วิธีตั้ง SMART Goal เทคนิคกำหนดเป้าหมายแบบมีปลายทาง

วิธีตั้ง SMART Goal เทคนิคกำหนดเป้าหมายแบบมีปลายทาง
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ไม่ว่าจะอยู่ในโลกของการทำงานหรือชีวิตส่วนตัว มนุษย์ทุกคนล้วนตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองกันแทบทั้งนั้น แต่จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จและเป็นจริงได้ง่ายขึ้น เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าระหว่างทางจะมีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรมาเป็นตัวขัดขวางเส้นทางแห่งความสำเร็จบ้างไหม ดังนั้นเรื่องราวของ SMART Goal ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรเรียนรู้ไว้ เพื่อช่วยให้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของคุณเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

SMART Goal คืออะไร

SMART Goal คือการตั้งเป้าหมายในธุรกิจ การทำงาน หรือแม้กระทั่งเรื่องชีวิตส่วนตัว เปรียบเสมือนการกำหนดเฟรมเวิร์กให้ตัวเอง เพื่อให้การตั้งเป้าหมายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และช่วยให้สำเร็จลุล่วงได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งยังเพื่อเป็นการระบุจุดประสงค์ให้ชัดเจน สามารถวัดผลได้ และต้องบรรลุผลได้ โดยอิงจากหลักความเป็นจริง พร้อมทั้งต้องเป็นเป้าหมายที่อยู่ในกรอบเวลาที่เหมาะสม

SMART ประกอบด้วยอะไรบ้าง

หากให้แยกง่ายๆ คำว่า SMART สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 หลักการ ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 5 ดังนี้

  • S - Specific: เป้าหมายนั้นๆ จะต้องมีความเจาะจง ชี้เฉพาะ และมีขอบเขตที่แน่นอน
  • M - Measurable: เป้าหมายที่ตั้งออกมานั้น จะต้องสามารถวัดผลได้ ผ่านหลักฐานต่างๆ หรือสามารถอ้างอิงได้
  • A - Achievable: เป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องเป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน และอยู่ภายใต้ระยะเวลาที่พอเหมาะ
  • R - Relevant: เป้าหมายจะต้องมีความสมเหตุสมผล สามารถเชื่อมโยงไปถึงอนาคต หรือผลลัพธ์ในระยะยาว
  • T - Time-based: เป้าหมายที่กำหนดไว้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจนและเหมาะสม

วิธีการตั้งเป้าหมายในการทำงานแบบ SMART Goal (SMART Goal Setting)

ได้รู้ความหมายคร่าวๆ ของหลัก SMART ทั้ง 5 ไปแล้ว คราวนี้ลองมาเจาะลึกถึงวิธีการตั้งเป้าหมายในการทำงานแบบง่ายๆ ของหลัก SMART Goal กันบ้าง

S - Specific

ในอันดับแรก จะต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายให้มีความชัดเจน และชี้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้างขอบเขตให้กับมัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยอาจลองตั้งคำถามง่ายๆ ให้กับเป้าหมายนั้น เช่น ใครเป็นผู้เกี่ยวข้อง จุดใดที่ต้องทำให้สำเร็จ ทำไมเป้าหมายนี้ถึงสำคัญ เป้าหมายนี้สามารถทำได้ที่ไหน หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้างในเป้าหมายนี้

M - Measurable

ไม่ว่าจะตั้งเป้าหมายหรือทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ทุกอย่างที่ทำต้องสามารถวัดผลได้ โดยอาจมีการอาศัยเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น การกำหนดเดดไลน์ เรื่องของตัวเลขที่ใช้วัดผล หรือเปอร์เซ็นต์ต่างๆ แต่หากไม่ถนัดในเครื่องมือเหล่านี้ ก็สามารถตั้งคำถามแทน เช่น จะรู้ได้อย่างไรว่าเป้าหมายสำเร็จแล้ว สิ่งใดคือเครื่องชี้วัดความคืบหน้า หรือจำนวนของเป้าหมายที่สำเร็จ สามารถวัดได้จากอะไรบ้าง ฯลฯ

A - Achievable

ข้อนี้อาจต้องมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงมากขึ้น เพราะการตั้งเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพและสำเร็จได้จริง ก็จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ดังนั้นจะต้องวิเคราะห์ให้ละเอียดว่า หากเริ่มต้นทำสิ่งใดลงไปแล้ว จะสามารถได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้นกลับมาจริงๆ ใช่หรือไหม หากใครที่ชอบความท้าทายก็อาจลองตั้งเป้าหมายที่ยากขึ้น เพื่อฝึกตัวเองดูก็ได้ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า สุดท้ายแล้วต้องสามารถทำได้สำเร็จ

R - Relevant

ในขั้นนี้เป็นการคิดว่า การตั้งเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นสำหรับตอนนี้จริงหรือไม่ ควรค่าแก่การลงมือทำหรือเปล่า หากเป็นเป้าหมายที่เกี่บงข้องกับผู้อื่นด้วย ให้ลองคิดว่าหากทำไปแล้วจะเกี่ยวข้องกับเป้าหมายของทีมหรือไม่ และทำให้ทุกคนก้าวไปข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน

T - Time-based

เรื่องของเวลาก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ การตั้งเป้าหมายอย่างเลื่อนลอย ทำไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนดเวลาย่อมไม่ส่งผลดีแน่ แถมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป้าหมายนั้นจะสำเร็จเมื่อไร แต่ถ้าหากมีการกำหนดระยะเวลาให้กับเป้าหมายของตัวเอง เช่น เป้าหมายนี้ต้องทำให้ได้ภายในเมื่อไหร่ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าต้องทำอะไรไปแล้วบ้าง ฯลฯ คำถามเหล่านี้จะช่วยชี้วัดได้ว่าการบรรลุครั้งนี้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน แถมยังการกำหนดกรอบเวลาให้แน่ชัด ยังจะช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้คุณอยากทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างการตั้ง SMART Goal ในการทำงาน

คราวนี้ลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ ในการทำ SMART Goal Setting จาก เว็บไซต์ MindTools ผ่านหลักการทั้ง 5 นี้ กันบ้าง โดยจำลองสถานการณ์ว่ามีพนักงานคนหนึ่ง ทำงานในตำแหน่ง Marketing Executive และต้องการเติบโตในหน้าที่การงาน

S - Specific

อันดับแรกของคนที่ทำงานในตำแหน่ง Marketing Executive และต้องการเติบโตในหน้าที่การงาน ควรตั้งเป้าว่าจะต้องการโตไปเป็นอะไร สมมุติว่าต้องการเติบโตไปเป็น Head of Marketing ควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนคือ “ฉันต้องเพิ่มทักษะและหาประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการก้าวไปสู่ตำแหน่ง Head of Marketing”

M - Measurable

ต่อมาคือการตั้งเป้าที่สามารถวัดผลได้ เมื่อรู้แล้วว่าต้องการอะไร ให้ตั้งเป้าหมายต่อว่า จะต้องเรียนคอร์สไหนบ้างเพื่อให้ได้ ทักษะสำหรับ Marketing ที่สำคัญและจำเป็นต่อตำแหน่ง Head of Marketing การเรียนคอร์สต่างๆ ได้สำเร็จก็ถือเป็นตัววัดหนึ่งของการตั้งเป้าหมายที่วัดผลได้นั่นเอง

A - Achievable

ต่อมาคือการตั้งเป้าหมายครั้งนี้ต้องประเมินแล้วว่าตัวเราสามารถทำให้บรรลุได้จริง อย่างเป้าหมายในการเป็น Head of Marketing จะต้องผ่านการเรียนคอร์สต่างๆ รวมถึงฝึกอบรมมากมาย ให้คิดดูว่าประสบการณ์ที่เรามีอยู่นั้นเพียงพอต่อการไปเข้าคอร์สหรือไม่ คอร์สเหล่านี้มีราคาเท่าไหร่ หากต้องออกเงินเรียนเอง สามารถจ่ายได้จริงหรือไม่ รวมถึงหากมีเวลาจำกัด ภายในระยะเวลาเท่านี้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จหรือไม่

R - Relevant

เป้าหมายนี้ใช่ตัวเราจริงหรือไม่ เป็นคำถามตั้งต้นสำหรับขั้นตอนนี้ สำหรับตัวอย่างของการตั้ง SMART Goal เพื่อไปเป็น Head of Marketing จำเป็นจะต้องมีทักษะและประสบการณ์มากมาย ลองคิดดูว่าตัวเราเหมาะสำหรับตำแหน่งนี้จริงๆ ไหม เช่น หากกำลังสร้างครอบครัวหรือวางแผนมีบุตร แต่ต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมมากมายเพื่อเลื่อนตำแหน่ง ตัวเราจะมีเวลาทำได้จริงหรือไม่ หรือตัวเราเองเป็นคนไม่ชอบทำงานคนเดียวและไม่ต้องการบริหารคน หากขึ้นไปเป็นตำแหน่งนี้จะเหมาะสมหรือไม่ ฯลฯ

T - Time-based

การทำ SMART Goal Setting ข้อสุดท้ายคือการกำหนดเวลาให้ชัดเจน ตัวเราจะได้เห็นกรอบความสำเร็จที่แน่นอนยิ่งขึ้น โดยหากต้องเข้าคอร์สเพิ่มทักษะเพื่อก้าวไปเป็น Head of Marketing ภายใน 5 ปีข้างหน้า ให้กำหนดว่าคอร์สต่างๆ ว่าควรเริ่มเรียนเมื่อไหร่ ปีละกี่คอร์ส หรือระบุเป็นไตรมาสเพื่อให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น ยิ่งเราสามารถระบุเป้าหมายได้ละเอียดเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยให้เป้าหมายเป็นจริงได้ง่ายขึ้น

ประโยชน์ของการตั้งเป้าหมายแบบ Smart (SMART Goal)

การตั้งเป้าหมายในการทำงาน และตั้งเป้าหมายในชีวิต ล้วนมีประโยชน์เสมอ มาดูกันว่าการตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goal มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

  • SMART Goal ช่วยให้มีกรอบที่ชัดเจน เพื่อช่วยตรวจสอบความสำคัญของเป้าหมาย
  • ช่วยกำหนดวิธีการต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายได้ชัดเจนและง่ายขึ้น
  • ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ
  • หลัก SMART Goal เป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย และไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพงในการดำเนินการ
  • ช่วยให้มั่นใจได้ว่า เป้าหมายต่างๆ ที่กำหนดขึ้น ล้วนเป็นเป้าหมายสู่ความสำเร็จ
  • เป็นหลักการที่มีประสิทธิภาพ ติดตาม วัดผล และตรวจสอบง่าย
  • ช่วยให้เห็นความผิดพลาดในเป้าหมายได้ง่ายขึ้น สามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว หากต้องการเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย

นอกจากเรื่องงาน Smart Goal ปรับใช้กับอะไรได้อีกบ้าง

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าหลัก SMART Goal ไม่เพียงแค่เหมาะกับการตั้งเป้าหมายในชีวิตการทำงานเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้กับเป้าหมายในชีวิตประจำวัน หรือชีวิตส่วนตัวได้อีกด้วย เพราะชีวิตของเราไม่ได้มีแต่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การเรียน สุขภาพ การออกกำลังกาย การพัฒนาตัวเอง หรือการเริ่มทำธุรกิจต่างๆ ฯลฯ

ในยุคที่โรคภัยไข้เจ็บล้วนเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ บางคนอาจตั้งเป้าหมายให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดีขึ้น ผ่านการออกกำลังกาย โดยมีการนำหลัก SMART Goal มากำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ว่าออกกำลังกายเพื่ออะไร จะมีการสมัครสสมาชิกฟิตเนสเซ็นเตอร์หรือจ้างเทรนเนอร์หรือไม่ จะมีการตั้งตารางการออกกำลังกายในแต่ละวันอย่างไร มีการควบคุมอาหารหรือไม่ แล้วการออกกำลังกายครั้งนี้จะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาวอย่างไรบ้าง ต้องการคุมน้ำหนักให้ดลงกี่กิโลกรัมภายในกี่เดือน ฯลฯ

การตั้งเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพ ก็เปรียบเสมือนการวางแผนชีวิตให้ดี หากมีหลักเกณฑ์ดีๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ง่ายอย่าง SMART Goal แน่นอนว่าการลองนำมาใช้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร แถมยังได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้ไปเต็มๆ แล้วเป้าหมายต่างๆ ที่ได้ตั้งไว้ จะไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

ส่วนใครที่ตั้งเป้าหมายให้กับสายอาชีพของตัวเอง แล้วกำลังมองหางานใหม่ๆ ที่มีคุณภาพและตรงใจ อย่าลืมเข้ามาค้นหางานที่ใช่กับ JobsDB มีงานมากมายจากผู้ประกอบการชั้นนำให้เลือกสมัคร

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด