แรงงานไทย พร้อมหรือยังกับ AEC

แรงงานไทย พร้อมหรือยังกับ AEC
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

แรงงานไทย-aec

คุณนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับเกียรติจากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานให้เป็นตัวแทนวิทยากรจากภาคเอกชนเข้าร่วมเสวนาในหัวข้อเรื่อง“แรงงานไทย…พร้อมหรือยังกับ AEC”ในงาน“โครงการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมพร้อมประชาชนวัยแรงงานและผู้ประกอบการในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558”เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับภาพรวมแรงงานไทยต่อการรวมกลุ่ม AEC แนะนำวิธีเตรียมความพร้อมเมื่อเข้าสู่ตลาด AEC และวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของแรงงานไทย แก่กลุ่มเป้าหมายซึ่งประกอบด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ตัวแทนผู้ประกอบการและแรงงานไทย นิสิต นักศึกษา และสื่อมวลชน กว่า 200 ท่าน โดยมีรายละเอียดดังนี้

นางนพวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยค่อนข้างตื่นตัวพอสมควรในการ หางาน ทำโดยอาศัยเทคโนโลยีกว่า 50% อย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ในการศึกษาข้อมูลเพื่อหางานทำ ส่วนข้อแนะนำถ้าคนไทยอยากไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียน จะต้องเริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูลว่าแต่ละประเทศมีความต้องการอาชีพใดบ้าง มีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อผู้สมัครงานเอง จะได้รู้ข้อมูลในการพัฒนาทักษะ ความรู้และประสบการณ์จากการฝึกงาน ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ภาษาโดยเฉพาะภาษาที่ 3 ที่นอกเหนือจากภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว จะทำให้มีโอกาสได้งานทำมากกว่า ขณะเดียวกันต้องทำความเข้าใจกับตลาดก่อนว่าตลาดงานมีทิศทางไหน เมื่อเราเรียนจบออกมาจึงตรงตามความต้องการของตลาดงาน ส่วนการเตรียมพร้อมเมื่อ เปิดอาเซียน นั้น คนไทยต้องปรับตัวการในเรื่องไอที ภาษา การคิดที่แตกต่าง และระเบียบวินัยซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่วิธีการที่สำเร็จได้

ด้านนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินภารกิจสำคัญหลายด้านเพื่อเตรียมความพร้อมคนทำงานเข้าสู่ความเป็นคนทำงานของอาเซียนที่เพียบพร้อม อาทิ การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงาน การพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานรองรับประชาคมอาเซียน การเพิ่มผลิตภาพกำลังแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานสมรรถนะด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมทั้ง คอมพิวเตอร์ และการบริหารจัดการ การพัฒนาบุคลากรวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวอาเซียน การจัดตั้งศูนย์อบรมเทคโนโลยีชั้นสูง การปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศให้สอดคล้องกับการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศอาเซียน ตลอดจนดูแลในเรื่องความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิต ‘คนทำงาน’ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล อาทิ การเสริมสร้างระบบมาตรฐานแรงงานสู่ประชาคมอาเซียน เร่งรัดการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างรองรับการเคลื่อนย้ายเสรีอาเซียน รวมทั้งพัฒนาบริการการประกันสังคมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยล่าสุดระหว่างวันที่ 8 - 9 กรกฎาคมนี้ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานได้จัดการประชุมระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งความคุ้มครองทางสังคมแก่ประชาคมอาเซียน

ด้าน นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ปาฐกถาในหัวข้อ“คนทำงานปรับตัวอย่างไร ในมิติใหม่อาเซียน”กล่าวว่า กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีประชากรราว 600 ล้านคน การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้วเชื่อว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานจะเกิดขึ้นใน 7 วิชาชีพ การย้ายฐานการผลิตและการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทันที ดังนั้นคนทำงานจะต้องปรับตัวเรื่องการพัฒนาทักษะทั้งด้านภาษา วัฒนธรรมและปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่จะเปิดรับวิธีคิดแบบใหม่ ๆ มากขึ้น บางบริบทต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง จริงใจเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ต้องทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่สม่ำเสมอ เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแผนฯ ก็ต้องเปลี่ยนด้วย เราจึงต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา บางครั้งโครงสร้างองค์กรที่มีอยู่ไม่ได้รองรับได้ทุกสถานการณ์ ในขณะที่แผนพัฒนากำลังคนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนคือทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด ทำอย่างไรจึงจะสร้างคนให้มีองค์ความรู้มากขึ้น และท้ายที่สุดเราจะแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ อย่างไรตรงนี้เป็นความท้าทาย หากพัฒนาและปรับตัวกับสิ่งเหล่านี้เชื่อว่าจะทำให้ขีดความสามารถของคนไทยดีขึ้นเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน

ส่วน ดร.โชคชัย สุทธาเวศ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันในรั้วมหาวิทยาลัยนักศึกษายังไม่ตื่นตัวที่จะไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ต้องการศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น ขณะที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันค่านิยมของคนไทยเข้าใจว่าการเรียนสูง ๆ เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองในการมีพื้นที่ยืนในสังคม นักศึกษาไปทุ่มเทกับการกวดวิชามากกว่าการตั้งใจเรียนในห้องเรียน และอาจารย์ก็ทุ่มเทกับการทำวิทยฐานะมากกว่าการสอน ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อน การเรียนในห้องเรียนจึงถูกมองข้ามไป ดังนั้นจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาใหม่ ต้องเพิ่มจำนวนครูให้สามารถดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง สมาคมผู้ปกครองและครูแต่ละโรงเรียนต้องเข้าไปตรวจสอบและประเมินคุณภาพของโรงเรียน ส่วนการเตรียมความพร้อมของคนไทยในการเปิดอาเซียนนั้น คนไทยต้องกล้าแสดงออก กล้าเรียนรู้ เผชิญกับโลกภายนอกมากขึ้น ดังนั้นความพร้อมขึ้นอยู่กับตัวเราเองทุกคนและสภาพแวดล้อมว่าจะส่งเสริมและเอื้ออำนวยระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน

ขณะที่ นายหริพันธ์ วงษ์สุวรรณ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยส่วนตัวสำเร็จการศึกษาแล้วมีความคิดอยากไปทำงานต่างประเทศ แต่ยังขาดแรงจูงใจ เพราะในสายงานวิศวะต้องมีประสบการณ์การทำงานมาก่อนอย่างน้อย 7 ปี จึงจะสามารถเข้าไปทำงานในอาเซียนได้ ดังนั้นมองว่าการหางานทำในประเทศไทยสบายใจกว่ากัน ส่วนสาเหตุที่คนไทยมีอัตราการจ้างงานสูง เนื่องจากนิสัยคนไทยไม่ขยันทำงาน มีการ เปลี่ยนงาน ทำค่อนข้างบ่อย เพราะ เลือกงาน ที่มุ่งเน้นความสะดวกสบายและรายได้สูง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้วเราจำเป็นต้องขยับตัวเองให้สูงขึ้นกว่าเดิมหรือระดับที่เท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้การ ปรับทัศนคติ เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้วิธีคิดใหม่ว่าการไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ได้เป็นสถานที่ที่น่าลำบาก เช่นเดียวกันการประชาสัมพันธ์เรื่องอาเซียนเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย หรือการเตรียมตัวอย่างไรเพื่อไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียน สิ่งเหล่านี้ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร

ที่มา : กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

จะเอาตัวรอดในอาเซียนอย่างไร? เมื่อความท้าทายบัณฑิตใหม่ ไม่ใช่แค่"ภาษาอังกฤษ"

คุณสมบัติของวิศวกร และสถาปนิก ที่จะโยกย้ายทำงานใน ASEAN

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด