สิ่งที่ต้องตระหนักเมื่อองค์กร Downsize

สิ่งที่ต้องตระหนักเมื่อองค์กร Downsize
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ผลกระทบการลดขนาดองค์กร
ในยุคเศรษฐกิจขาลงอย่างนี้ หลาย ๆ บริษัทอาจต้องเริ่มหาทางลดต้นทุนเพื่อรักษาผลกำไรไว้ หนึ่งในทางเลือกที่หลาย ๆ คนอาจคิดถึงคือการ Downsize หรือการลดขนาดองค์กรให้เล็กลงซึ่งย่อมหมายถึงจะมีพนักงานจำนวนหนึ่งต้องได้รับผลกระทบโดยตรง สิ่งนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะการบริหารจัดการที่ไม่ดีพออาจส่งผลเสียแก่บริษัทได้มากกว่าผลดีตามที่ตั้งใจไว้ โดยผลกระทบในการ Downsize องค์กรอาจแบ่งเป็น 4 ด้านใหญ่ ๆ ดังนี้

ผลกระทบด้านจิตใจต่อพนักงานที่ยังอยู่

พนักงานเริ่มเกิดความไม่มั่นใจต่อความมั่นคงของบริษัท และมีหลายกรณีที่นำไปสู่ อัตราการลาออก เองที่สูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทต้องสูญเสียพนักงานมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ผลกระทบด้านภาพลักษณ์ของบริษัทต่อสาธารณชน

เมื่อใดที่ต้องมีการลดขนาดองค์กร เมื่อนั้นย่อมเป็นสัญญาณที่แรงชัดว่า สถานการณ์การเงินของบริษัทไม่สู้ดีนัก ซึ่งภาพลักษณ์ที่สูญเสียไปแล้วย่อมใช้เวลาและมันสมองไม่น้อยในการกอบกู้คืนมา

ผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายในการจ้างงานในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น

อย่าลืมว่าเศรษฐกิจมีวัฏจักรทั้งขาขึ้นและขาลง จริงอยู่ที่ขณะนี้ธุรกิจของคุณอาจกำลังประสบปัญหา แต่การที่ลดปริมาณพนักงานลงมากจนเกินไปก็อาจส่งผลกลับมาเป็นค่าใช้จ่ายการจ้างงานและฝึกสอนพนักงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นไปด้วยในอนาคตได้เช่นกัน

ผลกระทบด้านความพร้อมในการกลับเข้าสู่ตลาดเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น

นอกจากการจ้างงานที่มีค่าใช้จ่ายแล้ว หากบริษัทของคุณชะลอตัวมากจนเกินไปในช่วงเศรษฐกิจขาลง เมื่อใดที่เศรษฐกิจดีขึ้น คุณอาจเสียโอกาสการลงทุนดี ๆ ไปเนื่องจากขาดคน ขาดกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหากในจังหวะนี้คู่แข่งมีความพร้อมมากกว่า อาจจะกลายเป็นการสูญเสียรายได้จำนวนไม่น้อยได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลกระทบต่าง ๆ ต่อองค์กร หากจำเป็นต้องมีการลดขนาดองค์กรจริง ๆ การบริหารจัดการที่ดีย่อมเป็นทางออกที่จะทำให้การลดต้นทุนครั้งนี้เกิดประสิทธิภาพสูงและสร้างผลกระลบด้านลบต่อองค์กรน้อยที่สุด

สิ่งที่ควรพิจารณาในการลดขนาดองค์กรมีดังต่อไปนี้

  • มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการโดยตรง บริหารงานอย่างโปร่งใส และอยู่ในกรอบกฎหมาย
  • มีการวางแผน ต้องปรับโครงสร้างองค์กรเท่าไรจึงจะเหมาะสม ควรมีขั้นตอนและกระบวนการอย่างไร
  • พิจารณาค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นให้รอบด้าน ทั้งที่เป็นตัวเงิน อย่างเงินชดเชย การเลิกจ้าง และที่ไม่ใช่ตัวเงินอย่าง ชื่อเสียงของบริษัท ความรู้สึกของพนักงานที่ไม่ถูกเลิกจ้าง ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การจ้างงานคืน ผลผลิตที่ลดลงเนื่องจากสูญเสียแรงงานที่มีฝีมือ เป็นต้น
  • แผนความพร้อมของบริษัทเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

นอกจากนี้ยังมีแง่มุมอื่น ๆ ที่ทางคณะกรรมการอาจพิจารณาเพิ่มเติมเช่น

  • มีการแนะนำผู้บริหารในการสื่อสารเรื่องการเลิกจ้างกับพนักงานให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
  • มีกระบวนการช่วยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างให้ หางานใหม่
  • มีความสนับสนุนจากฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น อาจมีระบบยื่นคำร้อง ตั้งสาย hotline ให้คำปรึกษาแก่พนักงานทั้งที่ต้องถูกเลิกจ้างและพนักงานที่ยังอยู่กับบริษัทต่อไป

จะเห็นได้ว่าการลดขนาดองค์กรนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของการลดต้นทุนเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องทางกฎหมาย เรื่องบุคคล เรื่องการรักษาภาพลักษณ์องค์กร การรักษากำลังการผลิตของบริษัทให้เหมาะสมและการมองถึงการกลับเข้าสู่ตลาดในอนาคต ดังนั้นก่อนที่จะไปถึงขั้นลดขนาดองค์กร อาจลองพิจารณาวิธีต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอีกทางเลือกได้นะคะ

  • ลดการจ้างงานเพิ่ม
  • ชะลอการขึ้นเงินเดือนหรือปรับลดอัตราเงินเดือนของพนักงานลง
  • ลดเวลาการทำงานลง
  • จำกัดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา
  • ปิดโรงงานชั่วคราว

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ขั้นตอนการขอยกเลิกกิจการให้ชอบด้วยกฎหมาย

ปิดกิจการชั่วคราว นายจ้างควรทำอย่างไร

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด