กลยุทธ์การตลาดสีเขียว Green Marketing

กลยุทธ์การตลาดสีเขียว Green Marketing
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

เป็นที่ยอมรับว่าเวลานี้กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน หรือรวม ๆ ที่เรียกว่า "กรีน" (green) ได้เข้าไปมีบทบาทในแทบทุกวงการ และจากกระแสที่แรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องกลยุทธ์การตลาดสีเขียวนี้มากขึ้น ขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่งก็พยายาม พลิกกระแสกรีนมาเป็นจุดขายอย่างหนึ่งขององค์กรและสินค้าเริ่มจาก "เครื่องใช้ไฟฟ้า" ที่แทบทุกค่ายต่างชูคอนเซ็ปต์ "เครื่องใช้ไฟฟ้าสีเขียว" เพิ่มยอดขายจากมูลค่าสินค้าและสร้างความต่างจากคู่แข่ง ที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น

กลยุทธ์การตลาดสีเขียว "โตชิบา" เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่นำร่องในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยนโยบาย 5 กรีนให้กระบวนการทำงานและสินค้าที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ องค์กร สินค้า เซอร์วิส การซื้อ-ขาย และสังคม ล่าสุดได้เพิ่ม "green dealer" สำหรับร้านค้าโดยเฉพาะการประหยัดพลังงานภายในร้าน เช่น เดียวกับ "พานาโซนิค" ที่วางยุทธศาสตร์ ecoideas เป็นหัวใจหลักขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด

  • การประหยัดพลังงาน
  • วัตถุดิบในการผลิตต้องไม่มี สารพิษต้องห้าม และ
  • ทุกโรงงานในกลุ่ม พานาโซนิคไทยแลนด์ จะต้องได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม

ด้าน "ฟิลิปส์" ชูกรีนมาร์เก็ตติ้งเป็นนโยบายหลักบุกตลาดต่อจากนี้ ด้วยการลอนช์สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมโปรโมชั่นพิเศษเดินสายรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อเร่งให้ลูกค้าเปลี่ยนมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า สีเขียว โดยสินค้าจะสร้างจุดขายด้วย คุ้มค่า, ประหยัดไฟ, ขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ลงตัว, ปลอดสารพิษ, น้ำหนักเบา, ทำจากวัสดุรีไซเคิล และทนทาน นำร่องที่ 50 สินค้าซึ่งจะติดสัญลักษณ์ Philips Green Logo

ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีก ต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับเทรนด์นี้มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเทสโก้ โลตัสที่เปิดสาขาคอนเซ็ปต์ กรีนสโตร์แห่งแรกที่พระรามที่ 1 เมื่อปี 2547 และเปิดสาขาที่ 2 ที่ศาลายา ซึ่งเป็นกรีนสโตร์รูปแบบใหม่ นอกจากนี้มีการรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงมาจากบ้านเพื่อใส่สินค้าผ่านโครงการ "กรีนแบ็ก กรีนพอยท์" พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือกรีนโปรดักต์ออกมาจำหน่าย ด้วย 118 รายการ อาทิ หลอดไฟ ถุงขยะ น้ำยาลบคำผิด แฟ้ม ฯลฯ เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าเหล่านี้ก็จะได้รับคะแนนสะสมกรีนพอยท์ตามกำหนด

ส่วนเจ้าของตลาดร้านสะดวกซื้อ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นก็มีแผนจะเปิดร้านต้นแบบประหยัดพลังงาน ที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด

"สุวิทย์ กิ่งแก้ว" รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ร้านต้นแบบดังกล่าวทำขึ้นมาเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของแต่ละสาขา และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของบริษัทและคนทั่วไป โดยมีต้นแบบจากญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวคิดเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อนและการลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งได้เริ่มนำร่องโครงการรณรงค์รักษาสภาพแวดล้อมด้วยการกำหนดให้ร้าน เซเว่นฯ ในภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพีพี และเกาะเต่า ทุกสาขาใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้ด้วยแสงอาทิตย์ และมีแผนจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของค้าปลีกเท่านั้น นอกจากนี้ การออกแบบศูนย์การค้าในรูปแบบอีโคคอนเซ็ปต์ ไม่เพียงเพื่อสอดรับกับไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ของกลุ่มลูกค้าที่เป็นกระแสทั่วโลก แต่ยังหมายถึงการช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานภายในศูนย์ด้วย การเปิดตัวศูนย์การค้า "ธัญญะ ช็อปปิ้งพาร์ค" ปลายปี 2554 จะเป็นตัวอย่างของการออกแบบศูนย์สีเขียวที่เห็นภาพชัดด้วยจุดขายการเป็น ECO Shopping Mall ด้วยการแบ่งพื้นที่รีเทลเพียง 2 หมื่น ตร.ม. จากพื้นที่โครงการ 7 หมื่น ตร.ม. เพื่อเป็นศูนย์การค้าในบรรยากาศสวนพร้อมดีไซน์ทันสมัย ทั้งสถาปัตยกรรมแบบ botanical hybrid วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างรวมถึงระบบต่าง ๆ ภายในโครงการที่ช่วยการประหยัดพลังงาน ด้วยความเชื่อมั่นว่า คอนเซ็ปต์ "สีเขียว" จะสามารถดึงดูดลูกค้าในเมืองที่ต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวาย และสามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติได้มากที่สุด นี่ยังไม่นับรวมถึงโครงการปลูกป่าลดโลกร้อน การรณรงค์ลดถุงพลาสติก ฯลฯ ที่ทุกค่ายทำมาจนแถบนับครั้งไม่ถ้วน

มุมมองของผู้ประกอบการใน อุตสาหกรรมโฆษณา "วฤตดา วรอาคม" ผู้จัดการแผนกคอนซูเมอร์ อินไซด์ แมคแคน เวิลด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ชี้ว่าปี 2554 กระแสผู้บริโภคกลุ่มกรีนจะเริ่มอิ่มตัว เพราะจะเริ่มหันมาสนใจกับเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน จากเดิมที่มักใส่ใจเรื่องของต้นไม้และสิ่งแวดล้อมก็จะเคลื่อนตัวมาสนใจ เรื่องของสังคม ชุมชน การศึกษา ศิลปะวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ลำบากกว่า

ดังนั้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเลือกให้ การตอบรับที่ดีกับแบรนด์ที่มีนโยบายเรื่องของการพัฒนาแบบยั่งยืนที่ชัดเจนและต่อเนื่องจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ "นิมิตร หมดราคี" ซีอีโอ 124 คอมมิวนิเคชั่นส์ คอนซัลติ้ง ได้ปรับตัวโดยหันมาโฟกัสงานด้านที่ปรึกษาและวางแผนกลยุทธ์งานประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารในตลาดสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ green ocean โดย มองว่าการสื่อสารในเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้ง องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่-เล็ก และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและ สิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องใช้เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจกับมวลชนทั้งที่มีปัญหาและไม่มี ปัญหาให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ นี่คือเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นและเริ่มมีอิมแพ็กต์ในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

การตลาดแบบยั่งยืนสไตล์ญี่ปุ่น

ไขรหัสความสำเร็จแบบ KTC

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด