Employee Experience คืออะไร ทำไมบริษัทยุคใหม่ถึงให้ความสำคัญ

Employee Experience คืออะไร ทำไมบริษัทยุคใหม่ถึงให้ความสำคัญ
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ในยุคที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยความเครียด ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดในสังคม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหล่าคนทำงานทุกคนล้วนพก ความเครียด ไปทำงานกันแทบทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเครียดให้แก่พนักงาน หลายบริษัทจึงเริ่มตื่นตัวกับการให้ความสำคัญเรื่อง Employee Experience

ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรได้นานที่สุด ผ่านการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานต่อองค์กรที่พวกเขาทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลักดันให้พวกเขาได้ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ การสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับทุกคนในบริษัท ทั้งผู้บริหาร หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงการใส่ใจพนักงานในเรื่อง สวัสดิการ หรือเรื่องอื่นๆ ที่พนักงานควรได้รับจากบริษัท ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยส่งผลให้พนักงานมอบคะแนนบวกให้แก่บริษัทและรู้สึกผูกพันกับองค์กรมากยิ่งขึ้น

Employee Experience คืออะไร

Employee Experience ก็เปรียบเสมือนเรื่องราวของ Customer Experience ที่ตัวละครได้เปลี่ยนจากลูกค้าและผู้ให้บริการ มาเป็นพนักงานกับบริษัทนั่นเอง ดังนั้น Employee Experience คือ ประสบการณ์ที่พนักงานคนหนึ่งจะได้รับตลอดช่วงเวลาการทำงานของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยประสบการณ์ที่ว่านี้ จะเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนของการสมัครงานเลยทีเดียว เพราะถือเป็นปราการด่านแรกที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้เจอกัน หากพนักงานรู้สึกไม่โอเคกับบริษัทตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์ ก็จะทำให้ตั้งคำถามว่า ถ้าได้เข้าไปทำงานจริงๆ แล้ว เขาจะมีความสุขกับงานหรือไม่ เข้ากับองค์กรได้หรือไม่ นี่จึงเป็นจุดสำคัญที่หลายบริษัทเริ่มให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ Employee Experience ยังรวมไปถึงปัจจัยต่างๆ ภายในออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมองค์กร ผู้บริหาร หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน การสื่อสารภายในองค์กร สวัสดิการ กิจกรรมต่างๆ การสนับสนุนพนักงาน ตลอดไปจนถึงขั้นตอนของ การลาออก เลยทีเดียว ซึ่งทั้งหมดที่เรากล่าวไปนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ ควรให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีของพนักงานกับบริษัทให้มากขึ้น เพราะเมื่อพนักงานรู้สึกดีกับบริษัท ก็จะทำให้เขาผูกพันกับองค์กร จากนั้นก็สามารถต่อยอดไปสู่กำลังใจที่จะผลิตผลงานที่ดีมีคุณภาพให้แก่บริษัทได้นั่นเอง

Employee Experience สำคัญอย่างไร

จากงานวิจัยของ Gallup ใน The State of the Global Workplace, A Worldwide Study of Employee Engagement and Wellbeing ระบุไว้ว่าการที่พนักงานคนใดคนหนึ่งเกิดความรู้สึกผูกพันขึ้นกับองค์กร จะทำให้เขาได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท อยากช่วยให้บริษัทได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผ่านการรังสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกมาให้แก่บริษัทด้วยความเต็มใจ

ในทางตรงกันข้าม พนักงานที่ไม่ได้รับประสบการณ์ในการทำงานที่ดีจากบริษัท จะทำให้เขาไม่รู้สึกเกิดความผูกพันกับองค์กร และทำงานไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพียงเท่านั้น นั่งนับวันรอสิ้นเดือนเพื่อรับเงินเดือน ไม่ได้อยากพัฒนาตนเอง หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

นี่จึงสื่อได้ถึงความสำคัญของ Employee Experience ที่หลายองค์กรเริ่มตื่นตัวและผุดนโยบายต่างๆ ขึ้นมา เพื่อดูแลพนักงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อดึงดูดให้พนักงานอยากอยู่กับบริษัทไปนานๆ

ตัวอย่างการสร้าง Employee Experience ในองค์กร

ตัวอย่างของ Employee Experience ที่น่าสนใจเป็นเรื่องของบริษัท Apple บริษัทชั้นนำระดับโลกที่ทุกคนรู้จักและอยากร่วมงานด้วย ซึ่ง Apple ถือเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ Employee Experience มากเลยทีเดียว เริ่มต้นด้วยค่าตอบแทนสุดดึงดูดใจ ผสานกับสวัสดิการสุดปังมากมาย อาทิ ส่วนลดพิเศษในการซื้อสินค้าของ Apple รถรับส่งพนักงาน กิจกรรมผ่อนคลายหลังจากการทำงาน ค่าคลอดบุตรสำหรับพ่อแม่มือใหม่ หรือการลาหยุดแบบได้เงินค่าจ้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมการกลับมาทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบสมัครใจ ประกันหลายรูปแบบ เพื่อช่วยดูแลพนักงานที่สนใจเรื่องของการออมเงิน ทำให้เขารู้สึกเกิดความมั่นคงในชีวิต ปิดท้ายด้วยเรื่องของทักษะของพนักงานที่ Apple ก็พร้อมผลักดันเช่นกัน ด้วยการสร้าง Apple University พื้นที่สำหรับพนักงานที่ต้องการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะของตนเองอยู่เสมอ

แนวทางในการสร้างเสริม Employee Experience ที่ดีขององค์กร

อุปกรณ์การทำงานต้องครบครันและทันสมัย

ปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างแรกในการทำงานเลยคือเรื่องของอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ต้องมีความทันสมัย ใช้งานได้ดี และได้รับการตรวจสอบคุณภาพอยู่เสมอ เพื่อให้การทำงานของพนักงานเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่ติดขัด นอกจากนี้ยังควรมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้กับระบบการทำงาน เพื่อสร้างความสะดวกสบาย ทำให้พนักงานทำงานได้ง่ายขึ้น แถมยังช่วยให้ขจัดเรื่องความล่าช้า พร้อมทั้งช่วยเพิ่มความแม่นยำในการทำงานได้อีกด้วย เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต โปรแกรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน หรือช่องทางสำหรับแสดงความคิดเห็นต่างๆ เป็นต้น

สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน

คงไม่มีใครอยากไปทำงานด้วยความเครียด อยู่ภายใต้ที่กดดัน อึดอัด และไม่ผ่อนคลาย เพราะพนักงานต้องใช้เวลาที่ออฟฟิศวันละกว่า 8 ชั่วโมง ใน 5 วัน/สัปดาห์ สภาพแวดล้อมในบริเวณที่ทำงานจึงส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกของพนักงาน ทางบริษัทจึงควรใส่ใจในเรื่องของการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เช่น การตกแต่งออฟฟิศให้เป็นบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีอากาศถ่ายเท ไม่อุดอู้ มีมุมพักผ่อนให้พนักงานได้คลายเครียดระหว่างวัน รวมไปถึงเรื่องบรรยากาศการทำงานที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของหัวหน้า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน อาจมีการเปิดช่วงเวลาในการพูดคุยกันถึงปัญหาต่างๆ หรือแสดงความคิดเห็นในการทำงาน การจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ทั้งภายในแผนก ต่างแผนก และระดับภาพรวมองค์กร เพื่อให้เกิดความสนิทสนมกันภายในองค์กรมากขึ้น

ขานรับการทำงานในยุค New Normal

การเข้ามาของโควิด ทำให้หลายคนรู้จักวิธีการทำงานใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้พวกเขารู้ว่าการทำงานที่มีประสิทธิภาพไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในออฟฟิศเท่านั้น แม้สถานการณ์โควิดจะซาลงไปแล้ว แต่วิธีการทำงานแบบใหม่ก็ควรต้องคงอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างความยืดหยุ่นและลดความเครียดให้แก่พนักงาน โดยบริษัทอาจลองมีการปรับใช้วิธีการทำงานที่ตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคล เช่น Hybrid Working, Remote Working, Work from Anywhere หรือการสลับทีมกันเข้าออฟฟิศ เป็นต้น เพื่อที่พนักงานจะได้มี Work Life Balance และจัดการวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากขึ้น

สวัสดิการต้องปัง

เรื่องของสวัสดิการที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักเลยก็ว่าได้ ที่พนักงานสักคนจะเลือกทำงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้าง Employee Experience แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการคำนึงถึงผลประโยชน์แบบถี่ถ้วน ให้เกิดความพึงพอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งตัวองค์กรและพนักงาน เช่น วันลาหยุด ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทาง ค่าทำคลอด ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือสวัสดิการแบบ Flexible เป็นต้น ซึ่งการที่องค์กรดูแลพนักงานได้อย่างดีเยี่ยม ก็ย่อมทำให้พนักงานมีกำลังใจ รู้สึกว่าบริษัทพร้อมดูแลพวกเขาอย่างเต็มใจ จนกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีต่อองค์กรในที่สุด

สนับสนุนการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะ

พนักงานทุกคนล้วนย่อมตั้ง Career Path ให้ตัวเองไว้เสมอ ดังนั้นการสร้าง Employee Experience ให้แก่พนักงานด้วยการสนับสนุนด้านการเติบโตในสายงาน ย่อมช่วยส่งผลให้พนักงานอยากทำผลงานให้ออกมามีประสิทธิภาพ หากเห็นพนักงานคนไหนที่มีความสามารถและพร้อมที่จะเติบโต ก็ไม่ควรลังเลที่จะสนับสนุน หรือหากเห็นใครที่ยังขาดทักษะบางอย่างไป ก็อาจลองหาคอร์สพิเศษให้พวกเขาได้เรียนรู้ เพื่อต่อยอดในการพัฒนาองค์กรต่อไป ส่วนพนักงานก็ได้รับความรู้จากการเรียนติดตัวไปด้วย

เปิดช่องทางให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็น

การเปิดใจคุยกันหรือการให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ย่อมทำให้องค์กรได้รับรู้ถึงความต้องการของพนักงาน รวมไปถึงสิ่งที่องค์กรต้องปรับปรุงในการสร้าง Employee Experience หากพนักงานสามารถออกความคิดเห็นได้อย่างสะดวก แล้วสิ่งที่พวกเขาเสนอได้รับการพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไข ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับองค์กร และอยากผลิตผลงานของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น

Out-of-office Employee Experience คือ

ดังที่เราเกริ่นไปในหัวข้อที่แล้วเกี่ยวกับการทำงานในยุค New Normal ซึ่งนี่ถือเป็นจุดหนึ่งที่หลายบริษัทต้องปรับกลยุทธ์เกี่ยวกับการสร้าง Employee Experience กันอีกครั้ง จากเดิมที่เคยมีการสร้างมุมพักผ่อนในออฟฟิศ มุมเล่นเกม การเลี้ยงอาหารในออฟฟิศ หรือปาร์ตี้ทุกวันศุกร์ ก็อาจต้องมีการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่พนักงานที่เรียกว่า Out-of-office Employee Experience ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเราอยู่ในยุค New Normal ไลฟ์สไตล์การทำงานของพนักงานก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้นจึงอาจต้องมีการเพิ่มสวัสดิการใหม่ๆ เข้ามาตอบโจทย์ตรงจุดนี้ด้วย เช่น การทำงานแบบ Hybrid Working สิทธิ์ในการ Work from Anywhere การเพิ่มวันลาพักร้อน สิทธิ์ส่วนลดจากร้านค้าต่างๆ เป็นต้น เพื่อสร้าง Work Life Balance ให้แก่พนักงาน ทำให้พวกเขาทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยนำพาให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

Employee Experience แตกต่างจาก Employee Engagement อย่างไร

จริงๆ แล้ว 2 คำนี้ถือเป็นคำที่ถูกประยุกต์จากด้านการตลาดมาใช้กับการบริหารงานด้านบุคคล ซึ่ง Employee Engagement จะหมายถึงการทำให้พนักงานมีความรู้สึกที่ดีต่อองค์กรยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการเน้นไปที่ประเด็นหลักบางประเด็นไปเลย โดยสามารถวัดผลในการตอบสนองของพนักงานต่อองค์กรได้เป็นอย่างดี แต่ข้อเสียไม่อาจหวังผลได้ในระยะยาว เช่น การเพิ่มสวัสดิการอาหารกลางวันให้แก่พนักงาน ซึ่งถือเป็นพุ่งเป้าไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง จนไม่อาจวัดถึงความพึงพอใจหลักของพนักงานได้

แต่ Employee Experience เปรียบเสมือนการสร้างประทับใจให้ลูกค้า ที่เน้นทุกอย่างแบบภาพรวม ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ประเด็นเดียว แถมยังเน้นการสร้างความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีแบบระยะยาว ซึ่งก็จะช่วยส่งผลดีให้กับองค์กรได้มากกว่า

การที่บริษัทได้คนที่มีความสามารถมาร่วมงาน ย่อมถือเป็นเพชรเม็ดงามที่บริษัทควรรักษาไว้ เพราะต้องอย่าลืมว่าคนที่ความสามารถ ใครๆ ก็อยากได้ตัวไปร่วมงานด้วย ดังนั้นปัจจัยหลักที่พนักงานจะเลือกก็คือเรื่องของตัวบริษัทนี่แหละ หากพวกเขาได้เจอกับบริษัทที่ใส่ใจพนักงานและพร้อมสร้าง Employee Experience ที่ดีให้แก่พวกเขา พนักงานก็ย่อมอยากร่วมงานด้วยและอยู่ด้วยกันไปยาวๆ อย่างแน่นอน ส่วนบริษัมไหนที่อยากทราบว่าผู้สมัครงานใหม่ต้องการบอกอะไรแก่องค์กร สามารถดาวน์โหลดผลสำรวจความคิดเห็นของผู้สมัครงานกว่า 90,000 คนได้ฟรีที่นี่ http://bit.ly/41z4r8Q เพื่อเป็นแนวทางในการสร้าง Employee Experience ทั้งนี้ยังสามารถลงประกาศงานกับ JobsDB ได้เลย เพราะเรามีหมวดหมู่การทำงานที่หลากหลาย รองรับทุกสายงาน

More from this category: การเป็นผู้นำ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด