โลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง เนื่องด้วยผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก รวมถึงการเติบโตอย่างแทบไม่อาจคาดเดาของวงการเทคโนโลยีและดิจิทัล ส่งผลให้ธุรกิจเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัป (Startup) มากมายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในเวลาไม่นาน เพื่อให้สตาร์ทอัปของคุณมีโอกาสอยู่รอดและเติบโต อาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับตัวให้เป็น “Lean Startup”
Lean Startup เป็นแนวคิดการพัฒนาสตาร์ทอัปที่คิดค้นขึ้นโดย อีริก รีส (Eric Ries) ผู้ร่วมก่อตั้ง IMVU แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กโลกเสมือนจริง 3 มิติ โดยนำแนวคิดเรื่องการจัดการการผลิตแบบ “Lean” ของโตโยต้า (Toyota) ซึ่งเน้นการลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็น และให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าของสินค้าหรือแบรนด์เป็นหลัก มาประยุกต์เข้ากับการบริหารจัดการสตาร์ทอัป
สำหรับรีส แนวคิดการพัฒนาธุรกิจแบบเดิม ๆ ที่เริ่มต้นจากการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการขึ้นมาก่อน แล้วค่อยตามหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Potential customer) ภายหลัง เป็นวิธีการที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของสตาร์ทอัป เพราะมักทำให้สูญเสียทรัพยากรและเวลาโดยไม่จำเป็น รวมถึงได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มกับที่เสียไป นำไปสู่การล้มเลิกกิจการในที่สุด
Lean Startup คือแนวคิดที่มาเพื่อหักล้างวิธีการดั้งเดิมข้างต้น โดยเปลี่ยนโฟกัสไปยังการทำความเข้าใจผู้บริโภค เริ่มต้นจากการสำรวจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าต้องการอะไร มี Pain point หรือปัญหาใดบ้างที่อยากแก้ไข จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลเป็นไอเดียพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง และไม่ใช้ทรัพยากรที่มี ไม่ว่าจะเงินทุน แรงงาน หรือเวลา
หลักการสำคัญ มีอยู่ด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่
- ผู้ประกอบการมีอยู่ทุกที่ (Entrepreneurs are everywhere) ไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ไหน จะเป็นออฟฟิศ บ้าน โคเวิร์กกิงสเปซ คาเฟ่ หรืออู่ซ่อมรถ ถ้าคุณมีธุรกิจสตาร์ทอัปหรือกิจการของตัวเอง คุณก็คือผู้ประกอบการคนหนึ่ง
- การเป็นผู้ประกอบการคือการบริหารจัดการ (Entrepreneurship is management) การทำสตาร์ทอัปให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่การทำผลิตภัณฑ์หรือบริการออกมาขายเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
- การเรียนรู้จากการทดสอบ (Validated learning) มีการเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำมาวิเคราะห์และต่อยอดเป็นกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัปให้อยู่รอดได้ในระยะยาว โดยข้อมูลที่จะนำไปเรียนรู้เพื่อพัฒนาสตาร์ทอัปของเราต้องมาจากการทดสอบหรือการวัดผลประเมินผลที่จับต้องได้ มีหลักเกณฑ์ชัดเจน เช่น การทำแบบสอบถาม (Survey) วัดความพึงพอใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การนำข้อมูลของธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ทางสถิติ เป็นต้น
- การจัดการบัญชีอย่างมีนวัตกรรม (Innovation Accounting) ธุรกิจที่มีการทำบัญชีเป็นระบบ มีบันทึกผลประกอบการและโครงสร้างการทำงานชัดเจน จะยิ่งดูน่าเชื่อถือและมีโอกาสก้าวหน้าในทางธุรกิจมากขึ้น เจ้าของสตาร์ทอัปจึงจำเป็นต้องคิดค้นระบบการบัญชีที่เหมาะสมต่อธุรกิจของตนเอง
- สร้าง วัดผล และเรียนรู้ (Build – Measure – Learn) ข้อนี้คือหัวใจหลักของ Lean Startup เป็นกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัปอยู่รอดได้ในระยะยาว ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้
- สร้าง (Build) : นำไอเดียที่สังเคราะห์ได้จากความต้องการหรือปัญหาของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการปล่อยออกสู่สาธารณะโดยเร็วที่สุด โดยผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบสมบูรณ์ทุกอย่าง ขอแค่มีส่วนที่จำเป็นครบถ้วนก็เพียงพอ กล่าวคือ เป็นสินค้าที่พอใช้งานได้จริง (Minimum viable product) อาจปล่อยไปในรูปของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype) หรือสินค้าตัวทดลองเพื่อให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ทดลองใช้
- วัดผล (Measure) : คิดระบบสำหรับตรวจสอบและวัดผลความพึงพอใจในตัวอย่างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ปล่อยสู่สาธารณะ โดยกำหนดตัวชี้วัดอย่างมีหลักการชัดเจน รวมถึงรวบรวมผลตอบรับ (Feedback) และความคิดเห็นจากลูกค้าเท่าที่จำเป็นต่อการพัฒนาสินค้าของเรา
- เรียนรู้ (Learn) : นำข้อมูลที่ได้จากการวัดผล ตลอดจนความคิดเห็นที่จำเป็นจากลูกค้า มาวิเคราะห์และสรุปเพื่อใช้เป็นแนวทางปรับปรุงหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการต่อไป สิ่งไหนที่ไม่เวิร์ก ผลตอบรับไม่ดี ก็เปลี่ยนไปใช้รูปแบบอื่น (Pivot) ส่วนอะไรที่ผลตอบรับดีก็ทำต่อไป (Persevere)
โดยผู้ประกอบการควรนำ 3 ขั้นตอนดังกล่าวมาวนลูปใช้เรื่อย ๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างต่อเนื่อง เหมาะสมต่อเหตุการณ์แวดล้อมและความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัปอยู่รอดและพร้อมดำเนินการต่อไปได้ทุกสถานการณ์
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการหลายรายทั่วโลกนำหลักการนี้ไปใช้ และพัฒนาต่อเนื่องจนกลายเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนและมีแนวทางของตัวเองชัดเจน ตัวอย่างแบรนด์หรือบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการนำหลักการนี้ไปใช้ เช่น IMVU ของอีริก รีส ผู้คิดค้นหลักการนี้เอง, Dropbox, Wealthfront, Grockit, Votizen, Aardvark หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Facebook ก็มีแนวทางปรับปรุงและพัฒนาที่สอดคล้องกับหลักการนี้อย่างต่อเนื่อง
กล่าวโดยสรุปคือ หลักการนี้คือการทำธุรกิจแบบ “น้อยแต่มาก” เริ่มจากการสร้างอย่างน้อย ๆ เท่าที่จำเป็น ตามด้วยการปรับปรุงและพัฒนาทีละน้อย ๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็น แต่ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีต้นทุนน้อย แต่ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ทั้งเรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาด และเรียนรู้จากโลกรอบด้านที่ไม่เคยหยุดหมุน เปรียบเทียบได้กับคนที่อยากมี “หุ่นลีน” ก็ต้องรับประทานอาหารเฉพาะที่มีสารอาหารอันจำเป็นต่อร่างกาย รับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และขวนขวายหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า
สวัสดิการพนักงาน ที่ Startup ควรมีเพื่อสร้างความสุขให้พนักงาน
Pain point อย่าปล่อยไว้! แก้ปัญหาธุรกิจให้ตรงจุด จัดการ Pain point ให้อยู่หมัด
Root cause analysis แก้ปัญหาธุรกิจแบบถอนรากถอนโคน
แก้ปัญหาธุรกิจ สร้างนวัตกรรมที่แตกต่างด้วย Design Thinking
สยามพิวรรธน์ ปฏิรูปองค์กรผลักดันธุรกิจสู่ดิจิทัล ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างสรรค์ผลงานระดับ Talk of the world
ทำ Chat bot ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ ถูกใจลูกค้า หัวหน้าแฮปปี้