หลักการ Brainstorming รวบตึงไอเดียดี ความคิดเด็ดจากการระดมสมองของทุกคน

หลักการ Brainstorming รวบตึงไอเดียดี ความคิดเด็ดจากการระดมสมองของทุกคน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

Brainstorming นับเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่หลากหลายองค์กรนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะเป็นวิธีการที่ช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่หลากหลายและแปลกใหม่ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอีกด้วย ซึ่งการจะระดมสมองให้มีประสิทธิภาพนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจความหมาย หลักการ และขั้นตอนปฏิบัติให้ดี ดังนี้

Brainstorming

การระดมสมอง (Brainstorming) คืออะไร?

การระดมสมอง เป็นกระบวนการรวบรวมความคิดและไอเดียร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อหาทางออกหรือวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยผู้ที่เสนอไอเดียจะไม่ถูกจำกัดกรอบความคิด และไม่ถูกตัดสินว่าไอเดียนั้นถูกหรือผิด เป็นไปได้หรือไม่ ทุกคนในกลุ่มสามารถแชร์ไอเดียที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อได้อย่างอิสระ ยิ่งมีปริมาณไอเดียเยอะเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย และมองเห็นโอกาสที่จะนำไปสู่ข้อสรุปหรือทางออกใหม่ ๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น

การระดมสมองดีต่อการทำงานเป็นทีมอย่างไร...

การระดมสมองที่ดีและมีประสิทธิภาพ จะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อเนื้องานแล้ว ยังส่งผลดีต่อการทำงานร่วมกันในทีม ดังนี้

  1. ช่วยให้ทุกคนในทีมเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพราะหลักในการระดมสมอง คือทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอไอเดีย และแสดงความคิดเห็นแบบไม่ปิดกั้น ไม่ตัดสิน ไม่ว่าไอเดียนั้น ๆ จะแปลก หลุดโลก หรือซ้ำกันภายในกลุ่ม ไม่ว่าคนในทีมจะมีตำแหน่งอะไร อายุเท่าไหร่ กล้าแสดงออก หรือมีนิสัยขี้อาย ก็สามารถแชร์ไอเดียร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม
  2. มีไอเดียที่หลากหลาย การระดมสมองเป็นการแชร์ไอเดียที่เน้นปริมาณ เพื่อมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เป็นการรวบรวมไอเดียจากคนที่มีประสบการณ์ มุมมอง ชุดความคิด และจินตนาการที่หลากหลายมาไว้ในที่เดียวกัน
  3. ฝึกการทำงานเป็นทีม เป็นการกระตุ้นให้ทีมทุกคนมีส่วนร่วมในโปรเจกต์นั้น ๆ ทุกคนจะรู้สึกว่าโปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ของ "พวกเราทุกคน" ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ส่งผลให้ทุกคนในทีมรักและเคารพกันจนสามารถพัฒนาโปรเจกต์นั้น ๆ ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
  4. ช่วยลดช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นในทีม บางครั้งการทำงานร่วมกันภายในทีมอาจเกิดช่องว่างจากปัจจัยต่าง ๆ ได้ เช่น เป็นการฟอร์มทีมจากต่างแผนก ต่างอายุ แต่ละคนไม่คุ้นเคยกัน การทำงานคนละสไตล์กัน ฯลฯ การระดมสมองจะช่วยเปิดโอกาสให้ภายในทีมได้ทำความรู้จักกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน ปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีแก่กัน เมื่อทุกคนในทีมเข้าใจกันและกันมากขึ้น ช่องว่างในทีมนั้น ๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย

ขั้นตอนและวิธีการระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์ไอเดียใหม่

  1. กำหนดหัวข้อในการระดมสมองให้ชัดเจน

ในการระดมสมองแต่ละครั้ง ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าที่เรามาคุยกันวันนี้มีเป้าหมายเพื่ออะไร เพื่อแก้ปัญหา เพื่อปรับปรุงพัฒนา หรือเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ควรเป็นหัวข้อที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้แนวทางในการพูดคุยมีทิศทางที่ชัดเจน ตรงประเด็น หลีกเลี่ยงหัวข้อที่กว้างเกินไปเพราะอาจทำให้การแชร์ไอเดียฟุ้งไม่รู้จบได้ เช่น แทนที่จะถามว่า "ทำอย่างไรถึงจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น" หากเปลี่ยนเป็น "ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มยอดขายได้ 10 เท่า" จะช่วยกระตุ้นให้ทุกคนในทีมคิดหาไอเดียในการเพิ่มยอดได้หลากหลาย และหลุดออกจากกรอบเดิม ๆ ได้มากกว่า

  1. ตั้งผู้ดำเนินการ หรือผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator)

ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ต้องเป็นคนที่เป็นกลาง คอยอำนวยความสะดวกให้ทุกคนในทีมแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างอิสระและเท่าเทียมกัน คอยสังเกตไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นนานเกินไป หรือมีคนที่ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเลย รวมไปถึงต้องเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหากเกิดข้อขัดแย้งกัน เป็นคนคอยคลี่คลายบรรยากาศตึงเครียดต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และคอยควบคุมการพูดคุยไม่ให้ไหลไปจนหาข้อสรุปไม่ได้

  1. กำหนดเวลาในการระดมสมอง

การระดมสมองในแต่ละครั้ง ควรมีระยะเวลาประมาณ 30 นาที - 1.5 ชั่วโมง ไม่ควรสั้นหรือยืดเยื้อนานเกินไป เพราะการประชุมที่ใช้เวลานานเกินไปอาจส่งผลให้สมองเริ่มล้า ไอเดียตีบตัน หลุดประเด็น และทำให้เกิดความสับสนจนหาข้อสรุปไม่ได้ เมื่อเห็นวี่แววว่าการประชุมเริ่มหลุดประเด็น ผู้ดำเนินการควรรีบดึงกลับเข้าประเด็นให้เร็วที่สุด

  1. ออกไอเดียให้เยอะเข้าไว้

ยิ่งออกไอเดียเยอะเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมหาความเป็นไปได้ที่เหมาะสมที่สุดเจอมากขึ้นเท่านั้น การออกไอเดียที่ดีควรเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่กำหนดไว้ในคราวนั้น ๆ เป็นไอเดียที่แต่ละคนอยากแชร์จริง ๆ โดยไม่ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโน้มน้าวให้คล้อยตาม เป็นไอเดียที่อิสระ ไม่มีข้อกำหนด ไม่มีชุดความคิดแบบเดิมครอบไว้ และเปิดกว้างให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาให้มากที่สุด

  1. ต่อยอดไอเดียของกันละกัน

นอกจากการพูดแชร์ไอเดีย อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นมาก ๆ ในการระดมสมอง คือ “การรับฟัง” และ “การต่อยอดไอเดียของกันและกัน” ในการแชร์ไอเดียแต่ละครั้งควรพูดทีละคน คุยทีละเรื่อง เพื่อป้องกันความสับสนและไม่ให้ไอเดียดี ๆ หล่นหายไป

หากเราสนใจไอเดียไหน มีไอเดียของเพื่อนร่วมทีมที่คล้ายกับเรา หรือรู้สึกว่าไอเดียนี้มีความเป็นไปได้สูง ต่อยอดไอเดียเหล่านั้นไปให้สุดด้วยการตั้งคำถามกับไอเดียเหล่านั้นดู จะเป็นคำถามปลายปิดหรือปลายเปิดก็ได้ เพื่อให้ไอเดียเหล่านั้นกลายเป็นก้อนความคิดที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น

เช่น มีคนเสนอไอเดียเพิ่มยอดเว็บไซต์ด้วยการทำ SEO เราสามารถถามต่อได้เลยว่า ทำอย่างไร ผ่านช่องทางไหนได้บ้าง ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ วัดผลอย่างไร คำแบบไหนที่ใช่สำหรับเว็บไซต์เรา ต้องออกแบบเว็บใหม่ไหม มีการตลาดอะไรซัพพอร์ต SEO ได้บ้าง และ SEO ต่อยอดไปใช้กับส่วนอื่นได้อีกไหม เหล่านี้เป็นต้น

  1. อย่าลืมจดบันทึกทุกไอเดียที่เกิดขึ้น

ทุกไอเดียมีค่าเสมอ อย่ามองข้ามแม้จะเป็นไอเดียที่ธรรมดาหรือหลุดโลกแค่ไหนก็ตาม เพราะไอเดียที่ทุกคนในทีมแชร์ในวันนี้อาจนำไปปรับใช้กับโปรเจคอื่น ๆ ได้อีกมากมาย วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการแจก Post-it ให้ทุกคน ใครมีไอเดียอะไรให้เขียนลงไปและเดินมาแปะบนกระดาน วิธีการนี้ช่วยให้ทีมทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างเต็มที่ เห็นไอเดียเป็นรูปเป็นร่าง และสามารถนำ Post-it นั้นมาเก็บบันทึกไว้ได้ง่ายอีกด้วย

  1. จัดกลุ่มไอเดียคล้ายกันไว้ด้วยกัน

หลังจากการระดมความคิดมาระยะหนึ่ง เราจะเริ่มเห็นว่าแต่ละไอเดียสามารถจัดกลุ่มรวมกันได้ ให้เราจัดกลุ่มไอเดียเหล่านั้นเรียงลำดับตามความสำคัญหรือความเป็นไปได้ กลุ่มไหนที่มีความเป็นไปได้สูงสุดให้โฟกัสที่กลุ่มนั้นเพื่อต่อยอดไอเดียให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เป็นแผนงานหรือแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ส่วนไอเดียกลุ่มอื่น ๆ ให้เก็บไว้ให้ดี เพราะเราอาจได้หยิบกลุ่มไอเดียนั้น ๆ มาใช้ในอนาคตก็เป็นได้

  1. จำไว้ว่า การระดมสมองไม่จำเป็นต้องมีหนเดียว

บางวาระ บางหัวข้อ อาจต้องใช้การระดมสมองมากกว่า 1 ครั้งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แปลกใหม่และมีประสิทธิภาพมากที่สุด การกำหนดว่าจะต้องได้ข้อสรุปหรือแนวทางแก้ไขภายในการระดมสมองครั้งเดียว อาจส่งผลให้ทุกคนในทีมรู้สึกกดดันจนไอเดียตีบตันเลยก็เป็นได้ บางครั้งการทิ้งระยะเวลาให้คนในทีมตกผลึกทางความคิด หรือให้ทุกคนในทีมได้ทดลองทำตามไอเดียของตัวเองดูก่อน แล้วค่อยจัดการระดมสมองอีกครั้ง อาจได้ผลลัพธ์ที่ทรงพลังยิ่งกว่า

ข้อควรระวังในการระดมสมอง

  1. ควรเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างเปิดกว้าง การอคติ หรือด่วนตัดสินความคิดคนอื่นเร็วเกินไปอาจไปปิดกั้นไอเดียของตัวเราเอง และทำให้การระดมสมองในครั้งนั้น ๆ ได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
  2. ควรมีความเป็นกลางในการแสดงความคิดเห็น ไม่ควรมีการพูดโน้มน้าว บังคับ วิจารณ์ พูดขัด หรือกำหนดทิศทางในการแชร์ไอเดียจากคนใดคนหนึ่งมากเกินไป เพราะจุดประสงค์ในการระดมสมองแต่ละครั้ง คือการรับฟังและเสนอความคิดเห็นของทุกคนในทีม เพื่อหาความเป็นไปได้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  3. พยายามให้ทีมมีส่วนร่วมเท่า ๆ กันทุกคน เนื่องจากลักษณะนิสัยการแสดงออกของแต่ละคน ความกลัวที่จะแสดงความคิดเห็นที่คนอื่นอาจไม่เห็นด้วยหรือมองไม่ดี ฯลฯ บวกกับบ่อยครั้งที่คนเสียงดังกว่ามักจะได้แสดงความคิดเห็น หรือมีอิทธิพลต่อกลุ่มมากกว่า อาจส่งผลให้วงสนทนาไม่สมดุล การแชร์ไอเดียไม่ไหลลื่น จนทำให้การระดมสมองครั้งนั้น ๆ มีข้อจำกัด
  4. อย่าลืมสร้างบรรยากาศการพูดคุยให้ผ่อนคลาย สนุกสนาน และเป็นกันเอง เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนในทีมกระตือรือร้นที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรปล่อยให้วงสนทนาอยู่ในความเงียบชวนอึดอัดเพราะไอเดียตีบตัน หากปล่อยไว้แบบนั้นอาจส่งผลให้ต้องจบการประชุมไปโดยไม่ได้ทางออกหรือไอเดียเป็นชิ้นเป็นอันเลยก็ได้

ตัวอย่างบริษัทหรือองค์กรที่เปิดโอกาสให้ระดมสมองจนนำไปสู่นวัตกรรมหรือประสบความสำเร็จ

หลายองค์กรระดับโลกหันมาใช้การระดมสมองเป็นรูปแบบหนึ่งในการทำงานกันมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยให้องค์กรค้นหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างได้ผลแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันภายในทีม และขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย หนึ่งในองค์กรระดับโลกที่เป็นตัวอย่างในครั้งนี้คือ Google

จากบทความ How To Brainstorm Like A Googler วิธีการทำงานของ Google ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ หรือแก้ปัญหาใด ๆ มีหลักการอยู่ 3 ข้อ คือ

  • Know the user
  • Think 10x
  • Prototype Google

เชื่อว่าก่อนจะคิดค้นนวัตกรรมใด หรือแก้ปัญหาอะไร เราจำเป็นต้องรู้จักผู้ใช้งานก่อนว่ามีกระบวนการคิดอย่างไร ชอบอะไร อาศัยอยู่ที่ไหน และมีอารมณ์ความรู้สึกอะไรต่อสิ่งใดบ้าง เมื่อเราเข้าใจลูกค้าแล้ว สเตปต่อไปคือการคิดให้ใหญ่ Google มองว่าถ้าจะทำอะไรสักอย่าง หวังผลเพิ่มขึ้น 10% น้อยไป x10 ไปเลยดีกว่า!

วิธีการนี้เองที่ Google ใช้เทคนิคการระดมสมองเข้ามาเพื่อระดมสมองของทีมหาไอเดียอะไรก็ตามที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ 10 เท่าตามที่ตั้งใจไว้ และเมื่อได้ไอเดียมาแล้วก็ลงมือทดลองทำทันที ถึงแม้จะมีผิดพลาดไปบ้างแต่ชุดไอเดียนั้นก็ปรากฏให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเพื่อให้ทีมพัฒนาไปในทิศทางที่ต้องการต่อไปได้ หนึ่งในไอเดียคิดใหญ่ที่กลายเป็นความจริงของ Google คือ Project Loon เครือข่ายบอลลูนลอยฟ้าที่สามารถกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

จะเห็นได้ว่าการระดมสมองที่ดี คือการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนในทีมอย่างเปิดกว้าง และนำมาต่อยอดไปสู่แนวทางหรือวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่สุดร่วมกัน หากแต่ละองค์กรพัฒนาแนวทางการระดมสมองให้เป็นไปในทิศทางที่ดี นอกจากจะได้ผลลัพธ์เป็นชิ้นงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังได้ความรักความสามัคคีจากคนในองค์กรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/analytical-thinking/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/creative-thinking/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/micropreneurs/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%84%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%81-%e0%b8%ab%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b9%88%e0%b8%99/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด