เรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษก็คือการจัดสรรเวลาในการดูแลลูกน้อย ให้ได้รับความรักและความอบอุ่นเสมอ ไม่ว่างานรัดตัวขนาดไหน ครอบครัวก็ยังอบอุ่นได้ตลอดเวลา ด้วยการดูแลลูกรักเป็นอย่างดีด้วยมือของเราเอง ไม่ใช่มือของยาย หรือมือของพี่เลี้ยงเด็ก
มาดูกันว่าคุณแม่คนทำงานทั้งหลายมีวิธีแบ่งเวลาให้กับลูกน้อยกันอย่างไรบ้าง เผื่อคุณแม่มือใหม่จะนำกลับไปใช้ประโยชน์บ้าง
1. การสื่อสารภายในครอบครัวอย่าให้ขาด แม้ต้องออกไปทำงานแต่เช้า และกลับค่ำทุกวัน ก็สามารถบอกรักลูกได้ทุกวัน ก่อนออกจากบ้าน และก่อนเข้านอน เป็นอย่างน้อย เพื่อสร้างสายใยความรู้สึกดี ๆ ให้แก่กันเสมอ รวมทั้งหาเวลาพูดคุยและเล่นกับลูกๆ เป็นประจำวันทุกวัน ถามว่าวันนี้ลูกเป็นยังไง เจออะไรมาบ้าง เล่าให้แม่ฟังหน่อยซิจ๊ะ ในทางกลับกันคุณแม่ก็แบ่งปันเรื่องราวประจำวันที่พบเจอมาแต่ละวันให้ลูกได้ฟังด้วย ปิดท้ายด้วยการพาลูกเข้านอน และเล่านิทานก่อนนอนให้ลูกฟังเป็นประจำ
2. สัมผัสไออุ่นแห่งรักจากแม่ คำพูดและสัมผัสที่อ่อนโยนจากแม่ ไม่ว่าจะเป็นการกอด หรือหอมแก้มลูกเป็นประจำ ทำให้ลูกน้อยเกิดความรู้สึกมั่นคง และความรู้สึกไว้วางใจ แม้ในเวลากลางวันเขาจะต้องอยู่กับคนอื่น แต่เขาจะมั่นใจได้ว่า ในตอนเย็นแม่จะกลับมากอดเขา หอมเขา และบอกรักเขาอีกครั้ง ทำให้เขาไม่กลัวที่จะแยกจากแม่ เพราะรู้ว่าเขาเป็นที่รักของแม่เสมอ
3. สร้างปฏิทินกิจกรรมภายในครอบครัว ควรหาปฏิทินใหญ่ ๆ ใช้สำหรับจัดสรรเวลาให้เหมาะสม ปฏิทินนี้จะเป็นเหมือนการทำสัญญาร่วมกันภายในครอบครัว ซึ่งคุณแม่จะบันทึกการนัดหมายกับครอบครัวไว้เสมอ เมื่อไรที่คุณแม่มีนัด หรือมีธุระเรื่องงานตรงกับวันที่กำหนดไว้สำหรับครอบครัว คุณจะได้ไม่พลาดรับนัดซ้อน และสามารถหาวิธีสับหลีกได้อย่างเหมาะสม รวมถึงคุณแม่จะสามารถเห็นได้ว่า ช่วงนี้ให้เวลากับงานมากเกินไป ให้เวลากับครอบครัวน้อยเกินไป จะต้องหาทางปรับเปลี่ยนให้สมดุลกัน
4. อาทิตย์ละครั้งสังสรรค์ภายในครอบครัว มีกิจกรรมมากมายที่คุณแม่สามารถทำร่วมกับลูกน้อยได้ในวันหยุด ซึ่งเป็นวันที่คุณแม่จะให้เวลากับครอบครัวอย่างเต็มที่ โดยไม่เอางานกลับมาทำที่บ้าน บางอาทิตย์อาจทำกิจกรรมในบ้าน เข้าครัว ปลูกต้นไม้ จัดสวน ช่วยกันล้างรถ เล่นเกมด้วยกัน หรือคุณอาจพาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ไปพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ เที่ยวต่างจังหวัด เข้าวัดทำบุญ ทานข้าวนอกบ้าน เป็นต้น
5. สอนลูกเรียนรู้ ให้เวลากับการสอนการบ้านลูก เพราะช่วงเวลานี้ลูกย่อมเกิดความไม่มั่นใจหากทำการบ้านไม่ได้ และต้องการที่ปรึกษา คุณแม่ควรจะอยู่เคียงข้างและเป็นที่พึ่งของเขา ไม่ใช่ช่วยทำการบ้านให้ลูก แต่คอยแนะนำแนวทางแก้ปัญหาให้แก่ลูก ในขณะเดียวกันก็คอยสังเกตพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของลูกจากการกิจกรรมร่วมกัน พร้อมสอดแทรกความรู้ แนะนำการใช้ชีวิต และฝึกให้ลูกสามารถอช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดในทุกเรื่อง
6. รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับลูก การผิดคำสัญญากับลูกเป็นการทำร้านจิตใจน้อย ๆ ที่เปราะบางของลูกอย่างไม่น่าให้อภัย ทำให้ลูกคิดว่าคุณมีอย่างอื่นที่สำคัญกว่าเขา เขาไม่มีค่าสำหรับคุณ ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ควรรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับลูกเสมอ เพื่อให้ลูกสามารถไว้วางใจและเชื่อใจพ่อแม่ได้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณแม่เริ่มผิดคำสัญญาบ่อยครั้ง สัญญาณของความเหินห่างเริ่มชัดเจน เมื่อนั้นมีอะไรลูกก็จะไม่นึกถึงคุณแม่เป็นคนแรก และไม่ไว้ใจที่จะปรึกษาพูดคุยกับคุณแม่ในทุก ๆ เรื่องเหมือนเคย
7. ไปโรงเรียนของลูกเป็นประจำ หากคุณแม่สามารถไปรับหรือไปส่งลูกที่โรงเรียนได้ทุกวันจะเป็นการดีมาก การที่คุณแม่รู้จักกับเพื่อน ๆ ของลูกเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของลูกที่มีคุณแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด แต่หากไม่สามารถไปรับไปส่งลูกได้ อย่างน้อยควรหาเวลาไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับลูกที่โรงเรียนด้วย เช่น งานวันแม่ งานวันปิดภาคเรียน หรือแม้แต่วันประกาศผลสอบของลูก
คุณแม่สาวทำงานคงพอได้ไอเดียแบ่งเวลา เติมเต็มความรักให้แก่ลูกน้อยกันแล้ว และหากคุณแม่มีลูกหลายคน ควรแบ่งเวลาให้กับลูกทุก ๆ คนได้รับความเอาใจใส่เท่า ๆ กันด้วย