ลงทุนง่าย ๆ กับกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ เพื่ออนาคตที่มั่นคงของมนุษย์เงินเดือน

ลงทุนง่าย ๆ กับกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ เพื่ออนาคตที่มั่นคงของมนุษย์เงินเดือน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

เพราะชีวิตของมนุษย์เงินเดือนคือวิถีชีวิตที่ฝากไว้กับเงินเดือนเป็นหลัก และสำหรับมนุษย์เงินเดือนบางราย เงินเดือนที่ได้มานั้นนับเป็นรายได้หลักเพียงทางเดียว ลองคิดดูว่า รายรับคงที่ แต่รายจ่ายไม่เคยคงที่เลยสักเดือน อาจสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของตัวเองหรือคนรอบข้าง เงินเดือนที่ได้แบบคงที่นี้ย่อมไม่มั่นคงและเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในอนาคตอย่างแน่นอน มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายจึงต้องมีความรู้ในการลงทุนสำหรับอนาคตและการเกษียณอย่างยั่งยืน

สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวเอง จะได้ทำงานอย่างมั่นใจ ไร้กังวลต่ออนาคตที่จะมาถึงทั้งระยะใกล้และระยะไกล

แล้วการลงทุนแบบไหนที่เหมาะกับมนุษย์เงินเดือน ซึ่งอาจไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเหมือนอย่างนักลงทุนทั้งหลาย ง่าย ๆ ไม่ต้องคิดมาก เพียงลงทุนกับกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ ที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องเกี่ยวข้องด้วยนี่แหละ ใกล้ตัวและช่วยได้อย่างแน่นอน

1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ออฟฟิศส่วนใหญ่มักจะมีสวัสดิการ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ไว้ให้พนักงาน ได้มีโอกาสทั้งออมเงินและลงทุนไปในตัว โดยกองทุนชนิดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนทำงานได้เก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณนั่นเอง โดยปกติแล้วมนุษย์เงินเดือนสามารถเลือกอัตราสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตั้งแต่ 2 - 15% ส่วนนายจ้างจะสมทบให้เท่าไหร่ให้ศึกษาระเบียบและเงื่อนไขขององค์กรให้ดี จะได้ทราบอัตราที่นายจ้างต้องสมทบให้พนักงาน ทั้งนี้ทั้งนั้น แนะนำให้พนักงานส่งเงินเข้ากองทุนในอัตราที่มากที่สุดเท่าที่ไหว เพื่อเป็นการสร้างวินัยในการออมเงิน สบายใจได้ในความสม่ำเสมอในการออม เพราะเป็นเงินที่ตัดก่อนจะเข้าบัญชีเงินเดือนของพนักงาน แถมแต่ละปียังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อเกิดเหตุต้องออกจากงานหรือถึงวันเกษียณ พนักงานจะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม 100% ทุกกรณี พร้อมทั้งได้รับเงินสมทบตามเงื่อนไขที่ระบุในข้อบังคับของกองทุน นอกจากนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการเลือกแผนการลงทุนของกองทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่พนักงานต้องการได้อีกด้วย

2. กองทุนประกันสังคม

ตามกฎหมายกำหนด ลูกจ้างทุกคนต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมกันอยู่แล้ว นอกจากสิทธิเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท ในแต่ละปีแล้ว กองทุนประกันสังคมยังช่วยมนุษย์เงินเดือนในการออมเงินสำหรับการเกษียณได้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของเงินสมทบกรณีชราภาพ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่จ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพครบ 180 เดือน จะได้รับบำนาญชราภาพ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย บวกส่วนเพิ่มสำหรับการส่งเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 12 เดือน อีก 1.5% ของค่าจ้าง กรณีจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบของผู้ประกันสังคม และส่วนของนายจ้างที่จ่ายเฉพาะส่วนสมทบชราภาพ และกรณีจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับบำเหน็จชราภาพเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนสมทบในส่วนชราภาพเท่านั้น ทั้งนี้เงินส่วนสมทบกรณีชราภาพ ผู้ประกันตนจะได้รับเมื่อมีอายุครบ 55 ปี

3. สหกรณ์ออมทรัพย์

ออฟฟิศไหนที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์ก็ยิ่งเพิ่มช่องทางช่วยพนักงานในการออมได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกสะสมหุ้นของสหกรณ์ โดยผลตอบแทนที่ได้รับนั้นจะมาจากเงินปันผลในแต่ละปี ซึ่งอัตราผลตอบแทนนั้นดีกว่าเงินฝากธนาคารและกองทุนตราสารหนี้แน่นอน อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาความเสี่ยงดี ๆ ด้วยเช่นกัน ต้องมีการตรวจสอบการบริหารงานและการจัดการสหกรณ์อย่างสม่ำเสมอว่าดีแค่ไหน มีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อที่พนักงานจะได้ลงทุนอย่างปลอดภัย และได้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ

4. กองทุนรวม/ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF)

กองทุนรวมก็คือโครงการที่ระดมทุนจากนักลงทุนหลายคน มารวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ แล้วนำไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเงินก็จะถูกลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ตามนโยบายการลงทุนที่ถูกระบุไว้ สิ่งที่นักลงทุนจะได้รับคือ เงินปันผล หรือเงินกำไรส่วนเกินของการลงทุน หากกองทุนนั้นมีผลกำไรคืนกลับมา นับเป็นอีกหนึ่งวิธีเดินทางสายกลางในการลงทุนที่ดี เพราะกองทุนรวมกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า มีเม็ดเงินมากจากนักลงทุนหลายคน มีผู้บริหารมืออาชีพจัดการกองทุน อีกทั้งยังได้รับการยกเว้นภาษี ผลตอบแทนที่ได้รับจากลงทุนผ่านกองทุนรวมก็ไม่ต้องเสียภาษี และวงเงินที่ใช้ในการซื้อกองทุนยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีก

ในส่วนของการลงทุนในกองทุนรวมที่แนะนำสำหรับมนุษย์เงินเดือนก็คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนรวมประเภทที่ส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาวสำหรับไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ซึ่งจะคล้าย ๆ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ของข้าราชการ เหมาะสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมารองรับ ลูกจ้างที่นายจ้างยังไม่พร้อมจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกจ้าง/ ข้าราชการที่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณอยู่แล้ว แต่ต้องการออมเพิ่ม

สิ่งที่ถือว่าน่าสนใจสำหรับกองทุนรวม RMF ก็คือ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อจูงใจให้ผู้สนใจลงทุนมีการเก็บออมในระยะยาวสำหรับชีวิตหลังเกษียณ โดยลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้พึงประเมิน หรือ 5,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า แต่ไม่เกิน 15% สามารถซื้อหน่วยลงทุน RMF อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่หยุดซื้อหน่วยลงทุนเกิน 1 ปี ติดต่อกัน เงินลงทุนใน RMF ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้จะสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

สวัสดิการใกล้ตัวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องไม่มองข้าม ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิด แล้วลงทุนต่อยอดให้มากขึ้น แล้วอนาคตวัยเกษียณก็จะไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป สิ่งสำคัญคือการได้เริ่มสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่วันนี้ jobsDB ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการและคนทำงานในการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตของทุกคน

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ใช้ชีวิตที่ชอบ ทำงานที่ใช่ ไร้กังวลกับการเงิน

ออมเงินเที่ยว ทำได้ไม่ยากสำหรับมนุษย์เงินเดือน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ที่เตรียมเรซูเม่ที่หาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตนโดยการสำรวจด้วยคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
เพียงคลิก 'สมัครสมาชิก' เพื่อยอมรับ คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ Jobsdb โดยคุณสามารถยกเลิกอีเมลเมื่อใดก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ 1998-2024 โดย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด