ลืมไปเลยว่าเคยปวดหลัง เลือกเก้าอี้ Ergonomic chair อย่างไรให้คุ้มค่าการลงทุน

ลืมไปเลยว่าเคยปวดหลัง เลือกเก้าอี้ Ergonomic chair อย่างไรให้คุ้มค่าการลงทุน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

“เมื่อไหร่ร้านนวดจะเปิด” เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตที่พนักงานออฟฟิศพร่ำบ่น เพราะลำพังแค่ตอนทำงานที่ออฟฟิศ ต้องจ้องจอคอมนาน ก็ทำให้ปวดหลัง ลามไปถึงคอ บ่า ไหล่ จนทำให้ต้องหันหน้าไปพึ่งพาร้านนวดคลายเส้นเป็นประจำแล้ว พอต้องมา Work from home นั่งทำงานที่บ้านทั้งวันในขณะที่อุปกรณ์อย่างโต๊ะทำงาน หรือเก้าอี้ทำงานไม่พร้อม เลยทำให้อาการปวดหลังยิ่งตามหลอกหลอน แถมยังไปร้านนวดก็ไม่ได้เพราะถูกปิดจากมาตรการ social distancing การเลือกเก้าอี้ตัวใหม่ให้เหมาะสำหรับการทำงาน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่หลายคนสนใจ

ลืมไปเลยว่าเคยปวดหลัง เลือกเก้าอี้ Ergonomic chair อย่างไรให้คุ้มค่าการลงทุน

อาการปวดหลังจากการนั่งทำงานผิดท่าเป็นเวลานาน หลายคนอาจมองว่าเป็นปัญหาไม่น่าห่วงเท่าไหร่ ไปให้หมอนวดคลายเส้นก็ดีขึ้นแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าถ้าปล่อยไว้นานอาจมีอันตรายมากกว่าที่คุณคิด เพราะพฤติกรรมนั่งผิดท่าเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลโดยตรงกับกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกของคุณเสื่อมสภาพมากขึ้นทุกวัน ๆ การนวดคลายเส้นก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่แก้ได้เพียงช่วงคราวเท่านั้น ถ้ายังไม่เปลี่ยนท่านั่ง จัดสรีระให้ถูกต้อง กระดูกของคุณก็จะมีแต่ทรุดกับทรุด แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องนั่งแบบไหนถึงจะถูกต้อง ไม่ทำให้กระดูกพัง เพราะเพียงแค่คุณเปลี่ยนเก้าอี้ทำงานแบบธรรมดา ให้มาเป็นเก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพ หรือ Ergonomic chair ก็จะช่วยเปลี่ยนโลกการนั่งทำงานของคุณเปลี่ยนไปได้อย่างสิ้นเชิง

Ergonomic chairหรือเก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพคือ เก้าอี้ที่ถูกออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ ที่จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งผิดท่า เช่น นั่งหลังค่อม นั่งไม่เต็มก้น ท่านั่งที่ไม่กระจายน้ำหนัก ทำให้น้ำหนักลงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งนานเกินไป จนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ โรคออฟฟิศซินโดรม และปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมสภาพในระยะยาว เก้าอี้ Ergonomic จะช่วยจัดสรีระตอนที่นั่งทำงานให้ถูกต้อง ลดอาการบาดเจ็บ และทำให้สุขภาพหลังของคุณดีขึ้นแม้จะต้องนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ ทำให้คุณรู้สึกสบายเวลานั่งทำงาน และยังสามารถนั่งทำงานได้นานขึ้นด้วย

ท่านั่งที่ดี ถูกต้องตามหลัก การยศาสตร์ หรือ Ergonomics คือ

  • ศีรษะ – ตั้งตรงหรือก้มเล็กน้อย ทำมุม 10-15 องศา สายตาขนานกับพื้น
  • คอ – ไม่เอียงหรือโน้มไปด้านใดด้านหนึ่ง
  • หลัง – ชิดติดกับพนักพิง เอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย ตัวตรง ไม่แอ่นหรือก้ม
  • ก้น – แนบกับบริเวณมุมฉากของพนัก และลงน้ำหนักที่กล้ามเนื้อก้นซ้ายและขวาเท่ากัน
  • ข้อศอก – วางแนบชิดลำตัว หรือวางที่พักแขน ทำมุม 90 องศา ข้อมือและศอกอยู่ในแนวเส้นตรง
  • ต้นขา – วางราบกับที่นั่ง และแนบชิดกับเบาะรองนั่ง
  • เข่า – ข้อพับแนบชิดเบาะรองนั่ง ทำมุม 90 องศา
  • เท้า – วางราบกับพื้นแบบเต็มฝ่าเท้า

แล้วจะเลือกเก้าอี้ ergonomic อย่างไรดี ที่จะทำให้สุขภาพหลังของคุณดี ไม่มีปัญหาปวดหลัง คอ บ่า ไหล่มากวนใจอีกต่อไป

ปรับความสูงเบาะรองนั่งได้

เบาะรองนั่งต้องสามารถปรับความสูงได้ เพื่อให้เหมาะกับความสูงของแต่ละคน โดยระยะความสูงของเบาะรองนั่งควรอยู่ที่ 16 – 21 นิ้ว เมื่อวัดจากพื้น ซึ่งระยะนี้เป็นระยะความสูงของเบาะรองนั่งที่เหมาะกับคนทั่วไป นอกจากนี้ วิธีการปรับเบาะรองนั่งควรทำได้ง่าย ปรับตอนที่คนนั่งนั่งอยู่บนเก้าอี้ได้ ระยะความสูงที่ถูกต้องของเบาะรองนั่งจะต้องทำให้เท้าของคนนั่งสามารถวางราบที่พื้นได้พอดี ไม่ลอยจากพื้นเวลานั่งเก้าอี้ ต้นขาขนานกับพื้น และแขนทั้ง 2 ข้างสามารถวางสูงได้ระนาบเดียวกับโต๊ะทำงาน

ความกว้างและความลึกของเบาะรองนั่ง

เก้าอี้ที่นั่งสบายนอกจากจะต้องมีเบาะที่นุ่มแล้ว ยังต้องเป็นเก้าอี้ที่มีความกว้างและความลึกของเบาะรองนั่งที่มีพื้นที่มากเพียงพอให้คนนั่งสามารถนั่งได้เต็มก้น กระจายน้ำหนักได้ดี ทำให้ผู้นั่งหรือผู้ใช้งานสามารถลงน้ำหนักที่กล้ามเนื้อต้นขาและก้นทั้ง 2 ข้างได้เท่า ๆ กัน ส่วนใหญ่แล้วจะมีความกว้างอยู่ที่ 17 – 20 นิ้ว ซึ่งจัดว่าเป็นระยะมาตรฐาน ส่วนความลึกของเบาะรองนั่งนอกจากจะต้องลึกพอให้ทิ้งน้ำหนักลงนั่งได้เต็มก้นแล้ว จะต้องมีระยะที่ลึกพอให้เวลาที่คนนั่งนั่งพิงพนักพิงแล้ว ยังเหลือพื้นที่ระหว่างด้านหลังหัวเข่าจนถึงขอบเบาะรองนั่งเก้าอี้ประมาณ 2 – 4 นิ้ว และเก้าอี้ ergonomic ที่ดีควรจะปรับเบาะรองนั่งให้เลื่อนมาข้างหน้าหรือถอยไปข้างหลังได้อย่างสะดวก นั่งไปปรับไปได้ เพื่อให้พอดีกับความยาวช่วงขาของแต่ละคน

พนักพิงต้องรองรับช่วงเอวและหลังล่าง

เก้าอี้สุขภาพที่ดีจะต้องไม่ลืมที่จะรองรับน้ำหนักของหลังล่างให้เป็นอย่างดี เพราะกระดูกสันหลังช่วงบริเวณเอวหรือหลังล่างจะมีส่วนโค้งที่เว้าเข้าไปข้างใน และการนั่งทำงานเป็นเวลานานโดยที่ไม่มีอะไรมาซัพพอร์ตหลังล่างจะทำให้ส่วนโค้งนี้กลายเป็นเส้นตรงแบนราบ ซึ่งเป็นสาเหตุให้โครงสร้างกระดูกสันหลังตึง ผิดรูปตามธรรมชาติ เลือดไหลเวียนไม่ดีเท่าที่ควร และสาเหตุของอาการปวดเอวและหลังล่างตามมา เก้าอี้ ergonomic ที่เหมาะสมจึงควรมีส่วนเว้าส่วนโค้งที่มารับกับหลังล่าง และควรปรับช่วงเอวได้ เพื่อให้เหมาะกับสรีระและความยาวของกระดูกสันหลังของแต่ละคน จะได้ช่วยพยุงและลดการทำงานหลังล่างให้ได้มากที่สุด

ขนาดพนักพิงหลังต้องพอดีและปรับได้

ส่วนของพนักพิงหลังควรมีความกล้างมาตรฐานอยู่ที่ 12 – 19 นิ้ว เวลานั่งหลังต้องแนบกับพนักพิงแบบไม่มีช่องว่าง เพื่อให้น้ำหนักตัวถ่ายไปที่พนักพิงหลังแทนก้น ถ้าชิ้นส่วนพนักพิงแยกออกจากเบาะรองนั่ง นอกจากจะต้องมีส่วนโค้งเว้าตามกระดูกสันหลังแล้ว ก็ควรที่จะสามารถปรับความสูงและองศาการเอนของพนักพิงได้ เพื่อให้สามารถซัพพอร์ทหลังของคนนั่งให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าเก้าอี้ ergonomic ที่คุณเล็งไว้มีพนักพิงและเบาะรองนั่งเชื่อมต่อกันเป็นชิ้นเดียว อย่างน้อย ๆ พนักพิงหลังก็จะต้องปรับองศาการเอนได้ เพราะเวลานั่งทำงาน คนส่วนใหญ่จะโน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย ทำให้เวลาที่นั่งพิงพนักแล้วพนักพิงจะต้องยื่นมาด้านหน้าเล็กน้อยเพื่อช่วยรองรับแผ่นหลังได้พอดี ซึ่งการปรับองศาการเอนได้ก็จะช่วยให้เหมาะสมกับสรีระของแต่ละคน และทำให้นั่งสบายมากขึ้น

ที่พักแขนเป็นสิ่งจำเป็น

เก้าอี้ ergo ที่ดีจะต้องมีที่วางแขน เพื่อช่วยลดการทำงานของช่วงไหล่ ทำให้สามารถถ่ายน้ำหนักลงที่พักแขนได้ ที่วางแขนในเก้าอี้เพื่อสุขภาพควรจะมีความสูงอยู่ที่ 7 – 10 นิ้วจากเบาะรองนั่ง และควรปรับความสูง - ต่ำได้ เพื่อให้แขนและข้อศอกสามารถวางได้อย่างพอดีระหว่างนั่งทำงาน ทำให้ไหล่ผ่อนคลาย และเมื่อต้องพิมพ์คีย์บอร์ด ช่วงแขนระหว่างข้อศอกกับข้อมือไม่ควรวางอยู่บนที่พักแขน จึงจะเป็นท่านั่งพิมพ์งานที่ถูกต้อง

วัสดุก็สำคัญ

ควรเลือกเก้าอี้ ergonomic ที่ผลิตจากวัสดุที่แข็งแรงทนทาน รองรับน้ำหนักและการใช้งานได้ดี ไม่พังง่าย เพราะถึงจะถูกดีไซน์มาดี รองรับสรีระขนาดไหน แต่ถ้านั่งทำงานไปแล้วหักขึ้นมา ก็จะทำให้เกิดอันตรายได้เหมือนกัน นอกจากนี้ควรเลือกวัสดุของพนักพิงและเบาะรองนั่งที่นุ่มและสามารถระบายอากาศได้ดี จะได้มีรู้สึกอึดอัดเวลานั่งทำงาน

หมุนและเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่ว

เก้าอี้เพื่อสุขภาพนอกจากจะต้องทำให้คุณนั่งได้สบายถูกต้องตามสรีระแล้ว ยังจะต้องสามารถหมุนได้และเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องตัว เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ บริเวณโต๊ะทำงานได้อย่างง่ายดาย

ราคาและการรับประกัน

นอกจากจะเลือกเก้าอี้เพื่อสุขภาพจากฟังค์ชั่นการใช้งาน วัสดุ และการปรับระดับต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะกัยสรีระของผู้ใช้งานที่สุดแล้ว ปัจจัยเรื่องราคาและการรับประกันก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เก้าอี้ ergonomic มีตั้งแต่ราคาหลักพันต้น ๆ ไปจนถึงหลักเกือบแสนเลยทีเดียว ซึ่งเก้าอี้เพื่อสุขภาพราคาแพง ๆ ส่วนใหญ่ก็มีจะการรับประกันการใช้งานเป็นหลักหลายปีไปจนถึงตลอดชีวิตเลยทีเดียว

ลองเลือกดูเก้าอี้เพื่อสุขภาพให้เหมาะสมกับรูปร่าง และท่านั่งของคุณเอง รวมถึงงบประมาณที่คุณมี นอกจากคำแนะนำในการเลือกเก้าอี้สุขภาพที่เราแนะนำไปด้านบนแล้ว ทางที่ดีคุณควรไปลองนั่งเองจะดีที่สุด จะได้ได้เก้าอี้ที่ถูกใจ คุ้มค่าการลงทุน ช่วยแก้ปัญหาปวดหลังจากการนั่งทำงานผิดท่า จนไม่ต้องคอยพึ่งร้านนวดอีกต่อไป

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b9%82%e0%b8%95%e0%b9%8a%e0%b8%b0%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/work-from-home-%e0%b8%84%e0%b8%b7%e0%b8%ad/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/7-%e0%b8%9e%e0%b8%a4%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%82%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด