ไปต่อหรือพอแค่นี้ เมื่อเราไม่คลิกกับวัฒนธรรมองค์กร

ไปต่อหรือพอแค่นี้ เมื่อเราไม่คลิกกับวัฒนธรรมองค์กร
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 26 September, 2023
Share

ในปัจจุบันคนทำงานหลายคนมักให้ความใส่ใจกับวัฒนธรรมองค์กร หรือ Company Culture ทั้งในส่วนของคนที่เป็นพนักงานเอง รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ด้วย เพราะทุกฝ่ายต่างก็อยากผลิตผลงานออกมาให้มีคุณภาพกันทั้งนั้น โดยพยายามไม่ให้เรื่องอื่นๆ เข้ามาปะปน จนกลายเป็นอุปสรรคหรือปัญหาที่ไม่ควรเกิด แต่บางครั้งเรื่องของปัญหาก็ไม่เคยปราณีใคร โดยเฉพาะพนักงานที่คาดหวังในองค์กรไว้สูง ซึ่งก่อนเข้าทำงาน เราอาจจะคิดว่าเส้นทางการทำงานของเราจะต้องโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่สุดท้ายพอถึงเวลาจริงๆ กลับมีเรื่องจุกจิกต่างๆ เข้ามากวนใจ จนทำให้รู้สึกว่าวัฒนธรรมขององค์กรนั้น ไม่คลิกกับสไตล์การทำงานของเรา ฉะนั้นมาดูกันว่าเมื่อได้เจอปัญหานี้จริงๆ พนักงานจะมีวิธีรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ทำความรู้จัก Company Culture

วัฒนธรรมองค์กร หรือ Company Culture คือ ค่านิยมหรือความเชื่อที่ทุกคนในบริษัทมีร่วมกัน ก่อนจะลงมือปฏิบัติให้ทุกอย่างสอดคล้องไปในทางเดียวกัน จนสุดท้ายก่อเกิดเป็นธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากพนักงานเก่าไปสู่พนักงานใหม่ได้อย่างราบรื่น ซึ่งถ้าวัฒนธรรมองค์กรที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทกำหนดไว้ ก็ถือเป็นผลดีที่จะทำให้ทั้งองค์กรและพนักงานอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่หากสิ่งที่ปฏิบัติร่วมกันกลับไม่สอดคล้องกัน ก็อาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับไม่ได้ จนเกิดปัญหาตามมาในที่สุด

ความสำคัญของ Company Culture

สิ่งที่สำคัญที่สุดของวัฒนธรรมองค์กรก็คือ หากองค์กรไหนมี ​Company Culture ที่แข็งแรง ก็จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและช่วยทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน ทำให้พนักงานปัจจุบันอยากที่จะทำงานกับบริษัทไปนานๆ รวมไปถึงการดึงดูดคนที่มีทักษะและความสามารถเข้ามาร่วมงานด้วยในอนาคต

แต่หากองค์กรไหนที่ Company Culture ไม่แข็งแรง ก็อาจส่งผลให้พนักงานอยากลาออก เพื่อไปทำงานกับองค์กรที่คลิกกับเขา แถมยังอาจส่งผลต่อชื่อเสียงของบริษัทได้อีกด้วย เนื่องจากพนักงานที่ลาออกไป อาจจะไปบอกเพื่อนที่รู้จัก หรือเข้าไปรีวิวบริษัทตามเว็บไซต์ต่างๆ ว่าวัฒนธรรมขององค์กรที่เขาพบเจอเป็นอย่างไร จนสร้างกระแส Word of Mouth ทำให้คนอื่นๆ ไม่อยากสมัครงานกับบริษัทที่วัฒนธรรมองค์กรไม่แข็งแรง

เทรนด์ของ Company Culture ในปัจจุบัน

อย่างที่กล่าวไปว่าในทุกวันนี้หลายคนล้วนให้ความใส่ใจกับ Company Culture เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนบางคนที่ให้ความสำคัญกับองค์กรที่ทำงานแล้วมีความสุข มากกว่าองค์กรที่ให้ค่าตอบแทนสูงเสียอีก เพราะปัจจัยหลายอย่างในสภาวะสังคมปัจจุบันก็เครียดมากพออยู่แล้ว นั่นจึงทำให้พวกเขาเลือกจะทำงานกับบริษัทที่อยู่แล้วมีความสุขนั่นเอง

ในส่วนของฝั่งบริษัทเอง ก็มีการปรับตัวด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาพนักงานที่ความสามารถอยู่ให้กับบริษัทไปนานๆ หรือดึงดูดคนเก่งๆ ให้เข้ามาทำงานด้วย ผ่านนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ บริษัท เช่น

- การทำงานแบบ Remote Work

- การทำงานแบบ Hybrid

- สนับสนุนเรื่องของความหลากหลายการยอมรับซึ่งกันและกัน

- นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น

- จัดกิจกรรมหรือเน้นสวัสดิการที่ช่วยเรื่อง Work Life Balance

- เน้นการประเมินที่ผลงาน โดยปราศจากอคติ

สัญญาณของการเจอ Company Culture ที่เป็นพิษ

สำหรับเทรนด์การทำงานยุคปัจจุบันที่เรากล่าวไปนั้น บางครั้งอาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น หรือองค์ประกอบบางส่วนที่ช่วยให้บริษัทนั้นๆ มี Company Culture ที่ดี แต่จริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น สไตล์การทำงานของคนในองค์กร สภาพแวดล้อม บรรยากาศในการทำงาน หรือการเมืองในที่ทำงาน ซึ่งองค์กรทั้งหลายก็ควรใส่ใจในเรื่องนี้ มีการทำความเข้าใจร่วมกันกับพนักงานแต่ละฝ่าย ว่าสไตล์การทำงานแบบไหนที่จะช่วยทำให้บริษัทเกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้

แต่หากมนุษย์เงินเดือนคนไหนที่เพิ่งไปเริ่มงานกับบริษัทใหม่ได้ไม่นาน แล้วกลับต้องพบเจอกับสัญญาณแปลกๆ หรือมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจเกิดขึ้น จนทำให้ความสุขในการทำงานลดลง ก็อาจพึงระลึกได้ว่าคุณกำลังเจอกับวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เข้ากับคุณแล้ว และนี่คือสัญญาณเบื้องต้นที่คุณควรลองสังเกต

- มีการสื่อสารที่บกพร่องระหว่างการทำงาน

- มีความขัดแย้งเบาๆ ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือคนในทีมด้วยกันเอง

- เน้นการเลื่อนตำแหน่ง มากกว่าคุณภาพของงาน

- มีกฎระเบียบที่เคร่งครัดเกินความจำเป็น

- ขาดความยืดหยุ่นในเรื่องที่สามารถผ่อนปรนได้

- หลายคนในบริษัทดูมีความเครียด

- เน้นการหาตัวคนทำผิด มากกว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหา

- เน้นความคิดตนเองเป็นใหญ่ และไม่รับฟังความเห็นคนอื่น

- เน้นการทำงานแบบพี่น้อง แต่เป็นพี่น้องแบบกาสะลอง-ซ้องปีบ

- มีการนินทาลับหลัง หรือตั้งกำแพงต่อกัน

- บรรยากาศการทำงานดูเครียด ไม่ผ่อนคลาย หรือไม่มีการพูดคุยหยอกล้อกันเลย

ทำอย่างไร เมื่อไม่คลิกกับ Company Culture

หากคุณกำลังเจอสัญญาณบางอย่างที่เราได้ยกตัวอย่างไป แม้ระบบการทำงานอื่นๆ หรือสวัสดิการในบริษัทจะดีแค่ไหนก็ตาม ให้ระลึกไว้เสมอว่าบริษัทที่กำลังทำงานอยู่ด้วยนั้น ยังไม่มี Company Culture ที่แข็งแรงแบบ 100% จากนั้นให้ลองพิจารณาถึงสัญญาณต่างๆ ที่พบเจอให้ถี่ถ้วน แล้วถามตัวเองให้ดีว่า คุณรับมือกับเรื่องราวเหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน หากรับยังพอรับได้ แล้วสิ่งเหล่านั้นไม่กระทบกับงาน หรือลดทอนความสุขในการไปทำงานของคุณมากจนเกินไป นั่นก็แปลว่าคุณยังรู้สึกโอเคอยู่ แต่ถ้าหากคุณกำลังเผชิญกับสัญญาณต่างๆ เหล่านั้นทุกวัน จนทำให้เกิดความเครียด ก็อาจถึงเวลาที่ต้องลองเปิดใจให้กับโอกาสใหม่ๆ ดูบ้าง

แต่เราเชื่อว่าในยุคนี้ที่สภาวะสังคมหรือเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงสูง คนที่กำลังรู้สึกว่าตัวเองไม่คลิกกับวัฒนธรรมองค์กร ก็ยังต้องมีความลังเลอยู่บ้าง ว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ฉะนั้นลองมาดูเหตุผลต่างๆ ที่เราจะมายกตัวอย่างให้เห็นกันเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจ

ไม่มีบริษัทไหนที่สมบูรณ์แบบ

ในความเป็นจริงแล้วต้องบอกว่าไม่มีบริษัทไหนที่จะสมบูรณ์แบบได้ 100% เต็ม ในทุกบริษัทล้วนต้องมีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่ปัญหาเหล่านั้นจะแตกต่างกันอย่างไร เพราะในบริษัทไม่มีแค่คนเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยคนหลายคนในการช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้า ซึ่งแต่ละคนก็มักมีนิสัยที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องของคนแล้ว ไม่มีทางที่เราจะมีเคมีที่ตรงกับทุกคนในบริษัทแน่นอน และให้คิดไว้เสมอว่าการที่เราลาออกจากบริษัทที่ Company Culture ไม่ตรงกับเรา ก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทใหม่ที่เราไปสมัครจะมี Company Culture ที่ดีกว่าเดิม เผลอๆ อาจจะกลายเป็นการหนีเสือปะจระเข้ก็เป็นได้

การสร้าง Company Culture ต้องอาศัยเวลา

อย่างที่กล่าวไปว่าในยุคนี้หลายคนเริ่มใส่ใจกับเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น บางบริษัทดำเนินกิจการมานานแล้ว แต่เพิ่งเริ่มที่จะพัฒนาเรื่องนี้ ก็อาจต้องมีเงื่อนไขเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องในการที่จะสร้าง Company Culture ให้แข็งแกร่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงจึงไม่อาจทำได้ในชั่วข้ามคืน แต่วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนเกิดเป็นที่ยอมรับของทุกคนในองค์กร และดำเนินการปฏิบัติต่อๆ กันไป เรื่องราวเหล่านี้บางครั้งจึงให้เวลาในการปรับตัวของทุกฝ่ายด้วย

มองทุกอย่างให้รอบด้าน

บางครั้งก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนแปลง ลองมองเรื่องราวเหล่านั้นแบบภาพรวมเสียก่อน ลองศึกษาดูว่าวัฒนธรรมองค์กรที่มีอยู่เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เรามากน้อยแค่ไหน ถ้าบางเรื่องเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้คลิกกับไลฟ์สไตล์การทำงานของเราแบบ 100% ก็อาจลองต้องลองมองกลับมาที่ตัวเราเอง แล้วลองปรับตัวหรือเดินทางสายกลาง ให้สามารถอยู่กับเปอร์เซ็นต์ส่วนอื่นๆ ที่ไม่คลิกกับเราได้ ให้ลองมองว่าอย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยให้เราได้พัฒนาตัวเอง เพราะทุกอย่างล้วนต้องอาศัยการปรับตัวเช่นเดียวกัน

ลองเสนอไอเดียหรือหนทางแก้ไข

หากเจอข้อบกพร่องที่เป็นตัวฉุดรั้งให้วัฒนธรรมองค์กรไม่สมบูรณ์แบบ ลองหาโอกาสคุยกับหัวหน้าหรือฝ่าย HR แล้วนำเสนอไอเดียของคุณที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวพนักงานและองค์กร อย่าไปกลัวว่าการพูดถึงปัญหาจะเป็นผลเสียต่อตนเอง แต่ให้คิดว่าคุณก็เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตต่อไป และหากว่าการเสนอไอเดียนั้น ได้รับการปรับปรุงหรือแก้ไข ก็ถือเป็นกำไรต่อตัวคุณเองด้วย

นอกจากนี้ยังอาจลองเริ่มปรับ Company Culture จากส่วนเล็กๆ ด้วยตนเองก่อน เช่น การหาแนวทางการทำงานที่ดีร่วมกันภายในทีม เพราะเราเชื่อว่าก็ต้องมีพนักงานคนอื่นๆ ที่คิดแบบเดียวกัน เมื่อมีการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แล้ว อย่างไรเสียก็ต้องมีการขยายผลไปสู่จุดที่ใหญ่ขึ้นแน่นอน

ในโลกนี้ไม่ได้มีบริษัทเดียว

แต่สุดท้ายหากลองทำทุกวิถีทางที่เราแนะนำไปแล้ว กลับไม่มีอะไรดีขึ้น หรือคุณยังไม่มีความสุขในการทำงานอยู่ ก็คงต้องถึงเวลาอันสมควรในการมองหาโอกาสใหม่ให้กับตัวเอง เพราะอย่างไรเสียก็ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่อยากได้คุณไปร่วมงานด้วยแน่นอน หากโชคดีไปเจอบริษัทที่คลิกกัน ก็ถือว่าเราได้ไปอยู่ในที่ๆ เหมาะสมกับตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยอีกเช่นกันว่า บริษัทใหม่ที่จะย้ายไป อาจจะมี Company Culture ที่คล้ายกับบริษัทเดิมก็เป็นได้

สรุปเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่คลิกกับพนักงาน

การทำงานแล้วมีความสุข อยากตื่นไปทำงานทุกวัน คือสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนปรารถนา แต่หากฝันที่สวยหรูของมนุษย์เงินเดือนได้พังทลายลง เพราะกลับพบว่าวัฒนธรรมองค์กรยังไม่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์การทำงานของตัวเอง บางครั้งเรื่องนี้ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป แต่ต้องอาศัยการมองที่รอบด้านและพิจารณาให้ถี่ถ้วน ว่าอยู่ในจุดที่ตัวเองรับมือกับมันได้มากน้อยแค่ไหน การสู้กับปัญหา หรือเดินหน้าหาโอกาสใหม่ อยู่ที่คุณเป็นคนตัดสินใจ

หากใครที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำงาน ลองแวะมาฝากประวัติกับเราได้ที่ JobsDB หรือลองค้นหาตำแหน่งงานจากบริษัทที่คุณสนใจ ที่มีให้เลือกมากมายแบบทุกสายงานได้เลยวันนี้! พร้อมให้บริการแล้วทั้งในเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด