ทำความรู้จัก Generation Gap อีกหนึ่งปัญหาที่หลายออฟฟิศต้องเจอ

ทำความรู้จัก Generation Gap อีกหนึ่งปัญหาที่หลายออฟฟิศต้องเจอ
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 20 September, 2023
Share

ในที่ทำงานเป็นสถานที่ที่คนหลายคนมารวมตัวกัน ต่างนิสัย ต่างที่มา ต่างความสามารถ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดปัญหาใดๆ เลย ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่หลายบริษัทต้องพบเจอนั่นก็คือเรื่องของ Generation Gap หรือช่องระหว่างวัยของพนักงาน โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ที่มีพนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งบทความนี้จะพาทุกคนไปเรียนรู้ถึงเรื่องราวของ Generation Gap ให้มากขึ้น รวมไปถึงวิธีรับมือและการแก้ปัญหา ที่จะทำอย่างไรให้คน 2 วัย สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีอุปสรรค


Generation Gap ช่องว่างระหว่างวัยในการทำงาน


Generation Gap ถือเป็นความแตกต่างทางด้านความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ รวมไปถึงการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของสังคม เมื่อสังคมมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ความคิดของคนแต่ละวัยก็ย่อมแตกต่างกันด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายคนอาจมองว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากอายุที่แตกต่างกันเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วล้วนมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง


ซึ่งปัญหา Generation Gap ในที่ทำงานนั้น ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในแต่ละองค์กรก็ต้องมีการผสมผสานพนักงานในหลากหลายวัยเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นการผสมผสานทั้งเรื่องของประสบการณ์ที่โชกโชนจากพนักงานวัยกลางคน หรือไอเดียที่สดใหม่กับไฟในการทำงานอันแรงกล้าของเด็กจบใหม่ เพื่อช่วยให้องค์กรเดินหน้าได้อย่างมั่นคง


แต่การพบเจอกันของคน 2 วัยนี่แหละ ที่ก่อให้เกิดปัญหาในองค์กรได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียด้วย เช่น การเติบโตในยุคที่แตกต่างของเจ้านายกับลูกน้อง ทำให้เรื่องของความคิดและค่านิยมบางอย่างไม่เหมือนกัน จนพาลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้านายและลูกน้องอยู่บ่อยๆ จนอาจส่งผลให้ลูกน้องต้องลาออกเพื่อหนีเจ้านาย พร้อมกับการเปลี่ยนงานใหม่แบบรัวๆ


ลักษณะการทำงานของคนแต่ละ Generation


มาเรียนรู้กันให้ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวลักษณะการทำงานแบบคร่าวๆ ของคนในแต่ละ Gen ว่าพวกเขามีทัศนคติและวิธีการทำงานแบบใด


Gen X เกิดระหว่างปี 1965-1980


ส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่ใน Gen นี้ มักดำรงตำแหน่งใหญ่ๆ ในบริษัทแล้ว เช่น ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าฝ่าย ซึ่งมักจะเป็นคนที่รักการทำงาน เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นและอดทน พร้อมถวายหัวให้การทำงานแบบเต็มร้อย เพื่อความก้าวหน้าและมั่นคงในชีวิต ยินดีและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด


Gen Y เกิดระหว่างปี 1981-1996 และ Gen Z เกิดระหว่างปี 1997-2012


กลุ่มนี้จะประกอบไปด้วยคนหลายวัย เริ่มตั้งแต่คนที่ทำงานจนสั่งสมประสบการณ์มาแล้วพอสมควร ไปจนถึงกลุ่มคนที่เพิ่งทำงานไม่กี่ปี และเด็กจบใหม่ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วก็มักเป็นคนที่หัวสมัยใหม่ มีความตั้งใจในการทำงาน พร้อมไฟอันแรงกล้า แต่ก็ตรงไปตรงมาในเรื่องการแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัว รวมไปถึงการสนับสนุนค่านิยมการทำงานแบบ Work Life Balance เพื่อเน้นให้ตัวเองมีความสุขทั้งกับการทำงานและชีวิตส่วนตัว นอกจากนี้ยังเป็นช่วงวัยที่เน้นการทำงานที่มีผลตอบแทนที่คุ้มค่า หากพบเจอปัญหาในที่ทำงาน ที่ทำลายความสุขส่วนตัวในชีวิต ก็พร้อมจะเดินหน้าหาที่ทำงานใหม่ที่ฟิตกับไลฟ์สไตล์ของตนเองแบบไม่ลังเล


ปัญหา Generation Gap ส่งผลต่อองค์กรอย่างไร


แน่นอนว่าเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่มักเกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาดูกันว่าปัญหาของคนทำงาน 2 วัย สามารถส่งผลอย่างไรได้บ้าง


ปัญหาเรื่องการสื่อสาร


ในตอนนี้เราได้ก้าวเข้าสู่เทรนด์การทำงานแบบใหม่อย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งจากช่วงโควิดเราก็ได้เรียนรู้การว่า WFH ก็สามารถทำงานให้ออกมามีประสิทธิภาพได้เช่นกัน แม้ตอนนี้บางบริษัทจะเริ่มกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มร้อยแล้ว แต่บางที่ก็สานต่อเทรนด์ด้วยการทำงานแบบ Hybrid จึงทำให้เรื่องราวของการสื่อสารระหว่างคนทำงาน 2 วัย กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องได้


เนื่องจากการเกิดเติบโตมาในยุคที่แตกต่างกัน อาจทำให้คนรุ่นเก่าถนัดในการคุยงานแบบเห็นหน้ากันมากกว่าที่คุยงานผ่านวิดีโอคอล เพราะพวกเขามักคุ้นชินกับชีวิตที่โลกออนไลน์ไม่ได้มีอิทธิพลต่อชีวิตมากมายขนาดนั้น และคิดว่าการเจอหน้ากันในออฟฟิศ จะช่วยให้การสื่อสารเป็นได้อย่างลื่นไหลมากกว่าในขณะที่รุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล ก็ชื่นชอบที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์กับวิธีการทำงานให้สะดวกยิ่งขึ้น


เรื่องราวเหล่านี้จึงอาจกลายเป็นปัญหาระหว่างคนทำงาน 2 วัย ที่หลายองค์กรต้องพบเจอ เพราะบางครั้งกำแพงในการสื่อสารของพวกเขาก็จะสูงขึ้น เนื่องจากมีความถนัดในรูปแบบการสื่อสารที่แตกต่างกัน องค์กรจึงต้องควรใส่ใจเรื่องนี้ เพื่อให้พวกเขาสื่อสารกันได้อย่างไม่ติดขัด หรืออาจสำรวจความถนัดในเรื่องของการสื่อสารของพนักงาน เพราะบางครั้งเรื่องราวอาจหักมุมกลายเป็นว่าคนรุ่นเก่าอาจชอบการคุยงานแบบออนไลน์ และคนรุ่นใหม่ชอบการคุยงานแบบเห็นหน้า ก็เป็นได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ต้องจัดการให้เคลียร์


มีมุมมองเรื่องเป็นความเป็นผู้นำที่แตกต่างกัน


คนทำงานในแต่ละช่วงวัยมักมีมุมมองต่อผู้นำที่แตกต่างกัน โดยคนรุ่นเก่ามักมองว่าผู้นำหรือหัวหน้า คือศูนย์รวมของพนักงาน หรือเป็นบุคคลที่มีอำนาจ จึงทำให้ต้องระมัดระวังและมีความนอบน้อมในการเข้าหา รวมไปถึงการเคารพการตัดสินใจ เพราะหัวหน้ามีตำแหน่งที่สูงกว่า


ส่วนคนรุ่นใหม่มักจะมองภาพของหัวหน้าให้เป็นแบบอย่างในการทำงาน และต้องเป็นเมนเทอร์ของเขาไปในตัว คือต้องสามารถคอยให้แนะนำ ชี้แนะ หรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำงานได้ อีกทั้งยังต้องเป็นคนที่พวกเขาสามารถถึงได้ หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ก็พร้อมที่จะลุยไปกับพวกเขา โดยที่ไม่ทิ้งลูกน้องไว้ข้างหลัง


ดังนั้นบุคคลที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำในองค์กรต้องเรียนรู้ในเรื่องของการเข้าหาพนักงานทั้ง 2 ช่วงอายุ เพื่อสร้างความโปร่งใส รวมไปถึงเรื่องของการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อให้การทำงานเป็นได้อย่างราบรื่น


วิธีจัดการ Generation Gap ในที่ทำงาน


แม้เรื่องช่องว่างระหว่างวัย จะดูเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบางองค์กร แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ยากจะแก้ไขเสียทีเดียว มาดูกันว่าจะมีวิธีอย่างไรที่จะทำให้คนทั้ง 2 วัย เข้าใจกันมากขึ้น


จัดกิจกรรมแชร์ความรู้


การทำความรู้กันมากขึ้น อาจทำให้คนทั้ง 2 วัยเข้าใจกันมากขึ้น โดยบริษัทอาจมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น ให้คนทำงานรุ่นเก่ามาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้คนรุ่นใหม่ฟัง รวมไปถึงการให้คนรุ่นใหม่มาร่วมแชร์ไอเดียที่น่าสนใจแก่คนรุ่นเก่าด้วยเช่นกัน เพื่อทำให้พวกเขาได้เรียนมุมมองของกันละกันเพิ่มมากขึ้น


ไม่ควรยัดเยียดความคิดให้กัน


คนทั้ง 2 วัยต้องคิดเสมอว่าต่างก็เติบโตมาในยุคที่แตกต่างกัน ดังนั้นวิธีคิดก็อาจจะแตกต่างกัน การยัดเยียดความคิดของตนเองให้อีกฝ่าย จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และไม่ควรบังคับให้อีกฝ่ายคิดแบบเรา ไม่งั้นอาจเกิดการต่อต้านหรือความขัดแย้งตามมาได้


รับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน


ในกรณีที่ช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้นระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง หากเกิดปัญหาขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายควรต้องรับฟังซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะได้นำปัญหาต่างๆ เหล่านั้นไปพัฒนาตนเอง ซึ่งคนเป็นเจ้านายก็ควรเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้เสมอไอเดียใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะจะช่วยทำให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีม


ตั้งเป้ามายในทิศทางเดียวกัน


วิธีที่จะทำให้การทำงานเป็นไปย่างราบรื่น คือการคุยกันให้เคลียร์ พร้อมกำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกันให้ชัดเจน ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากทั้ง 2 ฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกันตั้งแต่แรก รับรองว่าปัญหาความขัดแย้งจะไม่มีวันเกิดขึ้นแน่นอน


ควรมีความยืดหยุ่นต่อกัน


คนในแต่ละช่วงวัยมักมีการเติบโตและความชอบต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงเรื่องของความยืดหยุ่นในการทำงาน ยิ่งในยุคนี้ที่เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้านหรือที่ออฟฟิศ ดังนั้นหัวหน้าก็ควรจะเข้าใจลูกน้องให้มากขึ้นในเรื่องของวิธีการทำงาน แต่ในทางกลับกันลูกน้องก็ต้องเข้าใจหัวหน้าเช่นกัน หากบางครั้งมีการกำหนดกฎระเบียบหรือขั้นตอนการทำงานขึ้นมา เพื่อควบคุมความเรียบร้อยของทีม โดยทั้ง 2 ฝ่าย อาจหาแนวทางปฏิบัติแบบสายกลางร่วมกัน


สรุปปัญหา Generation Gap ในที่ทำงาน


แม้ปัญหาช่องระหว่างวัยจะดูเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่หลายองค์กรต้องพบเจอ แต่เราเชื่อมั่นว่าอย่างไรเสียปัญหานี้ก็ย่อมมีทางแก้ไขให้คนทั้ง 2 วัยอยู่ร่วมกันได้ และไม่ใช่เรื่องยากด้วยที่พวกเขาจะหันหน้าเข้าหากัน เพียงแค่ทุกคนต้องเรียนรู้และเข้าใจกันและกัน ซึ่งการสื่อสารถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ะจะช่วยลดปัญหานี้ได้ หากคุยกันแล้วมีความเข้าใจ มีเป้าหมายเดียวกัน และมีการรับฟังซึ่งกันและกัน อุปสรรคและความขัดแย้งก็ย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน

More from this category: สมัครงาน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สำรวจหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

เลือกสิ่งที่สนใจเพื่อเรียกดูอาชีพที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด