10 เรื่องสิทธิประกันสังคมชวนรู้ ฉบับอัปเดตประจำปี 2566

10 เรื่องสิทธิประกันสังคมชวนรู้ ฉบับอัปเดตประจำปี 2566
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

นอกจาก ภาษี ที่ผู้มีรายได้ตามเกณฑ์จะต้องถูกหักทุกเดือนแล้ว เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมก็เป็นอีกหนึ่งรายจ่ายที่ชาวออฟฟิศหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งรวม ๆ แล้วยอดในแต่ละปีที่จ่ายไปก็เป็นเงินไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อเป็นสิ่งที่ต้องจ่ายกันอยู่แล้ว มาดูกันว่าสิทธิประกันสังคมอัปเดตปี 2566 มีอะไรบ้าง

สิทธิประกันสังคม คืออะไร

สิทธิประกันสังคมเป็นหนึ่งในสวัสดิการของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลผู้มีรายได้ คล้ายกับการทำประกันกับทางภาครัฐ เพื่อให้คนทำงานที่จ่ายเงินสมทบหรือเรียกว่า ผู้ประกันตน ได้รับความคุ้มครองในกรณีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเจ็บป่วย ออกจากงานทั้งออกเองและถูกให้ออก คลอดบุตร ประสบอุบัติเหตุ ชราภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร

ผู้ประกันตนคือใคร

ผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างอายุ 15-60 ปี หรือผู้ที่เกิน 60 ปีแต่นายจ้างยังคงจ้างต่อ และเป็นผู้ที่ทำงานประจำหรือไม่ได้ทำงานประจำก็ได้ เช่น ฟรีแลนซ์ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฯลฯ ด้วยช่วงอายุที่กว้าง ความแตกต่างและความต้องการที่หลากหลายของผู้ประกันตน ประกันสังคมจึงมีแผนรองรับหลายแบบ ทั้งคนทำงานที่อยู่ในระบบและไม่อยู่ในระบบ ดังนี้

ประเภทของผู้ประกันตน

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 - ลูกจ้าง / พนักงานเอกชนอายุ 15-60 ปี ทำงานในหน่วยงานที่มีมากกว่า 1 คนขึ้นไป จ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมสูงสุดไม่เกินเดือนละ 750 บาท
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 - เคยเป็นพนักงานเอกชนที่เคยจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน แล้วต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม ทั้งนี้ต้องออกจากงานเดิมมาไม่เกิน 6 เดือน ถึงจะรักษาสิทธิได้ (จ่ายเดือนละ 432 บาท)
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 - ใครที่ไม่เข้าข่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 แต่อยากได้รับสิทธิประกันสังคมยังมีมาตรานี้รองรับ โดยแบ่งออกเป็นแผน 1, 2 และ 3  จ่ายเดือนละ 70, 100, 300 บาทตามลำดับ ต่างกันไปตามความคุ้มครอง

สิทธิประโยชน์ประกันสังคมน่ารู้

ผู้ประกันตนแต่ละมาตราได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมแตกต่างกันไป มาดูกันว่าสิทธิของแต่ละมาตราคุ้มครองในด้านไหนบ้าง

1. สิทธิประกันสังคมมาตรา 33 : คุ้มครองการว่างงาน

สิทธิประกันสังคมมาตราเดียวที่คุ้มครองเรื่องนี้ เมื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 ตกงานทั้งเกิดจากการถูกเลิกจ้างหรือลาออกเอง จะได้รับเงินชดเชย

  • กรณีเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
  • กรณีลาออกเองได้ร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

ทั้งนี้ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน

2. สิทธิประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 : สมทบค่าคลอดบุตร

จะได้รับเงินสมทบค่าทำคลอดบุตรให้ครั้งละ 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง รวมทั้งได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ในช่วงระหว่างลาคลอด (ไม่เกิน 2 ครั้ง/ปี) ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนวันคลอดบุตร

3. สิทธิประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 : สมทบค่าทันตกรรม

สิทธิประโยชน์ประกันสังคมด้านทันตกรรมคือ การรักษาโรคฟัน การขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน หรือผ่าฟันคุด กรณีเหล่านี้ผู้ประกันตนตามมาตร 33 และ 39 จะสามารถใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 900 บาท/ปี ส่วนการใส่ฟันเทียมหรือฟันปลอมสูงสุดไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนวันรักษา

4. สิทธิประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 : ตรวจสุขภาพฟรี

รับสิทธิ์ตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการต่อปี ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองการได้ยิน ตรวจเต้านม ตรวจดวงตา ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบ ตรวจไขมันและน้ำตาลในเลือด ฯลฯ รวมถึงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีฟรี เฉพาะผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยทั้งหมดนี้ต้องรับการบริการจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ

5. สิทธิประกันสังคมมาตรา 33, 39 และ 40 (แผน 3) : สงเคราะห์บุตร

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสมทบสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท / บุตร 1 คน แต่ต้องไม่เกินครั้งละ 3 คน โดยจะหมดสิทธิ์รับเงินนี้เมื่อบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนได้รับเงินทดแทน

6. สิทธิประกันสังคม 33, 39 และ 40 (แผน 2 และ 3) : ชราภาพ

เมื่อผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เลือกรับเงินสมทบชราภาพได้ 2 รูปแบบ

    • บำนาญชราภาพ จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต กรณีจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมครบ 180 เดือน / 15 ปี ได้ร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หากผู้ประกันตนจ่ายสมทบมากกว่า 180 เดือน / 15 ปี จะได้ค่าสมทบรายเดือนเพิ่ม 1.5% จากอัตรา 20% ในทุก 12 เดือน
    • บำเหน็จชราภาพ รับเงินก้อนครั้งเดียว กรณีจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน เงินบำเหน็จจะจ่ายตามจริงตรงกับจำนวนเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเท่านั้น ส่วนผู้ที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป บำเหน็จจะได้ทั้งในส่วนเงินของตัวเองและที่นายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลตอบแทนอื่น ๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

7. สิทธิประกันสังคมทุกมาตรา : ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย

รักษาในสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ฟรี ทั้งเจ็บป่วยปกติและฉุกเฉิน โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย หากเป็นโรงพยาบาลเอกชน กรณีฉุกเฉินไม่ต้องสำรองจ่ายภายใน 72 ชั่วโมง รวมทั้งเบิกค่ารักษาได้ตามที่จ่ายจริง แต่จำกัดวงเงินต่างกันไปตามการรักษา นอกจากนี้หากแพทย์ให้หยุดงานเพื่อรักษาตัว ยังได้รับเงินชดเชย จากการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน

ที่สำคัญประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิ์การเข้าถึงสิทธิการรักษา 5 โรค โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการ เฉพาะโรงพยาบาลที่กำหนดเท่านั้น

  1. โรคมะเร็งเต้านม
  2. ก้อนเนื้อที่มดลูก
  3. โรคนิ่วในไต หรือถุงน้ำดี
  4. โรคหลอดเลือดสมอง
  5. โรคหัวใจและหลอดเลือด

8. สิทธิประกันสังคมทุกมาตรา :  ทุพพลภาพ

กรณีทุพพลภาพร้ายแรงจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต รวมทั้งได้รับสิทธิ์จ่ายตามจริงเมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ หากรักษาที่เอกชน กองทุนจะจ่ายให้เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท สำหรับผู้ป่วยนอก ส่วนผู้ป่วยในได้เดือนละไม่เกิน 4,000 บาท ทั้งนี้เมื่อชราภาพแล้วผู้ทุพพลภาพยังคงได้รับสิทธิ์บำเหน็จเหมือนคนทั่วไป

9. สิทธิประกันสังคมทุกมาตรา : เสียชีวิต

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39: หากเสียชีวิตผู้ประกันตนจะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท บวกกับเงินสมทบ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36 - 120 เดือน ส่วนผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วมากกว่า 120 เดือน จะได้รับเงินสมทบ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40: แผน 1 และ 2 จะได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท พร้อมรับเงินเพิ่มอีก 8,000 บาท กรณีจ่ายสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต สำหรับแผน 3 จะได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท

10. สิทธิประกันสังคมทุกมาตราใช้ลดหย่อนภาษีได้

เงินที่จ่ายสบทบเข้ากองทุนประกันสังคม สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีประจำปีได้ตามการจ่ายจริง เช่น หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 750 บาทครบ 12 เดือน จะขอลดหย่อนภาษีได้ 9,000 บาท

สำหรับผู้ประกันที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สามารถศึกษาสิทธิประกันสังคมเพื่อจะได้ใช้สิทธิ์ของตัวเองในกรณีต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะสงเคราะห์บุตร ด้านสุขภาพ หรือเงินชดเชยว่างงาน สำหรับใครที่ยังว่างงานอยู่ก็สามารถสมัครงานได้ผ่านทาง JobsDB มีงานดี ๆ จากบริษัทชั้นนำมากมายทุกสายอาชีพ

More from this category: การเป็นผู้นำ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด