วางแผนเกษียณกันตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ไม่ถือว่าเร็วไปอย่างแน่นอน

วางแผนเกษียณกันตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ไม่ถือว่าเร็วไปอย่างแน่นอน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

คนทำงานทั้งหลาย โปรดจำไว้ว่า “การทำงาน” กับ “ การวางแผนการเงิน ” เป็นหน้าที่ที่คนทำงานทุกคนต้องทำให้ดีที่สุดทั้งสองด้าน เพราะโดยปกติแล้วเมื่อเราเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน “การทำงานหาเงิน” กับ “การใช้เงินที่หามา” เป็นสิ่งที่เราทำกันอยู่เป็นกิจวัตร จนอาจละเลยการวางแผนการเงินตั้งแต่วันแรกของการทำงานไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งมีสิ่งล่อใจ ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ อุปกรณ์ไอที ร้านอาหารดี ๆ สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ไปจนถึงของชิ้นใหญ่อย่างรถยนต์ บ้านที่อยู่อาศัย ประกอบกับความชะล่าใจว่าเรายังหนุ่มสาว สุขภาพแข็งแรง มีพละกำลังในการทำงาน เหลือระยะเวลาในการทำงานอีกยาวนาน ก็ยิ่งทำให้การวางแผนเกษียณดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวที่ยังไม่ต้องคิดถึงให้หนักสมองแต่อย่างใด

คนทำงานยุคใหม่ต้องปฏิวัติตัวเองเสียใหม่ ด้วยการวางแผนการเงิน และวางแผนเกษียณกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ Right here Right now ตั้งแต่อยู่ในวัยที่ยังเป็นหนุ่มสาวกันนี่แหละ จะได้ใช้ชีวิตบนเส้นทางแห่งความไม่ประมาท มีแผนสำรองที่รอบคอบ และรับประกันความเสี่ยงทุกอย่างที่กำลังจะเข้ามาในชีวิตนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

คนทำงานควรวางแผนเกษียณเมื่อใด

หากเราเป็นน้องใหม่ในโลกของการทำงาน เพิ่งทำงานได้ไม่ถึงปี คำถามนี้อาจไม่ได้อยู่ในความคิดของเราเลยแม้แต่น้อย จริง ๆ แล้ว การวางเป้าหมายชีวิตวัยเกษียณอย่างคร่าว ๆ ควรเริ่มต้นคิดได้ตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ ๆ เพื่อให้ตัวเรามีเป้าหมายในการวางแผนชีวิต แล้วดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเป้าหมายการเกษียณของแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากัน บางคนตั้งไว้ที่อายุ 45 ปี 50 ปี 55 ปี หรือ 60 ปี ให้ตั้งตัวเลขในใจขึ้นมา เพื่อจะได้รู้ว่าเราจะมีเวลาเตรียมตัว เตรียมการอีกนานเท่าไหร่ และต้องเตรียมเงินไว้ใช้ยามเกษียณมากน้อยเพียงไหน

How toคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

การคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นเป้าหมายสูงสุดที่เราต้องตั้งไว้ เพื่อจะได้ทำทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นให้ได้ต่อไป ก่อนอื่นต้องรู้ใจตัวเองก่อนว่า อยากจะใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไหน เน้นสายเที่ยว สายพักผ่อน สายชิล ๆ เข้าวัดเข้าวา กลับสู่ความเรียบง่าย หรือสายเน้นธรรมชาติ เพราะจะทำให้รู้ว่าเราจะต้องใช้เงินต่อเดือนเท่าไหร่ โดยคำนวณจาก 2 สิ่งหลัก ๆ ดังนี้

  1. ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ให้พิจารณาจากค่าใช้จ่ายต่อเดือนในปัจจุบันของเรา ให้คิดเป็น 70% ของรายได้ปัจจุบัน พร้อมทั้งคำนึงถึงไลฟ์สไตล์หลังเกษียณว่าต้องการใช้ชีวิตแบบไหน และต้องไม่ลืมคิดถึงภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่อาจเพิ่มขึ้นตามวันเวลาอีกด้วย
  2. จำนวนปีที่คิดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ ปกติเราจะคิดค่าเฉลี่ยอายุขัยที่ 80 ปี แต่เนื่องด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าในยุคปัจจุบัน อาจทำให้เรามีอายุยืนขึ้นอีก ดังนั้นให้ตั้งอายุไว้ที่ 90 ปี

ตัวอย่างการคำนวณ : หากเราประมาณการไว้ว่าจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และจะมีอายุขัยถึง 90 ปี แปลว่า เราต้องอยู่ใช้ชีวิตหลังเกษียณเป็นเวลาถึง 30 ปี ตั้งค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณไว้คร่าว ๆ ที่ 30,000 บาท/เดือน คิดเป็น 360,000 บาท/ปี นำจำนวนเงินค่าใช้จ่ายต่อปีมาคูณกับระยะเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณ และแล้วก็ได้เลขที่ออกดังนี้

360,000 x 30 = 10,800,000 บาท

วางแผนการเงิน เพื่อชีวิตเกษียณที่ดีและมีคุณภาพ

จะเห็นได้ว่าหลังจากคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณแล้ว เงินที่ต้องเตรียมไว้นั้นเป็นเงินก้อนใหญ่มาก อย่ารอช้ามาดูกันว่าเราจะเก็บเงินเก็บทองทั้งชีวิตอย่างไรให้ได้เงินก้อนใหญ่ขนาดนี้มาครอบครองเป็นของเราได้ jobsDB มีข้อมูลดี ๆ ที่จะเป็นตัวช่วยสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

- จัดการหนี้สิน เป็นสิ่งแรกที่เราต้องลงมือ ทำอย่างไรให้หนี้สินต่าง ๆ หมดสิ้นไป ทั้งหนี้สิ้นชนิดไม่จำเป็นและหนี้สินจำเป็นของชีวิต เพราะหากเกษียณไปแล้วยังเป็นหนี้อยู่ต่อไปคงไม่ดีแน่ อย่าลืมว่าหลังเกษียณแล้วเราจะไม่มีรายได้อีกแล้ว การจ่ายหนี้จึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้สำหรับวัยเกษียณอย่างแน่นอน

- จัดหาที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญของชีวิตที่ทุกคนควรเตรียมไว้ก่อนเกษียณ เพราะที่อยู่อาศัยนับเป็นหนี้สินก้อนใหญ่ที่ควรวางแผนการผ่อนชำระให้ดี ทำอย่างไรให้ปลอดหนี้ก่อนเราเกษียณ การมีที่อยู่อาศัยในบั้นปลายในชีวิตนั้นเป็นทั้งความมั่นคงและความอุ่นใจให้สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมั่นใจ ไร้กังวัล

- จัดหาแผนประกันสุขภาพดี ๆ ยิ่งทำตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งสบาย ๆ ไม่มีปัญหาจุกจิกกวนใจ หาประกันสุขภาพที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา ครอบคลุมความเสี่ยงทุกโรคร้าย ศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขให้ถี่ถ้วน เพื่อให้เรามีแหล่งเงินในการรักษาสุขภาพยามเกษียณ ไม่ต้องเครียดทุกครั้งที่เจ็บป่วยอีกต่อไป

- จัดการแผนการออมในปัจจุบัน ประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณกันไปแล้ว ก็ต้องมาดูรายได้หลังเกษียณประกอบกันไปด้วย ว่ารายรับของเราจะมาจากทางไหนได้อีก เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ เงินกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รายได้จากการลงทุน การประกันชีวิต ฯลฯ จะได้รู้ว่าเราต้องเก็บเงินเพิ่มอีกเท่าไร และสามารถวางแผนการออมตลอดจนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม เริ่มต้นง่าย ๆ จากการเก็บเงินจากน้ำพักน้ำแรงในปัจจุบัน ให้แบ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ใช้เก็บเพื่อเกษียณอายุ รวมถึงแบ่งเงินอีกจำนวนหนึ่งไว้ใช้ลงทุนหรือเข้ากองทุนเพื่อการออมต่าง ๆ เมื่อได้เงินเก็บสักก้อนหนึ่งก็นำเงินนั้นไปลงทุนในด้านอื่น ๆ อีกต่อไป เพื่อให้มีผลกำไรจากการลงทุนเป็นรายได้อีกทาง พึงระลึกไว้ว่าเงินที่ใช้จ่ายหลังเกษียณนั้นควรเป็นดอกผลของเงินลงทุนมากกว่าการใช้เงินออมให้หมดไปเรื่อย ๆ รับรองว่าอุ่นใจกว่าอย่างแน่นอน

เห็นกันแล้วใช่ไหมว่า หากเราอยากมีชีวิตหลังเกษียณอายุการทำงานที่ดีและมีคุณภาพ ต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 10 ล้านบาทขึ้นไป เรียกได้ว่าเป็นเงินเก็บทั้งชีวิตที่จะต้องใช้เวลาเก็บออมและลงทุนให้งอกเงยนานมาก จึงกลับมาตอบโจทย์ที่ว่าคนทำงานวัยหนุ่มสาวต้องวางแผนเก็บเงินยามเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยให้ภาระในการเก็บเงินน้อยลง และเก็บเงินได้แบบสบาย ๆ มากขึ้น จำไว้ว่าหากในช่วงบั้นปลาย เราได้ใช้ชีวิตตามที่เราต้องการ โดยมีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่ต้องพึ่งพาใคร ก็คงจะเป็นชีวิตที่ใคร ๆ ต่างก็พึงปรารถนาอย่างแน่นอน

แหล่งข้อมูล : moneyhub.in.th

moneyguru.co.th

maoinvestor.com

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เงินเดือนไม่พอใช้ หารายได้เสริมอะไรทำดี

ทำงานที่เดิมเกิน 7 ปี ดีจริงหรือ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด