ใครนั่งหัวโต๊ะ

ใครนั่งหัวโต๊ะ
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

เมื่อเราไปรับประทานข้าวกับเพื่อนๆ แล้วต้องมีเพื่อนในกลุ่มพูดว่า “ใครนั่งหัวโต๊ะ คนนั้นจ่าย” ซึ่งเป็นประโยคยอดฮิต บางคนก็พูดเล่นๆ แต่บางคนก็หมายความตามที่พูดจริงๆ ฉะนั้นหัวโต๊ะเป็นตำแหน่งที่ใครๆ ก็ไม่อยากจะนั่ง แต่ไม่ใช่เฉพาะบนโต๊ะอาหารเท่านั้นโต๊ะอื่นๆ ก็เป็นด้วยเช่นกัน เพราะเป็นธรรมเนียมที่ทราบกันดีว่า “หัวโต๊ะเป็นที่นั่งของเจ้าภาพหรือประธานในที่ประชุม” ไม่ว่าจะเป็นหัวโต๊ะชาติไหนก็ตามก็ถือว่าสิ่งนี้เป็นธรรมเนียมไปแล้ว ดังนั้นเวลาเห็นคนมารวมกันที่โต๊ะในห้องประชุมหรือห้องอาหาร เรามักจะบอกได้ทันทีว่าใครคือคนสำคัญที่สุดในที่นั้น

ตำแหน่งหัวโต๊ะ การที่จะมี “หัวโต๊ะ” ได้นั้นต้องมีโต๊ะที่เป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือมีการจัดโต๊ะให้ใกล้เคียงกับลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า คือมีส่วนกลางที่ทอดยาวออกไป เพราะโต๊ะแบบอื่นๆ ไม่มีส่วนจะเรียกได้ว่าเป็น “หัว” อย่างเช่นโต๊ะสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีทุกด้านเท่ากัน ซึ่งทุกคนก็จะนั่งเท่าเทียมกันหมด และนั่งตรงไหนก็ได้

ถ้าเป็นงานเลี้ยงแบบนั่งโต๊ะยาวที่เป็นพิธีการ ส่วนใหญ่จะมีแผนผังที่นั่งของแขกรับเชิญแสดงไว้อยู่แล้วก่อนเดินเข้าห้องอาหารและเมื่อเข้าไปแล้วก็ยังจะมีชื่อวางไว้ตรงตำแหน่งที่นั่งให้อีกด้วย ซึ่งเราควรดูแผนผังก่อนเดินเข้าไปจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาเดินหาเมื่อเข้าไปข้างในแล้ว

สำหรับงานที่ไม่ได้ระบุชื่อบนโต๊ะเอาไว้ ส่วนใหญ่เจ้าภาพจะกำหนดไว้ในใจแล้วว่าใครจะนั่งตรงไหนบ้าง จึงจะเป็นการเชิญให้นั่งด้วยวาจา แต่ถ้าได้ยินเจ้าภาพเชิญว่าให้เลือกตามสบาย ก็ไม่ใช่ว่าอยากจะนั่งตรงไหนก็นั่ง ถ้าเราไม่ใช่แขกคนสำคัญของงานแล้ว ก็ไม่ควรที่จะไปนั่งเก้าอี้หัวโต๊ะกับท้ายโต๊ะ หรือเก้าอีกใกล้หัวโต๊ะกับท้ายโต๊ะโดยเด็ดขาด (ส่วนของท้ายโต๊ะเราจะไม่เรียกว่าหางโต๊ะ) เพราะที่นั่งทั้งสองเป็นของเจ้าภาพชายและเจ้าภาพหญิงส่วนเก้าอี้ที่ถัดมาจากเจ้าภาพทั้งสอง จะเป็นที่นั่งของแขกคนสำคัญของงาน และแขกคนที่สำคัญที่สุดก็จะนั่งเก้าอี้ทางขวามือของเจ้าภาพชาย ที่สำคัญรองลงมาก็จะนั่งเก้าอี้ทางขวามือของเจ้าภาพหญิง

ส่วนมากถ้าคุณไปกันสองคนหรืออาจจะเป็นคู่สามีภรรยา เจ้าภาพที่รู้ธรรมเนียมก็จะไม่จัดให้นั่งด้วยกันเพราะนอกจากการรับประทานอาหารแล้วยังเป็นช่วงเวลาของการทำความรู้จักกับแขกคนอื่นๆ ที่มาร่วมงานด้วย แต่ถ้าหากเจ้าภาพไม่ได้กำหนดที่นั่งให้คุณ คุณก็สามารถที่จะนั่งด้วยกันได้ แต่ต้องอย่าลืมว่า แขกที่คุณนั่งติดกับคุณคือผู้ที่คุณต้องพูดคุยทำความรู้จักกับเขาด้วย ไม่ใช่คุยกันอยู่สองคน

สำหรับตำแหน่งตรงไหนที่เรียกว่า “หัวโต๊ะ” ตำแหน่งไหนที่เรียกว่า “ท้ายโต๊ะ” ก็ดูจากตำแหน่งของครัว เพราะคุณแม่บ้านจะนั่งด้านที่ติดกับครัวมากที่สุด เพื่อความสะดวกในการดูแลเรื่องอาหารให้กับแขก เพราะงานเลี้ยงที่จัดที่บ้านจะมีแขกที่รับเชิญจำนวนไม่มาก ซึ่งทุกคนสามารถพูดคุยกันได้อย่างทั่วถึง

ตำแหน่งหัวโต๊ะและท้ายโต๊ะ เป็นเรื่องของหน้าที่ความรับผิดชอบ เพราะดูจากใครที่นั่งตรงนั้นจะอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นความเป็นไปในโต๊ะอาหารได้ดีที่สุด และสามารถควบคุมดูแลความเป็นไปของงานเลี้ยง และจังหวะของกิจกรรมบนโต๊ะอาหารได้ดี เช่น รู้ว่าแขกนั้นมีความพอใจหรือไม่อย่างไร ใครต้องการอะไร ใครมีปัญหาในการรับประทานอาหารบางอย่างหรือไม่ ใครไม่กินอะไร ฯลฯ หัวโต๊ะจึงเป็นส่วนที่ต้องสงวนไว้สำหรับเจ้าภาพ ส่วนผู้ที่นั่งหัวโต๊ะจะต้องเป็นคนจ่ายเงินด้วยหรือไม่นั้น คำตอบก็คือถ้าเป็นเจ้าภาพก็คงต้องจ่ายไปตามระเบียบนั่นแหล่ะ

ที่มา : http://gotoknow.org

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด