10 คำถามสัมภาษณ์งานที่ตอบยากที่สุด สำหรับเด็กจบใหม่

10 คำถามสัมภาษณ์งานที่ตอบยากที่สุด สำหรับเด็กจบใหม่
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

          ช่วงเวลาแห่งการสัมภาษณ์งานเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายอย่างมากสำหรับผู้หางาน จะตอบคำถามอย่างไรให้ประทับใจผู้สัมภาษณ์งานและได้งานในที่สุด นอกจากคำถามพื้นฐานที่มักจะต้องถูกถามอยู่เสมอ เช่นช่วยเล่าเกี่ยวกับตัวคุณให้กรรมการรู้จักคุณมากขึ้นอีก ทำไมคุณจึงสมัครงานกับเราคุณคิดว่าอะไรคือคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้คุณเหมาะกับงานนี้ คุณอาจจะพบกับคำถามที่ตอบยากที่สุด ซึ่งคุณจะต้องเตรียมตัวมาอย่างดีเพื่อที่จะสามารถตอบคำถามสัมภาษณ์งานได้อย่างชาญฉลาด กับ 10 ตัวอย่างคำถามสัมภาษณ์งานที่ตอบยากที่สุด ซึ่งเรารวบรวมมาไว้ให้คุณที่นี่แล้ว

Q1: ทำไมคุณจึงไม่ทำผลการเรียนให้ดีกว่านี้

          A : สำหรับคำถามนี้ควรตอบให้ผู้สัมภาษณ์งานเห็นว่าผลการเรียนไม่ใช่จุดด้อยของคุณ ถึงแม้ว่าคุณจะเรียนไม่เก่ง แต่คุณมีคุณสมบัติด้านอื่นที่คิดว่าสามารถทดแทนกันได้ คุณคิดว่าผลการเรียนไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ชีวิตในมหาวิทยาลัยยังมีอีกหลายสิ่งที่น่าค้นหาและเรียนรู้ คุณจึงเลือกที่จะทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียน ซึ่งทำให้คุณได้พบคนหลากหลายประเภท ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกตำราเรียนซึ่งคุณสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงานได้

Q2 : ทำไมคุณจึงไม่ทำงานพิเศษในช่วงปิดเทอม

          A : คุณได้ทำกิจกรรมกับทางมหาวิทยาลัยโดยเข้าเป็นสมาชิกชมรมอาสาพัฒนาชนบท คุณได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นในแง่ของการสื่อสาร การเปิดรับความคิดเห็น การทำงานเป็นทีม และการตัดสินใจ เป็นต้น อีกทั้งคุณยังได้รู้จักความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและต่อสังคมที่คุณอยู่ ประสบการณ์เหล่านี้ไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ แต่คุณเชื่อมั่นว่าทักษะต่าง ๆ ที่คุณได้จากการทำกิจกรรมจะช่วยให้คุณมีความพร้อมสำหรับชีวิตในการทำงานในอนาคต

Q3 : ทำไมเราจึงต้องเลือกคุณแทนที่จะเลือกผู้สมัครคนอื่น

          A : ด้วยความที่คุณยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน คุณจึงมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะเปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คุณมีความกระตือรือร้นและมีความสนใจอย่างมากต่องานนี้ คุณอาจนำประสบการณ์จากการเรียน การทำรายงานกลุ่ม การทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในคณะ นอกคณะ และนอกมหาวิทยาลัย รวมถึงการฝึกงาน มาใช้เพื่อยกตัวอย่างถึงทักษะต่าง ๆ ที่คุณมี เช่น ทักษะในการสื่อสาร ทักษะในการทำงานเป็นทีม ทักษะในการแก้ปัญหา ความสามารถในการคิดริเริ่ม ความสามารถในการบริหารจัดการงาน และความสามารถในการปรับตัว ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการทำงาน จึงทำให้คุณมั่นใจว่าคุณมีความเหมาะสมและสามารถทำงานนี้ได้เป็นอย่างดี

Q4 : ถ้าบริษัทของเราและบริษัทคู่แข่งของเราตกลงรับคุณเข้าทำงานในเวลาเดียวกัน คุณจะเลือกทำงานกับที่ใด (ในกรณีที่ทั้งสองบริษัทอยู่ในระดับเท่าเทียมกัน)

          A : คำถามนี้ไม่เพียงต้องการให้คุณแสดงความจริงใจต่อบริษัทเท่านั้น คุณยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทที่คุณสมัคร รวมถึงรู้จักบริษัทคู่แข่งด้วย อย่างไรก็ดี การเลือกว่าจะทำงานที่ใดนั้นควรพิจารณาจากบริษัทที่เปิดโอกาสให้คุณได้เรียนรู้ พัฒนาความสามารถ รวมถึงมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานในอนาคตเป็นสำคัญ

Q5 : คุณต้องการเงินเดือนเท่าไร

          A : ในฐานะที่คุณเป็นบัณฑิตจบใหม่และยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน คุณอาจให้บริษัทพิจารณาเงินเดือนในอัตราปกติของตลาดแรงงานที่จ่ายให้กับนักศึกษาจบใหม่ในแต่ละสายอาชีพ และเมื่อคุณทำผลงานได้เป็นที่พึงพอใจ ขอให้นายจ้างพิจารณาเงินเดือนให้คุณอีกครั้งเมื่อพ้นระยะการทดลองงาน

Q6 : คุณเพิ่งเรียนจบ ทำไมคุณจึงลาออกจากงานที่เพิ่งทำได้ไม่นาน

          A : ควรหยิบยกเรื่องโอกาสในการเรียนรู้และโอกาสในการพัฒนาความสามารถเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพมาเป็นเหตุผล มากกว่าการพูดว่าคุณไม่พึงพอใจในเรื่องค่าตอบแทน โดยเน้นด้วยว่าคุณได้พิจารณาอย่างรอบคอบ จนมั่นใจแล้วว่าควรจะมองหางานที่ใหม่ ซึ่งคุณเชื่อว่าบริษัทที่คุณสมัครอยู่ให้โอกาสพนักงานได้เติบโตและก้าวหน้าในอาชีพอย่างที่คุณต้องการ

Q7 : คุณเรียนจบมาหลายเดือนแล้ว ทำไมจึงยังหางานไม่ได้

          A : คุณไม่ใช่คนเลือกงาน แต่คุณกำลังมองหางานที่คุณสนใจและเหมาะกับคุณจริง ๆ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาคุณมีโอกาสได้รับการสัมภาษณ์งานบ้างแล้ว แต่ที่คุณยังไม่ได้ตกลงใจกับที่ใดเป็นเพราะยังไม่พบงานที่เหมาะกับคุณ และที่คุณสมัครงานที่นี่เพราะเป็นงานที่อยากทำ และคิดว่าทำได้ดี

Q8 : คุณจะบอกนายจ้างหรือไม่ ถ้าคุณมีมุมมองที่แตกต่างจากเขา

          A : แน่นอน คุณควรมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ หลังจากที่นายจ้างพูดจบ คุณสามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยเกริ่นว่าคุณเห็นด้วยกับมุมมองของเขา แต่ทว่าถ้ามองอีกมุมหนึ่งจะพบว่ามีบางอย่างที่น่าสนใจเช่นกัน จากนั้นคุณก็อธิบายมุมมองของคุณเพิ่มเติมลงไปบนพื้นฐานของเหตุและผล พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่าคุณเชื่อว่าการทำงานเป็นทีมย่อมต้องมีความคิดเห็นที่แตกต่างจึงจะเกิดการสร้างสรรค์ขึ้น

Q9 : คุณมีวิธีจัดการกับความกดดันอย่างไร

          A : วิธีหนึ่งที่ได้ผลดีคือการตั้งสติ ไม่ร้อนรนไปกับสิ่งที่มากดดันให้เกิดความเครียด แต่ควรแปรความกดดันเป็นพลังงานที่จะนำไปพัฒนาสร้างสรรค์งานต่าง ๆ ตลอดจนผลักดันให้ตัวคุณก้าวข้ามอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ไปสู่ความสำเร็จให้จงได้ พร้อมยกตัวอย่างวิธีจัดการกับความกดดันที่เกิดขึ้นในการเรียนของคุณ เช่น การลำดับสิ่งที่ต้องทำก่อนหลังในกรณีต้องส่งงานพร้อม ๆ กันหลายวิชา

Q10 : จุดด้อยที่สุดของคุณคืออะไร

          A : ในข้อนี้คุณควรแปรสภาพจุดด้อยเป็นจุดแข็งของตัวเอง โดยการบอกกล่าวข้อด้อยของคุณที่สามารถแก้ไขได้ ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นคนขี้ลืม ดังนั้นเวลาจะทำอะไรคุณมักจะป้องกันโดยการตรวจสอบหลาย ๆ รอบ เพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ซึ่งจะทำให้งานที่ทำออกมามีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นไปด้วย

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

jobsDB Mobile App

คว้างานที่ใช่ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

 

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เทคนิคการตอบคำถามสัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษ

Checklist สำหรับการเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน

เคล็ดลับต้องรู้ก่อนต่อรองเงินเดือนของเด็กจบใหม่

More from this category: สัมภาษณ์งาน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด