เรียนจบไม่ตรงสายงาน สมัครงานอย่างไรให้ได้ชัวร์

เรียนจบไม่ตรงสายงาน สมัครงานอย่างไรให้ได้ชัวร์
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

“มีใครเรียนจบมาทำแล้ว ทำงานไม่ตรงสาย บ้าง?”

คำถามคาใจของน้องๆจบใหม่ที่อยากทำงานคนละด้านกับสิ่งที่เรียนมา เพราะความชอบคนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บางคนพิ่งจะค้นพบตัวเองในช่วงใกล้เรียนจบ หรืออยากข้ามสายงานเพราะต้องการเงินเดือนสูงๆ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การทำงานข้ามสายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ยกเว้นกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก บัญชี เป็นต้น แต่ถ้าเป็น งานด้านการตลาด งานครีเอทีฟ หรือการบริการ ย่อมมีโอกาสได้งานเช่นกัน ลองสังเกตเพื่อนๆ รุ่นพี่ของเราก็ได้ ต้องมีบ้างที่ได้ทำงานคนละสายกับที่เรียนมา แต่พวกเขาก็ประสบความสำเร็จกับงานได้ เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่มั่นใจว่าคุณสมบัติตัวเองจะเพียงพอกับตำแหน่งงานที่สมัครหรือเปล่า แล้วจะต้อง ตอบคำถามสัมภาษณ์งานอย่างไรให้ผ่าน เรามีคำแนะนำมากฝากกัน

Cover Letter ต้องเป๊ะ

Cover Letter หรือ จดหมายสมัครงาน มีจุดประสงค์เพื่อแนะนำตัวให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลรู้จักประวัติเบื้องต้นของผู้สมัครและทราบเหตุผลที่ต้องการสมัครตำแหน่งงานนี้ ยิ่งเขียนได้น่าสนใจเท่าไหร่ก็ยิ่งดึงดูดให้คนสนใจอ่าน Resume ต่อ และอยากนัดสัมภาษณ์ในที่สุด ควรใช้ภาษาที่เป็นทางการ โดยปกติแล้วการเขียน Cover Letter จะเเบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

  1. ส่วนแนะนำ (Introduction) เริ่มด้วยการเขียนแนะนำตัวประวัติสั้นๆ และระบุตำแหน่งที่ต้องการสมัคร
  2. เนื้อหาหลัก (Body) เป็นส่วนที่เปิดโอกาสให้คุณบอกเล่าคุณสมบัติของตัวเอง ทัศนคติในการทำงาน พร้อมด้วยการบอกเหตุผลว่าทำไมคุณถึงเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ ยิ่งถ้าคุณไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง ก็ควรเขียนอธิบายให้ผู้อ่านเห็นถึงมุ่งมั่นของคุณอย่างชัดเจน ควรระบุถึงผลงานที่โดดเด่น ประสบการณ์ฝึกงาน เวิร์กชอป หรืองานอดิเรกที่ส่งเสริมกับตำแหน่งที่สมัคร เช่น เรียนจบด้านกราฟฟิกดีไซน์ แต่ต้องการ สมัครงาน Copywriter ก็ให้เหตุผลว่าอยากพัฒนาความสามารถในการเขียนอย่างจริงจัง มีการยกตัวอย่างการเขียนที่ถนัดซึ่งตรงกับความต้องการของบริษัท พร้อมอธิบายว่าสิ่งที่คุณเรียนมาก็ช่วยส่งเสริมการทำงานของ Copywriter ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม่ควรเขียนเยิ่นเย้อหรือบรรยายความสามารถเกินจริง เพราะส่วนของเนื้อหาเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้คุณถูกคัดเลือกสัมภาษณ์
  3. ส่วนปิดท้าย (Closing) ควรเขียนถึงเหตุผลว่าทำไมถึงอยากร่วมงานกับบริษัทนี้ และถ้าได้ร่วมงานกันในอนาคต คุณจะมีส่วนช่วยผลักดันองค์กรได้อย่างไร

Resume ต้องพร้อม

Resume มีไว้เพื่อบอกข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ ทั้งด้านการศึกษา ความสามารถพิเศษ ทักษะที่เชี่ยวชาญ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาเพิ่มเติม เช่น ทักษะทางภาษา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพ ฯลฯ รวมทั้งจุดมุ่งหมายในอาชีพหรือ Career Objective ที่ควรอยู่ในย่อหน้าแรกของ Resume เพราะเป็นการสรุปให้บริษัททราบว่าคุณมีดีอะไร ทำไมถึงเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ ควรเขียนด้วยประโยคที่เรียบง่าย ความยาวไม่เกิน 2 บรรทัด ระบุเงินเดือนที่คาดหวังไปด้วย ทั้งนี้ Resume ไม่ควรยาวเกิน 1 หน้ากระดาษ สิ่งสำคัญคือควรแยกแต่ละหัวข้อให้ชัดเจน เรียงลำดับข้อมูลการศึกษาและฝึกงานตามลำดับเวลา จัดหน้ากระดาษให้ดูอ่านง่าย ใช้คำที่กระชับ เพราะ Resume ที่มีรายละเอียดเยอะจนเกินไป อ่านแล้วไม่สบายตา จะเสี่ยงต่อการถูกคัดทิ้ง

จะเห็นได้ว่า Resume และ Cover Letter นั้นมีจุดประสงค์แตกต่างกัน โดยสรุปก็คือ Resume มีไว้เพื่อบอกข้อมูลเบื้องต้นของผู้สมัคร ส่วน Cover Letter มีไว้เพื่อแนะนำตัวและโน้มน้าวให้ฝ่าย HR ทราบว่าทำไมคุณถึงเหมาะสมกับตำแหน่งงาน  ขอแนะนำให้คุณยื่นทั้งสองอย่างในการสมัครงาน ในบางสาขาอาชีพอาจจะต้องมี Portfolio เพื่อประกอบการพิจารณา เช่น สายงานดีไซน์และครีเอทีฟ ให้คุณคัดเลือกผลงานเด่นๆ หรือจะสร้างผลงานใหม่ขึ้นมาเลยก็ได้

สัมภาษณ์งานอย่างมั่นใจ

เมื่อคุณถูกเรียกสัมภาษณ์ โอกาสจะได้งานก็มีเกินกว่าครึ่งแล้ว แต่สิ่งที่คนเรียนจบไม่ตรงสายมักจะกังวลก็คือการตอบคำถาม เรามีแนวทางการตอบคำถามมาฝากกันค่ะ

  • ทำไมสมัครงานไม่ตรงกับที่เรียนเลย?

ผู้สัมภาษณ์อยากทราบว่าคุณมีความตั้งใจที่จะทำงานในตำแหน่งนี้มากแค่ไหน หรือแค่เป็นความสนใจชั่ววูบ น้องๆ ที่จบใหม่ก็ควรเล่าถึงความรู้ในสาขาที่เรียนมาซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับตำแหน่งงานที่สมัครได้ เช่น จบบัญชีแต่ สมัครงาน AE ก็อธิบายไปว่างานบัญชีไม่ได้เรียนแค่ตัวเลขอย่างเดียว ยังได้เรียนการบริหารจัดการงบประมาณ ที่สามารถนำทักษะตรงนี้มาพัฒนางานขายได้ ช่วยคำนวณงบประมาณได้อย่างถูกต้อง

  • คิดว่าเสียเวลากับสิ่งที่เรียนจบมามั้ย?

ผู้สัมภาษณ์อยากทราบทัศนคติต่ออาชีพที่คุณสนใจ ควรตอบว่าความรู้ที่เคยเรียนมาสามารถนำมาปรับใช้กับตำแหน่งงานได้ หรืออธิบายว่าลักษณะงานตรงกับไลฟ์สไตล์ของคุณอย่างไร การได้ทำอาชีพที่รักยังช่วยให้ มีความสุขกับการทำงาน มากขึ้น แล้วยังเปิดโอกาสให้เจอกับกลุ่มคนใหม่ๆ เปิดมุมมองทางความคิด ทำให้ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองในหลายๆ ด้าน

  • มีอะไรอยากถามมั้ย?

ช่วงสุดท้ายที่ผู้สัมภาษณ์จะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ถามกลับบ้าง ไม่ควรถามไปตรงๆ ว่าเงินเดือนจะขึ้นเท่าไหร่เมื่อผ่านโปร หรือถามว่าจะได้งานไหม แต่ควรถามว่าบริษัทอยากได้คนแบบไหนเข้าไปร่วมงาน และคุณมีข้อบกพร่องที่ควรแก้ไขและพัฒนาได้อย่างไร คำถามกลับเหล่านี้เป็นการหยั่งเชิงว่าคุณสมบัติของคุณเข้าตาผู้สัมภาษณ์แค่ไหน และมีแนวโน้มจะได้งานหรือเปล่า

หลายคนอาจจะมองว่าการสมัครงานในตำแหน่งไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมาจะกลายเป็นข้อด้อย ที่ทำให้เราต้องเหนื่อยกว่าคู่แข่งหลายเท่า แต่ถ้าเรามีความตั้งใจที่แน่วแน่และมีศักยภาพเพียงพอ การพิสูจน์ตัวเองเพื่อจะทำอาชีพในฝันก็สำเร็จได้ไม่ยากjobsdbขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ จบใหม่ทุกคน

#ให้ก้าวแรกของการทำงานกำหนดเส้นทางชีวิตคุณ
#jobsDB

ลงทะเบียนสมัครงาน

หางานได้ง่ายกว่าเดิมผ่าน application บนมือถือจากjobsDBทั้ง iOS และ Android โหลดเลย

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด