F > A+ > C สมการของการพัฒนาบนจุดแข็ง

F > A+ > C สมการของการพัฒนาบนจุดแข็ง
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

F > A+ > C คือ สมการของการพัฒนาบนจุดแข็ง (Strengths-Based Development)

ตัวอักษรคือ ‘เกรด’ เหมือนสิ่งที่อยู่ในสมุดพกข้าง ๆ แต่ละวิชาที่เราเรียน F แปลว่าตก ไม่ผ่าน รู้ไม่พอทำไม่ได้ตามมาตรฐานที่ต้องทำ A+ แปลว่าสุดยอด เหนือความคาดหมาย ครูสอน 100 ตอบ 120 เป็นต้น ส่วน C คือพอใช้ได้ตามเกณฑ์ มวลชนส่วนใหญ่ก็ทำได้ประมาณนี้แหละ

Dr. Jack Shonkoff แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่าภายในแค่ไม่กี่ปีหลังเกิดมา เด็กอายุ 6 ขวบมีจำนวน Connection ของเซลส์สมองมากถึง 3-4 เท่าของผู้ใหญ่ อธิบายได้ด้วยพฤติกรรมของลูกสาวผมที่คอยทักท้วงตลอดเวลาผมเล่าอะไรไม่ตรงข้อเท็จจริง เช่น “วันนั้นพ่อใส่เสื้อสีขาวต่างหากค่ะ ไม่ใช่สีฟ้า” เป็นต้น

สิ่งเปรียบเทียบใกล้เคียงที่สุดสำหรับผมคือ ‘ถั่วงอก’ คุณผู้อ่านคงพอจำสมัยประถมหรืออนุบาลที่คุณครูให้เราเพาะถั่วงอกได้นะครับ แรก ๆ มันยังมีไม่กี่ต้นแต่พอผ่านไปสักสองวันก็จะมีต้นเล็กต้นน้อยขึ้นเต็มไปหมด หลังจากนั้น ครู จะให้ทำสิ่งที่ผมจำได้ว่าประหลาดมาก นั่นคือให้ ‘ถอน’ ต้นเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกันทิ้งไป แล้วท่านก็อธิบายว่ามันเป็นการให้โอกาสเจ้าต้นที่เหลืออยู่ได้เติบโตอย่างเต็มที่

สมองของเด็กก็เช่นกัน เมื่อแรกเกิดเสมือนเมล็ดที่เพิ่งถูกโปรยลง รับรู้ทุกสิ่งอย่างรอบตัวอย่างเต็มที่ เวลาผ่านไปหกปีสมองของเขาก็จะมีต้นถั่วงอกขึ้นเต็มไปหมด หลังจากนั้นต้นที่ลีบ ๆ ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ก็จะถูกถอนหรือ ‘ลืมไป’ ส่วนถั่วงอกหรือ Connection ในสมองใดที่ดูมีอนาคตก็จะถูก ‘เก็บไว้’ เมื่ออายุ 14 สมองเราจึงมีจำนวนต้นถั่วน้อยลงถึงหนึ่งในสี่ แต่ว่าแข็งแรงกว่าตอนหกขวบเยอะ

สำหรับผู้นำ นี่คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง Strengths-Based Development หรือการใช้คนให้เหมาะกับงาน ในมุมสมองแปลงถั่วงอกในหัวของเราแต่ละคนมีความพิเศษที่แตกต่างกันไป แทนที่จะใช้ ลูกน้อง ทำสิ่งที่เขาไม่มี สู้ลงทุนในสิ่งที่เขาถนัดและอยากทำไม่ดีกว่าหรือ?

People don’t change that much. Don’t waste time trying to put in what was left out. Try to draw out what was left in. That is hard enough. แค่ดึงสิ่งที่มีอยู่ออกมาใช้ก็ยากพอแล้ว

“งั้น... แปลว่าเราไม่ต้องสนใจจุดอ่อนเหรอครับ?” คำตอบสั้น ๆ คือ “ไม่ใช่ครับ” และนี่คือที่มาของสมการ F > A+ > C เอฟก่อนเอบวกก่อนซี

หาก หัวหน้า ต้องการพัฒนาลูกน้องด้วย Strengths ให้เริ่มจาก

1. หาก่อนว่าลูกน้องติด F บ้างไหมแปลว่ายังมีเรื่องที่เขา ‘ต้อง’ ทำได้ แต่ยังทำไม่ได้บ้างไหม เช่น เป็น นักบัญชี แต่บวกเลขไม่ถูก ถ้ามีให้ดูแลจุดนี้เป็นอย่างแรก วิธีการคือกวดขันพัฒนาให้ได้อย่างน้อยเกรด C คือพอผ่านมาตรฐานเอาตัวรอด ทำไม่ได้ก็ต้องฝึกให้ได้ ไม่งั้นก็ต้องให้ทำงานประเภทอื่นที่ไม่ต้องใช้ทักษะดังกล่าว แต่ F คือจุดอ่อนที่ไม่สามารถปล่อยไว้

2. หลังจากนั้นให้โฟกัสที่ A+ ของพวกเขามีงานอะไรที่แปลงถั่วงอกของคน ๆ นี้สามารถทำได้ดีกว่าคนอื่น งานอะไรที่เขาทำได้คุณภาพมากกว่าเร็วกว่าไหม สังเกตอาการเจ้าตัวด้วย งานอะไรที่เขาดูให้ความสนใจ งานประเภทใดที่เวลาทำเขามีสมาธิตั้งอกตั้งใจใฝ่รู้ และมีงานอะไรที่ขนาดส่งมาแล้วยังตามมาพูดถึงผลหรือโอกาสที่จะได้ทำอีก เหล่านี้คืองานที่เป็นถั่วงอกต้นใหญ่ในสมองของเขา งาน ที่เขาชอบทำและทำได้ดีเป็นพิเศษ (Strengths)

3. สุดท้าย งานที่เป็นเกรด C ของพวกเขางานพวกนี้คืองานที่เป็นต้นถั่วลีบ ๆ ในสมอง ทำได้แต่ไม่ค่อยเก่ง หรือทำได้แต่ไม่ค่อยชอบ ทำเสร็จแล้วก็ไม่อยากทำอีก สมการนี้บอกว่าให้สนใจเรื่องเหล่านี้เป็นลำดับสุดท้าย เพราะต่อให้กวดวิชาอย่างไรก็คงไม่พัฒนาขึ้นมาก เหมือนสมัยเรียนที่อุตส่าห์ท่องอุตส่าห์เสียเงินเรียนเพิ่มแต่สุดท้ายก็ยังได้เกรดเดิม เรียกว่า Sustainable C ในแง่ การลงทุน เหมือนฝากออมทรัพย์ที่ดอกเบี้ยไม่คุ้มเงินเฟ้อ

ข้อควรระวังสำหรับหัวหน้าคืออย่าสับสนระหว่าง C กับ F ของลูกน้อง เกรดนึงคือพอใช้ให้ผ่านได้ ส่วนอีกเกรดคือตกเอาตัวไม่รอด กรุณาแยกสองเกณฑ์นี้ให้ชัดเจน ยิ่งใน การทำงาน ไม่มีตัวชี้วัดเหมือนข้อสอบ สิ่งที่สมองหัวหน้าทำได้ง่ายกว่าคือเปรียบเทียบแปลงถั่วของลูกน้องกับแปลงของตัวเอง อย่าลืมว่าอะไรที่ลูกน้องทำได้ดี ‘ไม่เท่าเรา’ ไม่ได้แปลว่าเขาสอบตก ตอนโค้ชลูกน้องคุณควรบอกพวกเขาได้ว่านี่คืองานเกรด A+, C, หรือ F

การพัฒนาลูกน้อง ฝั่งลูกน้องก็ต้องเข้าใจว่าโอกาสที่จะได้ทำงานที่เป็น A+ ร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นไปไม่ได้ ข้อชวนคิดคือ หัวหน้าคนไหนก็คงลำบากใจถ้าเราติด F หลายตัว ส่วนงานที่เป็น C ให้รับรู้ว่าถั่วงอกของเราต้นมันลีบ ฉะนั้นหากจำเป็นต้องทำงานพวกนี้คงต้องใส่ใจประคบประหงมเป็นพิเศษ รีบทำตั้งแต่เช้าตอนสมองสดชื่น แบ่งเวลาเผื่อไว้วางแผนตรวจทาน หาห้องเงียบ ๆ ปิดไลน์ซะจะได้มีสมาธิ เตรียมเพื่อนที่เก่งงานพวกนี้ไว้ใกล้ตัวเผื่อปรึกษา ผลงานจะได้ออกมาดี

ที่สำคัญ... ตอนส่งผลงานให้หัวหน้ากรุณาบอกด้วยว่า “แม้ผลงานอาจดูดี แต่อยากให้พี่รับรู้ว่าหนูทำจากศักยภาพเกรด C ที่ทำได้นี่เพราะทุ่มเทตั้งใจ แต่พี่อย่าลืมงานที่เป็น A+ ของหนูด้วยนะคะ”

ที่มา : ดร.ธัญ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

การพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร

วิธีค้นหาและพัฒนาจุดแข็งของพนักงาน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด