
ความเป็นมาโครงการ
ยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกแนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว ในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยต่อเนื่องจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย มีทารกเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แม่หยุดให้นมแม่ คือการต้องกลับไปทำงาน โดยที่สถานที่ทำงานส่วนใหญ่ยังขาดนโยบาย สภาพแวดล้อม (เช่น มุมนมแม่) และการสนับสนุนจากนายจ้างและเพื่อนร่วมงานที่เอื้อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้
ปัจจุบัน การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงานถือเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับบริษัท องค์กรใหญ่ทั่วโลกจำนวนมากขึ้นมีโครงการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อพนักงานหญิงตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บริษัทมักต่อยอดโดยมีนโยบายให้สถานที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัว (Family-friendly workplace) มากขึ้น เพื่อมาดึงดูดผู้สมัครงานที่มีความสามารถ
ประโยชน์ต่อองค์กร
- อัตราการลางานของพนักงานหญิงน้อยลง เนื่องจากไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยจากการปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกหลังเลิกงาน หรือตอนกลางคืน เนื่องจากมีห้องนมแม่จัดไว้ให้ที่บริษัท
- อัตราการลาออกของพนักงานหญิงลดลง เนื่องจากพนักงานเห็นถึงสวัสดิการที่บริษัทมีให้จากการจัดตั้งห้องนมแม่ให้ จึงเกิดความรู้สึกดี และรักองค์กร จึงต้องการทำงานกับองค์กรต่อไปนานๆ
- องค์กรสามารถรักษาบุคคลากรที่มีประสบการณ์และคุณภาพไว้เนื่องจากพนักงานลาออกน้อยลง ทำให้ไม่ต้องลงทุนในการฝึกอบรมพนักงานใหม่
- องค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลบุตรพนักงาน (เพราะลูกแข็งแรงจากนมแม่) ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณขององค์กรในระยะยาว
ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ
- ประเทศลดงบประมาณด้านสุขภาพ เนื่องจากเด็กมีสุขภาพที่ดีจากการได้รับสารอาหารที่ดีจากนมแม่ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ
- เด็กที่ได้กินนมแม่จะมีสติปัญญา สุขภาพกายและใจที่ดี ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป
วิธีการจัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน
คู่มือการจัดทำมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ (มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, 2561) ได้อธิบายถึงขั้นตอนการจัดพื้นที่ที่เหมาะสมในที่ทำงานสำหรับให้พนักงานได้ปั๊มนมและเก็บน้ำนมไว้อย่างละเอียด โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 7 ข้อ ดังนี้
- จัดทำนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรทำนโยบายให้เป็นลายลักษณ์อักษร และประกาศให้พนักงานทุกระดับได้รับทราบ
- จัดสถานที่และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการปั๊ม/เก็บน้ำนม ควรเป็นพื้นที่ส่วนตัว มิดชิด สะอาด อากาศถ่ายเท และอยู่ในบริเวณที่พนักงานใช้ได้สะดวก
ตัวอย่างพื้นที่มุมนมแม่

พื้นที่ขนาดเล็ก
- เก้าอี้นั่ง โต๊ะวางอุปกรณ์
- ปลั๊กไฟ

พื้นที่ขนาดกลาง
- เก้าอี้นั่ง โต๊ะวางอุปกรณ์
- ปลั๊กไฟ
- ตู้เย็นสำหรับเก็บน้ำนม
- ตู้เก็บของ
- ถังขยะ

พื้นที่ขนาดใหญ่
- เก้าอี้นั่ง โต๊ะวางอุปกรณ์
- ปลั๊กไฟ
- อ่างล้างมือ
- ตู้เย็นสำหรับเก็บน้ำนม
- ตู้เก็บของ
- ถังขยะ
- บอร์ดสำหรับให้ข้อมูลความรู้
- หนังสือ และสื่อความรู้ต่างๆ
- รูปภาพลูกๆ ของพนักงานที่ได้มาใช้มุมนมแม่
** อาจเพิ่มเติมสิ่งต่างๆ ตามความเหมาะสมของสถานที่และจำนวนของพนักงานที่มาใช้
- ให้เวลาแก่พนักงานเพื่อปั๊ม/เก็บน้ำนม ควรให้เวลาแก่คุณแม่ในการปั๊มนมประมาณวันละ 2-3 ครั้ง หรือทุกๆ 3 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัวระหว่างการทำงาน และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างสมดุล
- ส่งเสริมให้พนักงานให้มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล หรือพนักงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หากทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะทำให้พนักงานสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ ทำให้มุมนมแม่ของบริษัทเป็นพื้นที่ที่ได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า
- มีการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทุกคนในองค์กรสามารถมีส่วนช่วยให้มุมนมแม่ประสบความสำเร็จได้ เช่น
- เจ้าของกิจการ/ผู้จัดการ กำหนดนโยบายสนับสนุนนมแม่ที่ชัดเจน และจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ผลักดันให้เกิดนโยบาย และสร้างความเข้าใจอันดีในกลุ่มพนักงาน จัดการอบรมเรื่องนมแม่ให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์ และติดตามการใช้มุมนมแม่อย่างสม่ำเสมอ
- เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ช่วยประชาสัมพันธ์มุมนมแม่ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมนมแม่ขององค์กร
- หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน เข้าใจและให้กำลังใจ เพื่อนร่วมงานที่เป็นแม่
- พนักงานที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำความเข้าใจกับหัวหน้างานเรื่องเวลาพักเพื่อบีบ/เก็บน้ำนม และปฏิบัติตามกฎระเบียบ ขององค์กรอย่างเคร่งครัด
- เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถึงนโยบายสนับสนุนนมแม่ขององค์กรให้ทุกคนได้เข้าใจ อธิบายถึงความสำคัญของเรื่องนี้ต่อองค์กร และประโยชน์ที่ทั้งพนักงานและองค์กรจะได้จากมุมนมแม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการสนับสนุนจากพนักงาน ช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร
- การส่งเสริมการใช้สิทธิการลาคลอดตามกฎหมายแรงงาน ส่งเสริมให้พนักงานใช้สิทธิลาคลอดอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีเวลาดูแลลูกและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเต็มที่
ที่มา: มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
ตัวอย่างความสำเร็จกับ 3 องค์กรใหญ่ที่สนับสนุน “มุมนมแม่”

ดร.สาโรจน์ วสุวานิช
รองประธานกรรมการบริหาร
บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน)
“พนักงานทุกคนเป็นเหมือนฟันเฟืองในการขับเคลื่อนองค์กร พนักงานแม่ลูกอ่อนก็เช่นกัน พวกเขาคือคนสำคัญในโรงงานของเรา”
อ่านต่อได้ที่ : http://bit.ly/2Mpcfah

คุณอุทัย อุทัยแสงสุข
ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
“ห้องนมแม่ช่วยให้พนักงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานขึ้น พวกเขาจึงมีความสุขมากขึ้น เพราะความใส่ใจตรงนี้ พนักงานก็อยากทำงานกับเราไปนานๆ”
อ่านต่อได้ที่ : http://bit.ly/2Mrnuzi

คุณนันท์นภัส เสรีฐิติวรโชติ
ผู้จัดการแผนกบริหารทรัพยากรบุคคล
บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)
จำกัด (มหาชน)
“ถ้าองค์กรมีความตั้งใจก็ลงมือทำเลย โครงการแบบนี้ก็เหมือนเป็นการให้คุณค่าแก่ชีวิต เพื่อประเทศของเราในอนาคต”
อ่านต่อได้ที่ : http://bit.ly/2MqS8ZD
×