ประกันสังคมนายจ้าง ต้องรู้อะไรบ้าง 2022

ประกันสังคมนายจ้าง ต้องรู้อะไรบ้าง 2022
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ประกันสังคม คือ สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทางรัฐบาลมอบให้แก่ลูกจ้าง โดยระบบประกันสังคมนั่นคือมีในประเทศไทยมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2480 และเริ่มพัฒนาเรื่อยมาจนเกิดเป็นสำนักงานประกันสังคมเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 ซึ่งหลักการก็คือจะมีการหักเงินจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันสังคมสำหรับพนักงานที่มีรายได้ เอาไว้ใช้คุ้มครองลูกจ้างจากการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานและนอกเหนือการทำงาน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมจะประกอบด้วย ผู้ประกันตน, นายจ้าง และรัฐบาล

ประกันสังคมนายจ้าง

โดยในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องราวของประกันสังคมในฝั่งของนายจ้าง ว่าเรื่องไหนที่ควรรู้ และต้องดำเนินการแจ้งต่อหรือขึ้นทะเบียนมให้ลูกจ้างต่อสำนักงานประกันสังคมกันอย่างไร

นายจ้างต้องเริ่มต้นอย่างไร

อย่างที่เราทราบกันว่าระบบประกันสังคมนั้นมีผลคุ้มครองสำหรับลูกจ้าง แต่ผู้ประกอบหรือบริษัทที่ถือเป็นนายจ้าง ก็ต้องมีหน้าที่ในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ โดยนายจ้างต้องทำการลงทะเบียนกับระบบของสำนักงานประกันสังคม ดังนี้

1. แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส. 1-01)

นายจ้างหรือบริษัทที่มีลูกจ้างทำงานอยู่ในสถานประกอบการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับการขึ้นทะเบียนลูกจ้างในการเป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและเพื่อการรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน อีกทั้งเมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เพิ่มขึ้น ก็ต้องดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วัน เช่นกัน

เจ้าของกิจการสามารถใช้เลขนิติบุคคล 13 หลัก ดำเนินการขึ้นทะเบียนลูกจ้าง ประกอบกับการยื่นข้อมูลเงินสมทบ เช่น ตารางสรุปเงินเดือนพนักงานในแต่ละเดือน พร้อมระบุข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน, คำนำหน้านาม, ชื่อ-สกุล, ตำแหน่ง, เงินเดือน และเงินสมทบ

โดยนายจ้างจะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนตลอดไปจนถึงการแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (กรณที่มีพนักงานลาออก) อย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลักฐานที่ต้องใช้ในวันยื่นแบบขึ้นทะเบียน

กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล (ต้องมีการแนบเอกสารทุกข้อที่ระบุไว้)

- แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส. 1-01)

- สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมวัตถุประสงค์

- สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 01) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายธุรกิจเฉพาะ (ภ.ช. 20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4)

- แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ

- หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)

กรณีเจ้าของคนเดียว (ต้องมีการแนบเอกสารทุกข้อที่ระบุไว้)

- สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประชาชน (คนต่างด้าวใช้สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว)

- สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน

- สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์ หรือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ออกตามกฎหมายอื่น ซึ่งระบุชื่อที่อยู่ชัดเจน

- สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) หรือสำเนาภาพถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 20)

- แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ

- หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)

2. แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03)

ในส่วนของผู้ที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาก่อน หรือขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03/1) นายจ้างสามารถส่งข้อมูลผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) ให้แก่ประกันสังคม ได้ดังนี้

- ยื่นตามแบบฟอร์มแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03) แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สำหรับผู้ที่เคยยื่นแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สปส. 1-03 (สปส. 1-03/1) หนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส. 6-09) แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส. 6-10)

- ยื่นข้อมูลด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์

- หรือยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

หลักฐานที่ต้องใช้ในวันยื่นแบบขึ้นทะเบียน

- กรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03)

- บัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถแสดงตนได้

- ใบอนุญาตทำงานและสำเนาหนังสือเดินทางหรือใบอนุญาตทำงานและใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ในกรณีที่ผู้ประกันตนเป็นคนต่างชาติ

- ลูกจ้างที่เคยยื่นแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาแล้ว ให้แจ้งการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03/1) ภายใน 30 วัน  นับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน

ข้อควรรู้อีกหนึ่งอย่างคือ หากคุณดำรงสถานะนายจ้างอยู่ จะไม่สามารถยื่นเรื่องให้ตนเองกลายเป็นผู้ประกันตนได้

ขั้นตอนการยื่นข้อมูลเงินสมทบประกันสังคมผ่านอินเทอร์เน็ต

อีกวิธีที่สะดวกสบายและรวดเร็ว แบบที่ไม่ต้องเดินทางไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมให้เหนื่อย ก็คือการยื่นผ่านช่องทางออนไลน์นั่นเอง โดยขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้

การยื่นข้อมูลเงินสมทบออนไลน์

  1. เข้าสู่ระบบ และเลือกเมนู “ส่งข้อมูลเงินสมทบ”
  2. เลือก “วิธียื่นข้อมูลการส่งเงินสมทบ”
  3. เลือกสถานประกอบการ
  4. เลือกวิธีการนำส่ง พร้อมกรอกเดือน ปี และอัตราเงินสมทบ
  5. เลือกอัปโหลดไฟล์ “ข้อมูลเงินสมทบ”
  6. สรุปข้อมูลเงินสมทบ
  7. ส่งข้อมูลเงินสมทบสำเร็จ
  8. จากนั้นระบบจะส่งข้อมูลยืนยันตามแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ 2) เข้าทางอีเมลของนายจ้าง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการชำระเงินต่อไป

การยื่นข้อมูลพนักงานเข้าใหม่ทางออนไลน์

  1. เข้าสู่ระบบ และเลือกเมนู “ทะเบียนผู้ประกันตน”
  2. คลิกเลือกข้อ 1 กรณีที่พนักงานเข้าใหม่ไม่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกับทางประกันสังคม หรือคลิกเลือกข้อ 2 หากพนักงานคนนั้นเคยขึ้นทะเบียนแล้ว และมีการเลือกสถานพยาบาลเดิม
  3. เพิ่มข้อมูลพนักงานใหม่ทั้งหมด ในกรณีที่พนักงานไม่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกับทางประกันสังคม ส่วนพนักงานที่เคยขึ้นทะเบียนแล้ว ให้กรอกเลขที่บัตรประชาชน  กรณีพนักงานคนนั้นเลือกสถานพยาบาลเดิม
  4. ตรวจสอบข้อมูล
  5. ยืนยันการบันทึกข้อมูล

วิธีการนำส่งเงินสมทบประกันสังคม

นายจ้างจะต้องเป็นผู้หักเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง โดยต้องมีการคำนวณเงินสมทบค่าจ้าง ฐานของเงินค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยพนักงานจะถูกหักจ้างเงินเดือน 5% ตามด้วยเจ้าของกิจการจ่ายสมทบ 5% และรัฐบาลจ่ายสมทบอีก 2.75%

จากนั้นให้นำส่งเงินสมทบพร้อมจัดทำเอกสารตามแบบ สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส.1-10 ส่วนที่ 2 หรือจัดทำข้อมูลลงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือนำส่งทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเงื่อนไขดังนี้

- นำส่งสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัดด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์เป็นเงินหรือเช็ค ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

- ชำระเงินผ่านทางธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคากรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด โดยต้องเป็นสาขาในจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่

ถ้านายจ้างไม่ส่งเงินสมทบให้ลูกจ้าง?

หากนายจ้างดำเนินการส่งเงินสมทบไม่ทันหรือส่งเงินสมทบไม่ครบ จะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ไม่ได้ส่งหรือจำนวนเงินที่ขาดอยู่ โดยต้องนำส่งด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเท่านั้น

แต่ถ้านายจ้างเกิดกรอกแบบแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส. 1-10) ผิดพลาด เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะดำเนินการสั่งให้นายจ้างกรอกแบบฟอร์มให้ถูกต้อง หากยังไม่ปฏิบัติตามหรือยังทำไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากมีลูกจ้างลาออก ต้องทำอย่างไร

เมื่อมีลูกจ้างลาออกจากบริษัทหรือสถานประกอบการ ให้นายจ้างดำเนินการแจ้งการออกจากงาน โดยต้องมีการระบุถึงสาเหตุการออกจากงาน โดยใช้หนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส. 6-09) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ถ้าลูกจ้างเปลี่ยนแปลงรายละเอียด ต้องทำอย่างไร

อีกหนึ่งกรณีก็คือ หากลูกจ้างมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด เช่น การเปลี่ยนชื่อ-สกุล, ข้อมูลสถานพยาบาล หรือข้อมูลครอบครัว-บุตร ให้ใช้หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส. 6-10) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูลของนายจ้างด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น เปลี่ยนชื่อกิจการ, เปลี่ยนแปลงที่อยู่ของลำดับที่สาขา, ย้ายสถานที่ของบริษัท หรือ ยกเลิกกิจการ เป็นต้น นายจ้างก็จะต้องมีการแจ้งเปลี่ยนโดยใช้หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (สปส. 6-15) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เช่นเดียวกัน

สรุปข้อมูลเกี่ยวกับประกันสังคมที่นายจ้างต้องรู้

เรื่องราวของประกันสังคมถือเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลจัดทำขึ้น เพื่อมอบประโยชน์ให้แก่ประชาชนที่เป็นพนักงานบริษัท ดังนั้นนายจ้างที่ดีจึงต้องพึงปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่พนักงานในบริษัท ว่าจะได้รับสิทธินี้อย่างเต็มที่ ยิ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากมาย รับรองว่าการยื่นเงินสมทบให้แก่พนักงานในทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแน่นอน

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%a1%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%81%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%87%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%a1/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด