เมื่องานมากขึ้นขอขึ้นเงินเดือนได้ไหม คำถามคาใจที่พนักงานสงสัย

เมื่องานมากขึ้นขอขึ้นเงินเดือนได้ไหม คำถามคาใจที่พนักงานสงสัย
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ปัญหากวนใจของพนักงานออฟฟิศหลายคนคือ ได้รับมอบหมายภาระงานเยอะขึ้น แต่เงินเดือนกลับได้เท่าเดิม จะไปขอหัวหน้าคุยเรื่องการ ขึ้นเงินเดือน ก็ไม่กล้า ไม่รู้วิธีการ ไม่มีเทคนิคในการคุยให้ได้ผล มืดแปดด้านไปหมด ใครที่กำลังประสบปัญหานี้ วันนี้เราเตรียมคำแนะนำดี ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ง่าย ๆ มาฝาก

ก่อนจะไปดูเทคนิควิธีการ ขอขึ้นเงินเดือน อย่างไรให้ได้ผล เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเงินเดือนคืออะไรกันแน่ และมีความสำคัญอย่างไรต่อคนทำงานบ้าง

ขึ้นเงินเดือน

เงินเดือน คืออะไร

เงินเดือนคือ ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่บริษัทจ่ายให้กับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจ่ายเป็นประจำทุกเดือน เพื่อตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ จูงใจให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการใช้ความรู้ความสามารถทำงานให้กับองค์กรได้อย่างเต็มที่

เงินเดือน กับ ค่าตอบแทน ต่างกันอย่างไร

อย่างที่อธิบายไปตอนต้นว่าเงินเดือนคือค่าจ้างที่ผู้ปฏิบัติการได้รับเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งเงินเดือนนี้คือส่วนหนึ่งของ ค่าตอบแทน ที่เราพึงจะได้รับจากบริษัทนั่นเอง เพราะค่าตอบแทนคือค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่บริษัทจ่ายให้กับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อจูงใจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างความเท่าเทียมกันในองค์กร และสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ คือ

  • ค่าตอบแทนคงที่ ประกอบด้วย เงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษ ค่าครองชีพ โบนัสคงที่ เบี้ยประจำ (เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าตำแหน่ง ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น) และค่าตอบแทนอื่น ๆ ในรูปแบบของตัวเงินที่จ่ายให้พนักงานในอัตราที่คงที่ มักมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของเราตามคุณค่าของงาน
  • ค่าตอบแทนผันแปร ประกอบด้วย ค่าเบี้ยเลี้ยง เงินรางวัล ค่าคอมมิชชั่น โบนัสตามผลงาน และค่าตอบแทนอื่น ๆ เพื่อตอบแทนที่พนักงานทำงานที่มอบหมายจนสำเร็จลุล่วง มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นผลงานและประสิทธิภาพในการผลักดันผลสัมฤทธิ์ของงาน
  • สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ มีทั้งที่อยู่ในรูปแบบของตัวเงิน และสิทธิประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล วันลา ที่จอดรถ การท่องเที่ยวประจำปี การอบรมเพิ่มทักษะฝีมือ เป็นต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้สึกรักในองค์กรของพนักงาน

ทั้งนี้ สัดส่วนค่าตอบแทนทั้งหมดที่เราได้รับ จะมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละองค์กร แต่ละตำแหน่ง เช่น ในตำแหน่งที่ต้องการคนมีศักยภาพสูงเข้าทำงาน จะมีฐานเงินเดือนสูงกว่าสวัสดิการและโบนัส เพื่อสร้างความรู้มั่นคงทางรายได้ให้กับพนักงาน ส่วนตำแหน่งงานที่ให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สูงกว่าเงินเดือน จะเน้นสร้างความรัก ความผูกพัน และความภักดีของพนักงานที่มีต่อองค์กร เหล่านี้เป็นต้น

เงินเดือนหรือค่าตอบแทน มีความสำคัญอย่างไรต่อคนทำงาน

นอกจากเงินเดือนจะเป็นสิ่งที่บริษัทมอบให้กับพนักงานเพื่อตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ แล้ว เงินเดือนหรือค่าตอบแทน ยังมีความสำคัญด้านอื่น ๆ ต่อคนทำงานด้วย ดังนี้

  1. เป็นแรงจูงใจในการทำงาน

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เงินเดือน และค่าตอบแทน สร้างแรงจูงใจในการทำงานที่แตกต่างกัน โดยเงินเดือนเป็นเงินที่เราจะได้รับเป็นประจำทุกเดือน ช่วยสร้างความมั่นคงที่เรามีต่อบริษัท และแสดงให้เห็นว่าบริษัทเล็งเห็นในศักยภาพการทำงานของเราจึงจ่ายผลตอบแทนให้อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ส่วนค่าตอบแทน เช่น ค่า Incentive ค่า Commission ช่วยจูงใจให้เราอยากพัฒนาตัวเองเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำผลงานได้ดี ยิ่งได้ค่าตอบแทนสูง เป็นต้น

  1. ทำให้คนรู้สึกจงรักภักดีต่อองค์กร

การที่บริษัทจ่ายเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล มีความยุติธรรม ครอบคลุม และเพียงพอ จะทำให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจ รู้สึกว่าบริษัทมีความเข้าใจ ใส่ใจ และห่วงใยพนักงานทุกคน ส่งผลให้พนักงานรู้สึกจงรักภักดีต่อองค์กร ไม่มีความรู้สึกอยากลาออก และอยากทำงานร่วมกับบริษัทนี้ไปนาน ๆ

  1. มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อพนักงานแต่ละคนได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลและเพียงพอต่อความต้องการในการดำเนินชีวิต มีสวัสดิการรองรับ สามารถซัพพอร์ตความต้องการของตนเองและครอบครัวได้ ย่อมส่งผลให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของพนักงานเป็นไปในทิศทางที่ดี การทำงานที่ได้รับมอบหมายก็จะมีประสิทธิภาพตามไปด้วย

  1. แสดงถึงความมั่นคงและเสถียรภาพของบริษัท

การที่บริษัทสามารถซัพพอร์ตเงินเดือนให้พนักงานได้ทุกเดือน และมีค่าตอบแทนให้พนักงานเพิ่มเติม เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง มีผลประกอบการของบริษัทเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการวางแผนการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้พนักงานมีความเชื่อถือในบริษัทที่ทำอยู่ว่ามีเสถียรภาพที่ดี ค่อนข้างมั่นคง และสามารถทำงานที่นี่ได้ในระยะยาว

แล้วถ้างานเพิ่มขึ้น จะขอขึ้นเงินเดือนอย่างไร

ในกรณีที่เราประเมินภาระงานของเรากับเงินเดือนแล้ว เห็นว่าไม่สอดคล้องกันจนทำให้เราเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณงานเพิ่มขึ้นแต่เงินเดือนเท่าเดิม หรือมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่มีภาระงานมากขึ้นแต่ไม่มีการขึ้นเงินเดือน การเดินไปปรึกษาหัวหน้างานก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเดินเข้าไปปรึกษาเลยโดยไม่เตรียมตัวหรือไม่มีหลักการใดรองรับ เพราะนั่นอาจจะส่งผลเสียต่อตัวเราเองได้

หากตัดสินใจแล้วว่าอยากลองสักตั้ง อยากลองคุยกับหัวหน้างานเรื่องการขึ้นเงินเดือนดูสักครั้ง เรามีวิธีปฏิบัติมาแนะนำให้นำไปปรับใช้ ดังนี้

  1. ประเมินศักยภาพตนเองเบื้องต้น

ก่อนจะเดินไปคุยกับหัวหน้าเรื่องปริมาณงานและเงินเดือน เราต้องประเมินตัวเองเบื้องต้นก่อนว่าเมื่อเริ่มทำงานเรามาทำในตำแหน่งอะไร ขอบเขตงานมีอะไร ได้รับเงินเดือนเท่าไหร่ เปรียบเทียบกับตอนนี้ว่าเรายังทำตำแหน่งเดิมไหม มีประสบการณ์อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง ผลงานเป็นที่น่าพึงพอใจแค่ไหน ได้รับคำติชมอะไรจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานบ้าง และตอนนี้เราได้เงินเดือนเท่าไหร่ สมเหตุสมผลหรือไม่ เมื่อประเมินและวิเคราะห์เปรียบเทียบเรียบร้อยแล้ว แนะนำให้จดบันทึกไว้กันลืมด้วย เพราะข้อมูลเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะนำไปใช้ในการคุยกับหัวหน้าในขั้นตอนต่อไป

  1. หาจังหวะคุยที่เหมาะสม

โดยส่วนใหญ่การประเมินเงินเดือนของแต่ละบริษัท มักจะเริ่มช่วงปลายปี เพราะถือเป็นการประเมินผลงานของเราตลอดทั้งปีเพื่อพิจารณาว่าควรขึ้นเงินเดือนหรือไม่ หรือควรขึ้นเท่าไหร่ จังหวะนี้เองเราสามารถขอเจรจาปรึกษาหัวหน้าได้ อีกจังหวะหนึ่งที่สามารถคุยเรื่องการขึ้นเงินเดือนได้คือ หลังจากเราทำโปรเจกต์ใหญ่สำเร็จลุล่วง หรือมีผลงานที่เป็นที่น่าพอใจของบริษัท

ข้อแนะนำอีกหนึ่งอย่าง คือ ควรเลือกช่วงที่หัวหน้าอารมณ์ดี ไม่มีเรื่องตึงเครียด และผลประกอบการของบริษัทเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างดี รวมไปถึงควรเลือกสถานที่ผ่อนคลาย และบรรยากาศดี ก็จะช่วยให้การพูดคุยราบรื่นขึ้นยิ่งขึ้นได้

  1. ไม่ควรระบุเงินเดือนที่ต้องการ

การระบุจำนวนเงินเดือนที่ต้องการในการเจรจา อาจทำให้เราได้ขึ้นเงินเดือนน้อยกว่าที่ควรจะได้จริง ๆ ก็เป็นได้ ในระหว่างการพูดคุย ควรแสดงให้หัวหน้าเห็นว่าบริษัทจะได้ประโยชน์อะไรจากการขึ้นเงินเดือนให้เรา เพื่อให้หัวหน้าหรือบริษัทเป็นฝ่ายประเมินเงินเดือนที่เราควรจะได้รับจะดีกว่า เพราะจำนวนเงินเดือนเป็นเรื่องที่สามารถยืดหยุ่นได้ และบางครั้งบริษัทอาจมอบสวัสดิการอื่น ๆ ที่เหมาะสมกว่าให้เราแทน เช่น ได้วันหยุดเพิ่ม ได้เข้าอบรมหรือเข้าคอร์สเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ได้ไปศึกษาดูงาน ฯลฯ

  1. สุภาพ นอบน้อม รู้จังหวะ ไม่รีบร้อน

อย่าลืมว่าจุดประสงค์หลักของเราคือการเจรจาต่อรองกับหัวหน้าเรื่องการขึ้นเงินเดือนให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่ได้รับ ดังนั้น ควรเลือกใช้น้ำเสียงและจังหวะการพูดที่นอบน้อม เรียบร้อย เป็นเหตุเป็นผล มีความมั่นใจ และค่อยเป็นค่อยไป อาจเริ่มการพูดคุยด้วยความทุ่มเทและผลงานดี ๆ ของเราที่ผ่านมา ภาระงานตอนนี้ของเรามีอะไรบ้าง เรามีความรักในงานที่ทำ ดีใจที่ได้ร่วมงานกับหัวหน้า และการทำงานจะดียิ่งกว่านี้ถ้ามีการปรับขึ้นเงินเดือนของเราให้เหมาะสมกับหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายมา เพราะเราเชื่อว่าเรามีศักยภาพเพียงพอ เป็นต้น

แนะนำว่าระหว่างการพูดคุยให้พยายามสร้างบรรยากาศให้เป็นไปในแง่บวก เพื่อโน้มน้าวให้หัวหน้าคล้อยตามเหตุและผลที่เรานำเสนอไป ควรใช้คำว่า “และ” เพื่อเสริมเหตุผลของเราไปเรื่อยๆ หลีกเลี่ยงการพูดคำว่า “แต่” เพราะอาจทำให้การเจรจาที่กำลังไหลลื่นเกิดสะดุดขึ้นมาได้

  1. ไม่ควรกดดันรีบขอคำตอบ

ไม่ว่าในการเจรจาใด ๆ การคาดคั้นขอทราบคำตอบแบบทันทีทันใดย่อมสร้างบรรยากาศกดดันให้กับคู่สนทนาทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตัวผู้ที่ขอเจรจาเลย เพราะอาจทำให้ได้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่าที่ควร ในกรณีการขอขึ้นเงินเดือน เราควรสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นกลาง เป็นการพูดคุยด้วยเหตุและผล โฟกัสแค่เฉพาะเรื่องงาน ไม่มีปัญหาเรื่องส่วนตัวเข้ามาปะปน เช่น ต้องการขึ้นเงินเดือนเพราะมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น เป็นต้น และเมื่อเข้าประเด็นเรื่องการขึ้นเงินเดือน ให้จบการสนทนาด้วยการให้หัวหน้าหรือฝ่าย HR เป็นฝ่ายพิจารณาปรับขึ้นตามความเหมาะสม

  1. เตรียมแผนสำรอง

ข้อควรระวังในการขอขึ้นเงินเดือนคือ ไม่ควรคาดหวังว่าจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจริงอย่างที่ขอไป หรือจะได้พิจารณาขึ้นเงินเดือนในเร็ววัน เพราะแต่ละบริษัทมีขั้นตอนแตกต่างกัน ช้าบ้างเร็วบ้าง หรือบางทีบริษัทอาจมีเหตุผลที่จะไม่ขึ้นเงินเดือนให้เราตามที่ขอไปก็ได้ ข้อแนะนำคือ หลังจากคุยกับหัวหน้าแล้วควรหมั่นติดตามผล คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงอยู่ห่าง ๆ และไม่ควรเดินไปทวงถาม หากผ่านไปเป็นระยะเวลานานยังไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน หรือได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ ลองขอนัดเจรจากับหัวหน้าอีกครั้ง เสนอตัวเลขใหม่ที่น่าจะตกลงกันได้ หรือเสนอเป็นสวัสดิการอื่นที่จะเอื้อให้เราทำงานได้ดีขึ้นเพิ่มเติม

จะเห็นได้ว่า เงินเดือนคือสิ่งตอบแทนที่เราได้รับจากการปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หากงานเพิ่มขึ้นเราก็สามารถเจรจาเพื่อขอขึ้นเงินเดือนให้สอดคล้องกับปริมาณงานได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด เพียงแค่เราจำเป็นต้องเลือกโอกาสและช่วงเวลาในการพูดคุยให้เหมาะสม เมื่อทุกอย่างลงล็อก การขอขึ้นเงินเดือนก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/extrovert-introvert-%e0%b8%82%e0%b8%b6%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%87%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%87%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99-%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%a3/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%b0%e0%b9%83%e0%b8%88-%e0%b8%84%e0%b8%99-gen-z/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%84%e0%b8%b3%e0%b8%96%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b9%81%e0%b8%97%e0%b8%87%e0%b9%83%e0%b8%88%e0%b8%94%e0%b8%b3/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%80%e0%b8%87%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b8%a3%e0%b9%88/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด