เช็กด่วน! Easy E-Receipt 2567 คืออะไร เงื่อนไขแบบไหน ช้อปอะไรได้บ้าง

เช็กด่วน! Easy E-Receipt 2567 คืออะไร เงื่อนไขแบบไหน ช้อปอะไรได้บ้าง
Jobsdb content teamupdated on 19 January, 2024
Share

เปิดปี 2567 ต้อนรับปีใหม่ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล กับโครงการเด็ดเอาใจขาช้อป ซึ่งในปีก่อนๆ มาในชื่อ “ช้อปดีมีคืน” จนกลายมาเป็นโครงการ “Easy Easy E-Receipt” ในปัจจุบัน เพื่อวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการบริโภคและใช้จ่ายในประเทศ พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

โครงการ Easy E-Receipt 2567 คืออะไร

Easy E-Receipt คือ โครงการที่เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในการสนับสนุนช่วยเหลือประชาชน และร้านค้าที่เข้าร่วมออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) โดยประชาชนสามารถซื้อสินค้าหรือบริการได้จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตามเงื่อนไขที่ได้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ก็จะสามารถนำใบกำกับภาษีที่ร้านค้าออกให้ มาใช้ในการยื่นลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2567

Easy E-Receipt 2567 เริ่มเมื่อไร สิ้นสุดวันไหน

โครงการ Easy E-Receipt เริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ไปจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 รวมระยะเวลา 60 วัน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่สรรพากรกำหนด หากมีการใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ร่วมโครงการนอกเหนือจากช่วงเหลือดังกล่าว จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนได้ โดยการลดหย่อนนี้จะใช้สำหรับการยื่นภาษีของปี 2567 (เริ่มการยื่นแบบต้นปี 2568)

เงื่อนไขของผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 2567

- เป็นบุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ประเภทบุคคลธรรมดา ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล

- ทำการซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือผู้ประกอบการทั่วไป

- มีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ที่ออกผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร

สินค้าและบริการที่เข้าร่วม Easy E-Receipt 2567

สำหรับการใช้สิทธิ Easy E-Receipt ในการลดหย่อนภาษีนั้น จะต้องเป็นสินค้าหรือบริการในประเทศไทยเท่านั้น โดยสินค้าและบริการที่ร่วมโครงการ มีดังนี้

- สินค้าและบริการทั่วไป ที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

- หนังสือ, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, E-book, หนังสือเรียน

- สินค้าท้องถิ่น OTOP ที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง

- ร้านค้าทั่วไปหรือร้านค้าออนไลน์ ที่สามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ

- ค่าที่พักโรงแรม และค่าอาหารโรงแรม (ต้องเป็นการเข้าพักหรือใช้บริการตามระยะเวลาของโครงการ Easy E-Receipt)

- ทองคำรูปพรรณ (สามารถนำมาลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จ)

- ค่าซ่อมรถ เข้าศูนย์ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนยางรถยนต์ หรืออุปกรณ์แต่งรถ

สินค้าและบริการที่ไม่เข้าโครงการ Easy E-Receipt 2567

นอกจากนี้ยังมีสินค้าอีกหลายประเภทที่มีการยกเว้นและไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้

- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ หรือไวน์

- ยาสูบ

- ยานพาหนะต่างๆ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือเรือ

- ค่าน้ำมัน หรือค่าก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ

- ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการอินเทอร์เน็ต

- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

- ค่าเบี้ยประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ

- ทองคำแท่ง

- อาหารสุนัข อาหารแมว หรืออาหารสัตว์ทุกประเภท

- ค่ารักษาพยาบาลหรือค่าทำศัลยกรรม

- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 2567

เช็กยังไง? ร้านไหนที่เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 2567

หากซื้อสินค้าที่เข้าร่วมโครงการแล้วให้ทางร้านค้าออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ให้สังเกตเอกสารที่ร้านค้านั้นๆ ออกให้ จะต้องมีคำว่า “เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์”


หรือหากกำลังแพลนว่าจะไปช้อปปิ้งแล้วสงสัยว่าร้านที่กำลังจะไปซื้อสินค้าหรือบริการ เข้าร่วมโครงการไหม ก็สามารถตรวจสอบได้จากรายชื่อผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษี/ใบรับ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และ e-Tax Invoice by Email โดยสามารถค้นหาประเภทกิจการ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และชื่อสถานประกอบการหรือชื่อผู้ประกอบการได้จากเว็บไซต์ E-TAX

โครงการ Easy E-Receipt 2567 ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร

การคำนวณภาษีลดหย่อนนั้นขึ้นอยู่กับฐานการเสียภาษีและรายได้ของแต่ละบุคคล ซึ่งหลายคนก็อาจสงสัยว่า หากตนเองใช้จ่ายตามสิทธิครบ 50,000 บาทแล้ว จะได้ประหยัดภาษีไปได้เท่าไร เราลองสรุปยอดการใช้จ่ายของแต่ละฐานรายได้ต่อปีมาให้แบบคร่าวๆ แล้ว ซึ่งหากกรณีที่ใช้จ่ายไม่ถึง 50,000 บาท ก็จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนด้สูงสุดตามยอดที่ได้ใช้จ่ายจริงเท่านั้น ดังนี้  


เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท/ปี

หากมีรายได้รวมต่อปีไม่เกินจำนวนนี้ ถือว่าไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นไม่ว่าจะใช้จ่ายเท่าไร ก็ถือว่าไม่ได้ช่วยในการประหยัดภาษี

เงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท/ปี

- อัตราการเสียภาษี 5%

- ใช้จ่าย 50,000 บาท ประหยัดภาษี 2,500 บาท

- ใช้จ่าย 10,000 บาท ประหยัดภาษี 500 บาท

เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท/ปี

- อัตราการเสียภาษี 10%

- ใช้จ่าย 50,000 บาท ประหยัดภาษี 5,000 บาท

- ใช้จ่าย 10,000 บาท ประหยัดภาษี 1,000 บาท

เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท/ปี

- อัตราการเสียภาษี 20%

- ใช้จ่าย 50,000 บาท ประหยัดภาษี 10,000 บาท

- ใช้จ่าย 10,000 บาท ประหยัดภาษี 2,000 บาท

เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท/ปี

- อัตราการเสียภาษี 25%

- ใช้จ่าย 50,000 บาท ประหยัดภาษี 12,500 บาท

- ใช้จ่าย 10,000 บาท ประหยัดภาษี 2,500 บาท

เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท/ปี

- อัตราการเสียภาษี 30%

- ใช้จ่าย 50,000 บาท ประหยัดภาษี 15,000 บาท

- ใช้จ่าย 10,000 บาท ประหยัดภาษี 3,000 บาท

เงินได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป

- อัตราการเสียภาษี 35%

- ใช้จ่าย 50,000 บาท ประหยัดภาษี 17,500 บาท

- ใช้จ่าย 10,000 บาท ประหยัดภาษี 3,500 บาท

สรุปเรื่องราวโครงการ Easy E-Receipt 2567

Easy E-Receipt ถือเป็นโครงการดีๆ จากรัฐบาลที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยให้ผู้มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 50,000 บาท เพียงแค่ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือผู้ประกอบการทั่วไป และใช้หลักฐานในการยื่นลดหย่อนเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ที่ออกผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ใครที่แพลนจะช้อปรับต้นปีอยู่แล้ว บอกเลยว่าต้องรีบจัดด่วน โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีบ่อยๆ

More from this category: Job & salary trends

Top search terms

Want to know what people are searching for on Jobsdb? Explore our top search terms to stay across industry trends.

Explore related topics

Choose an area of interest to browse related careers.

Subscribe to Career Advice

Get expert career advice delivered to your inbox.
You can cancel emails at any time. By clicking ‘subscribe’ you agree to Jobsdb’s Privacy Statement.