ข้ามไปที่เนื้อหา
Hiring Advice วิธีดึงดูดผู้สมัคร ทำไมผู้สมัครงานถึงปฏิเสธงานที่บริษัทคุณเสนอให้
ทำไมผู้สมัครงานถึงปฏิเสธงานที่บริษัทคุณเสนอให้

ทำไมผู้สมัครงานถึงปฏิเสธงานที่บริษัทคุณเสนอให้

หลังจากดูเรซูเม่เป็นร้อยใบ และสัมภาษณ์ผู้สมัครงานไปหลายสิบคน ในที่สุดก็เจอเข้ากับผู้สมัครงานที่ใช่ คุณได้แจ้งข่าวดีนี้กับผู้สมัครงานผู้โชคดีคนนั้น แต่..ผู้สมัครงานกลับปฏิเสธงานที่บริษัทคุณเสนอไป เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ HR ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะต้องเสียทั้งเวลา พลังงาน และทรัพยากร แถมยังต้องมาเริ่มต้นวนลูป นับ 1 ใหม่อีกครั้ง

ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นภายหลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปี 2009 ผู้หางานในปัจจุบันมีตัวเลือกมากขึ้น มีงานหลากหลายประเภทที่เสนอค่าตอบแทนและตำแหน่งที่ดึงดูดใจผู้หางานมากขึ้น ผู้หางานในยุคนี้จึงถือไพ่เหนือกว่าองค์กรต่าง ๆ ที่กำลังต้องการตัวผู้สมัครงานที่มีความสามารถให้เข้ามาทำงานกับตน จึงเป็นหน้าที่ที่ HR จะต้องเข้าใจว่าตลาดงานในปัจจุบันเป็นของผู้สมัครงาน และผู้สมัครงานทุกวันนี้ช่างเลือก และช่างเรียกร้องมากกว่าสมัยก่อน หากคุณเป็น HR  ที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้ คุณจะทำอย่างไรเพื่อลดโอกาสการถูกผู้สมัครงานปฏิเสธ?

เรามาหาสาเหตุกันดีกว่าค่ะ ว่าทำไมผู้สมัครงานถึงปฏิเสธงานที่บริษัทคุณเสนอให้ และจะทำยังไงหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

  1. ข้อเสนอของบริษัทคุณยังดีไม่พอ ⁠ ⁠คุณเคยได้ยินประโยคนี้หรือเปล่า "คุณจะได้ในสิ่งที่คุณจ่ายไป" ผู้สมัครงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง ค่าตัวย่อมสูงตามไปด้วย หากคุณเสนอเงินเดือนที่ต่ำเกินไป ก็อาจทำให้ผู้สมัครงานที่คุณต้องการ ปฏิเสธงานที่บริษัทคุณเสนอให้ได้ง่ายขึ้น ท้ายที่สุดบริษัทคุณอาจจะได้ผู้สมัครงานระดับกลาง ๆ ที่คุณสมบัติไม่ถึงตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้มาแทน ⁠ ⁠ถ้าต้องการจ้างผู้สมัครงานที่มีคุณภาพ ก็ต้องยื่นข้อเสนอที่สมน้ำสมเนื้อ คุณควรหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบว่าบริษัทคู่แข่งมีระบบการให้เงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการกับพนักงานอย่างไร อย่าลืมนะคะ ผู้สมัครงานก็สามารถหาข้อมูลเหล่านี้จากอินเตอร์เนตได้เช่นกัน ว่าเรทเงินเดือนที่บริษัทคุณเสนอให้ต่ำเกินไปหรือเปล่า ⁠

  2. ผู้สมัครงานคิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรคุณ ⁠ ⁠ในการสัมภาษณ์งานนั้น ไม่เพียงแต่องค์กรจะเป็นฝ่ายประเมินผู้สมัครงานว่าเหมาะสมกับองค์กรหรือไม่ ฝ่ายผู้สมัครงานก็ประเมินว่าองค์กรนั้น ๆ เหมาะกับตนหรือไม่เช่นกัน ⁠ ⁠เพราะฉะนั้น คุณควรให้ความสำคัญกับคำถามที่ผู้สมัครงานถามระหว่างการสัมภาษณ์งาน โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวกับลักษณะงานและวัฒนธรรมขององค์กร เมื่อผู้สมัครงานพูดคุยทำความรู้จักกับลักษณะงานและองค์กรได้มากขึ้นแล้ว หากเขาตัดสินใจปฏิเสธการร่วมงานกับบริษัทคุณเพราะเขาคิดว่างานนี้หรือที่นี่ไม่เหมาะกับเขา นั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่รู้แต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่เสียเวลากันทั้ง 2 ฝ่าย แต่หากบริษัทคุณถูกผู้สมัครงานปฏิเสธ โดยมีสาเหตุมาจากเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรอยู่บ่อย ๆ นั่นเป็นสัญญานว่า คุณต้องปรับปรุงแก้ไขให้องค์กรของคุณดีขึ้นและน่าร่วมงานด้วย ⁠

  3. บริษัทคุณใช้เวลาในการพิจารณาผู้สมัครงานนานเกินไป ⁠ ⁠ไม่ใช่แค่บริษัทคุณเท่านั้นที่ผู้สมัครงานที่มีคุณภาพได้เข้าไปสัมภาษณ์งานมา และบริษัทไหน ๆ ต่างก็ต้องการผู้สมัครงานที่มีคุณภาพและเสนองานให้ ถ้าบริษัทคุณพิจารณาผู้สมัครงานไม่เร็วพอ บริษัทคุณต้องสูญเสียผู้สมัครงานคุณภาพไปอย่างน่าเสียดาย ⁠ ⁠ถ้าเจอผู้สมัครงานคุณภาพที่เข้าตาแล้ว แจ้งเขาไปเลยว่าบริษัทคุณตัดสินใจจะจ้างเขาเข้าทำงาน และ/หรือตอนนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนการพิจารณาจากผู้บริหารระดับสูง และในระหว่างนั้นหมั่นคอยแจ้งความคืบหน้าให้ผู้สมัครงานได้รับทราบ เพื่อบอกให้รู้ว่าบริษัทคุณยังคงสนใจอยากให้เขามาร่วมงานด้วย ⁠

  4. ผู้สมัครงานมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับกระบวนการสรรหาบุคลากร ⁠ ⁠อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่า ไม่ใช่แค่องค์กรคุณที่จะประเมินผู้สมัครงาน แต่ผู้สมัครงานก็ประเมินองค์กรคุณเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่าลืมให้ความสำคัญกับกระบวนการสรรหาบุคลากรของบริษัทคุณด้วย เพราะมันคือความประทับใจแรกที่พวกเขาจะได้รับจากบริษัทคุณ ⁠ ⁠ถ้ากระบวนการจ้างงานไม่มีประสิทธิภาพ การจัดการไม่เป็นระบบระเบียบ ผู้สมัครงานก็จะไม่ประทับใจ และไม่ต้องการร่วมงานกับบริษัทคุณ ให้คุณลองสำรวจกระบวนการสรรหาบุคลากรของบริษัทว่าเป็นอย่างไร มีข้อเสียตรงไหน และปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ผู้สมัครงานประทับใจและมีประสบการที่ดีกับบริษัทคุณ ⁠

  5. เสียงวิพากษ์วิจารณ์บริษัทในแง่ลบ ⁠ ⁠ก่อนจะซื้อของผู้บริโภคต้องหาข้อมูล อ่านรีวิวเกี่ยวกับของที่จะซื้อว่าดีหรือไม่ดียังไง เช่นเดียวกัน ก่อนจะสมัครงานที่ไหน ผู้สมัครงานก็จะหาข้อมูล อ่านรีวิวเกี่ยวกับบริษัทนั้น ๆ ว่าเป็นยังไง เป็นบริษัทที่น่าร่วมงานหรือไม่ ⁠ ⁠ถึงคุณจะไม่สามารถห้ามพนักงานเก่า ๆ ที่ออกไปแล้ว ไม่ให้โพสท์หรือวิพากษ์วิจารณ์บริษัทในแง่ลบได้ แต่คุณจัดการกับข่าวลบ ๆ พวกนั้นได้ โดยการทำให้รู้ว่า ทางบริษัทได้รับทราบถึงปัญหาต่าง ๆ และจะพยายามปรับปรุงแก้ไขปัญหาพวกนั้น  คุณยังสามารถทำแบบสอบถามพนักงานในบริษัทว่า อะไรบ้างที่ทำให้พนักงานปัจจุบันมีความสุขในการทำงาน และยังคงทำงานที่บริษัทคุณ จากนั้นให้เอาผลในแง่บวกที่ได้มาคิดหาวิธีประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท

แม้ว่า 5 ข้อข้างต้นจะเป็นเหตุผลทั่วไปที่ผู้สมัครงานใช้ในการปฏิเสธงานที่บริษัทคุณเสนอให้ แต่หลาย ๆ ครั้งผู้สมัครงานก็ปฏิเสธงานด้วยเหตุผลส่วนตัวอื่น ๆ ไม่ว่าเหตุผลของพวกเขาจะคืออะไร การถูกผู้สมัครงานปฏิเสธก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะแก้ไขไม่ได้ สิ่งสำคัญที่คุณต้องทำคือ ต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างมืออาชีพ สร้างความประทับใจให้กับผู้สมัครงานให้ได้ ไม่แน่ คุณอาจเจอชื่อผู้สมัครงานคุณภาพที่คุณเคยเล็งเอาไว้อีกครั้ง ในการรับสมัครงานครั้งหน้าก็ได้

สมัครรับคำแนะนำเกี่ยวกับการจ้างงาน

คุณสามารถยกเลิกการติดตามข่าวสารผ่านช่องทางอีเมลได้ตลอดเวลา โปรดรู้ไว้ว่าเมื่อกด 'ติดตามข่าวสาร' คุณได้ยอมรับเงื่อนไข คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ SEEK