กระทรวงแรงงานแนะมาตรการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง

กระทรวงแรงงานแนะมาตรการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ผลพวงจากวิกฤติการเงินโลก บวกกับความไม่มั่นคงทางการเมืองในบ้านเรานำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่หลายฝ่ายต้องเฝ้าระวัง โดยประเมินกันว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2552 นี้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง เหลือเพียง 1.2% การลงทุนและการบริโภคลดลง 5% อัตราการว่างงานมากถึง 0.9 – 1 ล้านคน นับเป็นแนวโน้มที่ทำให้ต้องตระเตรียมมาตรการตั้งรับกันอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอย่าง อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง การผลิตสิ่งทอสิ่งถัก เครื่องแต่งกาย ฟอกหนังสัตว์ และรองเท้า การผลิตเครื่องจักร การผลิตเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก การผลิตเครื่องเรือน เครื่องประดับ รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่โดนพิษจากการปิดสนามบินช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเข้าอย่างจัง

บรรเทาปัญหาเลิกจ้าง ด้วยความเป็นห่วงคนทำงานและผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้jobsDB.comจึงสอบถามไปยังกระทรวงแรงงานถึงมาตรการการรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อการว่างงานของคนไทยในปี 2552 ทั้งนี้นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงานได้เปิดเผยว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 5 มกราคม 2552 ระบุว่า มีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างไปแล้ว 698 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 55,549 คน และมีแนวโน้มถูกเลิกจ้างอีก 357 แห่ง เป็นจำนวน 204,264 คน

เพื่อให้การเลิกจ้างเป็นทางออกสุดท้ายของผู้ประกอบการ ท่านปลัดได้แนะแนวทางการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างไว้ 3 มาตรการด้วยกัน

1. มาตรการลดค่าใช้จ่ายโดยความร่วมมือของลูกจ้างแบ่งเป็นมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านบริหารซึ่งเป็นมาตรการที่นายจ้าง ควรพิจารณานำมาเป็นอันดับแรก เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างน้อยที่สุดได้แก่ นโยบายประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหาร รวมทั้งลดต้นทุนต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น เป็นต้น

อีกทางหนึ่งคือมาตรการลดค่าใช้จ่ายทางด้านแรงงานโดยต้องเลือกมาตรการที่มีผลกระทบต่อลูกจ้างน้อยที่สุดมาใช้ก่อน ดังนี้

ลดหรือยกเลิกการทำงานล่วงเวลาหรือการทำงานในวันหยุด ให้ลูกจ้างใช้วันลาตามสิทธิที่มีอยู่ ให้ลูกจ้างได้สับเปลี่ยนวันหยุดโดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ลดชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันหรือลดจำนวนวันในแต่ละสัปดาห์ ให้สิทธิลูกจ้างลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้างหรือได้รับค่าจ้างบางส่วน แต่ยังคงได้รับสวัสดิการตามปกติ ลดการทำงานกะลง ลดค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็นสวัสดิการที่มีผลกระทบต่อลูกจ้างน้อยที่สุดก่อน เช่นการจัดทัศนาจร การสังสรรค์ประจำปี เพิ่มค่าจ้างประจำปีในสัดส่วนที่น้อยลง หรือถ้าจำเป็นอาจไม่เพิ่มค่าจ้างประจำปี แต่หากยังมีความจำเป็นอยู่อีก อาจลดค่าจ้างลงโดยเริ่มจากการลดค่าจ้างของผู้ที่ได้รับค่าจ้างสูงก่อน หรือลดค่าจ้างของลูกจ้างระดับสูงในอัตราที่มากกว่าลูกจ้างระดับต่ำ

2. มาตรการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายหน้าที่ของลูกจ้างเพื่อวางแผน กำลังคนให้เหมาะสมกับกำลังการผลิต มีการพัฒนาศักยภาพลูกจ้างเพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มขวัญกำลังใจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่หน่วยงานนั้น ๆ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเพื่อเปลี่ยนสายงานกรณี แผนกงานเดิมอาจต้องถูกยุบเลิก โดยผู้ประกอบการสามารถประสานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาฝีมือลูกจ้างได้ หรือหากมีความจำเป็นที่จะต้องเลิกจ้าง ผู้ประกอบการควรเตรียม ความพร้อมเพื่อรองรับการหางานใหม่ โดยสนับสนุนลูกจ้างให้มีโอกาสฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการหางานใหม่ หรือประสานกรมจัดหางานเพื่อหาตำแหน่งงานว่างรองรับลูกจ้างที่คาดว่าจะถูกเลิกจ้าง

3. มาตรการในการลดจำนวนลูกจ้างหากได้พิจารณาตามมาตรการทั้งสองประการที่กล่าวมาแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นต้องลดจำนวนลูกจ้างลงอีก ให้พิจารณาเลิกจ้างโดยยึดหลักความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย โดยอาจจะงดรับลูกจ้างเพิ่ม จัดโครงการเกษียณก่อนอายุที่กำหนด หรือโครงการสมัครใจลาออก โดยให้เงินช่วยเหลือตามที่ตกลงกัน ซึ่งนายจ้างจะ ต้องคำนึงถึงระยะเวลาให้ลูกจ้างหางานใหม่ตามสมควรด้วย และสุดท้าย หากต้องเลิกจ้างจริง ๆ ให้เลิกจ้างลูกจ้างที่เข้าทำงานหลักสุดก่อน ลูกจ้างที่มีประวัติการลาขาดงาน มาสายมาก ลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับในการ ทำงานมากที่สุด ลูกจ้างที่มีพฤติกรรมและอุปนิสัยที่เป็นผลเสียต่อการทำงาน ลูกจ้างที่มีความสามารถและผลงานน้อยที่สุด ลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนทางครอบครัวน้อยที่สุด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หากหน่วยงานมีการชี้แจงให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงวิกฤติการณ์ในครั้งนี้อย่างจริงจังและร่วมมือร่วมใจกันทำงานในหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ช่วยกันลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น รวมถึงนายจ้างมีการบริหารจัดการด้วยความไม่ประมาทแล้วละก็ เชื่อว่าจะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคในครั้งนี้ไปได้ในที่สุด

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด