One Night Miracle ทฤษฎีทำงานโต้รุ่งยันสว่าง ราตรีนี้อีกยาวไกล

One Night Miracle ทฤษฎีทำงานโต้รุ่งยันสว่าง ราตรีนี้อีกยาวไกล
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

เคยเจอสถานการณ์แบบนี้ไหม? ฟ้าข้างนอกมืดสนิท แต่หน้ากระดาษหรือจอคอมพิวเตอร์ของชิ้นงานที่คุณต้องส่ง เมื่อเช้าวันใหม่มาถึง ยังคงว่างเปล่าขาวโพลน ตอนนั้นเองในหัวคุณเหมือนมีคนเปิดเพลง “One Night Only” จากเรื่อง Dreamgirls (2006) แล้วทั้งร่างกายก็ตระหนักขึ้นมาทันทีว่า ไม่มีตอนไหน เหมาะที่จะเริ่มลงมือทำงานมากเท่าตอนนี้อีกแล้ว! …ถ้าเคย นั่นแปลว่าคุณเป็นอีกคนที่มีประสบการณ์กับ One Night Miracle เช่นเดียวกับคนทำงานอีกมากมาย

One Night Miracle

One Night Miracleหมายความตรงตัวว่า ปาฏิหาริย์ที่ (หวังให้) เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน เพื่อให้ทันรับมือเดดไลน์ ที่จะมาถึงอยู่รอมร่อ แบบทันเวลาฉิวเฉียด เป็นปรากฏการณ์ที่คนทุกช่วงวัยน่าจะคุ้นเคย ทั้งพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ลุง ป้า น้า อา วัยทำงานที่ซดกาแฟเต็มสูบเพื่อ อดหลับอดนอน ใช้เวลาทั้งคืนสะสางงานที่คั่งค้างเพื่อให้ทันส่งเจ้านายตอนเช้า หรือน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาที่ฝืนความง่วงอ่านตำราทั้งเทอมชนิดมาราธอน ก่อนไปลุยเอาดาบหน้าในการสอบวันรุ่งขึ้น

แล้วปาฏิหาริย์ชั่วข้ามคืนแบบที่ว่านี้ มีโอกาสเกิดขึ้นจริงหรือไม่? อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่เมื่อมองในมุมของวิทยาศาสตร์แล้วก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย

ในร่างกายคนเราเต็มไปด้วยปรากฏการณ์มหัศจรรย์มากมายซึ่งเทียบได้กับปาฏิหาริย์ขนาดย่อม ๆ หนึ่งในนั้น คือ ฮอร์โมนที่ต่อมไร้ท่อต่าง ๆ หลั่งออกมา สำหรับกระตุ้นหรือยับยั้งกระบวนการทำงานบางอย่างในร่างกาย เพื่อช่วยให้มนุษย์เจ้าของร่างสามารถรับมือกับสถานการณ์จากภายนอกที่เข้ามากระทบได้อย่างเหมาะสม

ในบรรดาฮอร์โมนเหล่านี้ มีอยู่ 2 ชนิดที่ช่วยให้เจ้าของร่างกายทำสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์มาแล้วนักต่อนัก ทั้งเอาชีวิตรอดจากภูเขาหิมะแสนหนาวเหน็บหลายสิบวันโดยแทบไม่เหลือเสบียงอาหาร หลบกระสุนและระเบิดในสมรภูมิโดยไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ หรือเคสสุดคลาสสิก อย่างยกของหนักหลายกิโลวิ่งออกจากบ้านที่กำลังไฟไหม้ ฮอร์โมน 2 ชนิดที่ว่า ได้แก่

  1. อะดรีนาลิน(Adrenaline) หรือเรียกอีกอย่างว่า เอพิเนฟริน (Epinephrine) ผลิตขึ้นที่ต่อมหมวกไต โดยจะหลั่งออกมาเมื่อร่างกายรู้สึกถึงอันตราย หรือจิตใจอยู่ในภาวะอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ ตกใจ หรือตื่นเต้น ฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยปรับให้ร่างกายเสมือนเข้าสู่โหมดฉุกเฉิน เตรียมพร้อมสำหรับการป้องกันตัว โดยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตมีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น หัวใจบีบตัวมากขึ้น เต้นแรงขึ้น และสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง และอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างมากขึ้น
  2. คอร์ติซอล(Cortisol) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไตเช่นกัน จะหลั่งออกมาเมื่อจิตใจรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือมีอาการตื่นตระหนก (Panic) โดยจะกระตุ้นตับให้ผลิตน้ำตาลในเลือดมากขึ้น เพื่อมาเป็นพลังหล่อเลี้ยงร่างกาย เรียกได้ว่า เป็นสเตียรอยด์ที่ร่างกายคนเราสังเคราะห์ได้เอง

โดยทั่วไป เมื่อคนเราตกอยู่ในอันตรายหรือสถานการณ์คับขันบางอย่าง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน 2 ชนิดนี้ออกมา ซึ่งโดยรวมแล้วจะช่วยเสริมสมรรถภาพทางกายและสมอง ทำให้เอาตัวรอดจากอันตรายมาได้

ทั้งนี้ ต่อให้ร่างกายไม่ได้กำลังเผชิญอันตรายจริง ๆ ทว่าจิตใจรู้สึกว่าเป็นอันตรายระดับใกล้เคียงกัน เช่น กำลังตื่นตระหนกกับเดดไลน์ที่คืบคลานเข้ามาทุกที ๆ จนรู้สึกนั่งไม่ติด เหมือนมีไฟลนก้นอยู่จริง ๆ ก็เป็นไปได้มากที่ร่างกายจะหลั่งอะดรีนาลินและคอร์ติซอลออกมา สมองแล่นปรู๊ดปร๊าด พลังกายหลั่งล้น กลายเป็นปาฏิหาริย์ชั่วข้ามคืน ปั่นงานโต้รุ่งจนเสร็จ รอดพ้นจากภาวะเฉียด (เส้น) ตายมาได้ คนที่ทำงานได้ดีเมื่อมีแรงกดดันก็สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการนี้

ปาฏิหาริย์ชั่วข้ามคืน ดีจริงหรือ?

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปาฏิหาริย์ชั่วข้ามคืนจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่หากเป็นไปได้ก็ควรหวังพึ่งให้น้อยที่สุด ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

  1. ปาฏิหาริย์อาจไม่เกิดขึ้นเสมอไปไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถสั่ง (หรือหลอก) ร่างกายให้หลั่งอะดรีนาลินและเอพิเนฟรินทุกครั้งที่ต้องทำงานโต้รุ่ง เพราะถึงอย่างไร การเผชิญเส้นตายก็อยู่ห่างไกลจากการเผชิญความตายหลายขุม ต่อมหมวกไตอาจไม่หลงกลกับอันตรายแบบหลอก ๆ ดังนั้น One Night Miracle ที่หวังให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายก็อาจไม่เกิดขึ้นจริง
  2. สุขภาพกายอาจแย่เอาทีหลังในขณะที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิด เราจะรู้สึกว่ามีกำลังวังชาล้นเหลือ แต่พอฮอร์โมนหยุดหลั่ง ร่างกายจะกลับสู่ภาวะปกติ และเริ่มรู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการอดหลับอดนอนและโหมทำงานหนัก จนอาจเจ็บป่วยเอาได้
  3. งานที่เร่งทำอาจมีข้อผิดพลาดถึงแม้ปาฏิหาริย์ชั่วข้ามคืนจะช่วยให้ทำงานเสร็จทันกำหนดเวลา แต่การรีบปั่นงานให้เสร็จก็อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดที่เราไม่ได้ตั้งใจ แถมยังอาจไม่มีเวลาพอให้ตรวจทานความเรียบร้อยก่อนส่งด้วย

ปาฏิหาริย์ชั่วข้ามคืน อาจเป็นหนทางรอดจากกรณีไม่เหลือเวลามากพอให้ทำงานเสร็จทันเดดไลน์ (ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม) แต่ในเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นปาฏิหาริย์แล้วก็คงหวังให้เกิดขึ้นจริงตลอดไปไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดคือ หมั่นสร้างวินัยในการทำงาน จัดแบ่งเวลาและจัดลำดับความสำคัญของงานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้ทำงานทุกอย่างสำเร็จลุล่วงทันกำหนดเวลาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปาฏิหาริย์ใด ๆ ทั้งสิ้น

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/parkinson-law/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/shift-work-%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b0/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/karoshi-syndrome/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%9a-multitasking/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%95-task-batching/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด