16 สิ่งที่ควรทำก่อนเลิกงานทุกๆ วัน

16 สิ่งที่ควรทำก่อนเลิกงานทุกๆ วัน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

หลักในการทำงานที่ดีคือต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยจัดการให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น เพราะแน่นอนว่าในหนึ่งวันของการทำงานคุณต้องกับเจอเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง, เรื่องราวอันน่าปวดหัวจากเพื่อนร่วมงาน, ความเยอะสิ่งจากลูกค้า หรือแม้กระทั่งอุปสรรคอื่นๆ ที่พร้อมจะเข้ามาท้าทายคุณอยู่เสมอ

สิ่งที่ควรทำก่อนเลิกงาน

ดังนั้นหากในแต่ละวันคุณมีการจัดการเรื่องราวของงานต่างๆ ให้เป็นระบบ วางลำดับทุกอย่างก่อนหลังอย่างเป็นระเบียบ รับรองว่าเส้นทางในออฟฟิศจะต้องโรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน ซึ่งวิธีง่ายๆ ก็แค่ทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา พร้อมทั้งวางแผนต่อว่ามีอะไรที่ตกค้างอยู่บ้าง โดยสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ง่ายๆ หลังเลิกงาน นอกจากจะช่วยให้ชีวิตการทำงานคุณง่ายขึ้นแล้ว สิ่งเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเครียดของคุณได้อีกด้วย ถ้าอย่างนั้นไปดูกันเลยดีกว่า 16 สิ่งที่เราควรทำก่อนเลิกงานในทุกๆ วัน จะมีอะไรบ้าง

เช็คลิสต์ 16 สิ่งที่ควรทำก่อนเลิกงาน

1. ประเมินตัวเอง

สิ่งแรกที่ควรทำแบบไม่ต้องมองไปไหนไกล คือการประเมินตัวเอง ให้ลองถามตัวเองว่าสิ่งที่เราในแต่ละวันนั้นประสบความสำเร็จมากเพียงใด หรือมีจุดไหนที่ต้องแก้ไขบ้างหรือไม่ อาจลองนั่งลิสต์ออกมาแล้วจดไว้ในกระดาษก็ได้ แล้วก็นำสิ่งที่เขียนมาประเมินอีกครั้ง โดยควรนำสิ่งที่เขียนมาจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง อะไรควรทำก่อนทำหลัง สิ่งไหนจำเป็น หรือสิ่งไหนที่สามารถตัดออกไปได้

ซึ่งการทำวิธีนี้ก็จะมีส่วนช่วยในการลดปัญหาการทำงานลงได้ไม่มากก็น้อย แถมยังมีส่วนช่วยให้คุณเห็นช่องโหว่ในตัวเอง จะได้หาวิธีอุดรอยรั่วนั้น นำไปสู่การพัฒนาทักษะของตัวเองต่อไป พร้อมต่อยอดไปสู่ความสำเร็จของอาชีพในอนาคต

2. ทบทวนตารางการทำงานในวันต่อไป

แน่นอนว่างานบางงานไม่สามารถเคลียร์ให้จบได้ในวันเดียว หรือบางทีใน 1 วัน ก็ดันมีงานถาโถมเข้ามาจนล้น ทำให้ไม่สามารถเคลียร์ทั้งหมดได้ภายใน 1 วัน ดังนั้นเพื่อหลีกเหลี่ยงการเกิดดินพอกหางหมู คุณจึงต้องควรมีการจัดการวางแผนที่ดีในการจัดตารางการทำงานให้เป็นระเบียบแบบแผน

เมื่อใกล้เลิกงานลองนั่งลิสต์ดูว่า มีจ็อบไหนที่เคลียร์เสร็จไปแล้ว มีงานไหนที่ยังอยู่ระหว่างทาง และมีงานไหนอีกบ้างที่ยังอยู่ใน Waiting List อยู่ ข้อดีของการทบทวนตารางงานคือจะช่วยไม่ให้เราหลงลืมหรือตกหล่นอะไรที่สำคัญไป และสามารถเคลียร์ทุกอย่างให้จบได้แบบเป็นขั้นเป็นตอน

นอกจากทำลิสต์งานที่ต้องเคลียร์แล้ว อยากให้ลองดูด้วยในวันรุ่งขึ้นมีประชุมหรือไม่ มีนัดหมายกับลูกค้าเวลาไหนหรือเปล่า ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยเตือนความจำล่วงหน้า เพราะหากคุณลืมจนผิดนัดหรือไปสาย คงจะไม่ดีแน่ๆ

3. คุยกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน

หากทีมของคุณไม่มีการจัด Daily Meeting หรือจัดแค่เพียงสัปดาห์ละครั้ง เราอยากให้ลองหาเวลาก่อนเลิกงานคุยกับหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานแบบไม่เป็นทางการดู อาจจะไม่ต้องเป็นนัดใหญ่โตแบบการประชุมหลัก แต่ลองหาเวลาคุยกันในทีมสัก 5-10 นาที เพื่อเป็นการอัปเดตโปรเจคต์หรืองานที่กำลังสะสางกันอยู่ เพราะเราเชื่อว่าหากมีการสื่อสารกันภายในทีมอยู่ตลอด จะช่วยให้เกิดปัญหาต่างๆ น้อยลง และงานต่างๆ ก็จะเสร็จได้ตามเวลา

4. เคลียร์งานให้เสร็จ

ว่าด้วยเรื่องของระบบการทำงานที่ดี หากงานชิ้นไหนที่สามารถจบได้แบบรวดเร็ว ก็ควรทำให้เสร็จไม่เกินวันๆ นั้น เพื่อป้องกันการยืดเยื้อและงานที่อาจสะสมได้ ดังนั้นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเคลียร์งานก็คือตอนใกล้จะเลิกงานนี่แหละ เพราะถ้าหากคุณปล่อยให้งานของวันนี้ไม่เสร็จ ก็อาจจะกลายเป็นการคั่งค้างและสะสมไปพอกพูนกับงานใหม่ของวันรุ่งขึ้นได้ จนกลายเป็นว่าวันใหม่จะเป็นวันที่วุ่นวายสุดๆ อย่างแน่นอน ดังนั้นการวางแผนเรื่องจำนวนชิ้นงานยังถือเป็นเรื่องสำคัญเสมอ

5. เช็คอีเมล

การสื่อสารทางอีเมลถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญของการทำงานภายในบริษัท บางที่อาจสื่อสารกันผ่านการแชททางแอปพลิเคชันต่างๆ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของอีเมลแล้ว แน่นอนว่าย่อมต้องเป็นอะไรที่ดูทางการขึ้นมาบ้างแน่นอน ในระหว่างวันคุณอาจจะยุ่งไปบ้าง จนลืมเช็คอีเมลหรือตอบกลับเรื่องสำคัญต่างๆ ดังนั้นก่อนเลิกงานจึงควรเช็ค Inbox อีเมลของคุณอีกครั้ง ว่ามีอะไรที่ตกค้างหรือไม่ หากต้องตอบอีเมลใคร ให้ควรรีบตอบภายในวันนั้นๆ ก่อนเลิกงาน หากปล่อยทิ้งไว้เพื่อตอบในวันรุ่งขึ้น อาจจะทำให้คุณลืม และส่งผลเสียต่องานชิ้นนั้นได้ แถมยังดูเป็นการเสียมารยาทเล็กๆ อีกด้วย

6. เรียงลำดับความสำคัญในการตอบอีเมล

ต่อกันอีกสักนิดกับเรื่องของอีเมล เมื่อแพลนที่ตอบกลับอีเมลต่างๆ แล้ว คุณควรเรียงลำดับความสำคัญของอีเมลนั้นๆ ให้ชัดเจนด้วย โดยพิจารณาในแต่ละอีเมลว่างานไหนที่สำคัญกว่า หรืองานไหนที่มีเดดไลน์กระชั้นชิดที่ต้องรีบส่งงาน ก็ควรดึงอีเมลเหล่านี้ขึ้นมาตอบก่อน แต่ถ้าหากงานนั้นต้องใช้เวลามากขึ้นในการทำงาน ก็ควรระบุในอีเมลให้ชัดเจนถึงเหตุผล พร้อมใส่วันเวลาที่คาดว่าจะส่งงานได้ให้ชัดเจน

7. วางแผนให้รอบคอบ

การวางแผนที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่บางครั้งบรรยากาศภายในออฟฟิศที่เต็มไปด้วยความเครียด อาจเป็นอุปสรรคในการวางแผนได้ ในยุคนี้การวางแผนงานจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในออฟฟิศ แต่ทุกๆ ที่คุณไป ก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจในการคิดงานได้เช่นกัน เพียงแค่นี้ก็อาจลดความเครียดจากการทำงานได้ เผื่อจะได้ไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ แถมมาด้วยก็ได้

