10 เช็คลิสต์เคลียร์งานก่อนหยุดยาว

10 เช็คลิสต์เคลียร์งานก่อนหยุดยาว
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ช่วงปลายปีถือเป็นถือช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทุกคนรอคอยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเดือนธันวาคม ที่ถือเป็นเดือนที่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์มากที่สุดเดือนหนึ่งของปี แล้วยิ่งสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายลงไปบ้าง ประเทศต่างๆ รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศต่างกลับมาเปิดให้บริการต้อนรับนักท่องเที่ยวกันเป็นปกติแล้ว เหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ตรากตรำทำงานกันอย่างเคร่งเครียดมาตลอดทั้งปี ก็คงเตรียมวางแผนออกไปท่องเที่ยวในวันหยุดยาวและช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันอยู่ใช่ไหมล่ะ รวมไปถึงบางคนก็อาจจะมีการวางแผนใช้วันลาของปีปัจจุบันให้หมดไปอีกต่างหาก

เคลียร์งานก่อนหยุดยาว

แต่จะทำยังไงล่ะ เมื่อปริมาณของงานก็มีมากขึ้นพอๆ กับวันหยุดเดือนนี้ หรือเผลอๆ จะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างสบายใจหายห่วง หมดกังวลเรื่องงานแบบ 100% เต็ม บทความนี้เราเลยจะมาแนะนำเช็คลิสต์อันแสนสำคัญในการเคลียร์งานให้หมดสิ้นก่อนวันหยุดยาว รับรองว่าการได้กลับมาท่องเที่ยวอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิดของคุณจะต้องสดใสอย่างแน่นอน

10 เช็คลิสต์พิชิตงาน ก่อนหยุดยาว

1. จัดทำ To-Do List

อันดับแรกเลยคือคุณต้องต้องสติและทำสมาธิให้มั่น อย่าเพิ่งทิ้งกายหยาบไว้ที่ทำงาน แล้วปล่อยใจไปอยู่ที่วันหยุดแล้ว แต่ต้องจัดทำ To-Do List สิ่งที่คุณต้องทำทั้งหมดก่อนวันหยุดยาวจะมาถึง ซึ่งจริงๆ แล้วเราเชื่อว่าหลายๆ คนคงมีการทำ To-Do List กันเป็นประจำใช่วงเวลาทำงานอยู่แล้ว แต่เราอยากให้คุณทำลิสต์พิเศษสำหรับช่วงนี้ขึ้นมาอีกสักหนึ่งอัน เพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณมีงานอะไรคงค้างก่อนหมดปีนี้เหลืออยู่บ้าง

เพราะยิ่งวันหยุดยาวใกล้เข้ามาเท่าไร จำนวนของชิ้นงานก็ขะยิ่งถาโถมเข้ามาเท่านั้น เพราะพนักงานคนอื่นๆ ในบริษัทเขาก็ย่อมที่ไปพักผ่อนในวันหยุดยาวเหมือนกับคุณนี่แหละ หากคุณไม่สร้างลิสต์งานที่ต้องทำให้ดี ก็จะยิ่งทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน และท้ายที่สุดอาจกลายเป็นว่าเคลียร์งานไม่หมด จนกลายเป็นพาความกังวลใจติดตัวไปท่องเที่ยวด้วย

2. เรียงลำดับความสำคัญของงาน

นอกจากการจัดทำ To-Do List แล้ว คุณยังควรทำเรียงลำดับความสำคัญของงานต่างๆ ให้ดีด้วย โดยภายในลิสต์สิ่งที่ต้องทำ อาจลองระบุเดดไลน์ของงานแต่ละชิ้นลงไปด้วยเลยว่าต้องตัดจบเมื่อไร จะเรียงลำดับงานแต่ละชิ้นได้อย่างเป็นระบบ ห้ามเด็ดขาดที่เอางานทุกชิ้นมาทำพร้อมๆ กัน ในเวลาเดียวกัน เพราะนั่นจะทำให้งานไม่เสร็จสักชิ้น แถมงานยังจะออกมาไม่ดีอีกต่างหาก

หากอยากในลิสต์ของคุณดูเป็นระบบและระเบียบ อาจลองใช้แอปพลิเคชันต่างๆ มาเป็นตัวช่วยในการทำลิสต์ด้วยก็ได้ เช่น Slack หรือ Trello เป็นต้น ซึ่งข้อดีของมันก็คือนอกจากคุณที่เจ้าของลิสต์จะเห็นงานที่ค้างอยู่แล้ว หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานก็จะเห็นลิสต์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน ว่างานทั้งหมดที่ต้องจัดการมีตัวไหนตัดจบไปแล้วบ้าง

3. ลงมือเคลียร์งาน

เมื่อจัดทำลิสต์สิ่งที่ต้องทำต่างๆ เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการลงมือทำงานแล้วล่ะ โดยคุณอาจจะไม่ต้องหักโหมกับการเคลียร์งานมากนัก ควรมีเวลาพักผ่อนสมองหรือคลายเครียดบ้าง และดำเนินงานการให้เป็นไปแผนที่วางไว้ หากงานเสร็จไปตามเป้าที่ตั้งไว้ในแต่ละวัน หากมีเวลาเหลือและรู้สึกว่ายังไหว จะหยิบงานชิ้นใหม่มาบรรเลงเลยก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าเครียดจัด ควรหยุด แล้วดำเนินตามแผนเดิมที่ตั้งไว้ เป็นอันดีที่สุด

แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ควรคำนึงคือเรื่องของสมาธิ ดังที่เรากล่าวข้างต้นนั่นแหละ บางคนทิ้งกายหยาบไว้ที่ออฟฟิศซะจนสมาธิหลุด จนกลายเป็นการผลัดวันประกันพรุ่ง ลืมตัวเผลอไม่ทำตามแผนที่วางไว้ เรื่องราวเหล่านี้ก็อาจจะให้งานของคุณเสียหายหรือเสร็จไม่ทันวันหยุดได้เช่นกัน

4. ปฏิเสธรับงานเพิ่ม

การปฏิเสธไม่ใช่เรื่องผิด อย่ากลัวที่จะเซย์โนหากบังเอิญดันมีงานเข้ามาเพิ่มในวินาทีสุดท้ายก่อนวันหยุด คุณแค่จะลาไปท่องเที่ยวพักผ่อน ไม่ได้จะลาออก ดังนั้นลองเจรจากับหัวหน้าหรือแผนกที่หยิบยื่นงานชิ้นใหม่ให้คุณมา ว่างานชิ้นนี้ด่วนแค่ไหน สามารถกลับมาจัดการหลังวันหยุดยาวได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการรับบทผู้ช่วยเหลือสังคมด้วย จริงอยู่ที่การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องอย่าลืมประเมินงานของตัวเองก่อนว่า เคลียร์ไปได้แล้วกี่เปอร์เซนต์ แล้วคุณมีกำลังพอแค่ไหนในการจะช่วยงานคนอื่น ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ อย่าตกปากรับคำคนอื่นเด็ดขาด เพราะนั่นจะกลายเป็นดินพอกหางหมูให้แก่คุณได้

5. วางมือจากโลกโซเชียล

ด้วยจำนวนของปริมาณงานที่มหาศาลและเดดไลน์ที่เร่งรัดแบบสุดๆ คงไม่ดีแน่ๆ ถ้าวันๆ หนึ่งคุณยังไม่สามารถตัดขาดจากโลกโซเชียลได้ เราไม่ได้บอกว่าห้ามเล่นโซเชียลเลย เพราะคุณยังสามารถหยิบมือถือขึ้นมาดูได้ในช่วงเวลาที่เครียดหรืออยากพักสมอง แต่ต้องอย่าดูเพลินจนเกินห้ามใจ แล้วไปกินเวลาของการเคลียร์งานล่ะ มิฉะนั้นงานไม่เสร็จตามกำหนดแน่นอน

อีกหนึ่งวิธีที่ดีที่จะช่วยให้คุณปลีกตัวออกจากโลกโซเชียลและมีสมาธิกับการทำงานได้มากขึ้น นั่นก็คือลองตั้งโทรศัพท์มือถืออยู่ในโหมด Do Not Disturb ลองปิดเสียงเรียกเข้า หรือลองปิดการแจ้งเตือนดู เพราะถ้าคุณไม่เห็นข้อความที่เด้งมาในโทรศัพท์มือถือ นั่นก็จะช่วยให้สายตาจดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้น เมื่อเคลียร์งานเสร็จแล้ว ค่อยเอาเวลากลับบ้านไปตอบแชทต่างๆ ทีเดียว

6. แจ้งให้หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานทราบ

บางคนที่มีวันลาพักร้อนประจำปีเหลืออยู่ แล้วต้องเคลียร์ให้หมดก่อนสิ้นปี ก็มักจะนำวันลาพักร้อนเหล่านั้นมา Top Up เข้ากับวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อให้วันหยุดพักผ่อนของเขายาวขึ้น ดังนั้นวันหยุดของแต่ละคนในออฟฟิศก็จะมีพีเรียดที่ไม่เท่ากัน สิ่งที่ควรต้องทำอีกหนึ่งอย่างคือการแจ้งให้หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือแผนกอื่นๆ ที่คุณต้องดีลงานด้วยทราบ ว่าคุณใช้วันหยุดตั้งแต่วันไหนถึงวันไหนบ้าง

ซึ่งโดยปกติแล้วพนักงานส่วนใหญ่ก็จะต้องส่งใบลาหยุดให้แก่หัวหน้าอนุมัติก่อนอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยก็ควรแจ้งหัวหน้าอีกสัก 1 รอบ ว่าคุณกำลังจะลาหยุดแล้วนะ เพื่อเป็นการเตือนความจำ อีกทั้งการบอกกล่าวเพื่อนร่วมงานเอาไว้นั้น ก็เพื่อพวกเขาจะได้มาดูแลงานในส่วนของคุณแทนในช่วงที่คุณไม่อยู่ รวมไปถึงพวกเขาจะได้มาวุ่นวายหรือส่งข้อความมารบกวนในช่วงวันหยุดอีกด้วย

7. ตั้งค่าระบบการทำงานต่างๆ ว่า On Vacation

เมื่อบอกกล่าวคนที่ทำงานเป็นลายลักษณ์อักษรและทางวาจากันไปแล้ว แต่เชื่อเถอะว่าบางทีคนเราก็ลืมกันได้ ดังนั้นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำก็คือ การตั้งค่าในระบบหรือโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้ในออฟฟิศให้เป็นโหมด On Vacation ทั้งหมด เช่น อีเมล, ปฏิทิน หรือ โปรแกรมแชทต่างๆ เพื่อที่ตอนพวกเขาอยากจะติดต่อหรือส่งงานให้ในช่องทางต่างๆ จะได้เห็นสเตตัสว่าคุณกำลังลาพักร้อนอยู่นะ

โดยในส่วนของอีเมลนั้น คุณสามารถตั้งค่าในระบบให้เป็นการตอบกลับแบบอัตโนมัติได้ ซึ่งคนที่ส่งอีเมลหาคุณนั้น จะได้รับข้อความตอบกลับทันทีว่าคุณลาพักร้อนอยู่นะ ไม่ได้เพิกเฉยต่อการตอบอีเมลแต่อย่างใด เพราะบางคนก็ต้องมีการใช้อีเมลในการสื่อสารกับลูกค้าภายนอกบริษัท ข้อนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง

8. ลิสต์งานที่ต้องทำหลังจากกลับมา

เพื่อไม่ให้เกิดอาการ Burn Out ภายหลังจากการท่องเที่ยวหรือหยุดยาว ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนจะต้องเป็นอย่างแน่นอน เมื่อได้หยุดยาวนานๆ แล้ววันแรกที่กลับเข้าออฟฟิศ จะต้องมีอาการเบื่อและไม่อยากทำงานเป็นแน่แท้ ดังนั้นสิ่งที่ช่วยป้องกันอาการนี้ได้ในระดับหนึ่งก็คือ การทำลิสต์งานที่ต้องทำหลังจากวันหยุดยาว เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณรวบรวมสติให้ในการเริ่มต้นทำงานหลังปีใหม่ได้อย่างง่ายดายขึ้น ไม่ต้องมานั่งกังวลหรืองมว่า จะต้องทำสิ่งไหนก่อนหรือหลัง หรือพาลให้เกิดอาการขี้เกียจขึ้นมาได้

โดยเราแนะนำให้จัดทำลิสต์ในรูปแบบเดียวกับลิสต์งานที่ต้องเคลียร์ก่อนวันหยุดยาวเลย เพื่อที่จะได้รู้ว่างานไหนยังค้างอยู่ และมีเดดไลน์ที่ต้องจัดการภายในวันไหน จะได้เป็นการจัดระเบียบและเรียงความสำคัญของงานให้ดียิ่งขึ้น

9. หาตัวช่วยผ่อนคลายระหว่างเคลียร์งาน

ก่อนวันหยุดยาวปลายปี เราเชื่อว่าต้องเป็นช่วงที่หลายคนอุดมไปด้วยความเครียดอยู่แล้วล่ะ เพราะปริมาณงานจะต้องหนาแน่นแบบจัดเต็ม ดังนั้นในระหว่างที่เคลียร์งาน อย่าลืมหาเวลาพักผ่อนหรือพักสมองระหว่างวันกันบ้าง จะได้ไม่เป็นการกดดันตัวเองหรือเครียดจนเกินไป


อาจลองหาของทานเล่นมาติดโต๊ะไว้เพื่อทานระหว่างวัน หรือจะเป็นเครื่องดื่มหวานๆ หรือเครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่นก็ได้ สมองของคุณจะได้โลดแล่นมากยิ่งขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะเปิดเพลงฟังในระหว่างทำงานดูก็ได้ สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดโปร่งและลดความเครียดได้เป็นอย่างดี งานที่ทำจะได้ออกมาประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

10. ออกจากโลกการทำงาน แล้วเอ็นจอยวันหยุด

เมื่อทำตามลิสต์ด้านบนที่เราแนะนำไปจนเสร็จสิ้น ก็ถึงเวลาเข้าโหมดของการพักผ่อนแบบ 100% เต็มแล้วล่ะ โดยก่อนจะเข้าสู่วันหยุด เราอยากให้คุณลองปิดการแจ้งเตือนทั้งหมดที่เกี่ยวกับงานลงซะ พยายามไม่เข้าไปอ่านหรือรับรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องเลยได้ก็ยิ่งดี เพราะเราเชื่อว่าบางคนก็ตั้งใจทำงานมากๆ จนไม่อาจหยุดคิดเรื่องของงานได้ในทุกๆ วัน ดังนั้นคุณจึงควรต้องตัดทุกอย่างออกให้หมด และคิดเสียว่าคุณได้จัดการเคลียร์งานทุกอย่างลงเสร็จสิ้นก่อนวันหยุดของคุณแล้ว

อย่าลืมว่าคุณต้องเสียค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าเดินทางระหว่างทริป ไปกับการท่องเที่ยวพักผ่อนนี้เท่าไร ครั้นจะเอาเรื่องงานเก็บมาคิดในระหว่างที่ท่องเที่ยวอยู่นั้น ก็พาลแต่จะทำให้เที่ยวไม่สนุกเสียเปล่าๆ ดังนั้นเคลียร์สมองและทำใจให้โล่งๆ เข้าไว้ แล้วเอ็นจอยกับวันหยุดที่มีน้อยนิดให้เต็มที่

สรุปเช็คลิสต์เคลียร์งานก่อนวันหยุดยาว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาของมนุษย์เงินเดือนทุกคน ก็จะหมดไปในที่ทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะทุกคนก็ต้องนำเงินเดือนมาใช้ดำรงชีพด้วยกันทั้งนั้น แต่งานก็ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ดังนั้นมนุษย์เงินเดือนทุกคนก็ต้องมีเวลาหาความสุขหรือผ่อนคลายให้กับตัวทั้งนั้น ให้สมกับการที่ต้องเครียดหรือกดดันกับงานมาตลอดทั้งปี เราเชื่อว่าเมื่อคุณได้ชาร์จแบตจากท่องเที่ยวพักผ่อนมาอย่างเต็มที่ คุณอาจได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ เป็นของแถมกลับมา เพื่อต่อยอดในการทำงานด้วยก็ได้ นี่แหละที่จะช่วยให้การเริ่มต้นการทำงานใหม่หลังวันหยุดยาว สดใสมากยิ่งขึ้น

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

jobsDB Mobile App

คว้างานที่ใช่ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%94%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%a7-%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b8%99/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%aa%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด