้งปัญหามา คุณควรรีบจัดลำดับความสำคัญให้ลูกค้าทันทีเพื่อให้พวกเขารู้ว่าคุณกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ กำลังตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น และแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังเร่งแก้ปัญหาให้ การรับทราบถึงความกังวลของลูกค้าและรีบสร้างการสื่อสารที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจว่าคุณอยู่ที่นั่นและมีความตั้งใจที่จะหาวิธีแก้ไขให้พวกเขาอยู่

7. เมื่อทุกอย่างล้มเหลว ให้ลดการขาดทุนและเดินหน้าต่อไป

บางครั้งคุณพบว่า คุณไม่สามารถแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้ หรือความคาดหวังของลูกค้าอาจไม่ตรงกับผลลัพธ์ที่คุณสามารถทำให้ได้ จนเกิดความเครียดและสิ้นเปลืองทรัพยากรของบริษัทจนอาจนำไปสู่การทำงานที่ไม่คุ้มกับรายได้ หากพิจารณาดูแล้วว่าไม่สามารถทำงานร่วมกันต่อได้จริง ๆ การปฏิเสธลูกค้าตามตรงจึงเป็นทางออกที่ดีและตรงไปตรงมาที่สุด เพื่อให้ลูกค้าค้นหาบริษัทใหม่ที่สามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด

การสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานดังนั้น เมื่อคุณต้องจัดการปัญหาให้กับลูกค้า ให้ตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่าคุณได้ประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นเอาไว้แล้ว วิเคราะห์ข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น นึกถึงทบทวนบทเรียนที่ได้รับจากประสบการณ์นั้น และนำสิ่งที่คุณได้เรียนรู้มาใช้กับการทำงานของคุณ สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์เดียวกันกับลูกค้ารายอื่นของคุณอีก

คุณพร้อมที่จะรับมือกับลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นภายในองค์กรแล้วใช่ไหม มาสร้างและอัปเดตโปรไฟล์ ของคุณได้ที่แอปพลิเคชัน JobsDB เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้นหางาน แล้วอย่าลืมอ่านเทคนิคดี ๆ ในการหางานและพัฒนาตนเองได้ที่ ครบเครื่องเรื่องงาน

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/jobsdb-salary-report-2022/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%9a-multitasking/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้