8. เอาใจใส่เพื่อนร่วมงาน

บางคนพอถึงเวลาเลิกงานปุ๊บ ก็พร้อมลุกจากโต๊ะในทันใด แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราใส่ใจเพื่อนร่วมทีมและคนรอบข้าง รวมไปถึงหัวหน้างานด้วย ลองถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันดูสักนิด ว่าวันนี้ทำงานเป็นอย่างไร เครียดกันแค่ไหน หรืออาจจจะลองชวนคุยเรื่องอื่นๆ เช่น หลังเลิกงานมีแพลนไปไหน เป็นต้น เพียงแค่นี้ก็จะช่วยเสริมสร้างให้บรรยากาศให้ออฟฟิศดูผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น แถมยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในทีม ให้การทำงานราบรื่นขึ้นอีกด้วย

9. ทำความสะอาดโต๊ะทำงาน

ความสะอาดของโต๊ะทำงานก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในการสร้างเสริมบรรยากาศการทำงานให้ดีขึ้น เพราะลองคิดดูว่าหากคุณเจองานเครียดๆ มา แล้วกลับต้องมาเจอโต๊ะทำงานของตัวเองที่ยุ่งเหยิงเต็มไปด้วยสิ่งของต่างๆ มากมาย ก็อาจทำให้บรรยากาศกลับกลายเป็นเคร่งเครียดมากขึ้นก็เป็นได้ ดังนั้นจึงควรใช้เวลาอย่างน้อย 15 นาทีก่อนเลิกงาน ในการทำความสะอาดโต๊ะทำงานให้ดูดีและเรียบร้อยอยู่เสมอ

10. ลองทำสิ่งใหม่ๆ

เมื่อคุณได้ปฏิบัติตามข้อต่างๆ ที่เราแนะนำไปแล้ว ผสานกับการบริหารเวลาการทำงานที่ดี สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งผลให้เช้าวันรุ่งขึ้นของการทำงานสดใสยิ่งขึ้น และทุกอย่างก็ดำเนินไปตามแผน ซึ่งคุณอาจจะมีว่างเหลือมากขึ้น โดยคุณสามารถนำเวลาตรงนี้มาคิดหรือทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายตัวเองมากขึ้น หรืออาจริเริ่มในการวางแผนงาน เสาะหาโปรเจคต์ใหม่ๆ เพื่อทดลองทำสิ่งที่แตกต่าง จุดนี้จะถือเป็นการช่วยให้ก้าวหน้าในสายงานได้ดีขึ้น แถมยังได้เพิ่มทักษะในการทำงานอีกด้วย

11. บันทึกความสำเร็จ

ท่ามกลางความเครียดจากการทำงาน เรื่องของกำลังใจถือเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจให้คุณมีแรงสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในบางครั้งกำลังใจจากคนรอบข้างอาจจะไม่มากพอ ดังนั้นคุณจึงควรสร้างกำลังใจให้ตัวเองด้วยเช่นกัน วิธีง่ายๆ เลยก็คือ ลองเขียนสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ มาอย่างน้อยสัก 3 ข้อ แล้วค่อยๆ บันทึกเป็นข้อมูลเอาไว้ทุกวัน หากวันไหนรู้สึกเหนื่อยๆ ให้ลองหยิบข้อความเหล่านี้ แล้วคุณจะได้รู้ว่าที่ผ่านมา คุณก็เคยประสบความสำเร็จ และต่อสู้กับปัญหาต่างๆ จนผ่านพ้นมันมาได้แล้ว

12. บอกลาเพื่อนก่อนกลับ

การกล่าวคำทักทายและคำบอกลาถือเป็นมารยาทที่ดีอย่างหนึ่งในสังคม ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงใดก็ตาม รวมถึงในออฟฟิศก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นก่อนกลับบ้าน การกล่าวบอกลาหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมทีม จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำ แม้บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่าเราต้องทำงานกับพวกเขาเหล่านี้ไปอีกยาวๆ เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา

13. กลับบ้านด้วยการคิดบวก

สานต่อจากข้อก่อนหน้านี้ที่เราแนะนำให้คุณเขียนบันทึกความสำเร็จไว้ ซึ่งจุดนี้นี่แหละจะช่วยฝึกให้คุณมองโลกในแง่ดีและเป็นที่คิดบวกมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเราได้มองเห็นถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลให้อารมณ์ของเราดีตามไปด้วย จิตใจของเราก็จะปลอดโปร่ง ปราศจากอคติต่อปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าหากต้องพบเจอกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ให้คิดว่าทุกอย่างมีทางออกเสมอ หากวันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างไรเสียก็ยังมีวันพรุ่งนี้ที่รอให้เรากลับมาต่อสู้ ดังนั้นจึงควรกลับบ้านด้วยเส้นทางของทุ่งดอกลาเวนเดอร์ ไม่ใช่เส้นทางสู่วงแหวนแห่งไฟ

14. เตรียมตัดขาดเรื่องงาน

เมื่อคิดบวกได้แล้ว ก็เตรียมตัวเข้าสู่โหมดชีวิตส่วนตัว แน่นอนว่าชีวิตของทุกคนไม่ได้วนอยู่กับออฟฟิศเสมอไป ทุกอย่างย่อมต้องมีเวลาส่วนตัวด้วยเช่นกัน ดังนั้นคุณก็ควรที่แยก 2 เรื่องนี้ออกจากกันอย่างชัดเจนด้วย เมื่อเลิกงานควรพยายามตัดขาดเรื่องของงานออกไปให้ได้มากที่สุด แต่อาจจะไม่ต้องถึงขั้น 100% เพราะเผื่อว่ามีเรื่องด่วนที่เข้ามา ถ้าคุณแบ่งเวลาให้ดี ระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว รับรองว่าความสุขจะไม่ไปไหนไกล และจะมีชีวิตแบบ Work Life Balance ที่สมบูรณ์

15. อย่านำความเครียดใส่กระเป๋ามาด้วย

ข้อนี้บอกเลยว่าสำคัญมาก บางคนเจอปัญหาอันหนักหน่วงจากงาน จากที่คนที่ทำงาน จนเครียดมาตลอดทั้งวัน เมื่อถึงเวลาเลิกงาน คุณจึงควรตัดเรื่องแย่ๆ พวกนั้นออกให้หมด อย่านำติดกลับบ้านมาคิดต่อให้ปวดหัวเด็ดขาด เพราะนี่อาจส่งผลต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายของคุณได้ เคยมีคนที่เผลอนำ 2 เรื่องนี้ปนกัน จนพลอยทำให้ชีวิตส่วนตัวขาดความสุขไปด้วย ดังนั้นหากมีเรื่องเครียด ควรปล่อยทิ้งไว้ที่ทำงาน วันรุ่งขึ้นค่อยกลับมาแก้ไข แล้วชีวิตคุณจะมีความสุขขึ้นอีกมากโข เราเตือนแล้วนะ!!!

16. ได้เวลากลับบ้าน

เมื่อทำเช็คลิสต์ด้านบนมาจนเสร็จสิ้น ก็ถึงขั้นตอนสุดท้ายนั่นคือกลับบ้านนั่นเอง เมื่อเคลียร์งานทุกอย่างเสร็จตามเวลาแล้ว ไม่ต้องกลัวถ้าต้องลุกออกจากโต๊ะกลับบ้านเป็นคนแรกๆ ก่อนคนอื่น เพราะถ้าเราทำทุกอย่างได้ตามเป้าหมายแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เพราะคนที่กลับบ้านดึกหรือกลับทีหลังคนอื่น ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นที่คนขยันเสมอไป ดังนั้นไม่ต้องแคร์สายตาใครทั้งสิ้น แล้วเตรียมตัวเดินออกจากออฟฟิศแบบสวยๆ สับๆ ด้วยความสดใสและพลังบวกอย่างเต็มที่

สรุปเช็คลิสต์ 16 สิ่งที่ควรทำก่อนเลิกงานทุกๆ วัน

ในชีวิตการทำงานย่อมต้องมีการวางแผนที่ดี เพื่อความสำเร็จในชิ้นงานและความก้าวหน้าในอาชีพ รวมไปถึงการทำงานย่อมต้องมีความสุขเป็นพื้นฐาน เพื่อทำให้เราหลีกหนีจากความเครียดให้ได้มากที่สุด ดังนั้นการลองทำเช็คลิสต์ที่เราแนะนำไป ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แล้วความสุขในการทำงานก็จะตามมาเอง

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%9a%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%9a-work-hard-work-smart/

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด