Employee Engagement เคล็ดลับความสำเร็จมัดใจพนักงานให้อยู่ยาว

FacebookLineTwitterLinkedInEmailCopy LinkPrint

ในยุคนี้นอกจากที่บริษัทจะต้องสร้างกลยุทธ์เพื่อมัดใจลูกค้าให้ยังซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ แล้ว การมัดใจพนักงานคนรุ่นใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายขององค์กรยุคใหม่เช่นกัน เพราะวิธีคิดของคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้เหมือนกับคนรุ่นเก่าที่นิยมทำงานที่เดิม ๆ เป็นเวลานานอีกแล้ว แต่แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และมักที่จะท้าทายตัวเองอยู่เสมอก็คือการเปลี่ยนงานเพื่อให้ตัวเองได้พัฒนาไปอีกขั้น ๆ ในโจทย์ใหม่ ๆ ของชีวิตการทำงาน ทำให้ HR และผู้บริหารเองต่างก็ต้องหากลยุทธ์ที่จะสามารถทำให้พนักงานที่มีคุณภาพเหล่านี้ยังอยากทำงานร่วมกับองค์กรอยู่ ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์การรักษาพนักงานไว้ก็คือ Employee Engagement ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายจากผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลาย ๆ องค์กร

Employee Engagement หมายถึงอะไร

หากแปล Engagement แบบตรงตัวจะหมายถึง การมีส่วนร่วม ความผูกพัน ทั้งทางสภาวะทางจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้มีแรงจูงใจและรู้สึกมีส่วนร่วมในสิ่งนั้น ๆ ซึ่งพอถูกนำมารวมกับคำว่า “Employee” หรือ “พนักงาน” แล้ว จะทำให้ Employee engagement หมายถึง ความรู้สึกผูกพันและอยากมีส่วนร่วมของพนักงานที่มีต่อองค์กร เป็นภาวะที่พนักงานรู้สึกมีพลังงานและแรงจูงใจที่จะสามารถนำทางทำให้พนักงานมุ่งมั้นทุ่มเททำงานด้วยความกระตือรือร้น พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและทำให้เป้าหมายที่ถูกวางไว้ขององค์กรประสบความสำเร็จ 

ความสำคัญของ Employee Engagement ในองค์กร

การที่พนักงานมีความสุขในการทำงานและพร้อมมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้งานออกมาประสบความสำเร็จ หลายครั้งเราจะพบว่าพนักงานเหล่านี้มักจะทำงานหนักกว่าเงินเดือนที่ได้รับด้วยซ้ำ พนักงานเหล่านี้พร้อมที่จะอุทิศตนให้กับองค์กร มีทั้งความมุ่งมั่น ตั้งใจ และหลงใหลในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จขององค์กรที่สามารถสร้างความผูกพันของพนักงานที่มีต่อทั้งงาน หน้าที่ และองค์กร 

การที่พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กร เป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ของ Employee Engagement ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ลดการลาออกของพนักงาน เมื่อสามารถลดการลาออกได้แล้ว นอกจากที่องค์กรจะประหยัดงบประมาณและเวลาที่ต้องเสียไปกับการสอนงานพนักงานใหม่ องค์กรยังจะได้พนักงานที่มีความเข้าใจในเนื้องานและบริบทต่าง ๆ ขององค์กรอย่างลึกซึ้ง ซึ่งส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดในเวลาอันสั้น ไปจนถึงสามารถสร้างกำไรให้บริษัทได้มากขึ้นตามไปด้วย

ปัจจัยช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร 

  • เป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กร (Goal & Vision)
    องค์กรที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลจะทำให้พนักงานทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน และรู้ว่าทำงานไปเพื่ออะไร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่สำคัญสำหรับคนทำงานยุคใหม่ เพราะแค่เงินไม่สามารถรั้งพนักงานที่มีคุณภาพไว้ได้อีกแล้ว ผลลัพธ์จากการทำงานที่จับต้องได้ต่างหากที่สำคัญ
  • ผลตอบแทนและสวัสดิการที่ดี (Income & Benefit)
    แม้ว่าความฝันความสำเร็จจะสำคัญแต่ถ้าหากกินไม่ได้ก็อาจจะทำให้คนรุ่นใหม่โบกมือลาได้ เพราะ Work-life balance คือสิ่งที่พนักงานรุ่นใหม่ถามหา ดังนั้นองค์กรควรให้ผลตอบแทนหรืองเงินเดือนให้สมน้ำสมเนื้อกับหน้าที่ พร้อมสวัสดิการจัดเต็มแบบที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าทำงานที่นี่แม้จะงานหนักแต่ก็ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าตอบแทน การดูแลจากบริษัท และวันลาที่เหมาะสมที่เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่องค์กรไม่ควรมองข้าม เพราะหากองค์กรดูแลพนักงานอย่างดีแล้ว พนักงานคุณภาพสูงก็พร้อมที่จะทุ่มเททำงานให้อย่างเต็มที่
  • หัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน (Supervisor & Colleague)
    องค์กรที่ดีก็มักจะดึงดูดคนที่มีแนวโน้มที่ดีมาทำงานร่วมกัน ดังนั้นปัจจัยเรื่องคนจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมากในการสร้าง Employee Engagement เพราะเมื่อสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานดี ทุกคนพร้อมช่วยเหลือ พร้อมสนับสนุนกันในการทำงาน มีหัวหน้าที่มีความยุติธรรม การเมืองในบริษัทน้อย ก็จะทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ มีพลังงานในการทำงานอย่างเต็มที่ เพราะไม่ต้องเสียพลังงานไปกับการเล่นเกมส์การเมืองในออฟฟิศ และพยายามเอาตัวรอด
  • งานที่ทำกับความรับผิดชอบต่องาน (Work & Responsible)
    สิ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าก็คือ งานและความรับผิดชอบ เพราะเมื่อไหร่ที่สามารถทำงานได้สำเร็จ งานออกมาดีสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับบริษัท เมื่อนั้นพนักงานก็จะรู้สึกประสบความสำเร็จและมีคุณค่ามีความสำคัญกับองค์กรไปพร้อม ๆ กัน ผู้บริหารจึงไม่ควรละเลยที่จะมอบหมายงานให้ตรงกับความสามารถของพนักงานคนนั้น ๆ อาจจะสร้างความท้าทายเล็ก ๆ ด้วยการตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นมาอีกนิด และคอยหมั่นให้กำลังใจ และคอมเม้นท์ในเชิงบวกระหว่างการทำงานก็จะช่วยสร้างแรงใจให้พนักงานทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น
  • ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร (Brand Image)
    พนักงานหลายคนเลือกที่จะทำงานในองค์กรที่พวกเขาชื่นชอบและชื่นชม เพราะว่าอยากมีส่วนร่วมในองค์กรที่ตัวเองเชื่อถือและอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมทำฝันขององค์กรให้สำเร็จ ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยดึงดูดพนักงานที่มีคุณภาพและมีเป้าหมายเดียวกันเข้ามาร่วมงาน
  • ผลงานที่ประสบความสำเร็จ (Successful Product)
    ผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กรเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยดึงดูดพนักงานคุณภาพ เพราะถึงเป็นผลงานขององค์กรที่ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจให้คนอย่างมาทำงานในบริษัทนั้น ๆ ได้ สิ่งนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เกิด Employee Engagement เพราะนอกจากพนักงานจะอยากเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้แล้ว ผลงานที่ประสบความสำเร็จยังนำมาซึ่งผลกำไรที่จะสามารถหล่อเลี้ยงบริษัทและพนักงานได้ในระยะยาวอีกด้วย
  • การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)
    การสนับสนุนให้พนักงานได้พัฒนาตัวเองด้วยการอบรมเรื่องใหม่ ๆ หรือจัด Workshop ที่เป็นประโยชน์ รวมไปถึงการส่งพนักงานไปเรียนคอร์สต่าง ๆ จะช่วยทำให้พนักงานรู้สึกถึงความใส่ใจ และความพยายามของบริษัทที่อยากให้พนักงานเติบโตไปพร้อม ๆ กัน สิ่งนี้ก็จะช่วยสร้าง Employee Engagement ได้เป็นอย่างดี
  • การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Relationship Management)
    การบริหารงานที่ดีของแผนก HR ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการเงินเดือน สวัสดิการ นโยบายวันหยุด วันลา การรักษาพยาบาล โปรแกรมพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ไปจนถึงเรื่องเล็ก ๆ อย่างการถามสารทุกข์สุขดิบ และการดูแลยามพนักงานไม่สบายไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจ เป็นสิ่งที่ HR สามารถช่วยดูแลได้ และทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กรมากขึ้น

5 วิธีทำ Employee Engagement 

สร้างความรู้สึกในการเป็นเจ้าของร่วมและการมีส่วนร่วมกับองค์กร

องค์กรสามารถสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับองค์กรได้ง่าย ๆ ผ่านการดูแลเอาใจใส่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ การดูแลยามลำบาก ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าบริษัทไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่เครื่องจักรในการทำงาน แต่ยังดูแลเหมือนญาติมิตร เหมือนคนในครอบครัว นอกจากนี้การให้สิทธิในการตัดสินใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดของบริษัท ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องธุรกิจ แต่อาจจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น การจัดโหวตเรื่องเพิ่มจุดพักผ่อนให้พนักงาน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความรู้สึกในการเป็นเจ้าของร่วมและการมีส่วนร่วมกับองค์กรได้

สร้างภาวะผู้นำและส่งเสริมการพัฒนาต่าง ๆ

การส่งเสริมให้พนักงานรู้จักรับผิดชอบ ด้วยการมอบหมายงานที่มีความหมาย การให้อำนาจในการตัดสินใจ สอนให้พนักงานรู้จักบริหารทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา หรือแม้แต่คน เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างภาวะผู้นำและการพัฒนาความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ให้กับพนักงาน ยิ่งพนักงานได้เห็นว่าตัวเองพัฒนามากขึ้นแค่ไหนจากการสนับสนุนขององค์กร ก็จะยิ่งทำให้พนักงานเห็นคุณค่าขององค์กรมากยิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

สร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

การสื่อสารถือเป็นกุญแจสำคัญและเป็นเคล็ดลับของความสำเร็จในการทำงาน เพราะการสื่อสารในองค์กรที่ดีมีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรให้ดีและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน ที่จะช่วยทำให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน ไปจนถึงการสื่อสารภายในทีมระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือการสื่อสารระหว่างพนักงานด้วยกันเอง หากเป็นการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้การทำงานไหลลื่น มีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ด้วยความเข้าใจ ช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีที่ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กรได้ไม่ยาก

สร้างการทำงานระบบทีมและสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี

ไม่มีพนักงานคนไหนที่อยากทำงานในบรรยากาศที่ทุกคนแข่งขันกันเองตลอดเวลา เพราะงานในบริษัทส่วนใหม่ไม่ได้เป็นงานที่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ดังนั้นการสร้างทีมที่ดี ที่ทุกคนพร้อมร่วมมือ ให้ความความช่วยเหลือ ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ย่อมสร้างความสามัคคีและและแรงผลักดันในองค์กรได้ ร่วมไปถึงการจัดการให้สิ่งแวดล้อมในออฟฟิศสะอาดน่าอยู่ ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ช่วยสร้าง Employee Engagement ได้

สร้างความยุติธรรมในทุกมิติ

ความยุติธรรมในองค์กร นอกจากจะหมายถึงการบริหารคนอย่างมีความยุติธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ดูที่ผลงานและการกระทำเป็นหลัก ยังหมายถึงการให้เกียรติและไม่เอาเปรียบพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเดือน หรือสวัสดิการที่พนักงานควรได้รับ หรือกฎเกณฑ์ การตัดสินและบทลงโทษที่เหมาะสมในกรณีที่พนักงานทำผิด หากทุกอย่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมแล้ว ก็จะทำให้พนักงานไว้วางใจบริษัท รู้สึกเชื่อมั่น และเกิดเป็นความจงรักภักดีกับบริษัทต่อไป

Employee Engagement Survey คืออะไร

เมื่อรู้ถึงความสำคัญและวิธีการสร้าง Employee Engagement ในองค์กรแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องทำการวัดผลว่าบริษัทสามารถสร้างความผูกพันในเกิดขึ้นในใจของพนักงานได้หรือไม่ ผ่านการทำ Employee Engagement Survey ซึ่งก็คือ การทำแบบสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจที่พนักงานมีต่อองค์กร แบบสำรวจนี้นอกจากจะช่วยวัดผล และนำผลสำรวจมาสร้างกลยุทธ์การทำงาน Employee Engagement ที่ได้ผลแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความผูกพันและความรู้สึกว่าองค์กรใส่ใจในความคิดเห็นของพนักงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิด Employee Engagement อีกทางหนึ่งด้วยนั่นเอง

เมื่อองค์กรยังต้องการคนในการขับเคลื่อนและทำงาน การทำให้พนักงานมีความสุขและรู้สึกผูกพันกับองค์กรผ่านการสร้าง Employee Engagement จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะละเลยไปไม่ได้ เพราะหากพนักงานรู้สึกรักองค์กร อยากอยู่ช่วยสร้าง และพร้อมทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จไปด้วยกันแล้ว องค์กรเองก็จะสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไปพร้อมกัน

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

Employee experience ยิ่งกว่าความผูกพัน คือการรักษาพนักงานให้องค์กร

Employment Branding : สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ว่าที่ลูกจ้าง

Work-Life Balance แบบไหนที่ผู้สมัครงานมองหา

IT Insider: เจาะ เทรนด์ไอที ยุคใหม่ อะไรที่ HR กำลังมองหา
บทความยอดนิยม

9 เทรนด์การทำงานในอนาคตสำหรับปี 2023Employee Engagement เคล็ดลับความสำเร็จมัดใจพนักงานให้อยู่ยาว

อีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังกระแสและเป็นที่น่าจับตามองในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น SMEs รวมไปถึงบรรดา Startup ทั้งหลาย เพราะปัจจุบัน...
ในยุคนี้นอกจากที่บริษัทจะต้องสร้างกลยุทธ์เพื่อมัดใจลูกค้าให้ยังซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ แล้ว การมัดใจพนักงานคนรุ่นใหม่...
ช่วงนี้มนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานออฟฟิศทั้งหลายเรียกได้ว่าเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลยื่นภาษีกันแล้ว ซึ่งการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธ...

คำค้นหายอดนิยม

Scroll to Top