3 โรคทางใจที่มาพร้อมกับการทำงาน

3 โรคทางใจที่มาพร้อมกับการทำงาน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

การโตเป็นผู้ใหญ่คงไม่ได้อยู่แต่ในโลกที่โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ ชีวิตในช่วงวัยทำงาน ไม่มีอะไรง่าย และพร้อมมีอุปสรรคเข้ามาหาเราเสมอ ทั้งยังเต็มไปด้วยความเครียด การแข่งขัน การเอาตัวรอด และการเติบโตไปให้ได้ จนทำให้หลายคนที่เพิ่งก้าวเข้ามาสู่โลกแห่ง การทำงาน หรือคนที่ทำงานมาซักพักแล้ว เกิดปัญหาทางใจได้ ซึ่งโรคทางใจเหล่านี้ มักจะบั่นทอน จนทำให้เกิดโรคทางกาย และสภาวะจิตใจไม่ปกติได้ง่ายมาก ๆ JobsDB เลยอยากชวนมารู้จักกับโรคทางใจ ที่มักจะมาพร้อมกับการทำงาน และให้ทุกคนลองสำรวจตัวเองและหาทางรับมือแก้ไขไปด้วยกัน

โรคทางใจ

ภาวะเครียด (Stress)

ภาวะเครียด เป็นภาวะที่พบได้ง่ายในคนทำงาน เพราะหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น เดิมพันที่มากกว่าการสอบตกตอนเรียน และการแข่งขันที่สูงในสนามของการทำงาน ทำให้ “ความเครียด” กลายมาเป็นเพื่อนรักคนใหม่ของพนักงานออฟฟิศหลายคน เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ภาวะเครียด เป็นต้นเหตุแรก ๆ และสาเหตุสำคัญของโรคทางกายและทางใจอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2019 พบว่า 34% ของคนวัยทำงาน มี ความเครียด ในระดับสูง จนรู้สึกไม่มีความสุข ยิ่งมาช่วง โควิด-19 ยิ่งทำให้อัตราความเครียดของคนวัยทำงานสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง

คนที่มีภาวะเครียดผิดปกติ มักมีอาการดังนี้ มึนงง ปวดตามกล้ามเนื้อ นอนกัดฟัน ปวดหัว แน่นท้อง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก ใจเต้นเร็ว หูอื้อ มือเย็น อ่อนเพลีย ท้องร่วง ท้องผูก จุกเสียด คลื่นไส้ อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง วิตกกังวล ตัดสินใจไม่ดี ขี้ลืม สมาธิสั้น ความจำไม่ดี เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร โกรธง่าย อารมณ์ไม่ดี อยากดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทุกอย่างจึงจะถูกระบุว่าอยู่ในภาวะเครียดผิดปกติ แต่ถ้าใครเริ่มมีอาการเหล่านี้หลาย ๆ อาการพร้อมกัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรเริ่มหาทางแก้ได้แล้ว

ทางแก้เบื้องต้น หากเป็นคนที่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ให้ลองเริ่มจากการงดเหล้า งดบุหรี่ลงก่อน แล้วลองจัดอันดับความสำคัญของการงานและการใช้ชีวิตดู เลือกโฟกัสเรื่องที่สำคัญมาก ๆ และลองปล่อยวาง หรือมองข้ามบางสิ่งบางอย่างไปบ้าง อาจจะลองคุยกับคนรอบข้างเพื่อระบายความเครียด และขอกำลังใจดูบ้าง อาจจะลองหากิจกรรมคลายเครียดให้เราไม่ต้องนึกถึงเรื่องงานสักอาทิตย์ละครั้ง อาจจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง ทำงานอดิเรก ปลูกต้นไม้ หรือออกกำลังกายดูก็ได้ แต่ถ้าเริ่มรู้สึกว่ารับมือเองไม่ไหว ก็ควรรีบไปปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด ก่อนที่ภาวะเครียดจะนำไปสู่โรคอื่นต่อไป

โรคซึมเศร้า (Depression)

ปัญหายอดฮิตแห่งยุคที่พบได้ในคนทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งเราจะเห็นหลายฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับ “ภาวะซึมเศร้า” หรือ “โรคซึมเศร้า” กันมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งโรคนี้มีสาเหตุมาจากความเครียดสะสมเป็นระยะเวลานาน จนทำให้สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้รู้สึกเศร้ากับชีวิตมากกว่าที่ควรจะเป็น นำไปสู่ความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นสิ่งอันตรายที่เกิดขึ้นจากโรคนี้

อาการเบื้องต้นของคนที่เป็นซึมเศร้า คือ มักจะเริ่มเก็บตัว และแยกตัวออกจากสังคม รู้สึกเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกผิดและโทษตัวเองตลอดเวลา ขาดความสนใจและไม่รู้สึกเพลิดเพลินในการทำ กิจกรรม ต่าง ๆ รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา บางทีก็นอนไม่หลับ หรือถ้าหลับแล้วก็ไม่อยากตื่น ขาดสมาธิ มีความสามารถในการคิดและตัดสินใจน้อยลง เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ จนเริ่มกระทบและมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน ถ้าเป็นหนักเข้าอาจจะมีความคิดอยากฆ่าตัวตายเกิดขึ้นด้วย ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้มากกว่า 2 สัปดาห์ ก็เป็นสัญญาณว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว

ทางแก้เบื้องต้น เมื่อเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าแล้ว มักจะต้องใช้การรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัด แต่ถ้าใครเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเข้าข่ายจะเป็นซึมเศร้า แล้วยังไม่อยากหาหมอ ลองโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ดูก่อนได้ และเริ่มมองหาจิตแพทย์ที่เราอยากไปปรึกษาดู เพราะหากเป็นซึมเศร้าแล้ว การพบแพทย์น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)

คนไทยมากกว่า 1.4 แสนคนป่วยด้วยโรควิตกกังวล นี่เป็นสถิติจากกรมสุขภาพจิตที่ทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับโรคนี้ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากเรื่องพื้นฐานในชีวิต เช่น การสมัครงาน การสัมภาษณ์งาน การเริ่มงานใหม่ หรือความกังวลว่างานจะออกมาไม่เพอร์เฟกต์ จนต้องคอยคิดหาจุดบกพร่องเพื่อแก้ไขตลอดเวลา หรือเป็นความกลัวที่จะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกอึดอัด ซึ่งโรควิตกกังวลมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิมที่มาจากพ่อแม่ เช่น พ่อแม่เป็น ลูกก็มีโอกาสเป็นด้วย และอีกสาเหตุของโรควิตกกังวลมาจากสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู การเลียนแบบพฤติกรรมของคนใกล้ชิด หรือเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก

อาการเบื้องต้น คิดฟุ้งซ่าน กลัวและกังวลเกินเหตุ จนบางครั้งแสดงออกทางร่างกาย เช่น กระวนกระวาย อ่อนเพลีย หงุดหงิด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่มีสมาธิ ใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออก เจ็บหน้าอก รู้สึกสำลัก เวียนหัว คลื่นไส้หรือท้องปั่นป่วน หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ มือเท้าชา กลัวว่าตัวเองจะตาย หรือทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ เช่น ล้างมือซ้ำ ๆ เพราะกลัวไม่สะอาด จนมือเป็นแผล กลัวบางอย่างมากผิดปกติ จนไม่สามารถรับมือได้

ทางแก้เบื้องต้น อาจลองปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ดูก่อนไปพบแพทย์ก็ได้ โรควิตกกังวลเป็นอีกโรคหนึ่งที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้อง เพราะถ้าเป็นมากจะแสดงออกทางกายอย่างชัดเจน และอาจนำไปสู่ภาวะอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น เครียดจนคิดฆ่าตัวตาย หรือกลัวมากจนเกิดอาการช็อค ทางที่ดีควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้อง ซึ่งมักจะรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัดควบคู่กันไป

คนวัยทำงานควรจะหันมาให้ความสำคัญ และดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปกับสุขภาพกาย รักษาสมดุลให้ดี เพื่อที่จะได้มีชีวิตบาลานซ์ ทั้งความสุขทางกายใจ และความสำเร็จอาชีพการงาน

ต้องการหางานที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ ตำแหน่งที่ใช่ ทำงานด้วยความรัก เพื่อให้ชีวิตมีสมดุล ลองมาหางานใหม่ได้ที่แอปพลิเคชันหางาน JobsDB แอปที่มีตำแหน่งงานให้คุณเลือกสรรอย่างไม่รู้จบ

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%98%e0%b8%b4%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด