5 วิธีวางแผนการเงินสำหรับเด็กจบใหม่ให้มีชีวิตดีๆ ที่ลงตัว

Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของชีวิตคือหลังเรียนจบ...เมื่อเริ่มต้นทำงาน หลายคนเริ่มหา งานสำหรับเด็กจบใหม่ เมื่อได้งานแล้วก็เริ่มมีความคิดที่จะเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต แต่ก็มักจะมีปัญหาทุกสิ้นเดือนเพราะยิ่งมีเงินมากเท่าไหร่ก็เหมือนกับว่าจะไม่พอใช้ไปซะทุกที ยิ่งสิ้นเดือนก็ยิ่งรู้สึกเหมือนจะสิ้นใจเสียให้ได้ สำหรับ เด็กจบใหม่ ที่ไม่อยากเกิดอาการเดือนชนเดือนแบบนี้ ต้องมาดู 5 วิธี วางแผนการเงิน ให้มีชีวิตที่ดีและลงตัวกันดีกว่า

แบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ

การแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ จะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการเงินได้ดีมากขึ้น เพราะรู้ว่าเงินส่วนไหนต้องนำไปใช้เพื่ออะไร ซึ่งจากเทคนิคการออมเงินระบบ JARS System ที่คิดค้นขึ้นโดย T Harv Eker ได้ใช้โหลเป็นสัญลักษณ์แทนเงินแต่ละส่วน โดยแบ่งเป็น 6 ส่วน ดังนี้

  • ส่วนที่1ใช้เป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยคิดเป็น 55% ของรายได้ทั้งหมด
  • ส่วนที่2เป็นเงินสำหรับการพักผ่อนคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด เพื่อใช้เป็นรางวัลของการทำงานในแต่ละเดือน
  • ส่วนที่3เป็นเงินสำหรับการลงทุน คิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด หรืออาจมากกว่านี้ได้แล้วแต่บุคคล เป็นเงินที่ใช้สำหรับการลงทุนเพื่อความมั่นคงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ซื้อกองทุน, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ซื้อหุ้น, ซื้อประกัน, ซื้อสลากออมสิน หรือการลงทุนรูปแบบอื่นๆ
  • ส่วนที่4สำหรับใช้ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และพัฒนาตนเองให้มากยิ่งขึ้น
  • ส่วนที่5เป็นการแบ่งเงินเพื่อบริจาคหรือทำบุญด้วยที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้จิตใจเบิกบานเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้เมื่อต้อง ยื่นภาษี อีกด้วย
  • ส่วนที่6นอกจากเงินสำหรับการลงทุนแล้วควรแบ่งเงิน 10% ของรายได้มาเก็บไว้เป็นเงินออมเผื่อความจำเป็นฉุกเฉิน การมีเงินเก็บส่วนนี้จะทำให้คุณไม่ต้องเป็นหนี้หรือยืมเงินคนอื่นเมื่อยามจำเป็น

ตั้งเป้าหมายเพิ่มช่วยให้เก็บเงินได้มากยิ่งขึ้น

การตั้งเป้าหมายจะช่วยให้เราสามารถเก็บเงินได้มากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเรามีเป้าหมายจะทำให้เราประหยัดเงินในส่วนอื่นๆ อย่างเช่นค่าใช้จ่ายประจำวัน หรือเงินสำหรับการพักผ่อนมาทำให้ยอดเงินเก็บถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ และเมื่อเราเห็นเงินส่วนที่เก็บไว้สำหรับเป้าหมายที่ตั้งไว้เพิ่มขึ้นเราก็จะยิ่งมีความสุขกับสำหรับการเก็บเงินมากขึ้น

ทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย

เด็กจบใหม่หลายคนอาจจะทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เรามองเห็นว่าเราใช้จ่ายให้กับเรื่องอะไรไปบ้าง และค่าใช้จ่ายนั้นมากเกินความจำเป็นหรือไม่ หากมากเกินไปเราก็จะสามารถบริหารจัดการเงินได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงยังสามารถจัดสรรเงินสำหรับการออมและ การลงทุน ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

วางแผนการลงทุนระยะยาว

การออมอาจไม่ใช่ทางเดียวที่นำไปสู่ความมั่นคงในระยะยาว แต่การลงทุนที่ถูกวิธีจะทำให้เกิดความมั่นคงในระยะยาวได้ ซึ่งจะต้องศึกษาให้เข้าใจก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กจบใหม่หรือคนที่ไม่เคยศึกษาเรื่องการลงทุนมาก่อน เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยงโดยการลงทุนมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในตราสารหนี้, พันธบัตร, หุ้น, กองทุน, ทอง หรือสลากออมสิน ที่มีระดับความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป การศึกษาข้อมูลทางด้านการลงทุนจะช่วยให้เราสามารถเลือกลงทุนในกลุ่มความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เรายอมรับได้ เพื่อให้เงินที่เก็บไว้งอกเงยได้มากขึ้น

มองหาธุรกิจหรืออาชีพอื่นเพิ่มเติม

ในปัจจุบันการทำงานเพียงอย่างเดียวก็คงไม่เพียงสำหรับการเงินในอนาคตหลายคนจึงเลือกมองหาธุรกิจหรืออาชีพอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค E-Commerce ที่สามารถทำธุรกิจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามควรศึกษาข้อมูล และวางแผนการลงทุนให้ดีเพราะการทำธุรกิจจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก หากพลาดไปก็จะทำให้เสียเงินก้อนใหญ่เลยทีเดียว

การวางแผนทางการเงินถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ โดยเฉพาะกับเด็กจบใหม่ที่หากเริ่มต้นวางแผนทางการเงินได้ดีและเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้มีชีวิตที่ดีมากขึ้นเท่านั้น การวางแผนทางการเงินที่ดีไม่ใช่เพียงแค่การเก็บออมเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการตั้งเป้าหมาย และการลงทุนให้เงินที่เก็บออมไว้ออกดอกออกผลได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากจะมีชีวิตที่ดีแล้วยังช่วยให้ฐานะทางการเงินหลังเกษียณอายุราบลื่นขึ้นอีกด้วย

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด