จะเอาตัวรอดในอาเซียนอย่างไร เมื่อความท้าทายบัณฑิตใหม่ ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ

จะเอาตัวรอดในอาเซียนอย่างไร เมื่อความท้าทายบัณฑิตใหม่ ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ชั่วโมงนี้ไม่ว่าใครก็พูดถึง " การเปิดเสรีอาเซียน " เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป สมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะก้าวเข้าสู่ "ประชาคมอาเซียน" ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเฉพาะในส่วนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่เป็นความร่วมมือหาศักยภาพของตนเองภายใต้ภาวะที่ตลาดโลกมีการแข่งขันสูง

จึงไม่แปลกที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน จะออกมาแสดงความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่ตลาดภายในของแต่ละประเทศจะหลอมรวมกับประเทศเพื่อนบ้าน ในลักษณะตลาดเดียว ฐานการผลิตเดียว ซึ่งจะเป็นการเปิดเสรีทางการค้า การบริการ การลงทุน การเงิน และการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ

และความเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา ๆ ท่าน ๆ อย่างแน่นอน จะมากหรือน้อย จะดีหรือร้าย ก็คงไม่อาจเลี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดา "บัณฑิตจบใหม่" ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ต้องเร่งปรับตัวให้ทันอนาคต ทั้งอนาคตของตนเอง และอนาคตของประเทศชาติ

ด้วยเหตุนี้เอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ"มาตรฐานวิชาชีพอาเซียน : ความท้าทายที่บัณฑิตไทยต้องไปให้ถึง"โดยมี ดร.ธัญญลักษณ์ วีระสมบัติ รองผู้อำนวยการโครงการพิเศษหลักสูตรพัฒนาแรงงานและสวัสดิการมหาบัณฑิต อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาแรงงานและสวัสดิการ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้ความรู้แก่นักศึกษาและผู้สนใจ

ดร.ธัญญลักษณ์กล่าวว่า ปัจจุบันนักเรียน นักศึกษา ซึ่งจะเป็นแรงงานในอนาคต ยังขาดความรู้ความเข้าใจทั้งต่อประชาคมอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งประเด็นสุดท้ายนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการประกอบอาชีพในอนาคต

"จากการสำรวจทัศนคติและการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน โดยใช้กลุ่มตัวอย่างนักศึกษา 2,170 คน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ชี้ว่านักศึกษาไทยมีความรู้และมีทัศนคติต่อความรู้เกี่ยวกับอาเซียนในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาในชาติ อาเซียนอื่นๆ และเมื่อถามว่าคุ้นเคยกับอาเซียนแค่ไหน มีเพียง 68% ที่คุ้นเคย แต่เมื่อถามว่ามีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนหรือไม่ นักศึกษาไทยกลับตกลงมาเป็นอันดับสุดท้าย มี 27.5% เท่านั้นที่มีความรู้"

บัณฑิตใหม่-aec ดร.ธัญญลักษณ์ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของนักศึกษาไทย ก่อนจะอธิบายว่า หลายคนอาจจะไม่ให้ความสำคัญกับการเปิด "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" เพราะคิดว่าเดิมการไหลเวียนเหล่านี้ก็มีอยู่แล้ว แต่จริง ๆ การเปิดเสรีอย่างเป็นทางการนั้นจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น อีกทั้งปกติทุนไทยลงทุนในภูมิภาคอาเซียนกว่า 75% เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าอัตราการส่งออกและนำเข้าในอาเซียนขยายตัวโดยตลอด และที่สำคัญยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีก

"นี่เป็นโอกาสจากการเปิดเสรีทางการค้าสินค้า การบริการ และการลงทุน เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนมีตลาดขนาดใหญ่ ประชากรกว่า 580 ล้านคน ดึงดูดการค้าการลงทุนจากประเทศทั้งภายในและภายนอก นอกจากนี้ อาเซียนยังมีแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย และอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ราคาวัตถุดิบถูกลง ต้นทุนผลิตสินค้าต่ำลง และขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น เป็นการเพิ่มกำลังการต่อรองในเวทีการค้าโลก" ดร.ธัญญลักษณ์กล่าว

อย่างไรก็ดี โอกาสใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ก็เป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้ายต่อบัณฑิต หรือแรงงานมีฝีมือที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต

ดร.ธัญลักษณ์กล่าวว่าข่าวดีของแรงงาน คือ มีโอกาสในการขยายประสบการณ์การทำงาน มีโอกาสในการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และที่สำคัญ ทักษะฝีมือจะเป็นตัวกำหนดระดับรายได้ ขณะเดียวกัน ข่าวร้าย คือ ความสามารถด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาของประเทศอื่นในอาเซียน ในระดับที่จะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างชำนาญทั้งนี้ ปัญหาเรื่องภาษานั้นเป็นปัญหาเก่า ๆ ที่ถูกพูดถึงเป็นประจำอยู่แล้ว

แต่ข้อจำกัดอื่นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก คือพฤตินิสัยของคนไทยที่มักจะขาดความกระตือรือร้น ไม่กล้าตัดสินใจ และไม่สามารถดูแลตัวเอง หรือเรียกรวม ๆ ว่า ขาดทักษะผจญภัย (adventurous skill) ที่จะไปประกอบอาชีพในต่างแดน ซึ่งต้องอาศัยทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา ทำงานเป็นทีม ตรงต่อเวลา และมีระเบียบวินัย

"เด็กสมัยนี้ไม่มีปัญหาเรื่องการใช้เทคโนโลยี พวกเขาเติบโตมากับการสื่อสารสมัยใหม่ที่เข้าถึงได้ง่ายและมีความรวดเร็ว ทำให้พวกเขาเป็นคนที่กล้าแสดงออก คิดเร็ว ทำเร็ว แต่มีข้อเสียคือ พูดไม่รู้เรื่อง ไม่มีความอดทน รอไม่เป็น ขาดการจัดระบบความคิด และระเบียบในการใช้ชีวิต" รองผู้อำนวยการโครงการพิเศษหลักสูตรพัฒนาแรงงาน ชี้ให้เห็นข้อด้อยของแรงงานไทยในอนาคต

ปัจจุบันประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพแล้ว 7 สาขา คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ ส่วนสาขาวิชาชีพอื่น ๆ จะทยอยทำข้อตกลงร่วมกันในอนาคต อาทิ สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว ที่ทั้ง 9 ประเทศได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันแล้ว แต่ไทยยังอยู่ในกระบวนการเตรียมความพร้อม

อย่างไรก็ดี บรรดาบัณฑิตจะนิ่งนอนใจ รอคอยการช่วยเหลือจากภาครัฐแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจจุดแข็งจุดอ่อนแรงงานไทยในทรรศนะนายจ้าง พบว่าจุดแข็งของแรงานไทยอยู่ที่ฝึกฝนได้ เรียนรู้ง่าย มีความสุภาพอ่อนน้อม และไม่ก้าวร้าว ส่วนจุดอ่อนคือ ขาดการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ ขาดทักษะที่เป็นมาตรฐาน และระเบียบในการทำงานต่ำ

ในตอนท้าย ดร.ธัญลักษณ์ได้สรุป "คุณลักษณะบัณฑิตไทยที่พึงประสงค์ในประชาคมอาเซียน" ไว้ 7 ข้อด้วยกัน ได้แก่

1. มีทักษะและความสามารถใช้ภาษาอังกฤษ-ภาษาประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

2. มีความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้าน ทั้งในด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

3. ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนและเรียนรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบต่าง ๆ ของอาเซียน

4. พัฒนาทักษะฝีมือให้สามารถปรับตัวเข้ากับมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากล

5. พัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

6. ปรับกระบวนทัศน์การเรียนรู้ในการพัฒนาศักยภาพรอบด้าน

7. สร้างความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะการทำงานกับผู้คนต่างวัฒนธรรม

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และข้อเสนอทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่บัณฑิตและแรงงานทั้งหลายต้องรับฟัง หากต้องการปรับตัวให้เท่าทันกระแสการค้าเสรีเพื่อความอยู่รอด

อย่าตระหนก แต่ต้องตระหนัก!

ที่มา : มติชนออนไลน์

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ภาษาอังกฤษของคนไทย อยู่ตรงไหนในอาเซียน

อาชีพหมอฟัน-นางพยาบาลน่าห่วงสุด หลังเปิดเสรีอาเซียน

วิศวกรไทยสู้ไหวไหมในอาเซียน

More from this category: สมัครงาน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สำรวจหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

เลือกสิ่งที่สนใจเพื่อเรียกดูอาชีพที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด