เมื่อขั้นตอนการสัมภาษณ์งานประสบความสำเร็จ และได้รับข่าวดีกับการเริ่มต้นงานใหม่ในบริษัทที่คุณใฝ่ฝันแล้ว สเต็ปต่อไปที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องเจอคือเรื่องของการเจรจาต่อรองเงินเดือน ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องบอกเลยว่าสำคัญไม่แพ้ด่านการสัมภาษณ์งานเลยทีเดียว เพราะถือเป็นการวัดใจกันระหว่างพนักงานและบริษัท อีกทั้งยังมีการใช้จิตวิทยาค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
Businesswoman examines and reads the business contract before signing her autograph. Dealing with business negotiations
โดยส่วนมากแล้ว คนที่ย้ายงาน ทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนบริษัท ย้ายแผนก เปลี่ยนสายงาน ฯลฯ มักจะมีการเรียกเงินเดือนให้สูงขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 20-30% จากฐานรายได้เดิม ซึ่งบริษัทใหม่ก็นำฐานเงินเดือนเก่าของเรานี่ล่ะ มาใช้เป็นตัวพิจารณาฐานเงินเดือนใหม่
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าเรื่องของการต่อรองเงินเดือน มักมีเรื่องของจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงอยากให้สบายใจได้ว่าเรื่องแบบนี้ไม่อะไรผิดหรือถูก หรือมีกฎเกณฑ์ที่เป็นแบบแผนมากนัก สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์หน้างาน รวมไปถึงความสามารถของเราเอง ยิ่งถ้าเป็นสายงานที่ต้องมีการใช้ทักษะหรือประสบการณ์ที่ค่อนข้างสูงด้วยแล้ว บอกเลยว่าการเจรจาต่อรองเงินเดือน ก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ซึ่งอาจปรับได้มากกว่า 30% ก็เป็นได้
แม้เรื่องของการเจรจาต่อรองเงินเดือนจะไม่มีถูกผิด แต่หากเรามีการเตรียมตัว ก็จะช่วยทำให้การเจรจาต่อรองเงินเดือนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น วันนี้เราจะมาแนะนำ 5 วิธีสำคัญที่ควรรู้และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
อันดับแรกเลยคือเราควรมั่นใจในความสามารถของตัวเอง ว่าเราแข็งแกร่งพอที่จะสามารถรับมือกับทุกงานที่เข้ามาได้ รวมไปถึงทักษะที่เต็มเปี่ยมของเรา แต่ต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาจุดอ่อนของเราด้วยนะ ว่ามีตรงไหนที่ต้องปรับปรุงหรือแก้ไขบ้าง เพื่อที่จะได้นำมาพัฒนาตัวเอง เมื่อตกผลึกกับสิ่งเหล่านี้ ให้นำข้อมูลทั้งมาประกอบร่างกัน แล้วลองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ในสายงานนี้ดู ว่าตัวเราเองอยู่ในเลเวลไหน แล้วค่อยเดินทางสู่สเต็ปต่อไปว่าตัวเลขเงินเดือนของเรา ควรจะอยู่ที่เท่าไรกันแน่ ที่สำคัญสุดๆ เลยก็คือควรเคารพและจริงใจต่อตัวเองด้วยนะ
ตัวอย่างบทสนทนาในการเจรจาต่อรองเงินเดือน
“จากการหาข้อมูลในฐานเงินเดือนของตำแหน่งนี้ ที่มีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี อัตราเงินเดือนจะอยู่ที่ 20,000-25,000 บาท ดิฉันรู้สึกว่าเงินเดือน 18,000 บาท ที่ได้รับการเสนอมานั้น อาจจะน้อยเกินไป และด้วยประสบการณ์การทำงานของดิฉัน คิดว่าเงินเดือน 23,000 บาท ซึ่งอยู่ในช่วงตรงกลาง น่าจะเหมาะสมมากกว่าค่ะ”
แม้ในยุคโควิดแบบนี้ จะส่งผลต่อเรื่องเศรษฐกิจอยู่พอสมควร จนหลายคนอาจได้รับผลกระทบด้านการเงินไม่มากก็น้อย แล้วยิ่งสุดท้ายการเจรจาต่อรองเงินเดือนอาจไม่เป็นตามที่เราหวังสักเท่าไร ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะบางบริษัทมักมีผลตอบแทนด้านอื่นๆ ให้เราแบบสมน้ำสมเนื้อเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าคอมมิชชันรายเดือนสำหรับคนที่ทำงานด้านการขาย หรือสวัสดิการจัดเต็มต่างๆ ที่บริษัทพร้อมมอบให้ ทั้งประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ การทำฟัน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง รถประจำตำแหน่ง โบนัสประจำปี คอมพิวเตอร์ส่วนตัว การเข้าออกงานที่ยืดหยุ่นเรื่องเวลา วันหยุดพักผ่อนประจำปี การปรับเงินเดือนทุกปี และอื่นๆ อีกมากมาย
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว หากเราไม่ได้ฐานเงินเดือนใหม่ตามที่เราหวังว่า อยากให้ลองมองเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ที่บริษัทมีด้วย แล้วนำตรงนี้มาเฉลี่ยกับรายได้ประจำเดือน ก็อาจจะช่วยให้เรารู้สึกผิดหวังน้อยลง
ตัวอย่างบทสนทนาในการเจรจาต่อรองเงินเดือน
“ผมเข้าใจดีว่า ทางบริษัทไม่สามารถให้เงินเดือนที่ตามที่ผมต้องการได้ แต่ที่ทำงานเก่าของผม ให้วันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ไม่ทราบว่าเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้รับวันหยุดพิเศษเพิ่ม หรือมีวันที่สามารถ WFH ได้ในทุกๆ สัปดาห์”
จริงๆ ความเกรงใจก็ถือเป็นเรื่องที่ดีนะ แต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งเรื่องเงินเดือนด้วยแล้วยิ่งสำคัญ เพราะถ้าหากว่าเรามั่นใจในความสามารถและทักษะของเรา ก็ควรที่จะกล้าที่จะต่อรองเงินเดือน ไม่ต้องรู้สึกไม่ดีกับเรื่องนี้ เพราะการสื่อสารถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราสามารถบอกสิ่งที่ต้องการให้กับนายจ้าง เพราะเราเองก็เป็นผู้เลือกงานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องระวังเรื่องการใช้คำพูดเล็กน้อย ควรต่อรองและเจรจาด้วยเหตุผลเป็นหลัก
ตัวอย่างบทสนทนาในการเจรจาต่อรองเงินเดือน
“การที่ดิฉันย้ายจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องเพิ่มขึ้น จึงอยากให้คุณพิจารณาค่าชดเชยที่ดิฉันต้องย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หากได้รับการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนพิเศษ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรค่ะ”
ได้เวลาสาธยายข้อดีในตัวเราออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์สุดอัดแน่น ทักษะสุดเต็มเปี่ยม สามารถพรีเซนต์ได้เลยอย่างเต็มที่ ว่าความสามารถของเราจะช่วยพัฒนางานและบริษัทให้ดีขึ้นได้อย่างไร รวมไปถึงความสามารถพิเศษอื่นๆ Hard Skill และ Soft Skill ใส่ไปอย่าให้ขาด ให้คิดซะว่านี่คือการขายงานลูกค้า
ตัวอย่างบทสนทนาในการเจรจาต่อรองเงินเดือน
“ดิฉันมีประสบการณ์และในการทำงานด้านนี้มากว่า 5 ปี คุณจึงมั่นใจได้เลยว่าดิฉันมีทักษะในงานด้านนี้อย่างเต็มเปี่ยม รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่ดิฉันสามารถรับมือได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้งานมาก นอกจากนี้ดิฉันยังเป็นคนใจเย็น มีทักษะ Empathy สูง และสื่อสารภาษาที่สามได้อีกด้วย”
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า เราควรจะสู้เพื่อเงินเดือน แต่ก็อย่าแรงจนเกินไปนัก เพราะเรื่องของการอ่อนน้อมถ่อมตนก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเสมอ เพราะบางทีถ้าไฟท์จนเกินไป อาจจะดูเป็นคนก้าวร้าวได้ โดยเคล็ดลับดีๆ ที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังได้เป็นอย่างดี คือ รอยยิ้มและแววตา ที่จริงใจ เรื่องราวของภาษากายเหล่านี้ บางทีก็สามารถสะท้อนทัศนคติของเราได้เช่นกัน
แนะนำวิธีต่อรองกันไปแล้ว คราวนี้มาดูสิ่งที่ไม่ควรทำกันบ้าง ว่าข้อไหนกันนะ ที่ควรหลีกเลี่ยง
- ไม่ควรขอโทษเยอะจนเกินไป เพราะบางครั้งอาจสื่อถึงความไม่มั่นใจในตัวเรา
- หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ไม่” ให้ลองพูดว่า “พอจะเป็นไปได้ไหม” จะดูดีกว่า
- ไม่ควรนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงานในการขอขึ้นเงินเดือน
- อธิบายความจำเป็นในการใช้เงิน เช่น การเดินทางที่ไกลกว่าที่เดิม แต่ไม่ควรยกปัญหาการเงินส่วนตัว มาเป็นเหตุผลในการขอขึ้นเงินเดือน
- อย่าพูดเชิงบังคับ หรือยื่นคำขาด เพราะในแต่ละบริษัทมักมีโครงสร้างเงินเดือนพื้นฐานอยู่
แม้การเจรจาต่อรองเงินเดือน บางครั้งอาจจะดูเป็นเรื่องยาก ไม่มีขั้นตอนที่ตายตัว แต่หากเรามั่นใจในความสามารถที่มี รวบรวมความกล้าในการพูด ผสานกับการสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟัง รับรองได้เลยว่าเป้าหมายครั้งนี้จะมีชัยไปกว่าครึ่ง
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า