ตอบทุกคำถาม! ขึ้นทะเบียนว่างงานประกันสังคม พร้อมขั้นตอนลงทะเบียน

ตอบทุกคำถาม! ขึ้นทะเบียนว่างงานประกันสังคม พร้อมขั้นตอนลงทะเบียน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะว่างงานด้วยเหตุผลไหน จะถูกให้ออกจากงานหรือออกมาด้วยความสมัครใจ หลายคนก็น่าจะมีความกังวลใจกับความไม่มั่นคงทางการเงินอยู่ไม่น้อย อะไรที่พอจะจุนเจือรายจ่ายได้ ก็ต้องคว้าไว้ก่อน แน่นอนว่าเหล่าลูกจ้าง ชาวมนุษย์ออฟฟิศรับเงินรายเดือน ยังมีอีกหนึ่งช่องทาง “ขึ้นทะเบียนว่างงาน” กับประกันสังคม ที่จะพอบรรเทาค่าใช้จ่ายระหว่างนี้ได้

ส่วนขั้นตอน วิธีการ เอกสารต่าง ๆ จะมีอะไรบ้างนั้น JobsDB เตรียมไว้ให้คุณด้านล่าง พร้อมตอบทุกข้อสงสัยไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ไปดูกัน!

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิขึ้นทะเบียนว่างงาน

นอกจากจะเป็นผู้ว่างงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามกฎหมายแล้ว ยังต้องอยู่ในหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่ครบถ้วนด้วย หากขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งไป ประกันสังคมมีสิทธิ์ไม่จ่ายเงินชดเชยให้

  • ผู้ว่างงานต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา)
  • การว่างงานนั้นต้องไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เป็นต้น
  • หากมีการจ่ายเงินสมทบน้อยกว่าระยะเวลาที่กล่าวไปแล้ว สิทธิประโยชน์หรือการชดเชยรายได้จะไม่เกิน

เอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนคนว่างงาน

ตรวจสอบคุณสมบัติกันเรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็ถึงขั้นตอนการยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนคนว่างงาน รับรองว่าไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด ที่สำคัญปัจจุบันประกันสังคมยังอำนวยความสะดวกให้ผู้ว่างงานทุกคน ยื่นเอกสารชดเชยรายได้ผ่านระบบออนไลน์หรือ e-Service ได้แล้ว โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปที่สำนักงาน อย่างไรก็ตามต้องขึ้นทะเบียนคนว่างงานภายใน 30 วัน นับจากวันที่ออกจากงาน ไม่เช่นนั้นระบบจะตัดสิทธิ์ทันที เอกสารลงทะเบียนคนว่างงานมีดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
  • บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
  • หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
  • หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน

สิทธิที่จะได้รับจากการขึ้นทะเบียนว่างงานมีอะไรบ้าง

ถึงแม้จะเป็นคนว่างงานที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ด้วยการลาออกหรือถูกจ้างออกแล้วก็ตาม สิทธิประกันสังคมต่าง ๆ จะยังคงอยู่ไปอีก 6 เดือน กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ยังเป็นสิทธิ์ที่พึงได้รับตามปกติ ส่วนเรื่องเงินชดเชยขณะว่างงานนั้น แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้

  • ถูกเลิกจ้าง
    ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
  • ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา

ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

วิธีลงทะเบียนว่างงานออนไลน์

มาถึงขั้นตอนขึ้นทะเบียนว่างงาน ซึ่งตรงนี้หลายคนเป็นกังวลว่ายุ่งยากหรือไม่ กลัวทำผิด กรอกข้อมูลไม่ถูก ไปทำที่สำนักงานประกันสังคมจะสะดวกกว่าหรือเปล่า ก่อนอื่นลองดูไปพร้อมกันทีละขั้นตอน ไม่ยากอย่างที่คิด ประหยัดเวลาเดินทางและประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย

  1. เข้าเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ( empui.doe.go.th )
  2. เลือก “ลงทะเบียน” สำหรับผู้ใช้ที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนว่างงานและที่ยังไม่มีรหัสผ่านเข้าใช้ระบบ แต่ถ้าใครเคยลงทะเบียนมาแล้ว เลือก “ลงชื่อเข้าใช้งาน”
  3. อ่านข้อตกลงของการใช้บริการ ก่อนกดขั้นตอนต่อไป
  4. ตรวจสอบข้อมูลที่ระบบแสดงว่าตรงตามบัตรประชาชนหรือไม่
  5. กรอกข้อมูลส่วนตัว หากตรวจสอบเรียบร้อยแล้วกดบันทึกการลงทะเบียน
  6. ระบบจะออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน รวมถึงวันนัดรายงานตัวของผู้ประกันตนสำหรับการเบิก สิทธิประกันสังคม จะเลือกพิมพ์ไว้เป็นหลักฐานก็ได้
  7. ขึ้นทะเบียนคนว่างงานแล้ว อย่าลืมมารายงานตัวในวันนัดในแต่ละเดือน ถึงจะได้รับเงินชดเชย

คำถามอื่นๆ เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนว่างงาน

หลากหลายคำถามคาใจผู้ว่างงาน ขึ้นทะเบียนกี่วันถึงจะได้เงิน กรอกข้อมูลผิดทำอย่างไร และคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย JobsDB ได้รวบรวมคำตอบสำหรับคำถามยอดฮิตมาให้แล้ว

1. การออกจากงานโดยไม่ได้ลาออกจะมีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานหรือไม่

ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามปกติ หากเป็นการหมดสัญญาจ้างตามที่กำหนดระยะเวลา หรือเลิกจ้างโดยที่ผู้ว่างงานต้องมิได้ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณีดังต่อไปนี้

  • ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  • จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  • ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณี ร้ายแรง
  • ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงาน ติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
  • ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  • ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
  • ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

2. ถ้าหากได้งานใหม่หลังจากไปขึ้นทะเบียนว่างงานแล้วต้องทำอย่างไร จะยังได้รับเงินทดแทนอยู่หรือไม่

ผู้ประกันตนมีสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนตามระยะเวลาที่ว่างงานจริง โดยทางสำนักงานประกันสังคมจะคำนวณวันให้ตามข้อมูลที่ผู้ประกันตนและนายจ้างทั้งเก่าและใหม่ยื่นเรื่องเข้ามา ดังนั้นหากผู้ประกันตนได้งานใหม่แล้ว สามารถแจ้งกับสำนักงานประกันสังคมให้ทำการบันทึกข้อมูลได้ทันที

3. กรอกข้อมูลผิดพลาดตอนยื่นเอกสาร ต้องทำอย่างไร

ยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลที่สำนักงานประกันสังคมที่คุณเลือกไว้ ทั้งนี้หากเป็นข้อมูลที่ออกให้จากฝั่งนายจ้าง ผู้ประกันตนสามารถติดต่อให้นายจ้างส่งหนังสือขอแก้ไขข้อมูลเข้ามาทางสำนักงานได้เช่นกัน

4. จะได้รับเงินทดแทนภายในกี่วันหลังจากยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนว่างงาน

เงินเข้าบัญชีประมาณภายใน 5-7 วัน ไม่นับเสาร์-อาทิตย์ หลังจากยื่นเรื่องและเอกสารที่ยื่นมาต้องครบสมบูรณ์

5. หากมีการออกจากงาน ได้งานและออกจากงานมากกว่า 1 ครั้งภายในหนึ่งปี จะมีสิทธิสามารถรับเงินทดแทนไหม

ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน

6. กรณีที่รายงานตัวขึ้นทะเบียนว่างงานครั้งสุดท้ายแล้ว สามารถสมัครมาตรา 39 ได้เลยหรือเปล่า และจะได้เงินชดเชยว่างงานหรือไม่

กรณีที่จะเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นั้นจะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แล้ว จะไม่สามารถได้รับสิทธิประกันสังคมของผู้ว่างงานได้

7. การลาออกจากบริษัทที่แรกแต่ไม่ได้ไปยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานไว้เพราะว่าได้ทำงานอีกที่หนึ่งแต่ทำงานได้เพียงเดือนเดียวก็ลาออกอีกครั้ง สามารถไปยื่นเรื่องเป็นผู้ว่างงานได้ไหม

ขึ้นทะเบียนได้ หากมีคุณสมบัติครบถ้วน เช่น จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน แต่หากมีการยื่นเรื่องล่าช้าเกินกว่า 30 วัน ผู้ประกันตนจะไม่ได้รับสิทธิในย้อนหลังในวันที่ผ่านไปแล้ว

8. หากมีการไปรายงานตัวช้ากว่าวันที่กำหนด จะส่งผลต่อเงินทดแทนการว่างงานในเดือนนั้นหรือไม่

สามารถรายงานตัวได้ ก่อนและหลังวันนัด 7 วัน

9. หากว่างงานมานานกว่า 8 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนว่างงาน จะยังสามารถไปยื่นเรื่องได้ทันหรือไม่

อ้างอิงตามหลักเกณฑ์ สามารถขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันลาออก กรณีลาออกต้องไม่เกิน 90 วัน ส่วนกรณีเลิกจ้างต้องไม่เกิน 180 วัน โดยจำนวนวันจะถูกตัดสิทธิไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสิ้นสุดตามวันที่กำหนด

10. ในกรณีที่ว่างงานต่อเนื่องเกินกว่า 1 ครั้งต่อปี จะได้รับสิทธิ 90 หรือ 180 วันต่อปี แล้วแต่เหตุผลการออกจากงานหรือไม่

กรณีว่างงานสามารถขึ้นทะเบียนได้ ภายใน 1 ปี แต่ถ้าเป็นกรณีลาออกจะได้ 90 วัน ถ้าผู้ประกันตัวไปได้งานใหม่ และถูกเลิกจ้าง จะทบให้เพิ่ม จนครบ 180 วัน ภายใน 1 ปีนั้น ซึ่งถ้าต่อเนื่องข้ามปี จะคิดรวมให้ครบ และในปีถัดไปจะได้สิทธิตามหลักเกณฑ์

11. การขาดส่งเงินสมทบส่วนของนายจ้างมีผลต่อการได้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมสำหรับผู้ว่างงานไหม

มีผลกับการขอรับสิทธิกรณีว่างงานของผู้ประกันตนแน่นอน อาจจจะต้องให้เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่ตามเรื่องเงินสมทบให้

12. ทำไมหลังจากยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนว่างงานแล้วต้องเว้น 1 เดือนเพื่อไปรายงานตัวครั้งแรก

การขึ้นทะเบียนว่างงานในรอบแรกไม่นับเป็นการได้สิทธิ ภายใน 1 เดือนนี้ ประกันสังคมจะให้ผู้ประกันตนออกหางานก่อน จะได้หรือไม่ได้ก็ตาม การนัดรายงานตัวครั้งที่ 1 ผู้ประกันตนจะต้องนำหลักฐานการหางานไปยื่นให้เจ้าหน้าที่กรมจัดหางานทราบ หรือกดยืนยันในเว็บไซต์ แต่ถ้าไม่ได้งานทำตามระยะเวลาใน 1 เดือน เจ้าหน้าที่ทำเรื่องอนุมัติให้ และเงินจะเข้าบัญชีภายในประมาณ 5-7 วันทำการ

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.sso.go.th

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม สามารถติดต่อสายด่วน 1506

อยากให้มองว่าช่วงว่างงานเป็นหนึ่งในเวลาสำคัญที่ได้พัก ได้เรียนรู้และทบทวนตัวเอง มีอะไร ทักษะที่อยากพัฒนา ให้ดีขึ้นหรือไม่ ให้ใช้เวลาในช่วงนี้เติมเต็มทักษะต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าในอนาคต

เริ่มจากการเข้ามา ฝากเรซูเม ได้แล้ววันนี้ที่ JobsDB แพลตฟอร์มหางานชั้นนำในไทย หาคนตรงงาน หางานตรงใจ

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

jobsDB Mobile App

คว้างานที่ใช่ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สิทธิประกันสังคมสำหรับคนที่ออกจากงาน

การรักษาสิทธิประกันสังคมหลังลาออกควรทำอย่างไร

More from this category: การเป็นผู้นำ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด