มารยาทบนโต๊ะอาหารไทย

มารยาทบนโต๊ะอาหารไทย
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ปกติแล้วเราจะเคยได้ยินแต่การเปิดสอนมารยาทบนโต๊ะอาหารแบบตะวันตกกัน เพื่อที่จะได้ไม่เขินหรือทำผิดๆ ถูกๆ แต่ก็ไม่ได้สอนมารยาทไทยบนโต๊ะอาหารเหมือนกับฝรั่งบ้าง ซึ่งคนไทยก็มีวิธีการกินโดยใช้ช้อน และส้อมเช่นกัน

ช้อนและส้อมเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการกินของคนไทยแล้ว การจัดโต๊ะอาหารแบบไทยจึงมีช้อนกับส้อมจะวางคู่กันทางขวามือของจาน โดยส้อมจะอยู่ซ้าย และช้อนจะอยู่มือขวา หรือจะวางสลับกันเพื่อคนที่ถนัดซ้ายก็ได้ ซึ่งการใช้ช้อนส้อมของคนไทยนั้นมีธรรมเนียมแตกต่างจากพวกยุโรปและอเมริกาตรงที่คนไทยจะใช้ช้อนในการตักข้าวเข้าปาก แต่สำหรับคนยุโรปจะใช้ส้อมตักข้าวแทน ซึ่งตรงนี้ดูแล้วรู้สึกว่าจะไม่เหมาะเพราะข้าวของไทยเราร่วนไม่เกาะติดกันเป็นก้อนแบบข้าวจีนหรือญี่ปุ่นที่เหมาะกับการใช้ตะเกียบคีบหรือการพุ้ยใส่ปาก

การเสริฟอาหารแบบไทยจะมี 2 ลักษณะ คือ แบบแรกจะเป็นการจัดสำรับเฉพาะคน โดยต่างคนต่างมีชุดของตนเอง ไม่เกี่ยวกับใคร เพราะสมัยโบราณคนไทยมีครอบครัวใหญ่ มีคนเยอะ ลูกเยอะ ครัวเลยต้องใหญ่ตามไปด้วย แต่จะให้กินกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาคงจะยาก ในครัวเลยจัดสำรับส่งไปให้ตามที่พักของแต่ละคน เมื่อรับประทานเสร็จก็เก็บมา

ลักษณะที่สอง จะเป็นแบบนั่งล้อมวงกัน โดยมีกับข้าวอยู่กลางโต๊ะ คนรับประทานจะมีจานข้าวของใครของมัน แต่กับข้าวนั้นจะตักใส่จานจนครบแล้วลงมือกิน แต่คนไทยเป็นชาติที่กินข้าวทีละคำ โดยมีการจัดวางกับข้าวที่ต้องการจะกินลงบนข้าวแล้วใช้ช้อนตักข้าวและกับนั้นด้วยปริมาณที่พอเหมาะ โดยมี “ส้อม” เป็นตัวช่วยเขี่ย แต่งให้ข้าวและกับที่ต้องการอยู่ในช้อนพอคำก่อนจะส่งเข้าปาก

การจับช้อนส้อม ก็ไม่ต้องกำให้แน่นมาก การจับด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้เป็นหลัก โดยมีนิ้วที่เหลือเป็นตัวรองรับน้ำหนักช้อน โดยข้อศอกจะไม่ยกขึ้นมาวางบนโต๊ะซึ่งจะเหมือนกับมารยาทบนโต๊ะอาหารหลายๆ ชาติ

มารยาทบนโต๊ะอาหารไทย เมื่อต้องการตักอาหารมาใส่จานตนเองจะใช้ช้อนกลางตัก ไม่ใช้ช้อนของตนตัก หรือถ้ามีแกงจืดที่ต้องการซดน้ำ ก็จะใช้ถ้วยแบ่งเล็กๆ ถ้าไม่มีก็ให้ใช้ช้อนกลางตักมาใส่ช้อนตัวเอง และที่สำคัญเวลาซดน้ำแกงต้องไม่มีเสียงดัง การเคี้ยวก็จะปิดปาก ไม่เคี้ยวอาหารให้มีเสียงดังแจ๊บๆ หรือพูดคุยขณะอาหารอยู่ในปาก หรืออ้าปากโดยที่ผู้อื่นมองเห็นอาหารในปาก การคายก้างหรือเศษอาหารในปาก จะคายลงช้อนก่อน แล้วนำวางไว้ที่ขอบจาน หากมีเศษอาหารที่ไม่ต้องการรับประทานหลงเหลืออยู่ในจานเมื่อรับประทานเสร็จก็ใช้ช้อนส้อมกวาดมากองไว้รวมกัน

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็จบด้วยการรวบช้อนและส้อมเข้าหากัน โดยวางคู่กันในจานคล้ายเลขสิบเอ็ด ซึ่งจะหมายถึงเรารับประทานเสร็จแล้ว ถ้าหากไปงานเลี้ยงแล้วพนักงานเสริฟคอยตักข้าวเติมให้ตลอด ทั้งๆที่อิ่มแล้ว ก็มองดูในจานข้าวว่าช้อนส้อมว่างยังไง

ที่มา : http://gotoknow.org

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด