10 เช็กลิสต์อาการ FOMO คุณกำลังเป็นคนกลัวตกเทรนด์อยู่หรือเปล่า

10 เช็กลิสต์อาการ FOMO คุณกำลังเป็นคนกลัวตกเทรนด์อยู่หรือเปล่า
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องรู้ว่าเรื่องอะไรกำลังเป็นเทรนด์ในสังคม ข่าวดังประจำวันไม่เคยพลาด คาเฟ่ไหนที่ว่าชิคต้องไปตาม ขนมร้านไหนที่ว่าเด็ดต้องสั่งมาทานให้ได้ เรียกว่าตามทุกข่าวสาร ทุกกระแสในโซเชียลมีเดียไม่เคยพลาด เพราะกลัวว่าจะ “คุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง!” มีเรื่องอะไรเด็ด คุณต้องขอแชร์บนฟีดก่อนเพื่อน และบางครั้งที่เกิดตกขบวน ตกข่าวแบบไม่ได้ตั้งใจ เพื่อนคุยกันในวง แต่เจ้าแม่อินเทรนด์อย่างคุณไม่รู้เรื่องได้ไง ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ผิดหวังกับตัวเองเล็ก ๆ จนเกิดความรู้สึกแปลกแยกขึ้นมาซะอย่างงั้น ถ้าคุณเคยมีความรู้สึกแบบนี้ คุณอาจกำลังเข้าข่ายมีอาการ FOMO โดยไม่รู้ตัว !

10 เช็กลิสต์อาการ FOMO คุณกำลังเป็นคนกลัวตกเทรนด์อยู่หรือเปล่า

FOMOย่อมาจากFear of missing outคือ อาการกลัวตกข่าว กลัวตกเทรนด์ ทำให้รู้สึกกังวลว่าตัวเองจะพลาดเรื่องอะไรไปตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องฮิต ประเด็นร้อนในสังคม หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ ที่คุยกันในแชทหรือในกลุ่มเพื่อนสนิทก็ด้วย จนทำให้รู้สึกเป็นกังวล แปลกแยกจากกลุ่ม จนเกิดความเครียดกับตัวเอง และอาจส่งผลถึง self-esteem ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นตามมา

หลายคนอาจคิดว่าอาการกลัวตกข่าวเพิ่งจะมีเมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ข่าวสารกระจายได้ไวยิ่งกว่าจรวด แต่ความเป็นจริงแล้ว คำว่า FOMO ถูกบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 โดย ดร.แดน เฮอร์แมน (Dr. Dan Herman) จากการวิจัยเพื่อสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด เพราะไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ยุคไหน ก็อยากรู้เรื่องของคนอื่นไม่ต่างกัน พอมาถึงยุคที่คนมีพฤติกรรม Hyper connected เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตพร้อมรับข่าวสารตลอดเวลา คำนี้จึงถูกนำมาใช้อธิบายอาการของคนติดโซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี

จากงานวิจัยของ Carleton University และ McGill University ที่ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2018 ได้ทดลองเรื่องนี้กับนักศึกษากลุ่มหนึ่ง โดยให้พวกเขาเขียนไดอารี่ในแต่ละวันจากลิงก์ที่ส่งไปให้บนสมาร์ทโฟน ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน พบว่าผู้เข้าร่วมการทดลอง มักจะเกิดอาการกลัวตกข่าวในช่วงสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะกับคนที่มีภาระส่วนตัว เช่น การเรียนหรือการทำงาน มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการกลัวตกข่าวมากกว่าคนอื่น จนทำให้เกิดความเครียดและอาการนอนไม่หลับ อาจเป็นเพราะคนที่มีภาระส่วนตัว อาจจะพลาดการพักผ่อนและขาดอิสระในการใช้ชีวิต ทำให้พอถึงช่วงเวลาสุดสัปดาห์ที่ควรเป็นเวลาพักผ่อน กลับไม่ได้ใช้ชีวิตแบบคนอื่น อาจทำให้พวกเขารู้สึก ‘พลาด’ อะไรบางอย่างไป

อีกงานวิจัยหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์บน Brazilian Journal of Psychiatry ก็พูดถึงจำนวนครั้งของการเช็กโซเชียลมีเดียบนสมาร์ทโฟนเช่นกัน ว่ายิ่งเราเช็กมากเท่าไหร่ยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการกลัวตกข่าวมากเท่านั้น โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศหรืออายุ ทำให้อาจสรุปได้ว่า อาการกลัวตกข่าวอาจมีผลต่อความพึงพอใจในชีวิต จากการเสพข่าวและรับรู้เรื่องราวชีวิตคนอื่นผ่านสื่อโซเชียล

พฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์เฉลี่ย 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน ผลสำรวจในปี 2020 พบว่าคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ต ผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการไถฟีดในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook Instagram Twitter Tiktok และดูคอนเทนต์บน Video Streaming อย่าง Netflix ทำให้คนไทยประมาณ 25.3 ล้านคน มีพฤติกรรมเสพติดอินเทอร์เน็ตเข้าข่ายอาการ FOMO โดยที่มีคน Gen Z และ Gen Millennials เสพติดอินเทอร์เน็ตมากที่สุด เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้เกิดและเติบโตมาพร้อมกับยุคดิจิทัล ทำให้สามารถปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วและพร้อมใช้ชีวิตประจำวันกับเทคโนโลยีตลอดเวลา

Checklist เช็กอาการ FOMO คุณกำลังติดโซเชียลอยู่หรือเปล่า?

  1. ชีวิตนี้ขาด “โทรศัพท์มือถือ” ไม่ได้ ต้องมีอยู่ข้างกายตลอดเวลา เรียกว่าเป็นอวัยวะที่ 33
  2. หยิบมือถือขึ้นมาเช็กทุก 1 นาที ไถฟีด Facebook IG Twitter ทุกครั้งที่ว่าง
  3. มีเสียงแจ้งเตือน Notification เด้งมาเมื่อไหร่ ต้องหยิบขึ้นมาดูทันที ไม่สามารถพลาดได้แม้แต่ครั้งเดียว
  4. ไม่อยากตกกระแส ไม่ชอบพลาดข่าวร้อน เรื่อง Talk of the town เพราะกลัวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง
  5. เจ้าแม่สายแชร์ แชร์ทุกเรื่องบนฟีดตัวเอง พร้อมอัปเดตชีวิตตัวเองตลอด ทำอะไร ที่ไหน โลก(ออนไลน์)ต้องรู้
  6. มีอาการอารมณ์แปรปรวน ถ้าไม่ได้เล่นโซเชียล
  7. ใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า 6 ชม./วัน
  8. รู้สึกกังวล ไม่สบายใจ เมื่อมีคนไม่เห็นด้วย หรือถูกตำหนิบนโซเชียลมีเดีย
  9. เกิดอาการไม่สบายใจ เวลาต้องเลื่อนนัด หรือพลาดนัดไม่ได้ไปเจอแก๊งค์เพื่อน พร้อม ๆ กับคนอื่น
  10. มีอาการซึมเศร้า รู้สึกมีความสุขน้อยลง เมื่อตัวเองไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ต้องการ

หากคุณมีอาการด้านบนมากกว่า 4 ข้อ บอกได้เลยว่า คุณเข้าข่ายอาการ FOMO เข้าให้แล้ว

มีอาการกลัวตกข่าวแล้ว รักษาอย่างไรดี

แม้ว่าอาการกลัวตกข่าวอาจไม่ได้ร้ายแรงจนเรียกว่าเป็นอาการทางจิตที่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ถ้าเป็นหนักขึ้น ก็อาจพัฒนาไปสู่อาการทางจิตอื่น ๆ ได้ เพราะอาการกลัวตกข่าวอาจทำให้คุณเกิดความไม่พอใจในชีวิตของตัวเอง เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เกิดความเครียดและส่งผลกระทบต่อจิตใจตัวเองอย่างหนัก ทำให้ self-esteem ลดลง จนอาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ตามมา แต่ข่าวดีก็คือ หากคุณยังมีอาการกลัวตกข่าวไม่รุนแรง คุณสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อลดอาการกลัวตกข่าวของคุณได้ ด้วยการบำบัดอาการติดโซเชียล ดังนี้

  • จำกัดชั่วโมงการเล่นมือถือต่อวันของตัวเอง
  • ปิดเสียงการแจ้งเตือน หรือจะลองปรับเป็นโหมดออฟไลน์บ้าง เพื่อเลี่ยง notification ที่จะเด้งมาให้กระวนกระวายใจ
  • เปลี่ยนกิจกรรมเวลาว่าง จากเล่นมือถือ ไปทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย พาหมาไปเดินเล่น
  • ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนและครอบครัว แบบเจอกันตัวเป็น ๆ ให้มากขึ้น ระหว่างนั้นก็พยายามฝึกตัวเองให้จับมือถือให้น้อยลง เน้นพูดคุยกับคนตรงหน้าให้มากขึ้น
  • พยายามเลี่ยงการอยู่คนเดียว ที่อาจทำให้เผลอจับมือถือได้ง่าย ๆ และออกไปทำกิจกรรมที่ต้องพบเจอพูดคุยกับคนจริง ๆ ตัวเป็น ๆ ลองออกไปเดินทางท่องเที่ยว หรือลงเรียนคอร์สปั้นเซรามิก หรือคอร์สทำอาหารที่สนใจอยู่ก็ได้ เพื่อให้คุณได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น

แม้ว่าการเล่นโซเชียลจะช่วยแก้เหงาในวันที่คุณต้องอยู่คนเดียวได้ ช่วยให้คุณรับรู้ข่าวสาร ได้พูดคุยกับคนอีกซีกโลกได้ง่าย ๆ แต่ถ้าคุณติดมือถือจนเริ่มกัดกินความสดใส รู้สึกไม่พอใจกับชีวิตซะแล้ว นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกว่าคุณควรเข้าสู่โหมด Digital detox หรือลดเวลาที่อยู่บนโลกออนไลน์ หันมา disconnect to connect กับผู้คนในโลกจริงตรงหน้า ให้เวลากับชีวิต Real life มีความสุขกับสิ่งรอบตัวให้มากขึ้น คุณจะได้ไม่ต้องมีอาการ FOMO ตกเป็นเหยื่อโลกโซเชียล จนทำให้เสียสุขภาพจิตที่ดี จนลามไปสู่การเสียสุขภาพกายในอนาคต

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/nomophobia-%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%96%e0%b8%b7%e0%b8%ad/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/shift-work-%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b0/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/5-%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%98%e0%b8%b5%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3-burnout/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด